Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ: http://www.pol.ubu.ac.th


โดยปกติแล้วเราเชื่อกันว่าประชาธิปไตยทำให้สังคมอยู่ในสภาวะสันติ เหตุผลคือสังคมเต็มไปด้วยความหลากหลาย หลากหลายทางความคิด หลากหลายทางผลประโยชน์ หลากหลายทางชนชั้น หลากหลายทางความสัมพันธ์ ถ้าคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดผูกขาดอำนาจเหนือคนกลุ่มอื่น ก็เท่ากับคนกลุ่มนั้นยึดผลประโชน์ตัวเองเหนือผลประโยชน์คนอื่น ยึดความคิดตัวเองเหนือความคิดคนอื่น ยึดค่านิยมตัวเองข่มค่านิยมคนอื่น ผลคือคนกลุ่มอื่นย่อมไม่พอใจ กลุ่มที่มีศักยภาพสู้ได้ ก็ต้องเริ่มต่อต้านและสร้างความขัดแย้งแบบต่างๆ เว้นแต่ว่ากลุ่มที่ผูกขาดอำนาจจะใช้อำนาจแบบเผด็จการและกำลังรุนแรงไปจัดการอีกฝ่าย การผูกขาดอำนาจจึงนำไปสู่การต่อต้านอำนาจ หรือพูดอีกแบบคือนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม

ยิ่งผูกขาดอำนาจมาก การต่อต้านก็จะยิ่งรุนแรงมาก ในบางกรณีอาจรุนแรงจนนำไปสู่การจลาจล สงครามกลางเมือง การจับอาวุธ และการปฏิวัติ

ถ้าคิดแบบนี้ ประชาธิปไตยย่อมคู่กับการไม่ใช้ความรุนแรง ขณะที่การผูกขาดอำนาจย่อมคู่กับความรุนแรง หรือพูดอีกอย่างคือถ้ามีประชาธิปไตย ก็จะไม่มีความรุนแรง ถ้ามีการผูกขาดอำนาจ ก็จะมีความรุนแรง หรือพูดแบบเล่นสำนวนก็คงได้ว่าสังคมไหนมีความรุนแรง สังคมนั้นไม่ใช่สังคมประชาธิปไตย และถ้าพูดแบบคนที่ใช้ประชาธิปไตยเป็นสำนวนโวหารก็คงได้อีกว่าเพราะผม และ/หรือ รัฐบาลชุดนี้เป็นประชาธิปไตย ผม และ/หรือ รัฐบาลชุดนี้จึงไม่มีวันใช้ความรุนแรงกับประชาชน

ประชาธิปไตยแยกขาดจากความรุนแรงได้มั้ย? ถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้วจะไม่มีความรุนแรงจริงหรือ? ถ้าจะคุยเรื่องนี้ก็ต้องเริ่มก่อนว่าความรุนแรงคืออะไร

โดยพื้นฐานแล้วเรามักคิดว่าความรุนแรงคือการใช้อาวุธทำร้ายร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้อื่น การชุมนุมที่รุนแรงคือการชุมนุมที่มีการพกอาวุธทำลายทรัพยสินและร่างกายผู้อื่น แต่ถ้าคิดแบบนี้ การสลายการชุมนุมของรัฐบาลเมื่อวันที่ 13 เม.ย. ก็จะเป็นการไม่ใช้ความรุนแรง เพราะอ้างได้ว่าโดยภาพรวมแล้วไม่มีการใช้เจ้าหน้าที่ถือปืนหรือกระบองไปไล่ยิงไล่ทำร้ายไล่ฆ่าประชาชน

คำถามคือมีคนสติดีที่ไหนบ้างคิดว่าวันที่ 13 เม.ย. ไม่เกิดความรุนแรง

เราอาจย้อนไปทบทวนเรื่อง 13 เม.ย. เพื่อคุยเรื่องความรุนแรงกันก็ได้ เหตุการณ์ในวันนั้นคือมีการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีความวุ่นวายเกิดขึ้นบางจุด แต่โดยส่วนใหญ่ของผู้ชุมนุมที่หน้าทำเนียบคือผู้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่รัฐบาลอ้างเหตุจากความวุ่นวายบางจุดไปสั่งกำลังทหารให้ปิดล้อมผู้ชุมนุมทั้งหมด ทหารที่พกพาอาวุธสงคราม มาพร้อมกับรถจีเอ็มซี ลวดหนาม เคลื่อนกำลังยามวิกาล ฯลฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่ราวกับผู้ชุมนุมเป็นศัตรูของชาติ ปิดล้อมผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สี่ห้าทุ่มถึงเช้า ทหารที่ใช้อาวุธสงครามขู่จนผุ้ชุมนุมต้องยุติการชุมนุม

