Skip to main content
sharethis

งานวิจัยโดย GI-TOC องค์กรอิสระต่อต้านปัญหาอาชญากรรม เผยปี 2023 การแสวงหาประโยชน์จากแรงงานในคาบสมุทรบอลข่านตะวันตก (แอลเบเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โคโซโว มอนเตเนโกร นอร์ทมาซิโดเนีย และเซอร์เบีย) กำลังเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังเคยลดลงในปี 2022 ภูมิภาคนี้เปรียบดัง "ต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง สำหรับเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์จากแรงงาน" ส่งผลคุกคามต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปราะบางอยู่แล้ว


งานวิจัยเผย ปี 2023 การแสวงหาประโยชน์จากแรงงานในคาบสมุทรบอลข่านตะวันตก (แอลเบเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โคโซโว มอนเตเนโกร นอร์ทมาซิโดเนีย และเซอร์เบีย) กำลังเพิ่มขึ้นอีกครั้ง | ที่มาภาพ: Global Initiative Against Transnational Organized Crime (GI-TOC)

24 ก.ย. 2024 รายงานวิจัยฉบับล่าสุดชื่อ "ถูกบังคับให้ทำงาน: การแสวงหาประโยชน์จากแรงงานในคาบสมุทรบอลข่านตะวันตก" (Forced to Work: Labour Exploitation in the Western Balkans) โดย Global Initiative Against Transnational Organized Crime (GI-TOC) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเจนีวา อธิบายว่าภัยคุกคามจากการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานกำลังเป็นประเด็นที่น่ากังวลเพิ่มขึ้นในภูมิภาค

ผู้เขียนรายงานวิจัยนี้ ร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมในคาบสมุทรบอลข่านตะวันตก วิเคราะห์พลวัตของการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานในแอลเบเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โคโซโว มอนเตเนโกร นอร์ทมาซิโดเนีย และเซอร์เบีย มีการสัมภาษณ์ 111 ครั้ง กับสมาชิกต่าง ๆ จากภาควิชาการ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย รัฐบาลท้องถิ่น และองค์กรระหว่างประเทศ รวม 38 คน ที่มีความเสี่ยงหรือตกอยู่ในสถานการณ์การแสวงหาประโยชน์จากแรงงาน นอกจากนี้ การวิจัยยังอ้างอิงข้อมูลจากรายงานประจำปีเรื่องการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (US Department of State’s annual trafficking in persons report) และจากข้อริเริ่มระดับภูมิภาคด้านการย้ายถิ่น ที่ลี้ภัย และผู้ลี้ภัย (Migration, Asylum, Refugees Regional Initiative - MARRI)

สาเหตุ แนวโน้ม และพลวัตการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานในภูมิภาคบอลข่านตะวันตก


การบังคับขอทานเป็นรูปแบบการแสวงหาประโยชน์จากแรงงาน ที่แพร่หลายมากที่สุดในภูมิภาคบอลข่านตะวันตก | ที่มาภาพ: OSCE Mission to Bosnia and Herzegovina

รายงานวิจัยของ GI-TOC ระบุว่าการเอารัดเอาเปรียบแรงงานในคาบสมุทรบอลข่านตะวันตกเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ความยากจน การว่างงานสูง และระบบสวัสดิการที่ไม่เพียงพอ นายจ้างแสวงหาผลประโยชน์โดยจ่ายค่าแรงต่ำ บังคับทำงานล่วงเวลา และละเลยความปลอดภัย กลุ่มเปราะบางเช่นแรงงานข้ามชาติ ผู้หญิงและเด็กมีความเสี่ยงสูง การทุจริตและการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอส่งเสริมให้เกิดปัญหา การแก้ไขต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

รายงานยังชี้ว่าภูมิภาคบอลข่านตะวันตกเป็น "ภูมิภาคต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางสำหรับเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์จากแรงงาน" ปรากฏการณ์นี้อาจเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น การบังคับให้แรงงานทำงานเป็นเวลานานโดยได้รับค่าจ้างน้อย มีสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย ในขณะที่แรงงานในภาคการก่อสร้างมีความเปราะบางมากที่สุด ส่วนแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ การบริการ และการท่องเที่ยว ก็มีความเปราะบางด้วยเช่นกัน

ในปี 2023 จำนวนเหยื่อการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ ตามรายงานประจำปีเรื่องการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ หลังจากที่ลดลงในปี 2022 การแสวงหาประโยชน์จากแรงงานคิดเป็น 46% ของปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งหมดในบอลข่านระหว่างปี 2018-2023

ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าแอลเบเนีย, บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มีจำนวนเหยื่อสูงที่สุด: ในปี 2022 ทั้ง 2 ประเทศนี้มีสัดส่วนเหยื่อการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานมากกว่า 60% ของที่บันทึกไว้ทั้งหมดในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้อาจถูกประเมินต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นอย่างมาก ดังนั้นจำนวนเหยื่อที่แท้จริงอาจสูงกว่าตัวเลขทางการ 10-20 เท่า ตามการศึกษาที่ดำเนินการโดยเครือข่าย MARRI ในช่วงปี 2018-2022 การบังคับขอทานเป็นรูปแบบการค้ามนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์ในการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานที่แพร่หลายมากที่สุด (27% ของกรณีทั้งหมดที่บันทึกไว้)

กรณีตัวอย่าง


สภาพที่อยู่อาศัยของแรงงานจากเวียดนามในเมืองซเรนยานิน (Zrenjanin) ทางตอนเหนือของเซอร์เบีย | ที่มาภาพ: Danilo Ćurćić via A11 Initiative (อ้างในงานวิจัยของ GI-TOC)

รายงานของ GI-TOC วิเคราะห์กรณีที่เป็นรูปธรรมบางกรณี อธิบายว่ากลไกการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานทำงานอย่างไรในทางปฏิบัติ หนึ่งในกรณีที่รุนแรงที่สุด คือกรณีของบริษัท Linglong International Europe ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองซเรนยานิน (Zrenjanin) ทางตอนเหนือของเซอร์เบีย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Shandong Linglong Tire ของจีน

ปี 2021 แรงงานข้ามชาติชาวเวียดนาม ที่บริษัท Linglong International Europe จ้างมาทำการก่อสร้างโรงงานผลิตยางรถยนต์ในเมืองซเรนยานิน ต้องมอบหนังสือเดินทางให้กับนายจ้างเมื่อมาถึงเซอร์เบีย จากนั้นพวกเขาถูกบังคับให้ทำงานอย่างยาวนาน ได้รับค่าจ้างน้อยนิด และต้องอาศัยอยู่ในที่พักที่แออัดและไม่ถูกสุขลักษณะ ตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายร่างกายและวาจา

หนึ่งในคนงานกล่าวว่า เขาถูกบังคับให้ทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน สัปดาห์ละ 7 วัน เป็นเวลาหลายเดือน ได้รับค่าจ้างเพียงเศษเสี้ยวของสิ่งที่สัญญาไว้ และถูกคุกคามด้วยการขู่เนรเทศหากพยายามหลบหนี

กรณีนี้ทำให้องค์กรภาคประชาสังคมเรียกร้องให้มีดำเนินมาตรการอย่างจริงจัง ซึ่งรวมถึงการดำเนินคดีทางอาญา แต่รัฐบาลเซอร์เบียที่กระตือรือร้นที่จะดึงดูดการลงทุนจากจีน ดูเหมือนจะเพิกเฉยต่อรายงานการละเมิดเหล่านี้ กรณีนี้ทำให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ต้องจัดให้เซอร์เบียอยู่ในรายชื่อ Tier 2 Watch List ของสหรัฐฯ โดยระบุว่า "รัฐบาลเซอร์เบียไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่"


บ้านหลังหนึ่งในมอนเตเนโกร ที่ชาวไต้หวันถูกบังคับให้กระทำการฉ้อโกงทางออนไลน์ (หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์) | ที่มาภาพ: Radio Free Europe (อ้างในงานวิจัยของ GI-TOC)

ปี 2022 "พลเมืองไต้หวันถูกบังคับให้กระทำการฉ้อโกงทางออนไลน์ (หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์) ในนอร์ทมาซิโดเนียและมอนเตเนโกร" โดย "ถูกบังคับให้โทรหลอกลวงเหยื่อในจีน แจ้งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับค่าปรับที่ไม่มีอยู่จริง" นอกจากนี้มีรายงานการใช้ความรุนแรงและการข่มขู่เกิดขึ้นในกรณีนี้ด้วย ต่อมารัฐบาลของนอร์ทมาซิโดเนียและไต้หวันได้ร่วมมือกันเพื่อส่งตัวผู้ถูกบังคับใช้แรงงานจำนวน 48 รายกลับไต้หวัน และทางการไต้หวันได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยในไต้หวันถึง 92 ราย

