Skip to main content
sharethis

ประชาชนรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดติดตามจับกุมตัวผู้เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมประชาชนในตากใบเมื่อปี 2547 มาขึ้นศาล ต้องยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ อาจกระทบการสร้างสันติภาพ รัฐบาลต้องจริงจังแก้ปัญหา

15 ต.ค.2567 เวลา 19.00 น. ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน เครือข่ายภาคประชาสังคม 49 องค์กร พร้อมประชาชนประมาณ 60 คน ทำกิจกรรม “ตากใบต้องไม่เงียบ” เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดติดตามตัวจำเลยในคดีสลายการชุมนุมประชาชนที่ อ.ตากใบ นราธิวาสเมื่อ 25 ต.ค.2547

มูฮัมหมัดกัสดาฟี กูนา จากกลุ่ม The Patani  กล่าวในฐานะตัวแทนกลุ่มว่า พวกตนเดินทางมาไกลเป็นพันกิโลเมตรเพื่อสื่อสารให้คนทั้งประเทศได้รับทราบว่าปัญหาความยุติธรรมกรณีคดีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบเมื่อปี 2547 ที่ใกล้จะหมดอายุความในอีก 10 วันข้างหน้า มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

มูฮัมหมัดกัสดาฟี กูนา

ตัวแทน The Patani กล่าวต่อว่าเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ต้องจริงจังที่จะนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จำเลยที่เป็นชนชั้นนำของประเทศก็จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการด้วย ถ้ารัฐบาลนำตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษไม่ได้ก็จะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาสันติภาพ พวกเขาจึงอยากเห็นรัฐบาลจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาเป็นบรรทัดฐานและความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าอาชญากรรมที่เกิดโดยรัฐจะต้องถูกลงโทษ รวมถึงการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ด้วย

มูฮัมหมัดกัสดาฟี แสดงความเห็นต่อกรณี พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรีลาออกจากพรรคเพื่อไทยว่า แม้ว่าจะลาออกจาก สส.แล้วก็ต้องรับผิดชอบตามกระบวนการยุติธรรม อยากให้คนทั้งประเทศเรียกร้องให้จำเลยทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แม้กระทั่งฝ่ายการต่างประเทศหรือนายกรัฐมนตรีก็ต้องสื่อสารเรียกความเชื่อมั่นให้ได้ และจะเรียกความเชื่อมั่นในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ด้วย

ตัวแทนจาก The Patani กล่าวถึงกรณีนำตัวผู้ก่อเหตุมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อนคดีหมดอายุความไม่ได้ว่า ชื่อของบรรดาผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นจะไม่หายไปจากความทรงจำของประชาชนในพื้นที่และเป็นรอยแผลที่จะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในอนาคตต่อไป รัฐบาลจะต้องจริงจังในเรื่องนี้เพื่อสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศการทำกิจกรรมในวันนี้ มีการนำรายชื่อผู้เสียชีวิต จำนวน 85 คน มาไว้วางเป็นสัญลักษณ์ สันติภาพให้ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมวางดอกไม้บนรายชื่อผู้เสียชีวิต ก่อนตัวแทนเครือข่าย 49 องค์กรจะอ่านแล้วยุติการชุมนุมในเวลา 19:30 น.

แถลงการณ์ "ตากใบต้องไม่เงียบ"

ฉบับที่ 1 วันที่ 15 ตุลาคม 2567

จากเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ถือเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐที่ร้ายแรงครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การสลายการชุมนุมทางการเมืองของประเทศไทยที่มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรณีตากใบมีผู้เสีย ชีวิตรวมทั้งสิ้น 85 คน อันส่งผลกระทบอย่างมากต่อความรู้สึก ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมและความเชื่อใจในระบบการเมืองไทยของผู้คนในพื้นที่ปาตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้

โศกนาฏกรรมตากใบเหลือเวลาอีกเพียง 10 วันจะครบรอบ 20 ปี นั่นหมายถึงคดีความตากใบกำลังจะสิ้นสุดอายุความโดยที่ไม่มีผู้ใดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาผู้เสียหายในเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบจำนวน 48 คนได้พยายามรวบรวมความกล้าหาญท่ามกลางความยากและซับซ้อนในการทวงคืนความยุติธรรมต่อเหตุการณ์ที่มีอำนาจรัฐเป็นผู้เกี่ยวข้อง ในบริบทปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ เพื่อเข้าไปร่วมแจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุม ณ เวลานั้น

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้ประทับรับฟ้องจำเลยจำนวน 7 คน แต่จำเลยทั้ง 7 คนไม่ได้มาตามนัด ศาลจึงพิจารณาออกหมายจับ

ต่อมาศาลจังหวัดนราธิวาส มีนัดสอบคำให้การในวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ผู้เสียหายจะเข้าถึงความยุติธรรม ปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดไม่ได้มาตามนัด ศาลจังหวัดนราธิวาสจึงไม่สามารถดำเนินการพิจารณาคดีต่อได้ ศาลจังหวัดนราธิวาส จึงนัดหมายอีกครั้งในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 เพื่อสรุปคดีหรือลงคำสั่งศาลในครั้งสุดท้าย

ผู้เสียหายและพี่น้องประชาชนรู้สึกผิดหวังต่อรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและตั้งคำถามถึงความพยายามในการจับกุมจำเลยทั้งหมดมายังศาลจังหวัดนราธิวาส หากคดีต้องสิ้นสุดอายุความลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 นี้ โดยไม่สามารถจับกุมเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำต่อประชาชน จะส่งผลด้านลบในระยะยาวต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงเป็นบรรทัดฐานสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทยภาพรวม

เครือข่าย "ตากใบต้องไม่เงียบ" ขอร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเร่งดำเนินการประสานงานทางการทูตต่อประเทศญี่ปุ่น ประเทศอังกฤษและประเทศ อื่นๆที่คาดว่าจำเลยหลบหนีการจับกุม เพื่อนำตัวกลับมาดำเนินคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ทันก่อนคดีจะสิ้นสุดอายุความ รวม ถึงขอให้รัฐบาลเพิ่มความพยายามในการดำเนินการเพื่อคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียหายจากโศกนาฏกรรมตากใบต่อไป

"ยุติอาชญากรรมรัฐ ยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด"

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net