Skip to main content
sharethis

‘โรม’ ตั้งกระทู้ถามรัฐบาล เรื่องคดีตากใบ ซึ่งจะหมดอายุความในอีก 22 วัน จะมีแนวทางจัดการอย่างไร 'ภูมิธรรม' เผยไม่มีปัญหาเรื่องดำเนินคดี แต่ต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ชี้ภาครัฐพยายามปรับการทำงานความขัดแย้งชายแดนใต้โดยใช้การเจรจา เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอย

 

3 ต.ค. 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 29 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน อภิปรายญัตติถามสดด้วยวาจาเรื่อง คดีตากใบที่ใกล้หมดอายุความในอีก 22 วัน อาจส่งผลต่อการดำเนินคดีความต่อบุคลคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะไม่สามารถดำเนินการได้ จึงสอบถามแนวทางจาก ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม

ความคืบหน้าคดีตากใบ เกิดจาก ปชช. ไม่ใช่รัฐบาล

รังสิมันต์ อภิปรายว่า เหตุการณ์คดีตากใบเกิดในช่วงรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร มีกลุ่มคนรวมตัวที่หน้า สภ.ตากใบ หลังมีการจับกุมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ข้อหาให้อาวุธปืนแก่ผู้ก่อความไม่สงบ ในเหตุกาณ์ดังกล่าวมีการสลายการชุมนุมและจับกุมตัวผู้ชุมนุมไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จำนวน 1,300 คน โดยมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายชุมนุม 7 คน

รังสิมันต์ อภิปรายต่อว่า การเคลื่อนย้ายคน 1,300 คน ไปค่ายอิงคยุทธบริหาร มีการให้ประชาชนนอนทับๆ กันเป็นชั้นๆ เมื่อรถบรรทุกไปถึงค่ายมีผู้เสียชีวิตระหว่างขนย้าย 78 คน รวมกับผู้เสียชีวิตก่อนหน้ารวม 85 คน ภายหลังรัฐบาลทักษิณ สั่งตั้งคณะกรรมการสอบ และมีการจัดตั้งทำรายงานแล้วเสร็จเมื่อ 17 ธ.ค. 2547 รายงานชี้ชัดว่าความสูญเสียดังกล่าวเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตในคดีดังกล่าวได้ลุกขึ้นฟ้อง เพื่อต้องการความจริงว่าใครบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญเสียดังกล่าว

"ผมขอย้ำว่าคดีนี้ เขาฟ้องเองไม่ใช้ผลงานของรัฐบาลที่รัฐมนตรีบางคนพูดไว้ว่า คดีตากใบมีความคืบหน้ามากที่สุดในรัฐบาลนี้เกิดจากประชาชนฝ่าฟันความกลัวและลุกขึ้นมาทวงความยุติธรรมให้ตัวเขาเอง ไม่ใช่ผลงานของรัฐบาล" รังสิมันต์ โรม กล่าว

สส.พรรคประชาชน ยังกล่าวถึงกรณีรองนายกฯ ภูมิธรรม มีท่าที 'ปรี๊ดแตก' เมื่อถูกนักข่าวถามประเด็นคดีตากใบ พร้อมกล่าวว่าให้สนใจประเด็นอื่น และในส่วนของการเยียวยาที่เคยได้รับร่วมกับผู้สูญเสียในเหตุการณ์ปราบคนเสื้อแดง โดยได้รับเงินเยียวยาในปี 2555 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอกย้ำว่าความสูญเสียที่นำไปสู่การเยียวยานั้นใช้เงินภาษีของประชาชน เป็นสิ่งที่ประชาชนทั้งประเทศต้องได้รับความเป็นธรรมเช่นเดียวกันว่าผู้เกี่ยวข้องกับเหตุกาณ์นี้จะต้องได้รับการลงโทษอย่างไร ประชาชนต้องจ่ายเงินให้กับความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่ความไว้วางใจของประชาชน 3 ชายแดนใต้ไม่ได้รับความฟื้นคืน เพราะคดีกำลังขาดอายุความ รองนายกฯ จะทำอย่างไร

ทุกคนเสียใจเรื่องตากใบ

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามว่า ในเหตุกาณ์ตนกำลังแถลงข่าวเรื่องน้ำท่วม แต่ผู้สื่อข่าวพยายามถามเรื่องตากใบ จึงขอพูดประเด็นน้ำท่วมให้จบก่อน แต่ไม่ได้กล่าวว่าเรื่องตากใบไม่สำคัญ แต่มีเรื่องอื่นที่ควรเรียงลำดับความสำคัญก่อน

รมว.กลาโหม กล่าวต่อว่า ในส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ตากใบทุกคนเสียใจ ไม่มีใครอยากเห็นประชาชนต้องสูญเสียขนาดนี้ คงต้องเอาบทเรียนเหล่านั้นมาดูว่ามีปัญหาอะไร คดีตากใบจะครบ 20 ปีแล้ว จริงๆ มีความจริงหลายมิติและในรายงานนั้นก็สรุปว่า ทุกคนที่อยู่บนรถนั้นเกิดการเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจเป็นหลัก จำนวนทั้งหมด 78 ราย กรณีการเสียชีวิตมีดังนี้