ปี 2023 คนทำงานก่อสร้างชาวตุรกีที่ไซต์งาน Belgrade Waterfront ในเซอร์เบีย กว่า 30 คน ออกมาประท้วงเรียกร้องสิทธิของตน โดยระบุว่าถูกบังคับให้ทำงานภายใต้สภาพที่เลวร้าย คล้ายกับ "ทาส" รายงานระบุว่าคนทำงานเหล่านี้ถูกเอาเปรียบในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้, สภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ และการข่มขู่คุกคาม ส่วนที่มอนเตเนโกร เจ้าหน้าที่มอนเตเนโกรจับกุมผู้ต้องสงสัย 6 ราย ในข้อหาเอารัดเอาเปรียบคนงานก่อสร้างชาวตุรกี ซึ่งหนึ่งในผู้ต้องสงสัยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่าม

ต้องมีการดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง


ในงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์สากลที่จัดขึ้นที่เมืองโมสตาร์ (Mostar) บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา นักเรียนได้ตระหนักว่าการเอารัดเอาเปรียบแรงงานหญิงเป็นรูปแบบหนึ่งของการค้ามนุษย์ | ที่มาภาพ: Mirsad Berham via Radio Free Europe (อ้างในงานวิจัยของ GI-TOC)

การสืบสวนจากงานวิจัยของ GI-TOC แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจมากขึ้นต่อปรากฏการณ์ที่ยังคงมีอยู่ของการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานในภูมิภาคบอลข่านตะวันตก ซึ่งนอกจากผู้อพยพแล้วยังส่งผลกระทบต่อแรงงานท้องถิ่นด้วย  

เพื่อต่อสู้กับการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมและหน่วยงานท้องถิ่นและระดับชาติ นอกจากนี้ ต้องสร้างความตระหนักรู้ ปรับปรุงการเก็บรวบรวมข้อมูล และให้ความสำคัญกับการสนับสนุนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

สำหรับข้อเสนอในงานวิจัยชิ้นนี้ของ GI-TOC มีดังนี้:

ส่งเสริมการกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจ - รายงานเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาเศรษฐกิจและสังคม อาทิ อัตราความยากจนและอัตราการว่างงานสูง กับความเสี่ยงของการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจเพื่อลดความเสี่ยงของการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน

ปรับปรุงระบบคุ้มครองทางสังคม - รายงานระบุว่าประเทศในแถบคาบสมุทรบอลข่าน มักจัดสรรเงินส่วนใหญ่ของระบบคุ้มครองทางสังคมไปที่เงินบำนาญ ส่งผลให้ขาดการช่วยเหลือกลุ่มครอบครัวที่ยากจนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ภาครัฐจึงควรปฏิรูปโปรแกรมคุ้มครองทางสังคมเพื่อให้การสนับสนุนครอบครัวที่เปราะบางเหล่านี้

สนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน - รายงานชี้ให้เห็นถึงบทบาทสำคัญขององค์กรภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนในการเปิดโปงการละเมิดและการสนับสนุนสิทธิแรงงาน ภาครัฐควรสนับสนุนความพยายามเหล่านี้ ส่งเสริมความร่วมมือกับสื่อ และเพิ่มอำนาจให้กับสหภาพแรงงานในการปกป้องสิทธิแรงงาน

ดำเนินการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น - รายงานระบุว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ภาครัฐควรให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้

ปรับปรุงการเก็บรวบรวมข้อมูลและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน - รายงานเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน รวมถึงระบบการเก็บรวบรวมข้อมูลและการรายงานที่เป็นมาตรฐาน

เพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ - รายงานระบุถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Global Initiative Against Transnational Organized Crime (GI-TOC) เป็นองค์กรอิสระภาคประชาสังคมที่มุ่งมั่นต่อสู้กับปัญหาอาชญากรรม การค้าผิดกฎหมาย และการทุจริต มีสำนักงานใหญ่ในเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมสำนักงานสาขาทั่วโลก GI-TOC รวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย การกำกับดูแล และการพัฒนา โดยมีคณะที่ปรึกษาระดับสูงให้คำแนะนำ องค์กรนี้ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อค้นหาวิธีแก้ปัญหาและรับมือกับภัยคุกคามจากอาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบต่าง ๆ

 

ที่มา:
Labour exploitation in the Western Balkans (Arthur Svensson Prize, 28 August 2024)
abour exploitation in the Western Balkans, an insidious phenomenon (Osservatorio Balcani e Caucaso Transeuropa, 27 August 2024) 
Forced to work: Labour exploitation in the Western Balkans (Global Initiative against Transnational Organized Crime, 7 August 2024) 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net