Skip to main content
sharethis

ผู้ชุมนุม 'พีมูฟ' เดินทางไปประชุมติดตามความคืบหน้าแก้ไขปัญหาที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรฯ แต่ไม่สามารถกลับเข้าพื้นที่ได้ เพราะถูก ตร.กลับลำ ตั้งแนวรั้วสกัดกั้น ไม่แจ้งเหตุผล 

 

สืบเนื่องจากเช้าวันนี้ (16 ต.ค.) ตัวแทนสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้ประสานงานกับกระทรวงต่างๆ เพื่อไปประชุม โดยแยกกันไป 3 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง โดยที่ตำรวจรับปากว่าเมื่อกลับมาแล้วจะอนุญาตให้ผู้ชุมนุมกลับเข้าพื้นที่ตามเดิม

อย่างไรก็ตาม เพจเฟซบุ๊ก ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (16 ต.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. พบว่า ทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก หลังตัวแทนสมาชิกพีมูฟเดินทางกลับมาจากการประชุมในแต่ละกระทรวง กลับเจอแนวรั้วเหล็กของตำรวจพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตรึงกำลังหนาแน่น เพื่อสกัดกั้น ไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่ได้ โดยที่ทางตำรวจไม่มีการแจ้งล่วงหน้า และไม่ทราบว่าใช้อำนาจตามคำสั่งใด 

ผู้ชุมนุมพีมูฟ พยายามเจรจาให้เปิดทาง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยินยอม ผู้ชุมนุมจึงใช้รถเครื่องเสียงในการปราศรัยและสื่อสารกับผู้ชุมนุมที่อยู่ข้างทำเนียบรัฐบาล ให้ออกมาสมทบเพื่อกดดันเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้น ผู้ชุมนุมได้นำรั้วแผงเหล็กบางส่วนออก เพื่อให้รถสามารถเข้าไปด้านในได้ โดยมีมวลชนผู้ชุมนุมยืนเป็นแนวกั้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกชั้นหนึ่ง

ต่อมา หลังรถและผู้ชุมนุมเข้ามาบริเวณด้านในที่ชุมนุม ได้นำรถเครื่องเสียงมาปักหลักบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ และปักหลักปราศรัยต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมโล่กำบังตรึงกำลังอย่างหนาแน่น ซึ่งขณะนี้ (14.45 น.) ผู้ชุมนุมได้ถอนกำลังมายังบริเวณที่ชุมนุมหน้าประตู 3-4 ทำเนียบรัฐบาล

ทางพีมูฟได้รับข้อมูลจากผู้สังเกตการณ์ชุมนุมด้วยว่า เวลาประมาณ 12.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลดุสิตได้นำป้ายประกาศว่า "อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 7 วรรคท้าย "ห้ามผู้ใดชุมนุมในรัศมีห้าสิบเมตรรอบ ทำเนียบรัฐบาล" ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" มาติดบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ประตู 3 และท้ายบริเวณชุมนุม โดยที่ไม่ได้ชี้แจงว่า การติดประกาศเป็นไปตามอำนาจคำสั่งใด

ทั้งนี้ ทางพีมูฟ ยืนยันว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นไปโดยสันติวิธี และมีกระบวนการขั้นตอนในการขออนุญาตที่ชัดเจน การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำเช่นนี้ถือว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการชุมนุม และพีมูฟยืนยันจะปักหลักชุมนุมยืดเยื้อต่อไปจนกว่าข้อเรียกร้องจะบรรลุ

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานที่ปรึกษาพีมูฟ ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้กำกับ สน.ดุสิต รับปากกับผู้ชุมนุม และกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าจะยุติการปิดล้อมผู้ชุมนุมพีมูฟ ตั้งแต่เมื่อช่วง 18.00-19.00 น. แต่ปรากฏว่าตำรวจยังคงตั้งแนวรั้วสกัดรถของผู้ชุมนุม และตำรวจตอบผู้ชุมนุมว่าจะไปหารือกับผู้บังคับบัญชาเหตุการณ์เพื่อถอนแนวรั้วในเช้าวันถัดมา 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน แนวรั้วของตำรวจยังคงอยู่

ข้อเรียกร้อง 'พีมูฟ'

พีมูฟ มาปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก และที่คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.เป็นต้นมา โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย

1. กลไกคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพื่อเป็นกลไกในการกำกับ เร่งรัด และติดตาม โดยมีแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และสองรองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน คือ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และประเสริฐ จันทรรวงทอง พร้อมด้วยองค์ประกอบของภาคประชาชนและฝ่ายข้าราชการประจำ

2. เมื่อได้กลไกคณะกรรมการดังกล่าวแล้ว จะต้องมีการเปิดประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2567 เพื่อหารือถึงหลักการและแนวทางในการแก้ไขปัญหา กรณีปัญหาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาจากกลไกคณะกรรมการชุดเดิม เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาต่อในคณะกรรมการชุดใหม่

3. นำผลการประชุมเจรจาและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ให้นำเข้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีมติรับทราบ และเห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ พีมูฟ ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ด้าน ประกอบด้วย

1. ด้านสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีบทบัญญัติกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ขอให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกกระบวนการทุกขั้นตอน

2. ด้านการกระจายอำนาจ ขอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง แทนการแต่งตั้งจากส่วนกลาง เพื่อปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3. ด้านนโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ขอให้เร่งออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ

4. ด้านนโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ขอให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า

5. ด้านนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ขอให้ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าและแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพราะการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้มีการละเมิด คุกคามชีวิตทรัพย์สินและส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินป่าทั่วประเทศ

6. ด้านการป้องกันภัยพิบัติ ขอให้มีคณะกรรมการส่งเสริมระบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชนในการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การช่วยเหลือระหว่างเกิดเหตุ และการฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดเหตุ

7. การคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์ เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อชุมชนและชาติพันธุ์ในทุก ๆ ด้าน ขอให้เร่งลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชุมชนกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ….

8. ด้านสิทธิของคนไร้สถานะ แต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะเป็นกรรมการกลางที่มีผู้ทรงคุณวุฒิมีภาคประชาชนที่มีประสบการณ์เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน

9. ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ โดยเสนอนโยบายและสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ

และ 10. ด้านที่อยู่อาศัย โดยให้รัฐจัดสรรที่ดินให้ประชาชนอยู่อาศัย จัดสรรงบประมาณแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย หยุดใช้มาตรการไล่รื้อชุมชน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net