Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชน นักธุรกิจ และนักวิชาการ ยื่น 8 ข้อเสนอให้นายกฯ ฟื้นฟูเมืองเชียงราย ให้กลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง พ.ย.นี้ ชงมาตรการงดเว้นภาษีช่วยผู้ประกอบการ ประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน-ยกระดับการแจ้งเตือนภัยอย่างมีประสิทธิภาพ


27 ก.ย. 2567 เว็บไซต์สำนักข่าวชายขอบ รายงานวันนี้ (27 ก.ย.) ระหว่าง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.เชียงราย โดยได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบที่โรงเรียนเทศบาล 6 อ.เมือง จ.เชียงราย เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา (พชภ.) พร้อมทั้งตัวแทนภาคธุรกิจ นักวิชาการ และภาคประชาชน ได้ยื่นหนังสือสรุปข้อเสนอแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำหลากเมืองเชียงราย

รายละเอียดในหนังสือระบุว่า จากการหารือขององค์กรภาคประชาสังคม ชุมชน นักวิชาการ ภาคธุรกิจ และผู้ที่ได้รับผลกระทบบางส่วน มีข้อเสนอเบื้องต้นต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) และภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.)

"เหตุการณ์ภัยน้ำหลากถล่มเมืองเชียงราย  เมื่อเดือน ก.ย. 2567 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์แบบสุดขั้ว (Extreme weather) กลายเป็นหายนะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน น้ำกกไหลบ่าเข้าสู่บ้านเรือนในชั่วเวลาอันสั้น ประชาชนไม่มีเวลาได้เตรียมตัว เมื่อน้ำลดลง ทิ้งไว้คือโคลนและเศษซากปรักหักพัง เปรียบเสมือนสึนามิน้ำจืด สื่อมวลชนบางสำนักข่าวเรียกว่า ‘สึนามิโคลน’ ซึ่งเป็นความเสียหายที่แสดงให้เห็นถึงภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การดำเนินการทั้งเรื่องป้องกัน เยียวยาและฟื้นฟู จึงไม่สามารถใช้แนวทางเดิมเช่นเดียวกับปัญหาน้ำท่วมทั่วไปแบบที่ผ่านมาได้" หนังสือระบุ

มีมาตรการเชิงภาษี ฟื้นฟูภาคธุรกิจ

ในการประชุมของภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย 2 ครั้งได้ข้อสรุปและข้อเสนอในเบื้องต้นต่อรัฐบาลดังนี้ 1. ภาคเอกชนเสนอให้ วันที่ 1 พ.ย. 2567 เป็นวันเปิดเมืองเชียงราย โดยกว่า 1 เดือนที่เหลือให้ใช้เร่งเก็บขยะ-โคลน และเศษซากความเสียหายต่างๆ ออกให้แล้วเสร็จ และเริ่มต้นฟื้นฟูการท่องเที่ยว และภาคเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย 2. ออกมาตรการในการฟื้นฟูภาคธุรกิจและเอกชนทั้งรายใหญ่และรายย่อย เช่น ด้านภาษี สินเชื่อ การยกเว้นจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ทั้งในส่วนของนายจ้าง และลูกจ้าง นอกจากนี้ ควรมีมาตรการการดูแลลูกจ้างทั้งแรงงานชาวไทยและแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูและพลิกฟื้นเศรษฐกิจของเมืองเชียงราย

3. จัดตั้งศูนย์บัญชาการการฟื้นฟูในพื้นที่อย่างเร่งด่วน จัดการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและชาวเชียงรายทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ ภาคเอกชน ประชาสังคม สร้างการสื่อสารระหว่างศูนย์แห่งนี้และชาวเชียงราย โดยมีการรายงานความคืบหน้าการฟื้นฟู เยียวยาทั้งภาพรวมของการปฏิบัติการ และรายพื้นที่ มีระบบ 'Data Center-One Chiang Rai'

4. กำหนดให้เชียงรายเป็นจังหวัดต้นแบบของการรับมือภัยพิบัติ ที่จะมีการติดตามการเกิดภัยตลอดทั้งปี โดยเป็นศูนย์เรียนรู้ทั้งภายในประเทศ และภัยพิบัติข้ามพรมแดน โดยจังหวัดต้องทำแผนที่เสี่ยงภัยทุกชนิดในพื้นที่ ทั้งน้ำหลาก ดินถล่ม ฯลฯ และมีการวางแผนตลอดทั้งปี และมีศูนย์เตือนภัยระดับ ชุมชน (Bottom Up) และมีการเตรียมความพร้อมของชุมชน

ประสานความร่วมมือเพื่อนบ้าน พร้อมยกระดับการแจ้งเตือนภัย

5. รัฐต้องประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการร่วมแก้ปัญหาภัยข้ามพรมแดน 6. จัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้า real-time แจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ และช่องทางอื่น ใช้ภาษาและรูปแบบที่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเข้าใจได้ง่าย 7. มีมาตรการฟื้นฟูผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูอาชีพ มีข้อมูลการให้ความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ซ้ำซ้อน

8. จัดทำแผนจัดการเมืองเชียงรายในระยะกลาง ผังเมืองการใช้พื้นที่โซนนิ่งพื้นที่รับน้ำ พื้นที่เสี่ยงภัย และกำหนดแบบแปลนสิ่งก่อสร้างที่เหมาะสมสอดคล้องกับอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้อีก

เตือนใจ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการยื่นหนังสือว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยดี นายกฯ ได้รับหนังสือแล้ว แต่ยังไม่ได้หารือกัน เนื่องจากนายกฯ ต้องรีบไปมอบเงินเยียวยาให้แก่ผู้ประสบภัย นอกจากนี้ ยังได้พูดคุยสั้นๆ กับภูมิธรรม ไว้แล้ว โดยจะมีการประสานงานกันต่อไป
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net