Skip to main content
sharethis

“ธเนศวร์ เจริญเมือง” อภิปรายในการประชุมเปิดตัวโครงการ “ประชาธิปไตยกับท้องถิ่น” ชี้ไทยเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจอย่างมากมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 – ยุคสงครามเย็นจน กระทั่งปัจจุบันการกระจายอำนาจก็ยังมีลักษณะผสม เกิดระบบ “เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน” ระหว่างผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง และ นายกฯ อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้ง

ธเนศวร์ เจริญเมือง

 

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 54 ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อภิปรายหัวข้อ "การกระจายอำนาจและการเมืองในท้องถิ่น: การปกครองท้องถิ่น การศึกษา และการปฏิรูปที่ดิน" ระหว่างการประชุมเปิดตัวโครงการ "ประชาธิปไตยกับท้องถิ่น" (Sapan Project - CMU) โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

 

 

"การที่ส่วนกลางกระจายอำนาจลงมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือมีการขยักอำนาจเอาไว้ เพราะฉะนั้นท้องถิ่นก็ได้อำนาจไม่เต็มที่  ท้องถิ่นไม่สามารถจัดการหลายเรื่องได้ คนเชียงใหม่ควรจะคิดตลอดเวลาว่า ในขณะที่พรรคการเมืองที่กรุงเทพฯ พูดถึงการทำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือจะทำรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 10 สาย เชียงใหม่ยังไม่มีสักสายเลย พี่น้องขอนแก่น โคราช อุบลฯ หรือสงขลา ปัตตานีหาดใหญ่ ภูเก็ต ก็ไม่มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามันเป็นเวทีที่ท้องถิ่นจะต้องเปิดขึ้นมา"

 

ธเนศวร์ เจริญเมือง

 

ประเทศของเราเป็นประเทศที่มีลักษณะพิเศษ เพราะว่าอย่างที่ท่านอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) พูดเอาไว้ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) ท่านอาจารย์ทำให้การเมืองชนชั้นนำสนุกสนาม เมื่อผมฟังอาจารย์พูดทำให้ผมนึกถึงว่าเราควรจะทำวิทยานิพนธ์ดีๆ เยอะๆ เกี่ยวกับเรื่องการเมืองชนชั้นนำ

การเมืองชนชั้นนำมันวิลิศมาหรา หรือมันสลับซับซ้อน มันน่าสนใจ อย่างที่อาจารย์นิธิพูดได้อย่างนั้น ก็เพราะว่าที่สำคัญคือมันไม่มีการกระจายอำนาจ มันจึงเป็นเรื่องของชนชั้นนำไม่กี่กลุ่มที่กรุงเทพฯ

ประเด็นที่หนึ่งที่อยากเสนอคือ ผมอยากเสนอว่า ประเทศของเราเป็นประเทศที่มีกรรม เราไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่นเขา เราก็เลยเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจสูงมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 การรวมศูนย์อำนาจที่สูงลิ่วทำให้ท้องถิ่นถูกทำลายในทุกๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ศาสนา วัดวาอาราม ภาษา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบการปกครอง การเมือง กฎหมาย

เมื่อเรารวมศูนย์อย่างหนัก ประเด็นที่สองก็คือ เราก็เป็นประเทศที่เป็นที่พิศวาสหมายปองของสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นฐานยุทธศาสตร์สำคัญในการสู้กับประเทศสังคมนิยม จึงมีการรวมศูนย์อำนาจเพื่อที่จะระดมสรรพกำลังของประเทศไปสู้กับประเทศกลุ่มสังคมนิยม ก็ทำให้ประเทศที่ดีไซน์การพัฒนาประเทศของเราคือสหรัฐอเมริกา ไม่สนใจเรื่องการกระจายอำนาจเลย ทั้งที่สหรัฐอเมริกามีบทบาทอย่างยิ่งในการกระจายอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นที่เยอรมัน หรือญี่ปุ่น หรือเกาหลี แต่ของเรากลับละเลยอย่างสิ้นเชิง ทำให้การเมืองชนชั้นนำของท่านอาจารย์นิธิน่าสนใจ น่าพิศวาสมากขึ้น ก็เพราะฝีมือของประเทศตะวันตกที่มาสู้กับประเทศสังคมนิยม

ทีนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เวลาต่อมาหลังจากที่สฤษดิ์ทำรัฐประหารแล้ว ทำให้เผด็จการเข้มแข็งมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การพัฒนาเศรษฐกิจของเราก็กระจายลงมาทำให้ภาคท้องถิ่นเติบโตมากขึ้นอย่างที่เราเห็น แต่ก็เติบโตภายใต้โครงสร้างเดิมคือระบบรัฐรวมศูนย์ และไปสร้างระบบที่อาจารย์นิธิเรียกว่า "เส้น" จริงๆ มันก็คือ "ระบบอุปถัมภ์" นั่นเอง มันก็เกิดขึ้นมาจากโครงสร้างรัฐรวมศูนย์อำนาจแบบนี้

เพราะฉะนั้นหลายสิบปีมานี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงข้างบน ที่พยายามดิ้นให้พ้นจากความขัดแย้งบางประการ แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่สามารถต้านทานการเติบโตของพลังฝั่งประชาธิปไตย ทั้งภาคเศรษฐกิจและการเมือง อย่างที่เกิดอุบัติขึ้นในปี 2540 และ 2549 ได้ มันก็ต้านได้ยาก มันก็ค่อยๆ เติบโตมากขึ้น

ประการหนึ่งก็คือ การกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นในปี 2540 เป็นต้นมา เนื่องจากว่า พลังข้างล่างมันเป็นการเติบโตแต่เพียงความปรารถนาของนักธุรกิจท้องถิ่นที่อยากจะมีบทบาทและไปจับมือกับพรรคไทยรักไทย เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงนี้ ขณะที่รัฐบาลยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ทำให้การกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะผสมสานมากอย่างที่เราเห็น คือมีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง มีทั้งนายก อบจ. ที่มาจากเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งมันก็กลายเป็นระบบเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน ซึ่งคำถามคือว่าจะจัดการอย่างไร

ประกายที่สอง การที่เรามีระบบการเลือกตั้งนายกฯ (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น – อปท.) โดยตรง ซึ่งเป็นที่ต้องการของนักธุรกิจท้องถิ่น และสอดรับกับระบบซีอีโอที่พรรคไทยรักไทยเสนอ ทีนี้เรามีสภานิติบัญญัติ หรือสภาเทศบาล หรือสภา อบต. หรือสภา อบจ. ที่ควรทำหน้าที่ในการตรวจสอบควบคุมการทำงานซีอีโอหรือ นายก อบต. นายก อบจ. หรือนายกเทศมนตรี ปรากฏว่าด้วยความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น เราไม่ได้มีระบบการศึกษาที่ปูทางให้การศึกษาเตรียมความพร้อมเรื่องกระจายอำนาจแก่ประชาชน เราไม่ได้มีการรณรงค์ ไม่ว่าจะเป็นโดย ฝั่ง กกต. หรือฝั่งกระทรวงมหาดไทย มันก็เลยกลายเป็นการเอาแนวคิดแบบรัฐสภามาใช้ก็คือการเลือกเป็นทีม คือเลือกสมาชิกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นทีม และเลือกนายกฯ (อปท.) ด้วย มันก็เลยจบลงด้วยการกินด้วยกันเป็นทีม หรือการตรวจสอบควบคุมไม่เข้มข้นเท่าที่ควร

จริงๆ แล้วในหัวใจระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรง สภากับผู้บริหาร ต้องแยกกันชัดเจน แต่ต้องพูดเรื่องระบบการศึกษา ระบบการประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้ด้านสื่อสารมวลชนด้วย แต่ไม่มีสิ่งเหล่านี้