ขณะที่รัฐบาลบอกว่า 13 เม.ย.ไม่รุนแรง ผู้ชุมนุมหลายคนร้องไห้ กลัว เคียดแค้น เพราะเห็นว่ารัฐบาลทำเหมือนพวกเขาไม่ใช่มนุษย์ ความรุนแรงในสายตาผู้ชุมนุมไม่ใช่เรื่องของการยิงหรือการใช้อาวุธทำร้าย แต่แค่การใช้อาวุธข่มขู่ให้ผุ้ชุมนุมต้องเลิกชุมนุม แค่นี้ก็ถือว่าเป็นความรุนแรง

ประเด็นนี้สำคัญ เพราะความรุนแรงไม่ได้หมายถึงแค่การใช้อาวุธทำร้าย การใช้อาวุธทำร้ายเป็นประเภทหนึ่งของวิธีใช้ความรุนแรง ซึ่งมีอีกหลายวิธี ไม่ใช้อาวุธก็ได้ ใช้บ้างไม่ใช้บ้างก็ได้ แต่สาระสำคัญคือมีการข่มขู่ให้คนรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องยุติความเชื่อ ยุติการกระทำต่างๆ เพื่อแสดงออกถึงความเชื่อของพวกเขา ความรุนแรงคือการข่มขู่ให้คนเราละทิ้งความเชื่อของเรา คือการข่มขู่ให้เราทำลายความเป็นมนุษย์ของตัวเราเอง คือการทำลายศักดิ์ศรีของคน

มีคนศึกษาเรื่องความรุนแรงเยอะแยะที่พบว่าความรุนแรงมีความหมายกว้างกว่าการใช้กำลัง ระบบกฎหมายก็เป็นความรุนแรงได้ ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ค่านิยมบางอย่าง ก็เป็นความรุนแรงได้ทั้งนั้น กฎหมายเป็นความรุนแรงได้เพราะกฎหมายในบางสังคมไม่ได้เกิดเพื่อรักษาความยุติธรรม แต่เกิดเพื่อเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ มีวัตถุประสงค์บางอย่างซ่อนเร้น การบังคับใช้กฎหมายแบบนี้จึงเป็นความรุนแรงตั้งแต่ต้น การบอกให้คนทำตามกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง ไม่ใช่ทุกเรื่องเสมอไปที่การทำตามกฎหมายจะทำให้เกิดความยุติธรรม

อย่าลืมว่าเราอยู่ในสังคมที่การแสดงความเห็นบางเรื่องถูกลงโทษรุนแรงกว่าการฆ่าคนหรือทำร้ายผู้อื่น ทั้งที่ธรรมชาติของการแสดงความเห็นไม่ควรเป็นความผิด หรือถ้าผิด ก็ไม่ควรถูกลงโทษรุนแรงกว่าพวกที่ฆ่าคน

ระบบการเมืองก็เป็นความรุนแรงได้ ระบบการเมืองบางแบบทำงานบนการแบ่งคนในสังคมเป็นฝ่าย ใช้ฝ่ายหนึ่งเผชิญหน้าอีกฝ่าย ใช้กลไกรัฐ ทหาร ตำรวจ เป็นเครื่องมือในการทำให้ฝ่ายที่ไม่ใช่พวกกลายเป็นพลเมืองชั้นสองทางการเมือง ระบบการเมืองบางแบบเป็นประชาธิปไตยบางระดับเฉพาะเท่าที่จำเป็นต้องเป็น เพื่อไม่ให้ฝืนกระแสโลก เพื่อความยอมรับ หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ในที่สุดแล้วสงวนอำนาจสูงสุดทางการเมืองไว้ที่คนอีกกลุ่มที่มีจำนวนหยิบมือเดียว คนส่วนใหญ่ไปเลือกตั้งได้ แต่ผลการเลือกตั้งไม่สำคัญต่ออำนาจการเมือง

