Skip to main content
sharethis


(แฟ้มภาพ: วันสืบพยานสุดท้าย 30 ก.ย.54)

 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลอาญา รัชดา วันนี้ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีที่นายนายอำพล (สงวนนามกุล) อายุ 61 ปี หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “อากง” ซึ่งถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยข้อกล่าวหาว่าส่งเอสเอ็มเอสที่มีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปยัง โทรศัพท์ของเลขานุการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

ศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14 อนุ 2 และ 3 ลงโทษจำคุก 20 ปี

ทั้งนี้ ศาลใช้วิธีอ่านคำพิพากษาผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอรเรนซ์ เนื่องไม่สามารถนำตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษาได้เพราะน้ำท่วมเรือนจำ หลังฟังคำพิาพากษา ภรรยา ลูกและหลานๆ ของนายอำพลพากันร่ำไห้ ขณะที่มีประชาชนผู้สนใจคดีดังกล่าวร่วมฟังคำพิพากษาราว 30 คน

สำหรับรายละเอียดการพิพากษา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า

ผู้พิพากษา ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ขึ้นบังลังค์เวลา 10.25 น. ที่ห้องเวรชี้ ชั้นล่างของศาลอาญา

ศาลพิพากษาว่า ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่โจทก์ได้จาก DTAC และ TRUE นั้นเป็นหลักฐานที่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องจัดเก็บโดยระบบคอมพิวเตอร์ตาม ที่กฎหมายกำหนด หากผู้ให้บริการจัดเก็บไม่ถูกต้องลูกค้าย่อมไม่เชื่อถือ อาจเสียประโยชน์ทางธุรกิจได้ ดังนั้นจึงถือว่าหลักฐานข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ที่ได้รับถือเป็นเอกสารที่ น่าเชื่อถือ

สำหรับประเด็นสำคัญในคดีที่จำเลยตั้งประเด็นว่า หมายเลขอีมี่ หรือรหัสประจำเครื่องโทรศัพท์อาจถูกปลอมแปลงได้นั้น จำเลยไม่สามารถหาตัวผู้เชี่ยวชาญมายืนยันได้ ส่วนประเด็นที่ว่า เอกสารในสำนวนฟ้องที่หมายเลขอีมี่หลักที่ 15 ไม่ตรงกับหมายเลขอีมี่ในเครื่องโทรศัพท์ คือในเอกสารบางจุดแสดงว่าเป็นเลข 0 บางจุดแสดงว่าเป็นเลข 2000 ขณะที่ในเครื่องโทรศัพท์จริงๆ เป็นเลข 6  ศาลวิเคราะห์ว่า หมายเลขอีมี่ 14 หลักแรกเท่านั้นที่มีความสำคัญ ตามที่พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา จากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เบิกความและได้พิสูจน์ด้วยการใช้เว็บไซต์สำหรับตรวจสอบเลขอีมี่แสดงให้เห็น ในศาลแล้วว่า เมื่อพิมพ์รหัส 14 หลักแรกตามด้วยรหัสสุดท้ายหมายเลข 6 จะปรากฏข้อมูลว่าเป็นเครื่องโทรศัพท์ยี่ห้อโมโตโรล่า ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับโทรศัพท์ของกลาง แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเลข 0-5 และ 7-9 ทั้งที่ควรปรากฏว่าเป็นเครื่องรุ่นอื่น แต่จากการทดสอบในเว็บดังกล่าวกลับไม่ปรากฏว่าเป็นรุ่นใดเลย จึงยิ่งชี้ให้เห็นชัดว่าหมายเลข 14 หลักแรกเท่านั้นที่ใช้ในการระบุตัว ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง

นอกจากนี้ เนื่องจากหมายเลขอีมี่ในคดีนี้ตรงกับหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์ยี่ห้อ โมโตโรล่าที่นายอำพลใช้ และรับว่าใช้อยู่ผู้เดียว จึงยากที่จะมีผู้อื่นนำไปใช้ได้ และพบว่ามีการใช้โทรศัพท์เครื่องนี้กับซิมการ์ด 2 เลขหมาย ซึ่งจากหลักฐานชี้ชัดว่า ซิมการ์ดทั้งสองหมายเลขถูกใช้ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่ไม่เคยถูกใช้งานในเวลาที่ซ้ำกัน จึงเชื่อได้ว่าผู้กระทำความผิดได้นำซิมการ์ดมาสลับใช้อย่างที่เจ้าหน้าที่ ตำรวจตั้งสมมติฐานไว้ นอกจากนี้ข้อมูลการจราจรยังระบุว่าข้อความถูกส่งโดยเสาสัญญาณจากย่านที่ จำเลยพักอาศัยอยู่ด้วย
     
การที่จำเลยอ้างว่า โทรศัพท์มือถือของจำเลยเสียจึงนำไปซ่อมที่ร้านในห้างอิมพีเรียลสำโรง ศาลเห็นว่าจำเลยให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน กล่าวคือ จำเลยแจ้งในชั้นจับกุมว่าโทรศัพท์มือถือเคยเสียและนำไปซ่อมเมื่อเดือน พฤษภาคม 2553 แต่แจ้งในศาลว่านำไปซ่อมเมื่อเดือนเมษายน 2553 อีกทั้งยังจำร้านที่นำโทรศัพท์ไปซ่อมไม่ได้ ทั้งที่การนำไปซ่อมต้องไปที่ร้านถึง 2 ครั้งคือตอนนำไปซ่อม และไปรับคืน จึงถือว่าข้อมูลส่วนนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือ

ศาลเห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่กล่าวอ้างว่า ส่งSMS ไม่เป็น และไม่รู้จักเบอร์โทรศัพท์ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุาการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ นั้น มีแต่จำเลยเท่านั้นที่รู้เห็น เป็นการง่ายที่จะกล่าวอ้าง

แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ที่ ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าว ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของ ตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้วัดให้ เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน

ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นเวลา 10.43 น. รวมระยะเวลา 18 นาที พิพากษาให้จำเลยมีความผิดในการส่งข้อความสั้นตามฟ้อง โดยข้อความดังกล่าวมีลักษณะดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความหมิ่นประมาททำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่และสมเด็จพระบรม ราชินีนาถ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากนี้การส่งเอสเอ็มเอสจะต้องส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ก่อนประมวลผลไปถึง โทรศัพท์เคลื่อนที่ปลายทาง ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง ประกอบข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเปี่ยมไปด้วยพระ เมตตา ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อปวงชนชาวไทย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

จำเลยจึงมีความผิดตาม มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551 มาตรา 14 (2) และ (3) การกระทำของจำเลยมีหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นโทษหนักสุด ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี ความผิด 4 กระทง รวมโทษจำคุกทั้งหมด 20 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ซึ่งนั่งอยู่กับนายอำพลที่เรือนจำในห้องฟังคำพิพากษาได้กล่าว ผ่านระบบคอนเฟอร์เรนซ์ถามว่าคำพิพากษาว่าอย่างไร เพราะตลอดการฟังคำพิพากษาได้ยินเสียงไม่ชัด เจ้าหน้าที่ศาลจึงแจ้งอย่างสั้นๆ ไปว่า “ลุงติดคุก 20 ปี"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ภายหลังฟังคำตัดสิน ครอบครัวนายอำพล ซึ่งประกอบด้วยภรรยา บุตรสาว 3 คน หลานสาว 4 คน อายุตั้งแต่ 4-11 ปี ได้เดินทางไปเยี่ยมนายอำพลที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และได้สอบถามเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ความว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่มีอำนาจควบคุมผู้ต้องขังที่โทษสูงกว่า 15 ปี ดังนั้นจึงต้องมีการส่งตัวผู้ต้องขังไปยังเรือนจำคลองเปรม ซึ่งเป็นที่คุมขังนักโทษเด็ดขาด ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยม ยกเว้นญาติและทนายความ และมีความเป็นไปได้ว่าจะย้ายภายในวันศุกร์ที่ 25 พ.ย.นี้

 

0000000

รายละเอียดคดี

ที่มา: ilaw.or.th

 

ชื่อคดี : คดี "ลุง sms"

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สำนักงานอัยการสูงสุด

จำเลย :
อำพล (สงวนนามสกุล)

ข้อหา: 
มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(2), (3)

หมายเลขคดี :
คดีหมายเลขดำที่ อ. 311/2554

ข้อมูลพื้นฐาน :

จำเลย ถูกกล่าวหาว่าใช้โทรศัพท์มือถือ หมายเลข 081-349-3615 ส่งข้อความอันอาจเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และหมิ่นประมาทใส่ความให้ร้ายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทั้งหมด 4 ครั้งไปยังโทรศัพท์มือถือหมายเลขโทรศัพท์ 081-425-5599 ของนายสมเกียรติ  ครองวัฒนสุข  ขณะดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553

3 สิงหาคม 2553 จำเลย วัย 61 ปี ถูกจับกุมในข้อหากระทำความผิดตามมาตรา 14 (2), (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข (คปค.) ฉบับที่ 41 โดยข้อความดังกล่าวมีลักษณะหยาบคาย เข้าข่ายจาบจ้วง ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

จำเลยให้การปฏิเสธ ตั้งแต่ชั้นจับกุม โดยกล่าวว่าไม่รู้จักวิธีการส่ง SMS และหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ส่งนั้นก็ไม่ใช่ของตน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่าผู้ส่งข้อความหักซิมการ์ดทิ้งไปแล้ว จึงสืบเบาะแสจากหมายเลขประจำเครื่อง (IMEI)

