Skip to main content
sharethis

รายงานเสวนา กรณีการเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข นักวิชาการระบุ การขึ้นศาลหาคนผิดไม่ใช่คำตอบ ปัญหาอยู่ที่ระบบไม่ใช่คน จึงต้องแก้ด้วยระบบ ประสบการณ์ใช้ระบบไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด พบข้อดีชัดเจน

จากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ ประกอบวิชาชีพให้บริการด้านสาธารณสุข กับกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย ผู้บริโภค กรณีการเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ยังมีอีกหลายประเด็นที่เป็นประเด็นขัดแย้งและยังไม่มีผู้ใดให้ความกระจ่าง ชัดกับสังคมได้

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวร ส.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่ทำงานด้านวิชาการ ติดตามศึกษาประเด็นต่างๆ ของนโยบายด้านสาธารณสุข ทั้งในแง่หลักการและผลที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ จึงจัดงาน “กม.คุ้มครองผู้ป่วย!! ประสบการณ์ต่างแดน : เรียนรู้และเข้าใจก่อนตัดสินใจ” ขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2553

หนึ่งในประเด็นคำถามที่สังคมยังคง สับสน คือ กฎหมายนี้กำหนดให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงิน ชดเชยได้ทันทีโดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด ซึ่งฝ่ายที่คัดค้านมองว่าจะทำให้เกิดการร้องเรียนพร่ำเพรื่อ สร้างภาระให้กับผู้ปฏิบัติงาน และรัฐอาจจะต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากโดยไม่จำเป็น

รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง

รศ.ดร.ลือ ชัย ศรีเงินยวง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดลผู้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้มา โดยตลอด อธิบายว่า ความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากปัญหาความผิด พลาดทางการแพทย์ (medical error) และความผิดพลาดมากมายที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดพลาดของบุคคล แต่เป็นเรื่องของระบบ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยความขัดแย้ง หรือการฟ้องร้อง

โดยที่ความเสียหายทางการแพทย์นั้น เกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่มีประเทศใดหรือองค์กรใดสามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ หรือหลายประเทศในยุโรปก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ปัญหาความขัดแย้งทางการแพทย์จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่เป็นประเด็นทางสังคมว่าเราจะจัดการอย่างไร

“สังคมทั้งสังคมเป็นสังคมแห่งการเพ่ง โทษและการหาแพะ ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นมาก็ต้องหาว่าใครเป็นคนผิด เราไม่พูดกันว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น แพะ ก็คือสังคมทั้งสังคม เพราะเรามีระบบที่มันไม่ปลอดภัย ระบบที่มันไม่สมบูรณ์ การมองว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องของระบบ หรือเป็นเรื่องของแพะ เป็นเรื่องที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในหลายประเทศมันเกิดวิกฤติการฟ้องร้องจนนำไปสู่ระบบการแก้ปัญหาโดยไม่ พิสูจน์ถูกผิด” รศ.ดร.ลือชัย กล่าว

การขึ้นศาลหาคนผิดไม่ใช่คำตอบ
รศ.ดร.ลือ ชัย อธิบายถึง หลักคิดเบื้องหลังของการฟ้องร้องว่า เชื่อกันว่าค่าใช้จ่ายที่แพทย์หรือโรงพยาบาลต้องจ่ายให้แก่ผู้ป่วยเพื่อชด เชยนั้น จะเป็นแรงจูงใจให้เกิดความระมัดระวังมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ตัวเลขในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า คนไข้ที่เสียหายมีไม่ถึงร้อยละสิบที่มีโอกาสฟ้องร้องได้ และน้อยมากที่ได้รับการชดเชย นอกจากนี้กระบวนการฟ้องร้องยังใช้เวลานาน เงินที่จะได้รับมากกว่าครึ่งต้องใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการฟ้องร้อง การฟ้องร้องยังนำไปสู่การไม่ไว้ใจกัน เกิดการปิดบังซ่อนเร้น เกิดความไม่โปร่งใสในระบบข้อมูล โอกาสที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดก็เสียไปด้วย

รศ.ดร.ลือ ชัย สรุปประเด็นนี้ว่า เกือบทุกประเทศที่เราศึกษามาเห็นว่า การฟ้องร้องไม่ใช่คำตอบ เพราะเป็นการทำลายระบบสุขภาพทั้งระบบ ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย การฟ้องร้อง เป็นวัฒนธรรมของการตำหนิเพ่งโทษ ไม่เปิดโอกาสให้เรียนรู้จากความผิดพลาด เป็นกระบวนการเชิงลบ เน้นไปที่ความผิดของปัจเจก และนี่คือเหตุผลว่าทำไมหลายประเทศจึงเลือกระบบการชดเชยโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูก ผิด

