สมัชชาคนจน-นักกิจกรรม จี้นายกฯ จะปรองดองต้องเลิก พรก.ฉุกเฉินฯ

สมัชชาคนจนจี้นายกฯ เลิก พรก.ฉุกเฉินฯ ระบุเป็นการฉวยโอกาสข่มขู่คุกคามแกนนำปิดกั้นความเดือดร้อนของคนยากจน ด้านเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเรียกร้องนายกฯ เอ่ยขอโทษและถวายบังคมลาออก

 

 

15 มิ.ย. 2553 เวลา 13.30 น. ตัวแทนจากสมัชชาคนจนพร้อมกับเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมและนักศึกษาราว 20 คนได้เดินทางมายื่นจดหมายร้องเรียนต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเพื่อให้ดำเนินการยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พรก.ฉุกเฉิน)

โดยกลุ่มดังกล่าวได้ชูป้ายผ้ามีข้อความเรียกร้องให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ความว่า “ปรองดองต้องเลิก พรก.ฉุกเฉิน” และ “ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ซะที อยากใช้ชีวิตปกติ” โดยผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งได้ใช้โซ่ล่ามมือล่ามขาพร้อมทั้งใช้ผ้ากาวปิดปากปิดหูตัวเอง เป็นสัญลักษณ์ของการถูกคุกคามและจำกัดเสรีภาพภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน

นายสวาท อุปฮาด แกนนำสมัชชาคนจนได้อ่านจดหมายเปิดผนึก มีเนื้อความว่า “นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ประกาศบังคับใช้ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 เพื่อจัดการกับการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ(นปช.) จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือนแล้วนั้น และต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2553 นายกรัฐมนตรีได้แถลงแผนการปรองดองประเทศไทย และเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการปรองดอง โดยที่มิได้กล่าวถึงการยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดดังกล่าวแต่อย่างใด

“สมัชชาคนจนเห็นว่าการบังคับใช้พระราชกำหนดดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารมีอำนาจมากขึ้น และได้มีการใช้อำนาจดังกล่าวกระทำการละเมิดต่อสิทธิของประชาชนผู้เดือดร้อน เช่น การใช้อำนาจกระทำการต่อผู้พิการที่มาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 การส่งเจ้าหน้าที่ไปประกบแกนนำขององค์กรชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ในระดับพื้นที่ เป็นต้น นอกจากนี้การบังคับใช้พระราชกำหนดนี้ยังทำให้ประชาชนทั่วไปเห็นว่าบ้านเมืองยังไม่สงบสุข จะต้องหวาดระแวงกันอยู่ตลอดเวลา และยังรวมไปถึงการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของคนจน ผ่านช่องทางการชุมนุมอย่างสงบ และอาจจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการทำให้แผนการปรองดองประเทศไทย ไม่สามารถบรรลุผลได้จริง

“สมัชชาคนจน จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นผู้นำของรัฐบาล พิจารณายกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดดังกล่าวทันที เพื่อถือเป็นก้าวแรกในการสร้างความปรองดองของชาติ”

ในส่วนของนักกิจกรรมทางสังคมนั้น นอกจากการกล่าวปราศรัยเพื่อชี้แจงจุดยืนแล้วยังได้มีการเตรียมจดหมายเปิดผนึกที่รวมลงชื่อโดยประชาชนกว่า 600 คนที่เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์สังหารหมู่ผู้ชุมนุม นปช.ในเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาและเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. มีตัวแทนจากสำนักบริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล ได้ออกมารับจดหมายข้อเรียกร้องของกลุ่มสมัชชาคนจนในเรื่องการขอให้เลิก พรก.ฯ โดยที่ทางเจ้าหน้าที่ได้ปฏิเสธที่จะรับจดหมายถึงนายกฯโดยให้เหตุผลว่าจดหมายที่กลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมและนักศึกษายื่นมานั้นเขียนมาไม่ถูกแบบฟอร์ม หลังจากที่ได้ยื่นจดหมายแล้วกลุ่มดังกล่าวจึงสลายตัวไปโดยสงบ

นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวภายหลังจากที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่สมัชชาคนจนได้เห็นถึงผลกระทบจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้อำนาจตาม พรก.ฉุกเฉินฯ ในการคุกคาม ข่มขู่ รื้อฟื้นคดี รวมถึงการออกหมายจับประชาชน คนยากคนจน จนเป็นที่ได้รับความเดือดร้อนไปทั่วประเทศ

“ความพยายามในการรื้อฟื้นคดี 12 แกนนำในกรณีเขื่อนปากมูลที่ถูกออกหมายจับเมื่อปี 2543 ซึ่งในกรณีนี้มีชื่อของคุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ผู้ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้วรวมอยู่ด้วย หรือการฉวยโอกาสออกหมายจับนายเลื่อน ศรีสุโพธิ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ซึ่งเป็นผู้ที่ร่วมต่อสู้กับสมัชชาคนจนมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และในอีกหลายๆ กรณี ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบของรัฐโดยอาศัยอำนาจตาม พรก.ฉุกเฉินฯ ฉบับนี้ทั้งสิ้น ในขณะที่มีการใช้กฎหมายและกำลังเจ้าหน้าที่ข่มขู่คุกคามประชาชนอยู่แล้วมาบอกให้ปรองดอง ผมสงสัยว่ามันจะปรองดองกันได้อย่างไร” ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท