Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชน-นักศึกษา-นักกิจกรรม 33 องค์กรเรียกร้องเจ้าหน้าที่ยุติดำเนินคดี 5 นักกิจกรรมชายแดนใต้ ปมจัดเสวนา-ทำประชามติจำลองกำหนดอนาคตตนเอง ชี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพ ด้านอัยการนัดส่งตัว 13 พ.ย. 2567

 

3 ต.ค. 2567 พนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี นัดส่งตัวนักศึกษานักศึกษาและนักกิจกรรม 5 คน ที่ถูกฟ้องดำเนินคดีจากการร่วมการจัดเสวนาการแสวงหาทางออกทางการเมืองและการกำหนดอนาคตตนเอง (Self-Determination) และทำกิจกรรมประชามติจำลอง ต่ออัยการจังหวัดปัตตานี แต่ทางอัยการนัดส่งตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 คนอีกครั้ง 13 พ.ย.นี้

ทั้ง 5 คน ประกอบด้วย 1. อาเต็ฟ โซ๊ะโก (ประธาน The Patani) 2. ฮากิม พงติกอ (เลขาธิการ The Patani) 3. อิรฟาร อูมา (ประธาน Pelajar Bangsa) 4. สารีฟ สะเเลมัน และ 5. ฮุซเซ็น บือแน

โดยทั้ง 5 คน ถูก พล.ท.ศานติ ศกุลตนาค อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ที่ฟ้องในข้อหาร่วมกันให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่น เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนของประชาชน, อั้งยี่, ซ่องโจร ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2566 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ถูกฝ่ายความมั่นคงมองว่าอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ แต่ฝ่ายผู้จัดมองว่า การนำเรื่องนี้มาพูดคุยเพื่อเปิดประเด็นการหาแนวทางออกทางการเมืองที่อาจช่วยลดความขัดแย้ง และให้ชุมชนในพื้นที่มีบทบาทในการกำหนดอนาคตของตนเอง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

คดีนี้นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจัดเป็น 1 ใน 14 คดีที่มีลักษณะการฟ้องร้องเพื่อปิดปากนักกิจกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ หรือคดี SLAPP คือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน (SLAPP : Strategic Lawsuit Against Public Participation) เป็นการฟ้องเพื่อปิดปากบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐหรือภาคเอกชน เพื่อให้เกิดสภาวะชะงักงันในการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือต้องการกลั่นแกล้ง หรือสร้างภาระให้บุคคลเหล่านั้น โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้ได้รับความยุติธรรมตามกฎหมายจริงๆ แต่ใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือปิดปาก

อาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani กล่าวว่า ที่ผ่านมามีคำถามมากมายต่อตำรวจ เพราะในช่วงกระบวนการสืบสวนสอบสวนพวกเราทั้ง 5 ได้อ้างพยานในฝ่ายเราเองเพื่อตอบคำถามจากทางตำรวจ สุดท้ายมีการเรียกคำถามกลับคืน ทำให้เราสับสนว่ากระบวนการเสร็จสิ้นแล้วหรือ ด่วนสรุปไปหรือเปล่าที่จะส่งอัยการ สรุป คือตอนนี้เองค่อนข้างชัดเจนว่าทางตำรวจยืนตรงข้ามกับเรื่องสิทธิที่เสรีภาพ อยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่เราทำเพราะเราคิดว่ามันชอบธรรมทั้งด้วยกฎหมาย ทั้งด้วยวิธีการทางการเมือง สุดท้ายก็อยู่ขึ้นอยู่อัยการจังหวัดปัตตานีว่าหลังจากนี้จะมีกระบวนการแบบไหนต่ออย่าง เช่น อาจจะเรียกพยานมาสอบถามเพิ่มเติมหรือไม่

ขณะที่ อิรฟาร อูมา ประธาน Pelajar Bangsa ยืนยันว่า ในส่วนของนักศึกษายืนยันมาตลอดถึงเสรีภาพทางวิชาการ และพร้อมที่จะสู้คดีต่อไป

นักกิจกรรม-นักศึกษา-ภาคประชาสังคม ขอให้ยุติการดำเนินคดี

ในวันเดียวกัน กลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษา และภาคประชาสังคม รวม 33 องค์กรได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้ยุติการดำเนินคดีกับนักศึกษาและประชาชน (คดีประชามติจำลองและอื่นๆ) โดยแถลงการณ์ระบุว่า ด้วยกรณีการดำเนินคดีกับนักศึกษาและนักกิจกรรม ที่จัดกิจกรรมเสวนาประเด็นสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองกับสันติภาพปาตานี โดยภายหลังการจัดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อนักศึกษาและนักกิจกรรมที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

"ทางนักกิจกรรมนักศึกษาและภาคประชาสังคม มีความกังวลอย่างยิ่งกับการดำเนินคดีความต่อนักศึกษานักกิจกรรมในพื้นที่ การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิเสรีภาพ และส่งผลกระทบตอบทบาทการบริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัย และเพื่อให้เป็นหมุดหมายสำคัญในการแสวงหาทางออกทางการเมืองจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปาตานี/จังหวัดชายแดนใต้ ทางนักกิจกรรมนักศึกษาและภาคประชาสังคมขอเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมนักศึกษาในลักษณะยับยั้งการมีสวนรวมของประชาชนทางการเมืองโดยเร็วที่สุด"

ด้วยความเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน

วันที่ 3 ตุลาคม 2567  

รายชื่อองค์กรร่วมลงนามในแถลงการณ์ครั้งนี้
1. Patanian Students Movement (Pelajar Bangsa)
2.พรรคกิจประชา (Kitpracha Party)
3.เครือข่ายเยาวชนอิสระปาตานี (Ikatan Remaja Independen Se-Patani)
4. พรรค ม.อ.ก้าวหน้า (PSU Forward Party)
5. ทะลุฟ้า
6. กอผือรื้อเผด็จการ
7. ตลาดเก่าก้าวหน้า
8. กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย
9. กลุ่มด้วยใจ
10. Nabavee
11. มูลนิธิภาคใต้สีเขียว
12. เครือข่ายนักวิชาการศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้
13. นิติซ้าย
14. ดาวดิน (Daodin Commoners)
15. Patani Artspace
16. We, The People
17. ฝ่ายส่งเสริมมนุษยธรรมสากลและประชาธิปไตย จุฬาลงกรณ์มหาลัย
18. กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้
19. เครือติดตามเฝ้าระวังโครงการพัฒนาปาตานี
20. DemHope (Democratic front for hope)
21. Realframe
22. ชมรมพ่อบ้านใจกล้า
23. CAP Woman and children
24. องค์กรเครือสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)
25. เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
26. โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
27. โครงการกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อชุมชน
28. กลุ่มนิเวศวัฒธรรมศึกษา
29. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
30. ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ (can)
31. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
32. กลุ่มสันติประชาธรรมพิทักษ์ประชาชน
33. แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม (United Front of Thammasat and Demonstration)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net