Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบกฎกระทรวงประกอบ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1.กฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตและการประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ซึ่งเป็นกฎหมายสำหรับออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาตประกอบกิจการร้านเกม ร้านวีดิทัศน์

รวมทั้งกำหนดระยะเวลาในการเวลาเล่นเกม และการใช้บริการร้านเกมของเด็ก ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้าใช้บริการวันจันทร์ถึงวันศุกร์ได้ตั้งแต่เวลา 14.00-20.00 น. และในวันหยุดราชการหรือในระหว่างปิดภาคการศึกษา ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น. ตามระยะเวลาที่นายทะเบียนกลางของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ประกาศกำหนด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า เด็กอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 18 ปี เข้าใช้บริการวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ได้ตั้งแต่เวลา 14.00-22.00 น. และในวันหยุดราชการหรือในระหว่างปิดภาคการศึกษา ตั้งแต่เวลา 10.00-22.00 น. ตามระยะเวลาที่นายทะเบียนกลางประกาศกำหนด

อย่างไรก็ตาม กรณีคัดค้านการตัดเนื้อหาไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เล่นเกมเกินวันละ 3 ชั่วโมง ออกจากกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวด้วย ซึ่งได้ชี้แจงต่อ ครม.แล้วและพยายามขอเพิ่มบทเฉพาะกาล 180 วัน เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศ และจัดทำเทคนิคสำหรับกำหนดไม่ให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี เล่นเกมเกิน 3 ชั่วโมง แต่ ครม.เห็นว่าควรกลับไปพัฒนาระบบให้เสร็จสิ้นก่อน จึงค่อยเสนอแก้ไขกฎกระทรวงภายหลัง ดังนั้นกระทรวงวัฒนธรรมจะเร่งพัฒนาระบบโปรแกรมดังกล่าว และจะประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อร่วมพัฒนาระบบ และเมื่อระบบดังกล่าวเสร็จตนจะนำเสนอขอแก้ไขกฎกระทรวงอีกครั้ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การแก้ปัญหาเด็กติดเกมคิดว่าควรใช้มาตรการทางสังคมโดยให้แต่ละตำบล แต่ละจังหวัด จัดระเบียบร้านเกมให้เป็นร้านเกมสีขาว รวมถึงชุมชน โรงเรียน และครอบครัว ช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เด็กติดเกมจะเป็นผลดีมากกว่าการบังคับให้เด็กเล่นเกม 3 ชม. อย่างไรก็ตามที่วธ. เสนอปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เกี่ยวกับการกำหนดประเภทของเกม จะมีการเพิ่มมาตรา 47/1 กำหนดด้วยว่า เกมการเล่นดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทใด ดังต่อไปนี้ 1.เกมที่เหมาะสมกับผู้เล่นทุกวัย 2.เกมที่เหมาะสมกับผู้เล่นอายุตั้งแต่ 3 ถึง 5 ปี 3.เกมที่เหมาะสมกับผู้เล่นอายุตั้งแต่6 ถึง 12 ปี 4.เกมที่เหมาะสมกับผู้เล่นอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป 5.เกมที่เหมาะสมกับผู้เล่นอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 6.เกมที่เหมาะสมกับผู้เล่นอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และ 7.เกมที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเล่น จะเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป

วธ.จัดร่างเรตติ้งหนังเสร็จแล้ว มี 7 ประเภท

นายธีระ กล่าวอีกว่าส่วนฉบับที่ 2 คือ กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดประเภทภาพยนตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายสำหรับการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ โดยจะแบ่งภาพยนตร์เป็น 7 ประเภท ดังนี้ 1.ภาพยนตร์ส่งเสริมการเรียนรู้ และควรส่งเสริมให้ดู 2.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป 3.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป 4.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 5.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป 6.ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู และ 7.ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร

ทั้งนี้ กฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ จะสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้คาดว่ากลางเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากนั้นภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์จะต้องเข้าสู่กระบวนการจัด เรตติ้งทั้งหมด

“สำหรับสัญลักษณ์ที่จะใช้จัดเรตติ้งติดหน้าโรงภาพยนตร์ ขณะนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการจัดทำเสร็จแล้ว โดยมีทั้งหมด 6 สัญลักษณ์ (1)“ส” ส่งเสริม มีข้อความว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ส่งเสริมการเรียนรู้และส่งเสริมให้มีการดู (2)“ท” ทั่วไป ข้อความว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป (3)“น 13+” ข้อความว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป (4)“น 15+” มีข้อความว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (5) “น 18+” ข้อความว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และ (6.) “ฉ 20+” ข้อความว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ห้ามผู้มีอายุต่ำว่า 20 ปีดู อย่างไรก็ตาม ตนจะนำสัญลักษณ์ดังกล่าวเสนอให้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติที่ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาเห็นชอบกลางเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นก็จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

ปัดสาวโอเกะนั่งดริ้งมท.ดู

ส่วนกรณีการควบคุมร้านคาราโอเกะที่ห้ามมีเด็กนั่งดริ๊งนั้น นายธีระกล่าวว่า หลายฝ่ายเข้าใจว่าอยู่ในส่วนความรับผิดชอบของวธ.นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะกฎหมายที่ดูแลร้านคาราโอเกะมี 2 ฉบับ ฉบับแรกอยู่ในการดูแลของ มท. เกี่ยวกับการควบคุมร้านคาราโอเกะที่มีสาวนั่งดริ้ง ส่วนฉบับที่ วธ.ดูแลจะควบคุมเฉพาะคาราโอเกะหยอดเหรียญตามห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารทั่วไปที่ไม่มีสาวนั่งดริ้ง ซึ่งขณะนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) สำรวจจำนวนร้านคาราโอเกะที่อยู่ในความดูแลของ วธ.ว่า มีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อจะได้ดำเนินการจัดระเบียบต่อไป

 

ที่มาภาพ: สยามรัฐ

ที่มา: เรียบเรียงจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ และเว็บไซต์สยามรัฐ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net