TCIJ: ‘คนกรมประมง’ ปะทะ ‘ชาวท่าศาลา–สิชล’ ค้าน EIA ท่าเรือเชฟรอน

รายงานเสวนา “ก่อนกลายเป็นอื่น โหมเราขอกำหนดอนาคตตนเอง จากท้องทะเลสู่ผืนแผ่นดิน: จากคนหาปลาสู่คนกินปลาทั้งโลก” นายทรงชัย เส้งโสต ประมงอำเภอท่าศาลา ยืนยันความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจังหวัดนครศรีธรรมราชและข้อมูลชุมชนประมงพื้นบ้านว่าเชื่อถือได้ โต้ EIA ท่าเรือเชฟรอน เมื่อเวลา 13.00–16.00 น. วันที่ 21 ตุลาคม 2554 ที่ห้อง 301 อาคารเรียนรวม 7 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายประมงพื้นบ้านอำเภอสิชล–ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และชุมชนชายฝั่งทะเลท่าศาลา ได้จัดเวที “ก่อนกลายเป็นอื่น โหมฺเราขอกำหนดอนาคตตนเอง จากท้องทะเลสู่ผืนแผ่นดิน: จากคนหาปลาสู่คนกินปลาทั้งโลก” สนับสนุนโดยโครงการเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยและศูนย์วิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และกรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีนักวิชาการ นักศึกษา และชาวบ้านในชุมชนชายฝั่งทะเลท่าศาลาเข้าร่วมประมาณ 150 คน นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล นำเสนองานวิจัยชุมชนชายฝั่งทะเลสิชล–ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชว่า จากการศึกษา 11 ชุมชนชายฝั่งทะเลสิชล–ท่าศาลา พบผลผลิตจากทรัพยากรสัตว์น้ำก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 5 พันคน แต่ละคนรายได้ต่อวันอย่างน้อยวันละ 3 ร้อยบาท มีเงินหมุนเวียนสำหรับค่าแรง 1.5 แสนบาทต่อวัน หรือปีละ 3 ร้อยล้านบาท “เรือประมงพื้นบ้าน 1,300 ลำ รายได้เฉลี่ยขั้นต่ำปีละ 391.5 ล้านบาท ขณะเดียวกันสินค้าทะเลที่ส่งไปยังตลาดท้องถิ่น แพปลา และโรงงาน ก็ทำให้เเกิดการจ้างงานมากขึ้น เช่น กุ้งขาวจากชายฝั่งสิชล นำไปส่งโรงงานไทเฮง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนำไปแปรรูปจะก่อให้เกิดการจ้างงานอีก 400 คน เป็นต้น” นายประสิทธิ์ชัย กล่าว จานั้นมีการวิจารณ์งานวิจัยชิ้นดังกล่าว โดยนายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนากลไกการวิจัยผลกระทบด้านสุขภาพ นายดำรงค์ เครือไพบูลย์กุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ฝ่ายเลขานุการในคณะผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเทียบเรือเชฟรอน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช นายเพิ่มศักดิ์ เพิงมาก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนล่าง กรมประมง นายฉัตรชัย เวชสาร เจ้าพนักงานตรวจเรือชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 4 สาขานครศรีธรรมราช และนายเจริญ โต๊ะอีแต กรรมการเครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีนายนายธนิต สมพงษ์ นักวิชาการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินการเสวนา นายแพทย์วิพุธ กล่าวว่า จากการนำเสนองานวิจัยชุมชนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชาวบ้านในการรวบรวมข้อมูลคานกับรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าเรือเชฟรอน สำหรับการคัดค้านท่าเรือเชฟรอน ชาวบ้านต้องรู้กระบวนการทำงานของแผนระดับชาติ เช่น แผนการลงทุนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ผังเมือง แผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ระบุถึงแผนการพัฒนาปิโตรเคมีอย่างชัดเจน “ทำอย่างไรในการยกระดับประเด็นทางทรัพยากรสัตว์ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ จากที่เป็นแค่ของคนท่าศาลา–สิชล ขึ้นเป็นทรัพยากรของคนจังหวัดนครศรีธรรมราช และของคนไทย หรือของคนทั้งโลก ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดเวทีวิพากษ์ ทำให้คนจังหวัดนครศรีธรรมราชตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรร่วมกัน โดยให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นำไปต่อยอดทางวิชาการด้านอุตสาหกรรมแปรรูป ต่อเนื่องจากภาคการเกษตร” นายแพทย์วิพุธ กล่าว นายดำรงค์ เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะผู้ชำนาญการสำนักงานแผนและนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติไม่เห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าเรือเชฟรอนเป็นครั้งที่ 2 โดยให้กลับไปทบทวนประเด็นระบบนิเวศน์วิทยา เพราะฉะนั้นข้อมูลชุมชนที่ศึกษามา จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะนำกลับไปเสนอต่อคณะผู้ชำนาญการ พิจารณาทบทวนรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าเรือเชฟรอน ให้คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย” นายดำรงค์ กล่าว นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ข้อมูลการศึกษาของชุมชนมีคุณภาพระดับหนึ่ง แต่ข้อมูลบางตัวอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงมากนัก จะต้องได้ข้อมูลที่เป็นทางการมากกว่านี้ เพราะจะสามารถพัฒนาให้เป็นเชิงวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น คณะผู้ชำนาญการจึงจะนำไปประกอบการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าเรือเชฟรอนได้ ว่าที่ร้อยตรีกำพล จิตตะนัง จากศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตอบโต้ว่า กระบวนการศึกษาวิจัยของชุมชน มีศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมอยู่ด้วย ยืนยันว่าข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสิชล–ท่าศาลา เป็นข้อมูลเชื่อถือได้ ถ้าบอกว่าเชื่อถือไม่ได้ก็แสดงว่า ไม่เชื่อในคุณภาพของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ถ้าคิดว่าข้อมูลงานวิจัยชุมชนชิ้นนี้ไม่เป็นความจริง ให้นายทรงชัย เส้งโสต ประมงอำเภอท่าศาลายืนยันได้ นายทรงชัย ยืนยันว่า ที่มีนักวิชาการหลายมหาวิทยาลัยวิเคราะห์ว่า ทะเลจังหวัดนครศรีธรรมราชเสื่อมโทรมนั้น ตนไม่เชื่อ เพราะจากประสบการณ์การทำงานที่อำเภอท่าศาลาเกือบ 20 ปี ตนคลุกคลีกับชาวประมง และเก็บข้อมูลหยาบๆ จากเรือประมงพื้นบ้าน 750 ลำที่ทำมาหากินกันอยู่ ทรัพยากรสัตว์น้ำไม่เคยหมด “ถ้าทะเลจังหวัดนครศรีธรรมราชตายแล้ว ชาวประมงคงจะตายไปนานแล้ว ผมขอยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลแถบนี้” นายทรงชัย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท