Skip to main content
sharethis

‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ กลายเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ของคนสังคม เพราะกลายมาเป็นผู้กำหนด ‘ดวงเมือง’ ที่มีบทบาทมากขึ้นทุกวัน 

ขณะเดียวกัน ‘รัฐธรรมนูญ 2560’ ของ ‘มีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะ’ กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ในการสกัดกั้นพรรคการเมือง นักการเมือง ตลอดจนรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ ‘ไม่พึงประสงค์’ หรือเป็น ‘ภัยคุกคาม’ แนวคิดหรือสถานะของชนชั้นนำ

ภายในเวลาปีกว่ากลไกทั้งหมดสามารถขวางการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคอันดับหนึ่ง ยุบพรรคก้าวไกล ปลดนายกฯ เศรษฐา ได้สำเร็จ และกำลังมีการชงเรื่อง ‘ล้มล้างการปกครอง’ อีก เตรียมไว้สำหรับพรรคเพื่อไทย 

เราจะเห็นได้ว่าเสถียรภาพของรัฐบาล หรือพรรคการเมืองนั้นอยู่ในระดับต่ำมาก ไม่ว่าจะเดินแนวทางอุดมคติหรือปฏิบัตินิยมทุกส่วนต่างก็ตกอยู่ในสภาพ ‘หวาดระแวง’ และติดขัดในการเดินหน้านโยบายสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างการเมือง

มองให้ไกลกว่านั้น นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประชาธิปไตยอายุ 92 ปี มีรัฐประหารไปแล้ว 13 ครั้ง นับแบบเฉลี่ยคือทำรัฐประหารกันทุก 7 ปี ‘ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์’ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เคยคำนวณชีวิตประชาธิปไตยไทยพบว่า นายกฯ ที่เป็นทหารกินเวลาไปแล้ว 2 ใน 3 เหลือให้บริหารระบอบประชาธิปไตยเลือกตั้งกันเพียงเล็กน้อย และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีรัฐบาลพลเรือนชุดไหนที่อยู่ได้ครบ 2 วาระเต็ม 

กลับมาที่ปัจจุบัน เหตุล่าสุด ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความคนสนิทของอดีตพุทธอิสระ ซึ่งมีผลงานโดดเด่นในการยื่นเรื่องจนนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกล ได้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ และพรรคเพื่อไทยกระทำการ 6 เรื่องแบ่ง 2 เรื่องหลัก - หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ , ทำลายระบบพรรคการเมือง มัดรวมแล้วเป็น ‘การล้มล้างการปกครองฯ’

ประเด็น ‘ล้มล้างการปกครองฯ’ นั้นเพิ่งมาฮิตในช่วงหลัง ทั้งการชุมนุม 10 สิงหาคม 2563 และการยุบพรรคก้าวไกลในปี 2567 ก่อนหน้านั้นก็มีคดีเช่นนี้ ในปี 2557 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหตุเกิดจากมีการเสนอสภาให้แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เปลี่ยน สว.สรรหา กลับไป สู่ สว.จากการเลือกตั้งทั้งหมด

ข้อวิจารณ์อันหนึ่งในทางกฎหมายตอนนั้นก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการรับคำร้อง เพราะบุคคลทั่วไปถ้าจะร้องเรื่องล้มล้างการปกครองฯ ต้องให้อัยการสูงสุดกลั่นกรองและอัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งก็ลอกเนื้อหามาจากรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ศาลรัฐธรรมนูญในเวลานั้นก็วินิจฉัยว่า อัยการสูงสุดเป็นเพียงผู้กลั่นกรอง แม้อัยการสูงสุดไม่ฟ้อง แต่ก็ไม่ตัดสิทธิผู้ร้องที่จะร้องตรง

ในเมื่อรัฐธรรมนูญเขียนไม่ชัด มีจุดโหว่ให้โดนวิจารณ์หนัก เมื่อมีโอกาสยกร่างรัฐธรรนูญ 2560 อีกครั้ง จึงได้ทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยกำหนดไว้เลยว่า 

“ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้”

เพียงเท่านี้ เราก็จะมีผู้ชงคดีล้มล้างการปกครองเพิ่มขึ้นได้อีกมากมาย แม้ท้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัย แต่อย่าลืมว่าศาลริเริ่มคดีเองไม่ได้ และแม้จะสั่งได้เพียงให้ ‘เลิกการกระทำ’ นั้น แต่มันคือสารตั้งต้นให้องค์กรอิสระอื่นๆ ที่มีอำนาจตามกฎหมายนำไปฟ้องต่อได้อีกอันจะนำไปสู่บทลงโทษต่างๆ

ในอีกด้านหนึ่ง ในเรื่อง ‘ละเมิดสิทธิและเสรีภาพโดยรัฐ’ เรื่องนี้แต่ก่อนคนทั่วไปก็ต้องไปร้องที่ศาลต่างๆ หรือหน่วยงานใดๆ ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นไม่ได้เปิดช่องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 เปิดช่องว่าคนทั่วไปก็ทำได้ แต่ต้องเป็นเรื่อง ‘บทบัญญัติทางกฎหมาย’ ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมเงื่อนไขว่าใช้ช่องทางอื่นจนหมดแล้ว กระทั่งรัฐธรรมนูญ 2560 จึงขยายไปถึง ‘การกระทำ’ ด้วย โดยระบุเหตุผลว่า เพื่อขยายการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

ดูแล้วน่าจะเป็นเรื่องดี แต่เมื่อทดลองใช้จริงก็จะพบว่ามันไม่ง่ายเช่นนั้น หลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ไม่กี่เดือน ไอลอว์ รายงานว่าประชาชนหลายกลุ่มใช้ช่องนี้ร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า คำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คนนั้นขัดรัฐธรรมนูญเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ แต่ก็ถูกปัดตกไปทั้ง 4-5 คำร้อง

ไม่มีข้อมูลว่าในกรณีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องตรงจากประชาชนมากแค่ไหน แต่เท่าที่เห็นหากเป็นประเด็นทางการเมือง ดูเหมือนคนที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจากรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เห็นจะมีแต่บรรดานักร้อง

นี่เป็นแต่ตัวอย่างเล็กๆ ว่าด้วย ‘ช่องทาง’ ความยากง่ายในการชงเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านการสรุปบทเรียนแล้วแก้ไขจุดอ่อนในรัฐธรรมนูญถึง 2 ครั้ง ยังไม่นับรวมการสรุปบทเรียนเพื่อบัญญัติเพิ่มอำนาจขององค์กรอิสระมากขึ้นเรื่อยๆ การกำหนดคุณสมบัติ สส. รัฐมนตรี เพื่อกีดกัน ‘คนไม่ดี’ ออกจากสมการการเมือง รวมถึงมาตรฐานจริยธรรมที่ถูกยกระดับในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งให้อำนาจวินิจฉัยอยู่ในดุลพินิจของฝ่ายตรวจสอบ

โมเดลในฝันของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ออกแบบ ‘ฝ่ายตรวจสอบที่เข้มแข็ง VS ฝ่ายบริหารที่แข็งแกร่ง’ ตอนนี้ดูเหมือนจะเอียงกระเท่เร่ ไม่ต้องบอกว่าเอียงไปทางไหน  

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net