  • เกิดจากขาดอากาศหายใจและกดทับบริเวณหน้าอก 33 ราย
  • เกิดจากการหายใจจากการกดทับบริเวณหน้าอกและมีบาดแผล รอยกระแทกด้วยของแข็งแต่ไม่รุนแรง 4 ราย
  • เกิดจากการขาดอากาศหายใจจากการกดทับหน้าอกและมีการเสียความสมดุลในสารในเลือดมีบาดแผลจากของมีคมจำนวน 10 ราย
  • เกิดจากการขาดอากาศหายใจ 31 ราย    

ฉะนั้นการเกิดกระบวนการที่เกิดขึ้นในระหว่างการลำเลียงนำคนไปค่าย ไม่เกี่ยวกับการตายเพราะอาวุธ เพราะตรงนั้นยังหาผู้ผิดจริงๆ ไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การนำคนลำเลียงไป ตอนเกิดเหตุมีหนังสือพิมพ์ของมติชน ทำโดย สุวพงศ์ จั่นฝั่งเพ็ชร รายงานว่า ทางกองทัพภาคที่ 4 ขอรายงานดู ซึ่งทุกคนได้เห็นข้อมูลว่ามีการลำเลียงคนขึ้นไป และมีนายทหาร ซึ่งเขาไม่ได้กล่าวว่านายทหารคนไหน กล่าวว่าเอาคนเยอะขนาดนั้นไปไม่ได้ต้องเอาลงมา และมีอีกหลายๆ ส่วน

ภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่มีใครเจตนาเอาคนไปทับให้ตาย แต่เป็นเพียงว่ามีการดำเนินการในการปฎิบัติการในระดับพื้นที่ ซึ่งในขณะนั้นเหตุการณ์วุ่นวายไปหมด เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นก็ควรจะต้องให้ความเป็นธรรม มันไม่ใช่เรื่องว่าเจตนาจะฆ่ากัน เป็นเรื่องของความไม่เจตนา สับสน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องยอมรับและแก้ไขเรื่องนี้ต่อไป

รองนายกฯ กล่าวต่อว่า การที่พูดถึงตากใบมีการเยียวยาไปในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำนวนเงิน 7 ล้านบาทต่อผู้เสียชีวิต และสัดส่วนลดลงไปตามความบาดเจ็บที่เกิดขึ้น ทั้งหมดพยายามให้ทุกฝ่ายเห็นว่า เรื่องอย่างนี้ไม่ควรเกิดขึ้น จริงๆ ควรจะมาใช้เป็นอุทาหรณ์มากกว่าที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการอธิบายและให้ทำให้เกิดความรู้สึกว่า รัฐบาลตั้งใจจะฆ่าเขา รัฐบาลไม่สนใจชีวิตประชาชน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราเสียใจและไม่อยากให้เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นการตั้งใจเป็นการเกิดขึ้นจากความสับสนอลหม่าน

รัฐพยายามปรับการทำงานในชายแดนใต้ เน้นเจรจาพูดคุย

ภูมิธรรม เสนอทางแก้ไขต่อประเด็นนี้ดังนี้

กฎหมาย เช่น ผู้ที่ถูกกล่าวหาทั้งหมดยังหาตัวไม่พบ รัฐดำเนินการตามตัว และจัดการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย อยู่ในกระบวนการสืบสวนหาตัว ให้กระบวนการยุติธรรมทำตามหน้าที่ เพราะผู้ถูกกล่าวหาก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องไปต่อสู้คดี ซึ่งยังไม่เคยได้ต่อสู้ ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมต้องจัดการและทำให้บรรลุผลให้เร็วที่สุด

ปัจจุบัน รัฐบาลมีการปรับวิธีการทำงานกับประชาชนพี่น้อง 4 จังหวัดภาคใต้ โดยรัฐมีการปรับวิธีคิดนโยบาย วิธีการทำงานต่างๆ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้ไม่ปรารถนาดีหยิบประเด็นนี้มาพูดให้เกินเลยไปจากความเป็นจริงที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดความไม่เข้าใจในหมู่ประชาชนแตกแยกกันไปมากขึ้น รัฐพยายามทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นลดลงด้วยการเจรจาอย่างสันติ โดยรัฐบาลพยายามปรับวิธีการอย่างสันติสุข มีตัวแทนคณะทำงานไปเจรจากับผู้ก่อการใน 3 จังหวัดภาคใต้ คุยและแก้ปัญหากันหลายครั้ง แต่ว่าข้อสรุปยังไม่ยุติ เพราะว่ามีปัญหามากกว่าที่ตนกล่าวมีปัญหาหลายๆ มิติที่ต้องแก้ไข

ทุกวันนี้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐปรับนโยบายต่างๆ ลดภาวะความรุนแรงให้มากที่สุด ทำให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กอ.รมน. ศ.อบต. ฯลฯ ยอมรับในความแตกต่างในการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม พยายามหาทางออกแบบนี้ในการทำงานร่วมกันต่อไป บางพื้นที่ที่มีความสงบเรียบร้อย พยายามลดเรื่องกฎอัยการศึกใน