จำเลยเคยประกอบ อาชีพขับรถส่งของ ปัจจุบันไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรแล้วเนื่องจากอายุมากและพูดไม่ถนัดหลังการ ผ่าตัดมะเร็งใต้ลิ้นตั้งแต่ปี 2550 ทุกวันนี้อาศัยอยู่กับภรรยาในห้องเช่าราคาเดือนละ 1,200 บาท ย่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ และอยู่ได้ด้วยเงินที่ได้รับจากลูกๆ อีกเล็กน้อย แต่ละวันมีหน้าที่ต้องเลี้ยงหลาน 3-4 คน

หลังถูกจับกุมเมื่อ วันที่ 3 ส.ค.53 เขาถูกคุมตัวในเรือนจำนวน 63 วัน และได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 4 ต.ค.53 หลังจากนั้น ในวันที่ 18 ม.ค. 54 อัยการมีคำสั่งฟ้องคดี จำเลยจึงต้องถูกควบคุมตัวอีกครั้ง ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงตามข้อหาการกระทำความผิดตามฟ้องกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและ ความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง คดีอยู่ในชั้นพิจารณา หากผลการพิจารณาสืบพยานมีหลักฐานมั่นคงจำเลยอาจหลบหนี ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี แจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมความผิดทางเทคโนโลยี หลังจากได้รับ SMS จากเบอร์โทรศัพท์หมายเลข 0813493615 ที่ส่งมายังเครื่องของตนในวันที่ 9, 11, 12, 22 พ.ค. 2553 รวมจำนวน 4 ข้อความ

นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เป็นเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 54 มติคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่าย การเมือง

หลังการแจ้งข้อกล่าวหา กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยียื่นขอคำสั่งศาล ให้ออกหมายจับศาลอาญา รัชดา ที่ 1659 /2553 ลงวันที่ 29 ก.ค.53 ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตาม ป.อาญา มาตรา 112 มีโทษจำคุก 3-15 ปี

3 สิงหาคม 2553 เวลา 7.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ 15 นาย นำโดย พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก. พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รรท.ผบก.ป. พ.ต.อ.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผกก.1 บก.ป. พ.ต.ท.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ รอง ผกก.1 บก.ป. และ พ.ต.ท.สุทธิเวท บุญยรัตกลิน สว.กก.1 บก.ป. พร้อมด้วยสื่อมวลชน เข้าจับกุม นายอำพล ตั้งนพกุล ที่บ้านเลขที่ 52 หมู่ที่ 1 ต.คลองสวน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยจับกุมได้ที่ห้องเช่าไม่มีเลขที่ ตั้งอยู่ระหว่างซอยวัดด่านสำโรง 17/1 และซอยวัดด่านสำโรง 19 หมู่ที่ 4 ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโรล่า 2 เครื่อง และยี่ห้อเทเลวิซ อีก 1 เครื่อง ซุกซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้า

จำเลยปฏิเสธข้อหา ตั้งแต่ชั้นจับกุม โดยกล่าวว่าไม่รู้จักวิธีการส่งข้อความสั้นบนโทรศัพท์มือถือ ไม่เคยส่งเอสเอ็มเอสเลย เพราะส่งไม่เป็น มีโทรศัพท์ไว้สำหรับโทรออกอย่างเดียว และเขากล่าวด้วยว่าเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ส่ง SMS นั้นไม่ใช่เบอร์ของเขา และโทรศัพท์เครื่องที่จำเลยใช้งานอยู่นั้นเคยเป็นของลูกเขย ซึ่งให้เขาเอามาใช้อีกทีหนึ่ง

พล.ต.ท.ไถง กล่าวผ่านหนังสือพิมพ์มติชนว่า ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งข้อความตามที่ถูกกล่าวหา แต่ยอมรับว่า โทรศัพท์ทั้งหมดเป็นของตนจริง แต่ได้เลิกใช้ไปนานแล้ว ทั้งนี้ผู้ต้องหาไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง จึงไม่เชื่อว่าจะทราบเบอร์โทรศัพท์มือถือของบุคคลสำคัญของประเทศและส่ง ข้อความที่ไม่เหมาะสมได้ จึงเชื่อว่าจะมีผู้สนับสนุนหรืออยู่เบื้องหลัง และยังเชื่อว่าจำเลยเป็นฮาร์ดคอร์กลุ่มคนเสื้อแดง จ.สมุทรปราการ ที่ กอ.รมน. ขึ้นบัญชีดำไว้ด้วย

จำเลยถูกจับกุมโดยไม่ได้รับการประกันตัวเป็นเวลา 63 วัน จากนั้นในวันที่ 29 ก.ย.53 ทนายความยื่นประกันตัวครั้งที่สอง โดยใช้ที่ดินของญาติเป็นหลักทรัพย์ และเมื่อวันที่ 4 ต.ค.53 ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า หลักประกันน่าเชื่อถือได้ว่าจำเลยจะไม่หลบหนี

18 ม.ค. 54 อัยการมีคำสั่งฟ้องนายอำพลเป็นจำเลยในคดีที่มีการส่งข้อความหมิ่นเบื้องสูง ไปยังนายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญ มีความผิดตามมาตรา 14 (2),(3) ตามพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวตเตอร์ฯ และมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา

หลังมีคำสั่งฟ้อง ทนายความยื่นขอประกันตัวอีกครั้งโดยใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์ คำร้องของทนายความส่วนหนึ่งระบุว่า ผู้ร้องไม่มีพฤติการณ์ในการหลบหนีใดๆ เลย เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นเพียงชายสูงอายุธรรมดาอาศัยอยู่กับภรรยา ลูกสะใภ้ และหลาน 3 คนในห้องเช่าในจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ร้องไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ เพราะอายุมากแล้ว ผู้ร้องยังชีพด้วยเงินที่บุตรของผู้ร้องส่งให้เดือนละประมาณ 3,000 บาท และใช้สิทธิการรักษาตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ผู้ร้องยังเป็นโรคมะเร็งช่องปากซึ่งต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางที่ โรงพยาบาลราชวิถีอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ก่อนถูกจับกุมหากผู้ร้องมีหน้าที่รับส่งหลานๆไปยังโรงเรียน หากออกไปทำธุระนอกบ้านผู้ร้องก็ต้องกลับมาอาศัยที่บ้านเสมอ และในขณะจับกุมผู้ร้องซึ่งมีอายุ 60 ปี ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 15 นายพร้อมกับสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ผู้ร้องและบุคคลในครอบครัวผู้ร้องยังมีอาการตระหนกตกใจ และผู้ร้องก็ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือขัดขืนการจับกุมใดๆ ทั้งนี้เมื่อผู้ร้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนผู้ร้องก็มา รายงานตัวต่อศาลอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพนักงานอัยการนัดหมายมาฟ้องคดีผู้ร้องก็รีบเตรียมเอกสารและหาหลัก ประกันโดยเร็วให้ทันนัดหมายของพนักงานอัยการเพื่อไม่ให้เนิ่นช้าออกไป ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องไม่เคยมี พฤติการณ์ใดๆและไม่มีความสามารถซึ่งจะทำให้ศาลอาญาเกรงว่าผู้ร้องจะหลบหนี ได้

คำร้องของทนายความยังอ้างว่า การควบคุมตัวผู้ร้องระหว่างการพิจารณาจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิตและ ร่างกายโดยตรงของผู้ร้องและไม่เป็นประโยชน์ใดๆต่อการพิจารณาคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ร้องมีปัญหาทางสุขภาพ มีโรคร้ายประจำตัว และผู้ร้องซึ่งยังไม่ได้ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดจึงมีสิทธิใน การได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 39 วรรคสอง วรรคสาม มาตรา 40(7)

ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า พิเคราะห์ความหนักเบาของข้อหา ตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีและองค์รัชทายาท นับเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบความรู้สึกของปวงชนชาวไทย หากให้จำเลยปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงยกคำร้อง
 

จำเลยถูกควบคุมตัวจนปัจจุบัน ระหว่างช่วงเวลาที่ถูกจับกุม ทนายความยื่นเรื่องขอประกันตัวอีกหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต

6 ตุลาคม 2554 หลังการสืบพยานทุกปากเสร็จเรียบร้อย ทนายความยื่นขอประกันตัวอีกครั้ง ด้วยหลักทรัพย์เป็นที่ดินของญาติจำเลย ที่ศาลอาญารัชดา แต่ศาลไม่ให้ประกันเนื่องจาก ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ระหว่างการพิจารณาคดี ศาลได้นัดหมายให้ทำการสืบพยานโจทก์ และสืบพยานจำเลย ดังนี้

 

23 กันยายน 2554 (สืบพยานโจทก์ ศาลอาญา ห้อง 801)

27 กันยายน 2554 (สืบพยานโจทก์ ศาลอาญา ห้อง 801)
28 กันยายน 2554 (สืบพยานโจทก์ ศาลอาญา ห้อง 801)
30 กันยายน 2554 (สืบพยานจำเลย ศาลอาญา ห้อง 801)
 
 
 
 

 

หมายเหตุ ประชาไทมีการเพิ่มเติม-แก้ไขเนื้อหา เมื่อเวลา 15.10 น. 23 พ.ย.54

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net