ระบบเศรษฐกิจเป็นความรุนแรงได้มั้ย คำตอบคือได้ เศรษฐกิจบางแบบทำให้คนบางกลุ่มบางชนชั้นเป็นคนจนไม่มีสิ้นสุด ยิ่งเศรษฐกิจโต คนบางกลุ่มยิ่งจนลง ขณะเดียวกัน ก็ทำให้คนบางกลุ่มรวยขึ้นไปเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่ถูกเศรษฐกิจบังคับให้ต้องขายที่ดิน กลายเป็นกรรมกรโรงงาน พนักงานบริการ ค้าประเวณี ลูกจ้างชั่วคราว ฯลฯ ขณะที่คนอีกกลุ่มยิ่งนานยิ่งมีที่ดินมากขึ้น เป็นบรรษัทข้ามชาติ เป็นทุนสากล ฯลฯ ระบบเศรษฐกิจแบบนี้นำไปสู่ความไม่เท่าเทียม ความไม่ยุติธรรม การแบ่งชนชั้น และความแตกแยกทางสังคม

ระบบสาธารณสุขบางแบบ ระบบการศึกษาบางแบบก็เป็นความรุนแรงได้เช่นกัน ถ้าโอกาสในการเข้าถึงระบบแบบนี้ไม่เท่ากัน ค่ารักษาแพงจนคนบางกลุ่มรักษาไม่ได้ ป่วยหรือตาย นี่คือความรุนแรง ระบบวัฒนธรรมก็สร้างความรุนแรงได้ ถ้าบอกว่าใครที่ไม่ปฏิบัติตามความเชื่อ ตามบางวัฒนธรรม มีสิทธิถูกฆ่า ถูกจำคุก ถูกขังเป็นเวลาสิบแปดปี

สื่อสารมวลชนก็เป็นความรุนแรงได้ ถ้าเสนอภาพคนบางกลุ่มในแง่ลบซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้รัฐชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงจัดการคนกลุ่มนี้ รวมทั้งทำให้คนในสังคมเห็นว่าการทำร้ายคนพวกนี้เป็นเรื่องธรรมดา

ประเด็นทั้งหมดก็คืออย่าไปมองความรุนแรงแค่เรื่องการใช้อาวุธทำร้ายอีกฝ่าย เพราะต่อให้ไม่มีการทำร้าย ความรุนแรงก็มีอยู่ได้ ระบบสังคม ระบบการเมือง ระบบอะไรก็ตามที่ปกติแล้วดูเป็นเรื่องธรรมดา มีความสามารถสร้างความรุนแรงได้ทั้งนั้น ประชาธิปไตยก็ดี ศาลก็ดี เศรษฐกิจเสรีก็ดี ทั้งหมดนี้ฆ่าคนได้ ทำให้คนเจ็บได้ ทำให้คนตายได้ อย่าไปคิดง่ายๆ ว่ามีประชาธิปไตยแล้วจะไม่มีความรุนแรง

ถ้าถามว่าแล้วความรุนแรงทั้งหมดมีส่วนคล้ายกันอย่างไร ก็อาจตอบกว้างๆ ว่าความรุนแรงในความหมายของการข่มขู่หรือบังคับให้คนเราต้องเปลี่ยนตัวตน เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนความเชื่อ หรือทำให้ความคิดความเชื่อของเขาเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย เริ่มต้นเมื่อมีการกำหนดว่าระบบคุณค่าบางแบบเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมต้องยอมรับเหมือนกัน หรือพูดให้ง่ายขึ้นคือเอาความเชื่อ เอาความกลัว เอาค่านิยม เอาผลประโยชน์ เอาอคติ เอาความคิด เอาความรัก เอาความเกลียด ของคนบางกลุ่มไปอุปโลกน์ ไปยัดเยียด ไปบังคับ ไปกะเกณฑ์ว่าเป็นของคนทั้งหมดในสังคม หรือพูดให้สั้นคือเอาโลกทัศน์เอาผลประโยชน์เอารสนิยมของคนบางกลุ่มเป็นบรรทัดฐานของสังคม

