Skip to main content
sharethis

พีมูฟ จัดเวทีคู่ขนานสภา แถลงนโยบายประชาชน 10 ด้าน พร้อม เครือข่ายประชาชน-นักวิชาการ ร่วมสะท้อน นโยบายรัฐบาลแพทองธาร ไม่ชัดเจน ขาดการยึดโยงและมีส่วนร่วมกับประชาชน

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2567 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ จัดเวทีสาธารณะแถลงนโยบายประชาชน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ณ ห้อง 102 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยในงานมีการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ชะตากรรมประชาคนในระบอบการเมืองไทย” โดย รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา, การเสนอนโยบายของ P-Move 10 ด้าน ต่อรัฐบาล, เวทีเสวนาหัวข้อ “สิทธิชุมชนอยู่ตรงไหน ในนโยบายแก้ปัญหาที่ดิน”, ข้อเสนอทางนโยบาย “สร้างสังคมประชาธิปไตย ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ” และ “รัฐสวัสดิการเพื่อความเป็นธรรมและเท่าเทียม” รวมถึงการแลกเปลี่ยนแสดงความเห็นต่อนโยบายของรัฐบาล โดยเครือข่ายประชาชน ก่อนปิดท้ายด้วยการแถลงนโยบายประชาชน โดยคณะกรรมการบริหารขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

ธีรเนตร ไชยสุวรรณ ประธานคณะกรรมการบริหารขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า นโยบายพีมูฟ 10 ด้านนี้ ล้วนมีที่มาที่ไปจากประเด็นปัญหารายกรณีของประชาชนทั่วทุกภาคส่วนในสังคม กว่าระยะเวลาสิบสามปีในการผลักดันจากปัญหารายกรณีมาสู่นโยบายสาธารณะ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในสังคมอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ซึ่งการแถลงนโยบายของประชาชนในครั้งนี้ เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะย้ำเตือนว่า รัฐบาลจะต้องนำปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชน ไปเป็นส่วนสำคัญของนโยบายบริหารประเทศ

ช่วงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ชะตากรรมประชาชนในระบอบการเมืองไทยในปัจจุบัน” โดยรศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวถึง 4 ประเด็นในการปาฐกถา ได้แก่ 1) ระบอบใหม่ของสังคมการเมืองไทย หลังรัฐประหาร 57 2) ความผุกร่อนของระบอบใหม่ ผลต่อชีวิตในสังคมการเมือง และการท้าทายต่อจ้าน 3) ความหวังที่จะเปลี่ยนแปลง ชัยชนะผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และความสิ้นหวัง 4) กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมและทางเลือกไปสู่อนาคต

จากการยึดอำนาจรัฐประหารโดยคสช.เมื่อปี 2557 และการสถาปนาระบอบเหมือนสมบูรณาญาสิทธิ์ หรือ “ระบอบอำนาจนิยมแบบเลือกตั้ง” สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นขององค์กรปรปักษ์ต่อประชาธิปไตยที่ลดทอนอำนาจของประชาชน เช่น องค์กรอิสระต่าง ๆ การให้อำนาจส.ว. ทำให้การยึดโยงของประชาชนกับการเมืองถดถอยลง เช่น กรณีศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เป็นตัวแทนประชาชนที่มาจากระบบการเลือกตั้ง

เมื่อเทียบนโยบายของรัฐบาลกับนโยบายที่ควรจะเป็น อาจกล่าวได้ว่า นโยบายรัฐบาลเหมือนเป็นรัฐสงเคราะห์แทนที่จะเป็นรัฐสวัสดิการ ธุรกิจผูกขาด รัฐถือสิทธิ์ ต่างกับสิ่งที่ประชาชนต้องการ คือ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มุ่งเน้นสิทธิชุมชน ถึงแม้ว่านโยบายของรัฐบาลจะพูดถึงการแก้ไขปัญหาแต่ละประเด็น แต่ยังคงพูดถึงน้อยมาก ในแง่ของการจัดสรรและงบประมาณ ล้วนทิ้งผู้ด้อยโอกาสไว้ข้างหลัง ไมได้โอบอุ้มคนทุกกลุ่มในสังคม ทั้งยังขาดตัวชี้วัดและขอบเขตระยะเวลาที่รัฐบาลจะดำเนินการตามนโยบาย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายของประชาชนที่จะเปลี่ยนให้เป็นความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจ

ท่ามกลางความจำกัดและอุปสรรคทางการเมือง สิ่งที่ประชาชนพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย จะช่วยผลักดันให้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลก้าวหน้ามากขึ้น “นวัตกรรมเชิงนโยบาย” หรือการบุกเบิกความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของนโยบายการบริหารประเทศ ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งผลักดัน คือ ประชาชนต้องสร้างความตระหนักร่วมกัน การเปิดพื้นที่พูดคุย จัดเวทีเชื่อมโยงเครือข่าย พัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน หากพลังทางสังคมเติบโตมากพอก็สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

ช่วงเสวนาหัวข้อ “สิทธิชุมชนอยู่ตรงไหน ในนโยบายแก้ปัญหาที่ดิน” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ดำเนินรายการโดยพริม มณีโชติ

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ได้กล่าวถึงชุดความคิดเรื่องการติดกับดักกรรมสิทธิ์เชิงเดี่ยว ที่รัฐในฐานะตัวแทนประชาชน อาจหลงลืมไปว่า การบริหารประเทศ รวมถึงอำนาจในการจัดการทรัพยากรนั้น ไม่ได้เป็นอำนาจของตน นำมาสู่การควบคุม กำหนด บงการวิธีการจัดการ ควบคุม ดูแล ให้ประชาชนต้องดำเนินการตามที่รัฐกำหนด ประกอบกับสภาวะการเมืองที่ไม่ปกติ ปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม และมีการออกกฎหมายนโยบายใหม่ ๆ เพื่อใช้กำกับควบคุม ทำให้แนวคิดสิทธิชุมชนที่เป็นอำนาจในการจัดการตนเองของประชาชนถูกปิดประตูตาย ซึ่งภาคประชาชนกำลังพยายามสร้างการเมืองภาคประชาชน สร้างพื้นที่คัดง้าง เรียกร้อง ต่อรอง ให้เกิดสิทธิชุมชนโดยแท้จริงที่ไม่ใช่เพียงการอนุญาตในกระดาษ

“การแถลงนโยบายครั้งนี้ยิ่งสะท้อนแนวคิดของรัฐชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายด้านที่ดิน ที่ระบุว่า “เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ” คำว่าประสิทธิภาพในความหมายของรัฐนั้นหมายถึงอะไร? อาจหมายถึง กฎหมายที่เขาถืออยู่ และอำนาจในการชี้ว่าที่ดินตรงไหนเหมาะจะใช้สำหรับโครงการใดของรัฐ แต่ไม่ได้หมายถึงว่า ประชาชนและชุมชนจะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่ดินตรงนั้นอย่างแน่นอน” ธนากรกล่าว

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กล่าวถึงนิยามของสิทธิชุมชน คือ สิทธิในการจัดการที่ดิน รวมถึงทรัพยากรทุก ๆ อย่าง เพราะทรัพยากรเหล่านั้นล้วนเป็นทุนเป็นฐานทางชีวิตที่จะทำให้ประชาชนอยู่รอด ที่เรียกว่า “สิทธิชุมชน” การดำเนินชีวิตของคนขี้นอยู่กับสิทธิในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ของตนเองจริง ๆ ซึ่งหากจะตีวามคำว่า “ชุมชน” อาจไม่ได้บ่งชี้ว่าหมายถึงเฉพาะบริบทสังคมชนบท แต่หมายถึงทุก ๆ พื้นที่ ทุก ๆ สังคมที่มีผู้คนรวมตัวหรือรวมกลุ่มกัน

สังคมปัจจุบันแตกต่างจาก 20 ปีที่แล้วเป็นอย่างมาก สังคมขณะนี้เต็มไปด้วยการผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์ของนายทุนกับรัฐ ที่กำลังโอบล้อมสังคมและชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่และทรัพยากรของชุมชนที่เป็นผลประโยชน์ต่อรัฐและทุนเหล่านี้ เมื่อรัฐคิดว่าตัวเองมีสิทธิ มีอำนาจ จึงนำมาสู่การละเลยทุกสิ่งอย่าง ละเลยความเป็นธรรม ละเลยประชาชน ซึ่งข้อควรระวังคือ อุบัติเหตุทางอำนาจ หรือการรัฐประหาร ซึ่งไม่มีสิ่งใดมายืนยันว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากถึงสถานการณ์ที่มีกลุ่มคนเสียผลประโยชน์เมื่อประชาชนมีอำนาจโดยสมบูรณ์

“เราต้องขยายข้อมูล องค์ความรู้ ให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าใจเหมือนที่เราเข้าใจ ตอนนี้คนในสังคมถูกครอบงำ ถูกทำให้เชื่อภายใต้ชุดความคิดคนละชุดกับเรา เพราะฉะนั้น การขยายข้อมูลต้องควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องหาเครือข่าย หาแนวร่วมในการขับเคลื่อนร่วมกัน เมื่อเกิดความเข้าใจร่วมกันแล้ว ไม่มีใครปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่านี้ได้”

ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงประเด็นสิทธิชุมชนในนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดิน สังคมไทยโดยรวมมองว่า สิทธิชุมชนไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เนื่องด้วยคำถามที่ว่า ชุมชนคือใคร ประกอบกับหลักคิดสิทธิชุมชนคล้ายดูว่าจะขัดกับระบอบกรรมสิทธิ์ที่ถูกสถาปนาขึ้นไว้โดยกลุ่มผู้กุมอำนาจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันว่า สิทธิชุมชน คือ สิทธิพลเมืองรูปแบบหนึ่งที่จะรวมกลุ่มเพื่อแสวงหาทางเดินของชีวิต ซึ่งสิทธิพลเมือง คือ สิทธิของชีวิตพลงเมือง และรัฐจะต้องพิทักษ์สิทธินี้ของพลเมือง เพราะฉะนั้น สิทธิชุมชน คือ สิทธิร่วมของผู้คน และเป็นทางในการแก้ไขปัญหาสิทธิที่ดินโดยแท้จริง

นโยบายของประชาชนมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นข้อเสนอในการปรับมิติความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมือง และสังคม หากมองในมิติรัฐคือ การควบคุมและบริการ ซึ่งพลเมืองและสังคมต้องแทรกแซงว่าการไร้ซึ่งจินตนาการในการมองเห็นการเชื่อมโยงของส่วนในสังคมจากนโยบายของรัฐที่มีมุมมองเพียงเศรษฐกิจและสังคมในภาพกว้าง โดยขาดการยึดโยงกับชุมชนในพื้นที่ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า มุมมองของรัฐที่ขาดการเชื่อมโยงของประชาชน เกิดจากกลุ่มชนชั้นนำไทย ที่มีความได้เปรียบในการเข้าถึงทรัพย์สินเอกชนหรือทรัพย์สินส่วนบุคคลมาเป็นระยะเวลานาน ผ่านการใช้อำนาจรัฐ อำนาจเงิน ทำให้สมบัติสาธารณะ ที่ดินรัฐ สมบัติร่วมของชุมชน กลายเป็นสมบัติของเอกชน ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่กลุ่มคนเหล่านี้จะยอมรับสิทธิชุมชนที่เป็นกรรมสิทธิ์แบบส่วนรวม

“สิทธิชุมชนอยู่ตรงไหนในรัฐบาล?  ไม่มีเลยในการแถลงนโยบายของรัฐบาลนี้ มีเพียงคำพูดลอยๆ  สวยหรู แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ มีเพียงหนึ่งข้อที่พูดถึงการแก้ไขปัญหาที่ดิน แต่ก็ยังถูกคิดและออกแบบบนฐานคิดกรรมสิทธิ์เอกชน ความท้าทายคือ เราต้องทำให้สังคมเข้าใจให้ได้ว่า สิทธิชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิพลเมืองที่รัฐจะต้องทำให้เกิดขึ้น”

ช่วงข้อเสนอทางนโยบาย “สร้างสังคมประชาธิปไตย ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ” โดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้ชวนวิเคราะห์และตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวรัฐบาลเพื่อไทย โดยทาง iLaw มีความเห็นว่า อาจมีแนวโน้มในการทำประชามติครั้งแรกพร้อมกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568 แต่ถ้าหากคำถามในการทำประชามติยังไม่มีความชัดเจน ก็มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถทำประชามติได้เช่นเดียวกัน

ข้อเสนอของ iLaw เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นในการทำประชามติครั้งแรก เนื่องจากกฎหมายไม่ได้บัญญัติบังคับให้ทำ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจการตัดสินใจ หากข้ามการทำประชามติครั้งแรก หรือที่เรียกว่า ประชามติครั้งที่ 0 ไปแล้ว คาดว่าอาจเริ่มดำเนินการแผนการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ได้เร็ว ถ้าหากเป็นไปตามแนวทางนี้อาจมีแนวโน้มว่า จะสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้แล้วเสร็จก่อนหมดวาระการทำงานของรัฐบาลชุดนี้