อย่างไรก็ดี ตนไม่มีปัญหากับกระบวนการที่จะดำเนินคดีต่อ อยากให้กระบวนการยุติธรรมทำไป ตนกำชับกับตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ว่าให้ดำเนินการไป

สิ่งสำคัญคือ ความจริงใจ และเจตจำนงทางการเมือง

สส.พรรคประชาชน อภิปรายต่อในประเด็นเรื่องของการเสียชีวิตขาดอากาศหายใจ 78 คน ว่าจะทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องปกติ ไม่มีคนรับผิดชอบหรือ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกมองข้ามไปได้ ด้านหนึ่งตนเป็นประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ เพิ่งเดินทางไปประเทศมาเลเซียได้พูดคุยกับผู้อำนวยความสะดวกของทางฝั่งมาเลเซีย และพบว่าการแก้ปัญหาเรื่องชายแดนใต้สิ่งสำคัญคือ ความจริงใจ เจตจํานง และถ้าหากวันนี้ยังไม่สามารถมอบความจริงใจให้กับครอบครัวผู้ที่สูญเสียชีวิต เราจะเรียกอะไรว่า ความจริงใจ ความจริงใจไม่ได้สะท้อนออกผ่านจากคำพูด แต่สะท้อนผ่านการกระทำ รัฐบาลจะทำอย่างไร

รังสิมันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คดีตากใบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ภาคประชาชนที่ได้ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีเอง อีกกรณีเป็นคดีดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 เป็นอีกสำนวนหนึ่งคดีนี้ปรากฏว่าตำรวจมีความเห็นว่าไม่ควรสั่งฟ้อง รวมไปถึงส่งเรื่องไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ซึ่งผู้ว่าฯ ปัตตานีเห็นพ้องด้วย การดำเนินการในเรื่องนี้จะเป็นไปได้อย่างไร มากไปกว่านั้นกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมริเริ่มรื้อคดีใหม่อีกรอบเมื่อเดือน ม.ค. 2567 ปรากฏว่าเดือน เม.ย. จบแบบเดิมตำรวจไม่สั่งฟ้อง พอส่งไป อสส.ไม่เห็นด้วย เห็นแย้งสั่งให้แจ้งข้อหาใหม่ กระบวนการต่างๆ จึงต้องเริ่มใหม่

“ผมรับรู้ความเจ็บปวด ความโกรธของพี่น้องในพื้นที่ ผมไม่ใช่คนในพื้นที่ด้วยซ้ำ แต่ผมเห็นภาพ 6 ตุลาแล้ว มาเห็นภาพตากใบ ผมรับไม่ได้จริงๆ 20 ปี คนตายกันขนาดนี้ เราเหลือเวลาอีก 22 วัน กระบวนการของชั้นตำรวจที่ต้องแจ้งข้อหาใหม่เหลือเวลาแค่นี้ในการดำเนินการ และตำรวจในวันนี้อยู่กับใคร แล้วท่านจะบอกว่าเราจะมองอย่างสร้างสรรค์ไม่รู้สึกอะไรหรือ ท่านยังมีหัวใจหรือเปล่า ผมนึกไม่ออกเลยว่าสหายใหญ่ซึ่งเคยผ่านเหตุการณ์ลักษณะนี้ ผมรู้ดีว่า 6 ตุลาวันนี้ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ต้องทวงต่อไป แต่เราก็จะทำให้เหตุการณ์ตากใบเป็นแบบนี้ด้วยหรือ” รังสิมันต์ กล่าวพร้อมทิ้งท้ายว่าจะผลักดันดำเนินคดีให้จบสิ้นได้อย่างไร

รองนายกรัฐมนตรี ตอบว่า อารมณ์รุนแรงไม่ได้ช่วยแก้ไขความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้ทำให้ปัญหาภาคใต้ดีขึ้น ต้องใช้สติไม่ใช้อารมณ์ ตนยอมรับกับเหตุการณ์ที่เศร้าสลดเสียใจ ตนดูแลเยียวยาจ่ายเงิน เงินไม่ใช่เรื่องสำคัญ ตนเห็นด้วย แต่ว่ามันแสดงถึงการดูแล ความพยายามแก้ไข แต่กระบวนการทั้งหมดไม่ใช่ตำรวจอย่างเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกระบวนการทั้งหมด รายงานฉบับแรกของสถาบันนิติเวชที่พิจารณาผลออกมาแบบนั้นจริง เมื่อเป็นแบบนั้นสะท้อนว่าไม่มีใครตั้งใจ ผู้บังคับบัญชาต่างๆ ไม่ได้ตั้งใจ แต่ความรับผิดชอบจะต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามกระบวนการเป็นไปตามกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เร่งดำเนินการอยู่ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จะคลี่คลายให้เกิดความเป็นธรรมอย่างไรทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นญาติผู้เสียหาย ผู้เสียชีวิต และมีทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหา ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีส่วนที่ต้องรับผิดชอบจริงๆ หรือไม่ ทั้งหมดจะยุติได้เมื่อกระบวนการยุติธรรมดำเนินการถึงที่สุด

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net