Skip to main content
sharethis
  • ‘พิพัฒน์’ เสนอเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จาก 1,000 เป็น 3,000 บาทต่อเดือน เฉพาะผู้ประกันตนชาวไทย ม.33 โดยมีเงื่อนไขต้องส่งบุตรไปเลี้ยงที่ชนบท หวังกระตุ้นการมีบุตรในคนไทยเพิ่ม
  • หลังก่อนหน้านี้ บอร์ดประกันสังคม เห็นชอบเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร สำหรับผู้ประกันตน ม.33-39 จากเดิม 800 บาทต่อเดือน เป็น 1 พันบาทต่อเดือน ระยะเวลา 6 ปี เหลือแค่ประกาศกฎกระทรวง เริ่ม ม.ค. 68 

16 ต.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (16 ต.ค.) ศิววงศ์ สุขทวี คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ฝ่ายผู้ประกันตน เผยว่า กองทุนประกันสังคมมีนโยบายเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร (เงินเลี้ยงดูบุตร) ผู้ประกันตนเฉพาะชาวไทย มาตรา 33 และ 39 จากเดิม 800 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 ปี ซึ่งขั้นตอนผ่านการอนุมัติจากบอร์ดประกันสังคมแล้ว แต่ยังอยู่ในระหว่างการประกาศกฎกระทรวง คาดว่าเริ่มบังคับใช้ปี 2568

สืบเนื่องจากพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอว่าให้เพิ่มเงินเลี้ยงดูบุตรต่อเดือน จากเดิม 1,000 บาท เป็น 3,000 บาทต่อเดือน โดยมีเงื่อนไข 2 ข้อ เฉพาะผู้ประกันที่มีสัญชาติไทย และต้องส่งลูกกลับไปเลี้ยงดูที่ชนบท

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องตั้งเงื่อนไขส่งบุตรกลับไปเลี้ยงที่ชนบทว่า สังคมชนบทได้เปรียบ เพราะต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรในชนบทถูกกว่า เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างจากชนบทกลับเข้ามาสู่เมือง เราจะสร้างจากเมืองไปสู่ชนบทยาก เราพยายามรณรงค์ให้สังคมชนบทเข้ามาสู่เมืองโดยผ่านผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งอยู่ทํางานในเมือง แต่ขอให้ผู้ประกันตนมีบุตร และนําบุตรไปให้กับปู่ย่าหรือตายายเลี้ยงในสังคมชนบท ก็จะได้สิทธิในการเลี้ยงดูบุตรจาก 1,000 บาทเพิ่มเป็น 3,000 บาททันที

ศิววงศ์ มองว่า เขามีข้อกังวล 2 จุด คือ เรื่องแรกฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัยของประกันสังคม ให้ความเห็นว่าเงินเลี้ยงดูบุตรยังพอปรับขึ้นมาได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อเงินในกองทุนประกันสังคมระยะยาว แต่การเพิ่มจาก 1,000 บาทเป็น 3,000 บาทต่อเดือน แน่นอนว่ากรรมการประกันสังคมเห็นด้วย แต่ต้องมีมาตรการนำเงินมาเติมในกองทุนฯ ไม่อย่างงั้นกองทุนประกันสังคมจะเสี่ยงล้มละลาย

คณะกรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน เสนอว่า โดยปกติ ที่มาของกองทุนประกันสังคม มาจากเงินสมทบทุน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายรัฐ ดังนั้น เขาเสนอว่าทำไมรัฐไม่เพิ่มเงินสมทบทุนสัดส่วนของรัฐบาล เพื่อนำมาทำนโยบายเงินสงเคราะห์บุตร

"จากเดิม 2.5 เปอร์เซ็นต์ ก็ปรับเพิ่มเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนที่เท่ากันทั้งนายจ้าง ผู้ประกันตนไปเลย ไม่ใช่ใช้เงินของผู้ประกันตนกับนายจ้างฝ่ายเดียว" ศิววงศ์ กล่าว

ศิววงศ์ กล่าวว่า ข้อ 2 การตั้งเงื่อนไขเช่นนี้อาจสร้างมาตรฐานการเลือกปฏิบัติใหม่ขึ้นมาหรือไม่ และข้อ 3 น่าจะพิจารณาปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรโดยไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขส่งบุตรกลับไปเลี้ยงดูที่ชนบท โดยเปิดช่องทางให้ผู้ประกันตนเลือกเองว่าจะส่งหรือไม่ส่งบุตรกลับไปเลี้ยงดูที่ชนบท 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net