ข้อเสนอนโยบาย “รัฐสวัสดิการเพื่อความเป็นธรรมและเท่าเทียม” โดยรศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สะท้อนถึงมุมมองของรัฐและประชาชนที่มีต่อ ‘รัฐสวัสดิการ’ เมื่อพูดถึงคำว่า สวัสดิการโดยรัฐ รัฐบาลมักกล่าวว่ายังไม่เป็นวาระเร่งด่วนในการพิจารณา ทำให้ข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคประชาสังคมและเครือข่ายประชาชนถูกปัดตกในการพิจารณา แต่เมื่อใดก็ตามที่รัฐอ้างถึงโครงสร้างพื้นฐานว่าเป็นสวัสดิการโดยรัฐอย่างหนึ่ง และจำเป็นต้องจัดหาอย่างเร่งด่วน และสมเหตุสมผลที่จะเร่งจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานรัฐหมายถึง มักจะเป็น โครงการพัฒนา โครงการบริหารจัดการน้ำ การสร้างโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม

แต่เมื่อพิจารณานิยามคำว่า สวัสดิการโดยรัฐ ในมุมมองของประชาชนนั้น ล้วนแต่หมายถึงการสร้างสวัสดิการให้ประชาชนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ซึ่งประชาชนที่เป็นทรัพยากรมนุษย์นับเป็นหนึ่งในความมั่นคงของประเทศ และเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศไม่ต่างจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่รัฐบอกว่าเป็นสิ่งเร่งด่วนจำเป็น และเมื่อมนุษย์อยู่ในสังคมที่เสมอภาคกัน มนุษย์จะมีอำนาจในการออกแบบ ในการจัดการชีวิตของตนเองมากขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะกลุ่มทุนผูกขาดกับกลุ่มชนชั้นนำยังถือครองอำนาจร่วมกัน โดยไม่มีประชาชนอยู่ในความสัมพันธ์นั้นแต่อย่างใด

รัฐบาลเพื่อไทย ได้กล่าวถึง “Negative Income Tax (NIT) เป็นนโยบายเชิงสวัสดิการที่มุ่งส่งเสริมความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยรัฐจะมอบเงินสนับสนุนให้คนที่มีรายได้น้อยแทนการเก็บภาษี กล่าวโดยง่ายคือ ‘คนจนมาก ๆ จะได้รับภาษีคืนมาก คนที่จนน้อยกว่าก็จะได้ภาษีคืนน้อยกว่า’ แต่ข้อห่วงกังวลคือ สิ่งนี้ไม่เพียงพอที่จะเป็นรัฐสวัสดิการ ดังนั้น ข้อเสนอคือ ควรใช้ระบบภาษีก้าวหน้า คนมีรายได้มากต้องจ่ายภาษีมาก และใช้ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อสร้างความเท่าเทียมและความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวของสังคม สร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ

“หลักการของรัฐที่จะให้เงินสนับสนุน คือ การให้คนจนเอาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองมาประจาน มาพิสูจน์ความจนซ้ำแล้วซ้ำอีก แทนที่จะให้เป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ซึ่งใช้งบประมาณไม่เยอะเมื่อเทียบกับงบประมาณรวมทั้งหมดของประเทศ ใช้เงินน้อยกว่าดิจิทัลวอลเล็ตเยอะมาก”

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ให้ความเห็นต่อนโยบายด้านชาติพันธุ์ของข้อเสนอประชาชน ว่า เห็นด้วยในการผลักดันกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างครอบคลุม โดยที่ผ่านมาทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนด้านการละเมิดสิทธิด้านชาติพันธุ์มาหลายกรณี ซึ่งทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจในการตรวจสอบเรื่องที่ถูกร้องเรียน และทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี กระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

กรณีกะเหรี่ยงชุมชนบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ทางคณธกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาถึงสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และมีความเห็นว่าชุมชนสามารถกลับขึ้นไปอยู่อาศัยและทำกินที่ใจแผ่นดินได้ หรือกรณีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เช่น โครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม ที่มีความลักลั่นในกระบวนการทำ EIA และจะกระทบกับสิทธิชุมชนอย่างน้อย 30 ชุมชนในพื้นที่โครงการซึ่งทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะไปแล้วเช่นเดียวกัน

