Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มหันตภัยจากกัมมันตภาพที่รั่วไหลจากเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้กระแสความตื่นตัว ตระหนก และต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์กำลังแพร่สะพัดไปในหมู่ประชาชนทั่วโลกอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน มองย้อนกลับมาในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งประกอบด้วยภาคใต้ของจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม แม้ความรู้สึกร่วมในความหวาดหวั่นต่อพลังงานนิวเคลียร์ของสังคมโลกจะปรากฎให้เห็น ซึ่งแม้แต่จีนยังสั่งระงับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะสร้างในอนาคต จนกว่าจะมั่นใจได้ว่ามาตรการเรื่องความปลอดภัยนั้นดีพอ ทว่าด้วยความกระหายพลังงานเพื่อหล่อเลี้ยงจีดีพีที่ไม่มีวันสิ้นสุด เวียดนามยืนยันเดินหน้าแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่วนไทย พลังงานนิวเคลียร์กระเด็นออกจากแผนเพื่อรอวันกลับมา เมื่อเสียงประชาชนเริ่มเบาลง อย่างไรก็ดี ปัญหาที่กำลังตั้งเค้าทะมึน และน่าห่วงไม่น้อยกว่ากันในขณะนี้สำหรับภูมิภาคแม่น้ำโขง แต่กลับไม่ได้รับการพูดถึงมากเท่าที่ควร คือผลกระทบของสถานการณ์แผ่นดินไหวต่อเขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำอันไพศาลนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นไม่เพียงสร้างคลื่นยักษ์สึนามิ และกระทบต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เท่านั้น แต่ยังทำให้เขื่อนฟูจินูม่าในจังหวัดฟูกูชิม่าพังทะลายลง คร่าทั้งชีวิตผู้คนและสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้นอีก หายนภัยแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น ตามมาติดๆ มาด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวในพม่าและลาว* ส่งผลให้ข่าวลือเรื่องเขื่อนร้าวในประเทศไทยไม่กี่วันก่อนกลายเป็นข่าวร้อนบนหน้าหนังสือพิมพ์ สร้างกระแสความหวาดหวั่นให้กับจังหวัดและชุมชนท้ายเขื่อน จน กฟผ. ต้องออกมาตอบคำถามรายวันเพื่อสร้างความมั่นใจ ทว่าสิ่งนี้ไม่มีคำตอบ เนื่องจากยังไม่มีแม้แต่คำถามดังๆ ออกมาสู่สาธารณะ แม้สิ่งนั้นอาจกลายเป็นสถานการณ์ที่ชวนหวาดวิตก หรืออาจถึงขั้นน่าพรั่นพรึงได้เสียยิ่งกว่าสถานการณ์เขื่อนในประเทศไทย นั่นก็คือ คำถามถึงเรื่องผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวต่อเขื่อนที่สร้างแล้วบนแม่น้ำโขงตอนบน และที่กำลังจะสร้างทับอยู่บนรอยเลื่อนมีพลังขนาดใหญ่อีกหลายเขื่อน บนสายน้ำโขงในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ขณะนี้มีเขื่อนที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วสามแห่ง คือเขื่อนม่านวาน (1,500 เมกะวัตต์) ต้าเฉาซาน (1,350 เมกะวัตต์) และจิ่งฮง (1,500 เมกะวัตต์) และเขื่อนที่สี่คือเขื่อนเสี่ยววาน (4,200 เมกะวัตต์) ซึ่งกำลังจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ เขื่อนทั้งสี่แห่งนี้ (จากแผนการสร้างทั้งหมดแปดถึงสิบห้าแห่ง) มีปริมาณความจุอ่างเก็บน้ำรวมกันแล้วถึง 17,603 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นกลุ่มเขื่อนที่ล้วนแต่กระจุกตัวอยู่ในจุดที่ไม่ห่างจากจุดศูนย์กลางของเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในประเทศพม่าและลาว ทั้งนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริกเตอร์ที่ประเทศพม่า ในวันพฤหัสที่ 24 มีนาคม ซึ่งทำความเสียหายอย่างมหาศาลต่อพม่า และทำให้ยอดพระธาตุเจดีย์หลวงในอำเภอเชียงแสน ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวในระยะทาง 280 กิโลเมตรถึงกับหักโค่นลงมา อีกทั้งสร้างแรงสั่นสะเทือนมาถึงกรุงเทพฯ ของไทยนั้น แท้ที่จริงแล้ว จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว อยู่ใกล้กับเมืองจิ่งฮง มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อนจิ่งฮงมากกว่าระยะทางถึงอำเภอเชียงแสนเสียอีก คือเป็นระยะทางเพียง 168 กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนในวันที่ 26 มีนาคม ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวขนาด 4.8 ริกเตอร์ทางภาคเหนือของประเทศลาวก็อยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกระบุว่าอยู่ห่างจากจังหวัดจิ่งฮงไปเพียง 153 กิโลเมตรเท่านั้น ในขณะที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวได้สร้างความหวาดวิตกให้หลายฝ่ายที่ติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวของเขื่อนจีนบนแม่น้ำโขงและเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่จนกระทั่งบัดนี้ ไม่ปรากฎว่ามีองค์กรภาครัฐใดๆ ของไทยออกมาแสดงความเห็นที่ชัดเจนในประเด็นนี้ ทั้งที่เป็นที่ทราบกันดีว่า หากมีสิ่งใดเกิดขึ้นกับเขื่อนจีน ด่านแรกที่จะเป็นผู้รับเคราะห์ ย่อมจะเป็นชุมชนท้ายน้ำโดยเฉพาะชุมชนริมน้ำโขงในภาคเหนือของลาวและไทย นับตั้งแต่ที่อำเภอเชียงแสนเป็นต้นมา และหากอุบัติภัยใดๆ ทำให้โครงสร้างเขื่อนเกิดชำรุดเสียหายขั้นรุนแรง ความหายนะนั้นจะยิ่งใหญ่เป็นร้อยพันเท่า เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่นในปี พ.ศ. 2538 เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่สุดในรอบยี่สิบปีในพื้นที่อำเภอเชียงแสนและเชียงของเกิดในจังหวะเวลาที่สอดคล้องกับการเปิดเขื่อนจิ่งฮงเพื่อระบายน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเมื่อปีที่แล้ว (2553) เหตุการณ์น้ำแห้งเป็นประวัติการณ์ที่เชียงแสนและเชียงของ ก็พอดิบพอดีกับที่เขื่อนเสี่ยววานเริ่มกักเก็บน้ำอีกเช่นกัน นอกจากที่ประชาชนของประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างจะไม่ได้รับข่าวสารเกี่ยวกับสถานะความเสี่ยงของเขื่อนแล้ว ข่าวที่ออกมาในวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา กลับการที่จีนอนุมัติอย่างเป็นทางการให้สร้างเขื่อนนัวจาตู้ เป็นเขื่อนที่ห้าบนแม่น้ำโขง เขื่อนนี้มีความสูง 216.5 เมตร หรือเท่ากับความสูงของสำนักงานใหญ่ 42 ชั้นของธนาคารกสิกรไทยบวกอีก 9 เมตร มีอ่างเก็บน้ำขนาด 22,700 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ นักวิชาการวิเคราะห์กันว่า เมื่อเขื่อนเสี่ยววานและนั่วจาตู้ ซึ่งเป็นเขื่อนใหญ่ยักษ์ลำดับต้นๆ ของโลกสร้างเสร็จ การไหลของแม่น้ำโขง จะกลายเป็น \ลูกไก่ในกำมือ\" ของจีนอย่างแน่นอน และนั่นย่อมหมายความว่า หากเกิดปัญหากับเขื่อนเหล่านี้ ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลที่กักเก็บอยู่ในเขื่อนบนลำน้ำโขงตอนบนของจีน อาจกลายเป็นหายนะที่อยู่นอกเหนือจินตนาการของประชาชนริมน้ำโขงโดยสิ้นเชิง ในขณะนี้ที่ข้อเท็จจริงหลายประการและข้อมูลสำคัญของเขื่อนจีนยังไม่เป็นที่เปิดเผย เขื่อนทั้งหลายเหล่านั้นจึงไม่อาจหลุดจากฐานะจำเลยในข้อหาว่าเป็นต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงอย่างผิดธรรมชาติของสายน้ำโขง และ จากกรณีอ่อนไหวของแผ่นดินไหวที่กำลังรุมเร้า เขื่อนจีนจึงถูกเพ่งเล็งและจะสร้างความหนักใจให้ประชาชนท้ายน้ำมากยิ่งไปกว่าเก่า อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ “ความวัว” จากเขื่อนจีนยังไม่ทันหาย ‘ความควาย’ ในกรณีการเสนอสร้างเขื่อนไซยะบุรี ทางตอนเหนือของลาวโดยรัฐบาลลาว ซึ่งอยู่ห่างไปทางตอนเหนือของจังหวัดเลยไปเพียง 200 กิโลเมตรก็กำลังเข้ามาซ้ำเติมความเดือดเนื้อร้อนใจของชุมชนริมน้ำโขงอย่างรุนแรง ช.การช่าง บริษัทของไทยซึ่งเป็นผู้ลงทุนหลักในโครงการเขื่อนไซยะบุรี ได้ประกาศก้องว่า ภาคเอกชนที่จะร่วมลงขันเพื่อค้ากำไรจากเขื่อนนี้ ได้แก่ บริษัทลูกของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) บริษัททางด่วนกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย ทั้งนี้ บริษัทและธนาคารทั้งหลายดังกล่าว ล้วนกำลังมีโครงการเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางสังคม (ซีเอสอาร์) ที่โฆษณากันอย่างครึกโครมอยู่ตามหน้าสื่อต่างๆ กำลังจับมือกันเดินหน้าโครงการเขื่อนไซยะบุรี ท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ถูกชี้ชัดไว้ในรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่เสนอออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว ว่าเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่าง หมายรวมถึงเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งกำลังถูกเสนอให้เป็นเขื่อนตัวแรกในแม่น้ำโขงสายประธานในทางตอนล่าง จะทำให้ระบบนิเวศพังพินาศ และทำให้ความยากจนในภูมิภาคสาหัสสากรรจ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ผลกระทบของเขื่อนบนแม่น้ำโขงและความไม่ชอบมาพากลของเขื่อนไซยะบุรีถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นข่าวในประเทศแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในเวียดนามและไทยที่มีการถกกันอย่างเผ็ดร้อน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์แบบความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรกนี้ ยังเป็นที่สงสัยว่าประชาชนไทยริมน้ำโขง จะฝากความหวังไว้กับนายกรัฐมนตรีของไทยได้หรือไม่ ในเมื่อนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายและพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีท่าทีราวกับเพิ่งเคยได้ยินชื่อเขื่อนไซยะบุรีเป็นครั้งแรก เมื่อถูกนักข่าวชาวต่างชาติถามถึงเจตนารมณ์ของไทยในการสร้าง และซื้อไฟจากเขื่อนนี้ ในงานเลี้ยงอาหารค่ำประจำปีของสมาคมนักข่าวต่างประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยได้แต่อ้ำอึ้ง ตอบคำถามแบบถูสีข้าง เลาะเลี้ยวไปพูดถึงเขื่อนบ้านกุ่มแทน โดยเขื่อนบ้านกุ่มนี้ ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และพรรคประชาธิปัตย์เคยยกประเด็นดังกล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายสมัคร คำตอบเรื่องเขื่อนบ้านกุ่มต่อคำถามเรื่องเขื่อนไซยะบุรีจึงยังความงงงวยแก่นักข่าวต่างประเทศที่ช่วยกันเอ่ยย้ำชื่อเขื่อนไซยะบุรีถึงสามครั้ง ฐานะของเขื่อนไซยะบุรีนั้นไม่ใช่เพียงเขื่อนในลาวหรือเขื่อนของลาว แต่เป็นเขื่อนที่จะชี้ชะตาแม่น้ำโขงตอนล่างตลอดสาย การตัดสินใจเกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรีจึงเป็นตัวชี้วัดจิตสำนึกของผู้ประกาศตัวเป็นผู้ซื้อไฟรายใหญ่ที่สุด คือประเทศไทยด้วย ในฐานะประธาน กพช. ที่ตัดสินใจอนุมัติการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี นายกรัฐมนตรีของไทยจึงไม่สามารถจะกลับไปทำตัวประหนึ่งฝ่ายค้านได้อีกต่อไป แต่ควรจะต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในขณะที่ภาวการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกในนาทีนี้ ซึ่งกำลังเป็นอย่างที่หลายคนให้ข้อสรุปว่าเป็นช่วง “ธรรมชาติเอาคืน” และสิ่งนี้กำลังเริ่มทำให้มนุษย์ตระหนักว่า หายนภัยทางธรรมชาติอาจเกิดได้อย่างเกินคาดเดา สมควรแล้วหรือ ที่รัฐบาลในภูมิภาคแม่น้ำโขงยังคงผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเขื่อนขนาดมหึมาที่ขวางลำน้ำนั้นมีความสามารถในการทำลายล้างอย่างมหาศาล เขื่อนไซยะบุรีจะนำความย่อยยับมาสู่แม่น้ำโขงซึ่งเป็นทั้งหัวใจ และสายเลือดของภูมิภาคในการคงความสมดุลของสิ่งแวดล้อมที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ และท้ายที่สุด นายกรัฐมนตรีไทยอาจจะต้องเริ่มทำความเข้าใจอย่างจริงจังว่า การเป็นผู้นำของประเทศในยามหน้าสิ่วหน้าขวานนั้นไม่ใช่เพียงการสาละวนแสดงความเสียใจกับวิกฤติที่เกิดขึ้นแล้ว หรือตามแก้ในอุบัติภัยเฉพาะหน้าที่กำลังเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องมีวิสัยทัศน์ยาวไกลพอที่จะมองเห็นว่าปัญหาใดอาจจะเกิดขึ้นได้ และดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อป้องกัน บทเรียนที่สำคัญจากนิวเคลียร์ คือ ผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีนั้นไม่สามารถกักกันให้อยู่ในเขตแดนของจังหวัดพรมแดนประเทศ หรือแม้แต่ภายใต้น้ำมือมนุษย์ผู้ชาญฉลาด ข่าวร้ายก็คือ มิได้มีแต่เพียงนิวเคลียร์เท่านั้นสามารถสร้างหายนะอย่างกว้างไกล ไร้เขตแดน แต่ยังมีผลกระทบจากโครงการทำลายล้างอีกหลายอย่างในนามของการ ‘พัฒนา’ โดยเฉพาะจากสิ่งที่ใกล้ตัวและเฉพาะหน้ากว่าเฉกเช่น ผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำนานาชาติเช่นแม่น้ำโขง เชิงอรรถ * 23 กุมภาพันธ์ เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.6 ริคเตอร์ที่แขวงไซยะบุรี ประเทศลาว แรงสั่นสะเทือนทำให้สิ่งก่อสร้างใน 7 จังหวัดภาคเหนือและภาคอีสานเกิดรอยร้าว ความเสียหาย และความสั่นสะเทือนถึงขนาดต้องลงมาจากอาคาร ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม แผ่นดินไหวขนาด 5.8 ริคเตอร์ที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีผู้เสียชีวิต 26 คน บาดเจ็บ 313 คน ในจำนวนนั้น 113 คนบาดเจ็บสาหัส บ้านพังเสียหาย 1200 หลัง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net