ปัญหาอยู่ที่ระบบไม่ใช่คน จึงต้องแก้ด้วยระบบ
ส่วนหลักคิดของระบบไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดนั้น รศ.ดร.ลือ ชัย กล่าวว่า มาจากการมองว่า ความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์ควรจะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคม โดยต้องพิสูจน์ว่าความเสียหายนั้นเกิดมาจากการใช้บริการทางการแพทย์ไม่ใช่ พิสูจน์ว่าใครเป็นคนทำผิด เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความผิดพลาดของระบบไม่ใช่ ความประมาทเลินเล่อของปัจเจก ระบบจึงต้องเข้ามารับผิดชอบ การที่หมอคนหนึ่งทำงานหนัก ต้องอยู่เวร คนไข้เทกระจาดกันเข้ามาจึงเกิดความผิดพลาดได้ ตรงนี้เป็นปัญหาของระบบไม่ใช่ปัญหาของคน สังคมจึงต้องออกแบบระบบเข้ามารองรับ

“ลักษณะของกลไกแบบนี้จะทำให้รู้สึก ปลอดภัยจากการถูกคุกคาม คนที่ผิดพลาดจะมีความจริงใจมากขึ้นในการเอาความผิดพลาดมาเป็นทางแก้ไข นำไปสู่การสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย ในระยะยาวจะช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่าย และเชื่อว่ากลไกแบบนี้จะเป็นทางเลือกให้คนไม่เลือกที่จะฟ้องร้อง” รศ.ดร.ลือชัย กล่าวสรุปถึงข้อดีของระบบการไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด

ประสบการณ์ใช้ระบบไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด พบข้อดีชัดเจน
ขณะที่ทางด้าน นายวิญญู พิทักษ์ปกรณ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เล่าถึงประสบการณ์ของการใช้ระบบชดเชยโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2546 ว่า ระบบนี้บรรเทาความเสียหายให้กับทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการไปควบคู่กัน ทางโรงพยาบาลเองสามารถยื่นคำร้องแทนผู้ป่วย และเมื่อผู้ป่วยได้รับความช่วยเหลือก็จะบรรเทาความเดือดร้อนทั้งสองฝ่าย เกิดความรู้สึกดีทั้งผู้ให้และผู้รับ

นายวิญญูได้เล่าถึงสถิติ การใช้ระบบการชดเชยตามมาตรา 41 ว่า จนถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้มีคำร้องยื่นมา 3,284 ราย และเข้าเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือถึง 2,719 ราย คิดเป็น 82.8 เปอร์เซ็นต์ โดยในปีแรกๆ จำนวนผู้ขอรับความช่วยเหลือไม่มากนัก คือ 99 ราย แต่ในปี 2552 จำนวนพุ่งขึ้นไปถึง 810 ราย ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการจนกระทั่งผู้เสียหายได้รับเงินก็มีแนวโน้มจะใช้ เวลาน้อยลงเรื่อยๆ สำหรับเงินที่กันไว้ทุกปีเพื่อจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ยกเว้นปี 2551 ไม่ได้กันเพราะขณะนั้นมีเงินเหลือเยอะ คิดเป็นประมาณ 336 ล้านบาท และจ่ายไปแล้ว 296 ล้านบาท

ซึ่งนายวิญญูกล่าวอีกว่า สรุปบทเรียนจากการดำเนินงาน ในฝ่ายผู้รับบริการพอใจกับระบบของการช่วยเหลือเบื้องต้นสูงมาก ผู้รับบริการได้รับความช่วยเหลือรวดเร็ว สามารถบรรเทาความเดือดร้อนจากการสูญเสียได้ ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการยังมีความสัมพันธ์ที่ดี ส่วนฝ่ายผู้ให้บริการตอนแรกเกิดปัญหาเยอะ ต่อมาเมื่อเข้าใจระบบมากขึ้นปัญหาก็คลี่คลาย และผู้ให้บริการจะตระหนักถึงคุณภาพมาตรฐานการบริการมากขึ้น

ที่มา: http://ilaw.or.th/node/517

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net