สุดท้าย จริงๆ แล้ว แม้จะเป็นความยากลำบากที่มีระบบเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน แต่ว่าปัญหาสำคัญสองประการที่เกิดขึ้นในการปกครองท้องถิ่นของประเทศเราคือ ประการหนึ่ง การที่ส่วนกลางกระจายอำนาจลงมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือมีการขยักอำนาจเอาไว้ เพราะฉะนั้นท้องถิ่นก็ได้อำนาจไม่เต็มที่  ท้องถิ่นไม่สามารถจัดการหลายเรื่องได้ คนเชียงใหม่ควรจะคิดตลอดเวลาว่า ในขณะที่พรรคการเมืองที่กรุงเทพฯ พูดถึงการทำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือจะทำรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 10 สาย เชียงใหม่ยังไม่มีสักสายเลย พี่น้องขอนแก่น โคราช อุบลฯ หรือสงขลา ปัตตานีหาดใหญ่ ภูเก็ต ก็ไม่มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามันเป็นเวทีที่ท้องถิ่นจะต้องเปิดขึ้นมา แต่สื่อก็ไม่สนใจประเด็นเหล่านี้ ไม่มีเวทีให้เรา

พรรคการเมืองระดับประเทศจุดประเด็นให้เราว่า เราควรจะมีรถไฟสำหรับกรุงเทพฯ อย่างนั้น อย่างนี้ ราคาเท่านี้ แต่ว่าแล้วเชียงใหม่จะจัดการอย่างไรในหลายๆ เรื่อง ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องที่พรรคการเมืองระดับประเทศเป็นคนทำ ท้องถิ่นต้องเป็นคนทำ ท้องถิ่นต้องมีบทบาทในการทำเอง นี่เป็นประเด็นหนึ่ง

แต่ว่าอย่างที่บอก อำนาจที่กระจุกตัวขยักให้ทีละน้อย ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การคมนาคม การอะไรต่างๆ ทำให้ท้องถิ่นเติบโตไม่ทันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ประการที่สองก็คือ การยึดอำนาจในปี 2549 ทำให้เกิดกระแสใหม่เกิดขึ้น คือกระแสการกลับไปสู่การรวมศูนย์อำนาจอีกครั้ง คือคณะรัฐประหารพยายามเพิ่มอำนาจให้กับคนที่เขาไว้ใจได้ เช่น ไปทำให้กำนันอยู่จนเกษียณอายุ พยายามเข้าไปควบคุม แทรกแซง อบต. เทศบาล อบจ. วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีการซึ่งเราเข้าใจได้อีก นั่นก็คือเมื่อมีการยึดอำนาจ มีการทำลายสถาบันในระบอบประชาธิปไตยลง คณะรัฐประหารก็พยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเอง ลงไปดูว่ามีระบบราชการหน่วยไหนที่จะสามารถทำให้เขาเข้มแข็งได้ เพื่อกลไกเหล่านี้จะได้ไปสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากระบอบเผด็จการทหาร หรือระบอบของคณะรัฐประหารได้ในอนาคต

เวลานี้ก็เลยเกิดการสู้กันอีก คือเราเดินทางสู่การกระจายอำนาจตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2549 ในที่สุดก็มาสะดุดหยุดลงที่คณะรัฐประหาร ทำให้เกิดกระแสที่เราเรียกในภาษาอังกฤษว่า “Re-Centralization” คือ กลับไปรวมศูนย์อีก

ในแง่นี้ เมื่อกลับไปสู่การเลือกตั้งอีกครั้งเสร็จแล้วร้อยแล้วเมื่อ 3 ก.ค. คำถามที่เผชิญหน้าเรา ที่ผมคิดว่าวันนี้เราจะคุยกันได้ในเวทีนี้ก็คือทิศทางการเดินจะเป็นอย่างไรต่อไป

สุดท้าย ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีองค์กรประชาชนหลายส่วนที่ได้เสนอริเริ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการระดับชาติเช่น นพ.ประเวศ (วะสี) ตอนนี้เข้าใจว่ามี 26-28 จังหวัดที่มีการรวมกลุ่มขององค์กรประชาชนในการเรียกร้องให้มีการดูแลตนเอง เสียดายประเด็นที่ปัตตานียังไม่มีการถกเถียงชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร แต่ว่า 26-28 จังหวัดที่เรียกร้องให้มีการปกครองตนเอง ผมคิดว่าเมื่อเรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง องค์กรเหล่านี้ทั้งหมดก็ควรจะได้โอกาสที่ดี เมื่อมีรัฐบาลแล้ว ที่จะมาประชุม และผลักดันให้นโยบายชองรัฐบาลปรากฏเป็นจริงให้จงได้

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net