ในช่วงบ่ายเป็นการแลกเปลี่ยนแสดงความเห็นต่อนโยบายของรัฐบาล โดยเครือข่ายประชาชน ได้แก่ Green Peace Thailand, เครือข่ายทับลาน, เครือข่ายรักพะโต๊ะ, เครือข่ายแรงงานนอกระบบ, เครือข่ายลาคลอด 180 วัน, Act Lab และคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ซึ่งมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า นโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ไม่สอดคล้องกับความต้องการในการแก้ไขปัญหาของประชาชนในทุก ๆ ประเด็น เช่น ปัญหาที่ดินประชาชนทับซ้อนกับรัฐ สิทธิแรงงาน สิทธิในการจัดการทรัพยากร สิทธิสิ่งแวดล้อม และรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

เครือข่ายประชาชนมีการตั้งข้อสังเกตว่า ในวาระนโยบายเร่งด่วน 10 ประเด็น เป็นด้านเศรษฐกิจ 6 ประเด็น ด้านสังคม 3 ประเด็น และด้านทรัพยากรธรรมชาติอีก 1 ประเด็น ซึ่งทิศทางและเนื้อหาในนโยบายเร่งด่วนส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับมหภาค แม้จะมีการกล่าวถึงประชาชนและชุมชนบ้าง แต่ยังคงขาดความเป็นรูปธรรมชัดเจนว่า จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประชาชนโดยแท้จริงเมื่อไร และอย่างไร

“ตอนหาเสียงบอกว่าวาระเร่งด่วนคือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่พอแถลงนโยบายออกมาแล้วกลับไม่มีวาระเร่งด่วนเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่เลย เราจะใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่เราเสนอ สิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง รัฐบาลไม่เคยรับฟัง ไม่เคยปฏิบัติ ไม่เคยบรรจุมันไว้ในสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำ” ตัวแทนจาก Act Lab กล่าว

ช่วงท้ายของกิจกรรม ทางคณะกรรมการบริหารขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้ร่วมกันแถลงนโยบายประชาชน โดยมีเนื้อหาในการแถลงนโยบาย ดังนี้

1. ด้านสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย เราเชื่อว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องมาจากประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างขึ้นภายใต้การรัฐประหารเป็นเครื่องมือที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราจึงเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

2. ด้านการกระจายอำนาจ การรวมศูนย์อำนาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ เราจึงเสนอให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง และการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและงบประมาณสู่ชุมชนและท้องถิ่น

3. ด้านการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ยากของประชาชน เราจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็นธรรมสำหรับทุกคน โดยเฉพาะคนจนและเกษตรกรรายย่อย เร่งผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ และเปลี่ยนระบบการพิจารณาคดีที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเป็นระบบไต่สวน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

4. ด้านนโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด การกระจุกตัวของที่ดินในมือคนรวยไม่กี่กลุ่มเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย เราจะผลักดัน พ.ร.บ. ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และ พ.ร.บ. จัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ เราจะคุ้มครองสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร และผลักดัน พ.ร.บ. คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำกินได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

5. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราเชื่อว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต้องเคารพสิทธิชุมชน เราจะยุติโครงการทวงคืนผืนป่าและทบทวน นโยบายป่าไม้แห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ เราจะแก้ไขกฎหมายป่าไม้ที่ไม่เป็นธรรม และทบทวนนโยบายคาร์บอนเครดิตที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่

6. ด้านการป้องกันภัยพิบัติ ภัยพิบัติเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เราจะแก้ไข พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนมีบทบาทหลักในการจัดการภัยพิบัติ และส่งเสริมระบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7. ด้านการคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์ กลุ่มชาติพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่มีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราจะผลักดัน พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงชีวิตตามวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตนเองได้อย่างสงบสุขและได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน

8. ด้านสิทธิของคนไร้สถานะ คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างยาวนาน สมควรได้รับการแก้ไขปัญหาและได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เราจะกำหนดนโยบายการแก้ปัญหาด้านสถานะและสิทธิบุคคลให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน และจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลสุขภาพของคนกลุ่มนี้

9. ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ เราเชื่อว่ารัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นรากฐานของสังคมที่เป็นธรรม เราจะผลักดันนโยบายรัฐสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนแก่ ครอบคลุม 9 ด้าน ได้แก่ เด็กและเยาวชน, การศึกษา, ระบบสุขภาพ, ที่อยู่อาศัยและที่ดิน, งานและรายได้, ประกันสังคม, บำนาญ, สิทธิทางสังคม, ภาษีและงบประมาณ เพื่อให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต

10. ด้านที่อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เราจะผลักดันให้รัฐจัดสรรที่ดินให้ประชาชนอยู่อาศัยอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและคนจนเมือง ปรับปรุงเกณฑ์การสนับสนุนงบประมาณ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net