Skip to main content
sharethis

ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงแรงงานไต้หวันเผยจำนวนแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 270,000 คนในรอบ 10 ปี คาดทะลุ 800,000 คน เมื่อเดือน ก.ย. ภาคการผลิตนำเข้ามากที่สุด ขณะที่แรงงานไทยร่วงจากอันดับ 1 สู่อันดับ 4 เหลือเพียง 72,225 คน ท่ามกลางวิกฤตสังคมผู้สูงอายุและการขาดแคลนแรงงานในไต้หวัน ชี้จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างชาติอย่างมีประสิทธิภาพ


แรงงานต่างชาติในไต้หวัน | ที่มาภาพ: Radio Taiwan International

20 ต.ค. 2567 Radio Taiwan International รายงานว่า ข้อมูลล่าสุดของกระทรวงแรงงาน ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2567 ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติในไต้หวัน 799,196 คน อีก 804 คนก็จะทะลุหลัก 800,000 คน เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 271,633 คน โดยในช่วง 10 ปีมานี้ นายจ้างภาคการผลิตมีการนำเข้าแรงงานต่างชาติเพิ่มมากที่สุด 242,180 คน ขณะที่ภาคสวัสดิการสังคมหรือผู้อนุบาลเพิ่มขึ้นเพียง 29,453 คน เนื่องจากไต้หวันกำลังประสบวิกฤตเด็กเกิดน้อย คนสูงอายุเพิ่มมากขึ้น กำลังจะเข้าสู่สังคมชราภาพระดับสุดยอดในปีหน้า กล่าวคือผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปมีอัตราส่วนเกิน 20% ประกอบกับโครงสร้างงานแปรเปลี่ยนไป รวมถึงหลังสถานการณ์โควิด-19 เบาบางลง ทุกสาขาอาชีพประสบภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมดั้งเดิมหาคนงานเข้าทำงานไม่ได้ แม้แต่ภาคบริการก็มีปัญหาขาดแคลนแรงงานเช่นกัน ดังนั้น การใช้กำลังแรงงานจากต่างประเทศเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงดูเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ไต้หวันเริ่มเปิดนำเข้าแรงงานต่างชาติเมื่อปี 2532 หรือเมื่อ 35 ปีที่แล้ว โดยทยอยเปิดให้อุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ เช่นภาคการผลิต ก่อสร้าง เกษตร ประมง ในภาคสวัสดิการสังคม ได้แก่ผู้อนุบาลในองค์กรและในครัวเรือน นำเข้าแรงงานต่างชาติ ส่งผลให้แรงงานต่างชาติมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง จนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2567 มีจำนวน 799,196 คน คาดว่าสิ้นเดือน ก.ย. จะทะลุหลัก 800,000 คน อย่างแน่นอน โดยในจำนวนนี้ เป็นแรงงานจากอินโดนีเซียมากที่สุด 293,938 คน ตามด้วยแรงงานเวียดนาม 276,561 คน อันดับ 3 ได้แก่แรงงานฟิลิปปินส์ 156,470 คน ส่วนแรงงานไทยซึ่งเคยครองแชมป์จำนวนมากสุดตั้งแต่เริ่มเปิดนำเข้าแรงงานต่างชาติ ช่วงที่มีจำนวนมากสุดคือเมื่อปี 2544 มีแรงงานไทยทำงานอยู่ในไต้หวันร่วม 150,000 คน จากนั้นลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง และเสียแชมป์ให้แก่แรงงานอินโดนีเซียในปี 2550 จนถึงสิ้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา มีจำนวน 72,225 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากช่วงต่ำสุด 57,000 คนในปี 2559

ภาคการผลิตนำเข้าแรงงานต่างชาติมากที่สุด 554,602 คน หากจำแนกตามประเภทกิจการ โรงงานอุตสาหกรรมมีการว่าจ้างแรงงานต่างชาติ 481,999 คน ประกอบด้วยกิจการที่เป็นงานหนัก สกปรกและอันตราย หรือที่ไต้หวันเรียกตามระบบญี่ปุ่นว่ากิจการ 3K จำนวน 351,292 คน โควตาพิเศษที่เปิดให้นายจ้างซื้อเพิ่มได้ 129,802 คน โควตาพิเศษสำหรับนักลงทุนที่กลับมาลงทุนในมาตุภูมิ 905 คน โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ 26,627 คน โครงการก่อสร้างทั่วไปภาคเอกชน 6,303 คน ลูกเรือประมง 12,684 คน โรงฆ่าและชำแหละเนื้อสัตว์ 2,305 คน ภาคการเกษตร 9,187 คน ส่วนภาคสวัสดิการสังคมมีจำนวน 244,564 คน แบ่งเป็นผู้อนุบาลในครัวเรือน 223,369 คน ผู้อนุบาลในองค์กร 19,068 คนและผู้ช่วยงานบ้าน 2,157 คน

แรงงานเวียดนามทำงานในภาคการผลิตมากที่สุด 248,493 คน ตามด้วยแรงงานฟิลิปปินส์ 129,885 คน อันดับ 3 แรงงานอินโดนีเซีย 104,359 คน ส่วนแรงงานไทยมี 71,863 คน แบ่งเป็นเพศชาย 61,026 คนและเพศหญิง 10,837 คน แรงงานไทยเพศชายอัตราส่วน 84.9% ส่วนเพศหญิง 15.1% ส่วนภาคสวัสดิการสังคม แรงงานจากอินโดนีเซียนำโด่ง 189,579 คน คิดเป็นอัตราส่วน 77.5% ตามด้วยเวียดนาม 28,068 คน ฟิลิปปินส์ 26,585 คน ส่วนแรงงานไทยที่มาทำงานในตำแหน่งผู้อนุบาลมีเพียง 318 คน แบ่งเป็นเพศหญิง 362 คน ผู้ชาย 44 คน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net