ถ้าคิดเรื่องการเมืองปัจจุบันโดยเอารัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เป็นจุดตั้งต้น เราก็อยู่ในระบอบรัฐประหารมาจนถึงปัจจุบัน 19 ก.ย.จึงเป็นรัฐประหารที่ยังไม่จบ การต้านรัฐประหารจึงยังไม่ควรจบด้วย เหตุผลที่ทำให้รัฐประหารนี้ยังไม่จบนั้นมีคนพูดเยอะแยะล้ว ตั้งแต่เรื่องศาล ปปช. รัฐบาล กองทัพ ฯลฯ แต่สิ่งที่อยากจะเน้นในวันนี้คือรัฐประหารนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้บรรทัดฐานประชาธิปไตยเสื่อมสลายไปในสังคมไทย อย่างน้อยก็ใน 3 แง่

แง่ที่หนึ่ง บรรทัดฐานเรื่องอะไรคือประชาธิปไตย แต่ไหนแต่ไรมา การถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยในบ้านเราไม่เคยถอยห่างจากหลักการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่ายคอมมูนิสม์ ฝ่ายรัฐประหาร ฝ่ายนิยมเจ้า ทุกฝ่ายล้วนอธิบายว่าการเมืองแบบที่ตัวเองชอบนั้นดีกว่าแบบอื่นเพราะเป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ บางคำอธิบายก็ดี บางอันก็ฟุ้งซ่าน บางอันเพ้อเจ้อเหลวไหล แต่การเมืองไทยตอนนี้ไม่มีเสียงส่วนใหญ่เป็น common ground ด้วยซ้ำไป

อย่าลืมว่ารัฐประหาร 19 ก.ย. เกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง เป็นรัฐประหารที่เกิดขึ้นเพื่อกำจัดการเลือกตั้ง หลังจากนั้นก็มีการใช้กลไกรัฐแทรกแซงการเลือกตั้งหลายอย่าง พอเลือกเสร็จ ก็ใช้กลไกในและนอกสภาทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องพ้นจากตำแหน่งไปสองชุด

รัฐประหารครั้งนี้เป็นหลักหมายสำคัญของการทำให้เห็นว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องสำคัญของการเมืองไทย อยากเลือกตั้งอย่างไรก็เลือกไป แต่รัฐบาลและอำนาจการเมืองไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับผลการเลือกตั้งเลย การลดทอนความสำคัญของเสียงส่วนใหญ่กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการเมือง

แง่ที่สอง บรรทัดฐานเรื่องรัฐธรรมนูญ ระบบกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม โดยปกติแล้วรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมายควรยึดโยงกับหลักการหรือเจตนารมณ์บางอย่างของคนในสังคม โยงกับความยุติธรรมในสังคม หลักการหรือเจตนารมณ์นี้ไม่ควรเปลี่ยนได้ง่ายๆ หรือถ้าเปลี่ยน ก็ต้องเปลี่ยนตามสภาพสังคม แต่รัฐประหาร 19 ก.ย. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยมีวาระการเมืองอย่างเปิดเผย นั่นคือกำจัดบางคน ล้มบางพรรค ช่วยบางพรรค มีการทำให้เสียงคนชนบทสำคัญน้อยกว่าเสียงคนเมือง มีการจัดวิธีเลือกบัญชีรายชื่อใหม่ให้เสียงบางภาคสำคัญขึ้นในทางปฏิบัติ มีการเลือก ส.ว.สองแบบที่ทำให้เสียงที่มาจากการเลือกตั้งสำคัญเท่าเสียงของคนเลือก ส.ว. 9 คน

ในแง่ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเปิดเผย คณะรัฐประหารตั้งองค์กรอิสระต่างๆ ตามอำเภอใจ องค์กรเหล่านี้มีผลจนปัจจุบัน มีการเลือกใช้กฎหมายกับคนบางกลุ่ม มีปรากฎการณ์สองมาตรฐาน มีเรื่องให้เห็นตำตาเต็มไปหมด ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไม่ตอบปัญหาพื้นฐานเรื่องความยุติธรรม

19 ก.ย.และการเมืองที่สืบทอดระบอบรัฐประหารใช้รัฐธรรมนูญ กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเพื่อกำจัดคนอีกฝ่ายจนทำให้ระบบทั้งหมดถูกสั่นคลอนอย่างไม่เคยมีมาก่อน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมแยกออกจากความยุติธรรม กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

แง่ที่สาม บรรทัดฐานเรื่องความรุนแรง ก่อน 19 กันยายน หรือย้อนไปจนถึงหลังพฤษภาคม 2535 กล่าวได้ว่าสังคมไทยพยายามผลักดันให้รัฐสัมพันธ์กับประชาชนอย่างมีอารยะมากขึ้น ได้บ้างไม่ได้บ้าง ขึ้นอยู่กับเรื่องกับกรณี ตัวอย่างเช่นปี 2534 ชาวบ้านดงใหญ่กว่าพันคนล้อมป่าไม่ให้ถูกตัด กลับถูกจับกุม ถูกทำร้าย ชาวบ้านน้ำเสียวประท้วงธุรกิจเกลือ ถูกตีถูกจับ แต่ไม่กี่ปีมานี้ ชาวบ้านจะนะชนะคดีที่ตำรวจสลายการชุมนุม สิบยี่สิบปีก่อน ผู้นำชาวบ้านถูกยิงตาย ไม่เป็นข่าวอะไรด้วยซ้ำ แต่ทุกวันนี้ ชาวบ้านที่ไม่ตายเงียบมีมากกว่าเมื่อก่อนแน่ๆ ถึงแม้จะมีคนตายฟรีอยู่เหมือนเดิมก็ตาม

มีความพยายามหลังพฤษภาเยอะแยะที่ต้องการจำกัดการใช้กำลังของรัฐต่อประชาชน มีการพูดถึงการไม่ใช้ทหารสลายการชุมนุม การจัดตั้งกองกำลังพิเศษเพื่องานด้านนี้ มีการสร้างหน่วยปราบจลาจลที่ได้รับการฝึกสันติวิธี มีการพูดแม้กระทั่งยกเลิกวิทยุและโทรทัศน์ของทหาร ค้านรัฐประหารทุกรูปแบบ ฯลฯ

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน เรายอมรับให้รัฐจัดการประชาชนแบบอนารยะขึ้น ยอมรับว่าทหารแทรกแซงการเมืองได้ ก่อรัฐประหารได้ สลายการชุมนุม ใช้อาวุธสงครามได้ ยอมแม้กระทั่งให้มีประกาศใช้กฎหมายอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้เครื่องจักรทำลายประสาทหูมาทำร้ายผู้ชุมนุม ใช้ทหารสิบๆ กองร้อยควบคุมผู้ชุมนุม โดยควรระบุด้วยว่าเรายอมรับเรื่องนี้เฉพาะกรณีที่รัฐกระทำต่อบุคคลบางกลุ่ม แต่จะคัดค้านทันทีถ้ามีใครพูดถึงการใช้ความรุนแรงกับคนบางฝ่าย เช่น คนที่ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน

ความอนารยะของรัฐเป็นเรื่องที่เลือกปฏิบัติต่อคนบางกลุ่มด้วยเหมือนกัน

ความเปลี่ยนแปลงเรื่องประชาธิปไตยก็ดี เรื่องการใช้รัฐธรรมนูญและระบบกฎหมายก็ดี รวมทั้งเรื่องความรุนแรงโดยรัฐ สามเรื่องนี้เป็นบรรทัดฐานทางการเมืองแบบใหม่ที่อันตราย ควรถูกตั้งคำถาม ควรถูกทำให้เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการอภิปรายในสังคมให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

ขอย้ำอีกครั้งว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านที่ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ หรือเรียกรวมๆ ว่าระบบความหมายที่ผู้คนมีต่อสถาบันและองค์กรการเมืองต่างๆ กำลังสั่นคลอนและล่มสลาย มีประเด็นการเมืองเยอะแยะที่ไม่มีใครคิดว่าทุกวันนี้จะพูดกันเต็มท้องถนนอย่างทุกวันนี้ สิ่งที่สำคัญคือการต่อสู้เพื่อให้ความหมายใหม่ของสถาบันและองค์กรต่างๆ ยึดโยงกับประชาธิปไตย การปกครองของเสียงส่วนใหญ่ ความยุติธรรม และทำให้ทุกสถาบันการเมืองเป็นของประชาชนให้มากที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net