Skip to main content
sharethis

อภิปรายที่ Book Re:public ธงชัย วินิจจะกูล แนะนำและวิจารณ์ “Truth on Trial” ของเดวิด สเตร็คฟัส พร้อมวิจารณ์แนวคิดในการดำเนินคดีหมิ่นประมาท/หมิ่นพระบรมเดชานุภาพแบบไทยๆ ที่ “สัจจะ” ขึ้นอยู่กับ “ระดับบุญบารมี” 

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่ ได้จัดการเสวนาหัวข้อ “เมื่อความจริง (นิยาย) โดนดำเนินคดีในยุคกษัตริย์นิยมล้นเกิน” โดยมีผู้อภิปรายคือธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติ ศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ดำเนินรายการโดย “ภัควดี ไม่มีนามสกุล” นักแปลและคอลัมน์นิสต์ โดยเนื้อหาการอภิปรายกว่า 120 นาที เป็นการแนะนำและวิจารณ์หนังสือ “Truth on Trial” ของเดวิด สเตร็คฟัส แนวคิดเรื่องการดำเนินคดีหมิ่นประมาทและคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และอภิปรายภาวะ Hyper Royalism หรือภาวะกษัตริย์นิยมล้นเกินในประเทศไทย

โดยก่อนอภิปราย ภัควดีได้แนะนำธงชัยให้กับผู้ร่วมเสวนา พร้อมถามว่า “เมื่อความจริง ก็ถูกดำเนินคดี และนิยายก็ถูกดำเนินคดี และประเทศไทยมียุคที่ไม่มีกษัตริย์นิยมด้วยหรือ” โดยต่อไปนี้เป็นคำอภิปรายของธงชัย (หมายเหตุ: ข้อความในวงเล็บและคำเน้นเป็นการเน้นโดยประชาไท)

 

 

ธงชัย วินิจจะกูล (ขวา) และ ภัควดี ไม่มีนามสกุล (ซ้าย) ในงานเสวนา "เมื่อความจริง (นิยาย) โดนดำเนินคดีในยุคกษัตริย์นิยมล้นเกิน” เมื่อ 17 ธ.ค. ที่ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่

 

ธงชัย วินิจจะกูล

"ภาวะที่ผู้พิพากษาทั้งหลายสามารถยอม รับกฎที่ออกโดยคณะปฏิวัติทุกฉบับว่าเป็นกฎหมายที่เรารับได้ เอากฎและระเบียบหรือคำสั่งภาวะที่เกิดขึ้นในภาวะไม่ปกติให้กลายเป็นส่วน หนึ่งของชีวิตปกติ “นิติราษฎร์” ต้องการให้เรากลับไปสู่ภาวะปกติที่ปกติ พูดง่ายๆ คือ “เลิกเพี้ยน” เดวิด (สเตร็คฟัส) บอกว่าสังคมไทยอยู่ในภาวะ “เพี้ยน” แล้วยังไม่รู้ว่า “เพี้ยน” มาประมาณ 50 ปีแล้ว"

 

000

ประเด็นที่ผมจะพูดคือว่า “กษัตริย์นิยม” เป็นเรื่องปกติ “กษัตริย์นิยมล้นเกิน” เป็นภาวะประมาณ 30 กว่าปีที่ผ่านมา ถ้าถามผมว่าประเทศไทยมีภาวะที่ไม่เป็นกษัตริย์นิยมด้วยหรือ ถ้าพูดกันอย่างซีเรียส เข้มงวดหน่อยต้องบอกว่ามี ถ้าพูดอย่างที่เข้าใจทั่วๆ ไปก็ต้องบอกว่า ไม่มี เป็น กษัตริย์นิยมตลอดเวลา ผมจึงได้ใส่คำว่า “ล้นเกิน” เพื่อให้เห็นว่าประเด็นนี้ที่จะพูดคือ 30 กว่าปีมานี้ เราอยู่ในภาวะผิดปกติที่กลายเป็นปกติ

ผมไม่เคยโดนใครทักว่าเป็นคนเศร้าๆ มาคิดอีกทีอาจจะเป็นอย่างนี้ก็ได้ ผมเป็นคนซีเรียสไปหน่อย ดังนั้นพอฟังอาจารย์ชาญวิทย์ (เกษตรศิริ) บน Youtube ที่พูดเมื่อครั้งที่แล้ว (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) ผมบอก “โอ ตายแล้ว” ผมสู้อาจารย์ไม่ได้ อาจารย์ชาญวิทย์สนุกมาก

ทีแรกผมตั้งหัวข้อว่าจะคุยสนุกๆ ประมาณเดือนกว่ามาแล้ว สองเดือนด้วยซ้ำไป เหตุการณ์ในสองเดือนที่ผ่านมา ผมก็กลับมาอยู่ในภาวะปกติที่ผมเป็นคือ ผมชักสนุกไม่ออก

อย่างไรก็แล้วแต่ถ้าหลายคนอยากจะให้ผมพูดถึง “เคสเรื่องอากง” เคส ถึงเหตุการณ์เฉพาะหน้า ผมตั้งใจแต่แรกแล้วว่า ผมอยากจะดึงพวกเราออกจากสถานการณ์เฉพาะหน้า ออกไปให้เห็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ทางความคิด ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมไทยซึ่งเป็นเรื่องที่ผมถนัดกว่า เอาเข้าจริงผมไม่ได้พูดแค่เรื่อง 6 ตุลานะ อาชีพที่ผมทำสอนหนังสือประวัติศาสตร์ยุคโบราณก่อนยุคอาณานิคมเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ และเรื่องที่ทำวิจัยที่สิงคโปร์ก็เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ความคิดของไทยนี่ แหละ แต่ว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ 6 ไม่ใช่ปัจจุบัน แน่นอนความสนใจเรื่อง 6 ตุลาก็ทิ้งไม่ได้ กำลังพยายามทำหนังสือเรื่อง 6 ตุลาออกมาชิ้นหนึ่งให้ได้

เพราะฉะนั้นเรื่องที่ผมถนัดคือผมอยากจะดึงออกจากเรื่องอากง เรื่องเฉพาะหน้า กลับไปดูเรื่องประวัติศาสตร์ความคิดวัฒนธรรมไทย โดยจะอภิปรายคู่กับหนังสือสำคัญสักสองสามเล่ม พูดง่ายๆ ว่า ถ้าหากวันนี้เป็นวิชาการหน่อยก็ถือเสียว่า ผมอยากจะเข้าใจว่านี่เป็นสิ่งที่ Book Re:public ก็ต้องการ แล้วจะวิชาการมากหรือน้อย ตอนแรกที่ผมตั้งใจก็ไม่มาก คุยสนุกๆ ผมสารภาพว่าเตรียมไปเตรียมมาจนถึงเมื่อเช้า ถึงเมื่อกี้ ประมาณ 2 โมงครึ่งมันชักจะหนักขึ้นทุกที คิดไปคิดมา ผมคิดถึงโปรเจกต์ว่าผมเขียนหนังสือได้อีกเล่มด้วยซ้ำไป ซึ่งมันมากไปแล้ว ถ้าอย่างนั้น ผมต้องพยายามทำใจอยู่ว่าทำอย่างไรผมจะไม่อ่าน ถ้าอ่านคงไม่จบแน่

ผมจะโยงให้เห็นเรื่องต่างๆ ที่ผูกโยงกับเรื่อง 112 (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112) เพราะอยากดึงพวกเราออกจากเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เพราะเรื่องอากงหรือคนที่ติดคุกไม่สำคัญ แต่เพราะสำคัญ ผมถึงคิดว่าเราน่าจะรู้จักและเข้าใจเกินไปกว่าเพียงเคสทั้งหลายที่เจออยู่ ทุกวันนี้ ถือเป็นโอกาสที่เราจะทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย มากไปกว่าเพียงแค่ เรื่องว่าใครส่ง SMS หรือไม่ เขียนอะไร พูดอะไร ถูกจับแล้วถูกดำเนินคดีอย่างไร อันนั้นเป็นสิ่งที่พวกเรารู้ดี มีข้อมูลดีกว่าผมด้วยซ้ำ และหลายๆ คนคงพูดเรื่องนี้ ผมอยากพูดเรื่องที่ผมคิดว่าหลายคนในสังคมทั่วๆ ไป ในสื่อมวลชนทั้งหลาย ผมคาดไปเองนะว่า อาจจะไม่ได้พูดหรือพูดถึงไม่มากนัก

หัวข้อที่พูดวันนี้สามารถตั้งหัวข้อเปลี่ยนไปได้หลายแบบ แทนที่จะเป็น “ความจริง (นิยาย) ถูกดำเนินคดี” เอาเข้าจริงอันนี้เป็นการแปลไทยที่ไม่ดีเท่าไหร่นะ ผมตั้งหัวข้อที่แรกมาเป็นภาษาอังกฤษมาจากชื่อหนังสือเล่มนี้ครับ “Truth on Trial” มันเป็นเชิงถูกตรวจสอบ ถูกสอบสวน ผมเติมคำว่า “นิยาย” ลงไป เดี๋ยวจะเข้าใจเองว่าทำไม เพราะว่าผมจะอภิปรายในส่วนสังคมไทย Truth ความสัจจะ หรือความจริง หรือนิยาย สุดท้ายแล้วเราไม่รู้ว่าอะไรและและเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน มันอาจกลับตาลปัตรก็ได้ และนี่ไม่ได้มาจากความคิดโพสต์โมเดิร์นเลย ไม่ใช่ ผมกำลังจะอภิปรายว่านี่มาจากความคิดพุทธ

เพราะฉะนั้นหัวข้อที่จะพูดในวันนี้สามารถเปลี่ยนได้หลายแบบ ผมไม่สงวนลิขสิทธิ์ เปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ เช่น “Truth on Trail อีกเล่มหนึ่งคือ 1984 กับนิยายประวัติศาสตร์ไทย” ก็ได้ “สัจจะ หรือ Truth ในวัฒนธรรมไทย” ก็ได้ หรือว่า “สังคม 1984 แบบไทยๆ” ก็ได้ แต่ว่าถ้าหากเราตั้งว่า “สังคม 1984 แบบไทยๆ” แบบไทยๆ เรามีคำอธิบายอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ผมเป็นคนตั้ง เป็นคำอธิบายที่บรรดาพวกนิยมเจ้าทั้งหลายเขาเป็นคนตั้ง ก็คือ “แบบไทยๆ” แปลว่า แบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้น title สุดท้ายที่ผมบอก ถ้าจะพูดอีกอย่างก็คือ “1984 อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

ประเด็นใหญ่ที่คุยกัน และยิ่งคิดไปถึง 2 โมงครึ่งก็ยิ่งมากขึ้นไปทุกที ผมอ่านให้ฟังก่อนก็แล้วกัน และถ้าผมพูดไม่หมดก็เก็บไว้วันหลัง หรือเก็บไปคิดกันเอาเองนะครับ

 

หนึ่ง ผมจะคุยถึงหนังสือ Truth on Trial ของเดวิด สเตร็คฟัส (David Streckfuss)

สอง ผมจะคิดเลยออกจากหนังสือเรื่องนี้ โดยผูกเข้ากับเรื่อง “Hyper Royalism” ผมแปลเองว่า “กษัตริย์นิยมล้นเกิน” ด้วยเหตุที่ผมจะอธิบายอีกที มันมีคำอื่นที่ง่ายกว่านั้น แต่ผมตั้งใจใช้คำที่มันลิเกหน่อยๆ เพราะคำอื่นๆ ที่ง่ายกว่านั้นฟังแล้วอาจจะช็อกเกินไป ยกตัวอย่างก็ได้ เช่นคำว่า “คลั่งเจ้า”

สาม ผมจะอธิบายสังคมแบบที่เป็น “Thought Control” “การควบคุมความคิด” เป็นคำแปลโดยคุณรัศมี เผ่าเหลืองทอง จากเล่มนี้ (ชูหนังสือ “1984”) หรือถ้าหากพูดภาษาอังกฤษก็คือ A rule by Ideology and Thought Control การปกครองโดยการใช้อุดมการณ์หรือการฝังหัวและการควบคุมทางความคิด

ซึ่งจะนำไปสู่ประเด็นที่ สี่ คือ เราสามารถเข้าใจสังคมไทยได้ในหลายๆ แง่ โดยผ่านหนังสืออีกเล่มหนึ่งก็คือหนังสือ 1984 นี้

ห้า Truth แบบไทยๆ มีผลต่อความรู้ทางประวัติศาสตร์และนิยายทางประวัติศาสตร์ของไทยอย่างไร เอาเข้าจริงสุดท้ายแล้วผมจะพูดเรื่องนิยายน้อยมาก เพราะหลังจากเตรียมไปเตรียมมาผมต้องยอมรับตัวเองว่า ผมเตรียมเรื่องนิยายประวัติศาสตร์ไม่พอ ดังนั้นผมจะแค่ฝากประเด็นทิ้งไว้ในช่วงสุดท้าย แค่นี้ก็มากพอแล้วครับ ไหนจะมีตอบคำถาม คำถาม-คำตอบ และตอนท้ายๆ ผมอาจจะมีอะไรฝากนิดหน่อย

 

000

ประเด็นที่หนึ่ง คือหนังสือ “Truth on Trial” คือหนังสือเล่มนี้ “เมื่อความจริงหรือสัจจะโดนดำเนินคดี” ของ เดวิด สเตร็คฟัส [Truth on Trial in Thailand: Defamation, Treason, and Lese-Majeste] ซึ่งเราหลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อ เพราะหลังๆ เขาออกมาพูดเรื่องกฎหมายหมิ่นบ่อยมาก เสียจนทำให้หลายคนคิดว่าหนังสือเล่มนี้มีแต่เรื่องกฎหมายหมิ่น ถ้าใครไม่อ่าน หรือสนใจเรื่องอื่นๆ ในหนังสือเล่มนี้ผมจะเสียหายมากๆ และถ้าหากผมจะอธิบายหนังสือเล่มนี้ให้ฟังนะ หนังสือเล่มนี้จะติดอยู่ในลิสต์ของฟ้าเดียวกัน พูดง่ายๆ ใครจะแปลหรืออย่างน้อยเก็บความอย่างละเอียด จักเป็นพระคุณยิ่ง เอาเก็บความละเอียดนะ ไม่เอาเก็บความแค่ประเด็นใหญ่คืออะไร

ในเล่มนี้มีอีกหลายเรื่องที่คนไม่เคยพูดถึง ผมไม่ทราบว่าเขาไม่ได้อ่าน หรือเอาเข้าจริงเวลาคนเราสื่อสารต้องพูดสรุปให้ชัดแค่ไม่กี่ประเด็น ก็เลยลงที่เรื่องกฎหมายหมิ่นอยู่ตลอดเวลา บวกกับที่เดฟเอง คนเขียนเอง หลังๆ ก็พูดแต่เรื่องนี้ เพราะสังคมไทยใน Public ไม่ใช่ที่สำหรับอธิบาย ความเบื้องหลังการวิเคราะห์กฎหมายหมิ่น ที่ในนี้มี 12 – 13 บท เรื่องกฎหมายหมิ่นฯ จริงๆ แทรกอยู่ในบทต่างๆ หลายแห่ง แต่เฉพาะจริงๆ เพียงแค่ 2-3 บาทเท่านั้น ไม่กี่บท

เดฟเป็นนักเรียนปริญญาเอกกับผมคนแรก พูดง่ายๆ ผมไป เขาเริ่มเรียนแล้ว สุดท้ายคือมีโอกาสได้มานั่งปลุกปล้ำกับวิทยานิพนธ์เขา แล้วเมื่อวิทยานิพนธ์ของเขาเสร็จ ประเด็นเรื่อง Truth ยังไม่ออก ใช้เวลาอีกประมาณ 10 กว่าปี คลำหา Concept วิทยานิพนธ์เสร็จ ใช้ได้ ผ่านได้ แต่จะเป็นหนังสือในกระบวนการของโลกภาษาอังกฤษไม่ใช่แค่พิมพ์วิทยานิพนธ์ ไม่มีใครทำอย่างนั้น คุณต้องพัฒนาอีกขั้นหนึ่ง ของผมเองก็ต้องพัฒนาอีกขั้นหนึ่ง ตัววิทยานิพนธ์แค่นั้นไม่ได้

ของเดฟใช้เวลาประมาณ 10 ปี ต้องขอบอกว่าที่เราเรื่องนี้เพื่อจะมาจุดที่ว่าสุดท้ายเขาตระเวนไปหา Concept เพื่ออธิบายเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง นั่นคือวิทยานิพนธ์ของเขา ตระเวนอยู่ประมาณ 10 ปี ไปหาเรื่อง Social Memory ไปหาเรื่อง Identity ไปหาอีกหลายเรื่อง ผมไม่ใช่ผู้รู้ดีนะ เขาเป็นผู้รู้ดีในเรื่องเหล่านี้ แต่ว่าเขาจะปรึกษากันตลอด แทบทุกครั้งผมจะบอกไม่ใช่ ... ไม่ใช่ ... ไม่ใช่ Concept ที่เขาต้องการมาปรับปรุงหนังสือนี้ยังไม่ใช่ จนกระทั่งผมได้อ่านซีรีย์หนังสือ ชุดที่พูดเรื่องการจัดการความจริงในสังคมไทย เคยเห็นไหมฮะ ที่อาจารย์อรรถจักร์ (สัตยานุรักษ์) เขียนเรื่องมือที่สาม ที่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์เขียนเรื่องดุซงญอ ชุดเดียวกับที่อาจารย์พวงทอง (ภวัครพันธุ์) เขียนเรื่องกัมพูชา ผมบอกเลยว่าชุดนั้นผมอ่านก็มีชอบ ไม่ชอบเป็นปกติ แต่ Concept โดยรวม ผมคิดว่ามันไปไม่สุด Concept โดยรวมทั้งซีรีย์ไปไม่สุด ผมให้เดฟไปอ่านดู แล้วไปคิดเองว่าจะ Apply อย่างไร ไม่ใช่ว่าผมรู้นะครับ ผมไม่รู้ แต่ผมคิดว่าน่าจะใช่ เขาไปอ่านแล้วก็กลับมาพร้อมกับวิทยานิพนธ์ที่ปรับ Concept ปรับอะไร ผมบอกอย่างเดียวว่า “This is it.” หลังจากนั้นเขาก็ไปเขียน draft ออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ พูดง่ายๆ ว่าประเด็นเหล่านั้นสามารถผนวกกันเข้ามา โดยการกลับไปนั่งมองว่า สังคมไทยจัดการกับ Truth อย่างไร

 

000

หนังสือเล่มนี้พูดถึงอะไรบ้าง ประเด็นที่หนึ่งที่เขาพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า Defamation Regime, Defamation แปลว่า หมิ่นประมาท การดูหมิ่น Regime แปลว่า ระบอบ ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาลนะ คำว่า Regime มีความหมายกว้างกว่านั้น บางคนอาจจะได้ยินชื่อของ (Michel) Foucault ใช้คำของ Foucault ในความหมายว่า เป็น Regime ของความรู้

ยกตัวอย่างเช่น ผมใช้ในหนังสือว่าเป็น Geographical Regime นั่นหมายความว่า ความรู้ภูมิศาสตร์มีหลายแบบ ความรู้ทางภูมิศาสตร์แบบที่เราคุ้นกันอยู่ในทุกวันนี้เป็นแบบหนึ่งในโลก มนุษย์ในอารยธรรมของมนุษย์มีแบบอื่นด้วย ของไทยแต่เดิมก็ไม่ใช่แบบนี้ เพราะฉะนั้นที่เราคุ้นนี้เป็น Regime ทางภูมิศาสตร์แบบหนึ่ง

ในกรณีของเดฟที่ใช้คือ มี Regime มีระบอบ หรือกลไกที่จัดการกับความรู้โดยการใช้กฎหมายหรือใช้กลไกที่จัดการ การหมิ่นประมาทในสังคมไทย เพื่อบอกและควบคุมสังคมไทยว่า อะไรจะพูดได้ อะไรพูดไม่ได้ นี่ไม่ใช่แค่กฎหมายหมิ่นนะครับฯ กฎหมายหมิ่นประมาททั่วๆ ไป การฟ้องคดีหมิ่นประมาททั่วๆ ไป เป็นการวางบรรทัดฐานว่าอะไรพูดได้อะไรพูดไม่ได้ ซึ่งลักษณะนี้ในสังคมไทยมีหลายอย่างที่ไม่ต่างกัน แต่มีอะไรบ้างที่ไม่เหมือนกัน

สิ่งที่คนเขียนเจาะจงลงไป คือ สิ่งที่ไม่เหมือนกันมักจะปรากฏอยู่ในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง หมายความว่ากฎหมายหมิ่นประมาทของไทยกับหลายประเทศ ถ้าเป็นเรื่องเอกชนต่อเอกชน เป็นเรื่องทางแพ่ง หลายอย่างจะไม่ต่างกัน ส่วนใหญ่จะไม่ต่างกัน แต่เมื่อประยุกต์ใช้กฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทไปใช้เกี่ยวกับความมั่นคง ไปใช้กับคนมีอำนาจ ไปใช้กับระบอบอำนาจ และสุดท้ายคือใช้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ การประยุกต์ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกลับไม่ได้ประยุกต์ใช้อย่างที่โลกคนอื่นเขา ทำกัน การประยุกต์ใช้กลับอยู่ในกรอบของวัฒนธรรม หรือเงื่อนไขของสังคมไทยเอง

เขาสืบสาวราวประวัติความเป็นมาของกฎหมายไทย กฎหมายหมิ่นประมาท และสุดท้ายสืบสาวราวเรื่องเกี่ยวกับกลไกทางกฎหมายทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับ การหมิ่นและละเมิด ละเมิดบางทีมันไม่เชิงเป็นการหมิ่นประมาทใช่ไหมครับ การให้เกิดความเสียหาย ทำร้ายต่อ Integrity ต่อศักดิ์ศรี ก็เป็นการอาจเรียกได้ว่าหมิ่นประมาทก็ได้ อาจจะหมิ่นประมาท การสืบสาวราวเรื่องการละเมิดรัฐฐะ ละเมิดอำนาจ ละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่าในกรณีเหล่านี้สมมุติฐานคือว่า กฎหมายหมิ่นฯ มีรากหลายทาง รากหนึ่งคืออยู่กับกฎหมายหมิ่นประมาทนั่นแหละซึ่งไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร แต่เมื่อประกอบกับรากอื่นๆ เช่น พุทธศาสนา ประกอบโน่นประกอบนี่ สุดท้ายแล้วรากที่เป็นกฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดาเมื่อใช้กับรัฐ ไม่ใช่แค่สถาบันกษัตริย์ด้วยซ้ำไป เกี่ยวกับเรื่องอำนาจรัฐ เกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ เราจะมีวัฒนธรรมการจัดการเกี่ยวกับเรื่องการหมิ่นและการละเมิดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน

นี่คือสิ่งที่เป็นข้อเสนอข้อที่หนึ่ง และผมเรียกว่าเป็น “โครงเรื่องหลัก” ของหนังสือเล่มนี้

เพราะฉะนั้น เป็นการจำกัดเสรีภาพการแสดงความเห็น ไม่ได้บอกว่าเรื่องนั้นไม่สำคัญ แต่เรื่องนั้นเข้าใจไม่ยาก และในกรณีนี้เขาสืบสาวราวเรื่องประวัติความเป็นมา และพยายามผูกโยงให้เห็น ทั้งที่เกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมนานาชาติ วัฒนธรรมโลก และวัฒนธรรมของไทยเอง ผมเลยบอกว่าในประเด็นนี้ประเด็นเดียวก็มีเรื่องตั้งเยอะแยะแล้วที่ผมอยากให้ คนอ่านและพยายามเข้าใจ และผมคิดว่านี่คือหน้าที่นักวิชาการ หน้าที่นักประวัติศาสตร์ที่เราพยายามจะทำ เพราะสุดท้ายเดฟไม่ใช่นักกฎหมาย เขาสืบสาว ศึกษาประวัติทางกฎหมายเพื่ออธิบายความเปลี่ยนแปลง

สาระสำคัญข้อสอง รากหรือ Concept ที่เป็นส่วนประกอบของกฎหมายหมิ่นประมาทหรือการละเมิดต่อรัฐ อำนาจ และสถาบันกษัตริย์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าส่วนของการหมิ่น และการละเมิด ที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย เดฟเสนอว่ามีสองอย่างที่สำคัญ

สองอย่างนี่แต่ละอย่างก็ว่าไปหลายบทนะ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อ่านไม่ง่าย และผม Complain ตั้งแต่ต้นจนจบว่ามันยาวเกินไป จนสุดท้ายเขาบอกเขาจะเอาอย่างนี้ ผมก็เลยเลิกอ่าน

แต่ว่าประเด็นใหญ่ๆ คืออย่างนี้ครับ รากของมันมีอยู่อีกสองอย่าง อย่างที่หนึ่ง รากของ Concept “Defamation Regime” มีสองอย่างสำคัญ อย่างแรกคือสิ่งที่เรียกว่า “สภาวะยกเว้น” สำหรับคนที่สนใจทางทฤษฎี เขายืมมาจาก Carl Schmitt และ Giorgio Agamben สาระสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า สภาวะยกเว้น คือ สภาวะไม่ปกติที่กลายเป็นปกติของสังคมหนึ่งๆ ในกรณีของ Schmitt คือสังคมนาซี ในกรณีของ Agamben คือยังพูดสังคม Authoritarian หลายที่ แต่คนเหล่านี้ก็ไม่ได้รู้จักสังคมไทย

อธิบายอย่างง่ายๆ คือ มีสภาวะที่ไม่ปกติบางอย่างซึ่ง Rule of Law ถูก Suspended ถูกยุติ หรือถูกจำกัด ไม่สามารถใช้ได้ตามปกติ และให้อำนาจแก่รัฐ หรือผู้มีอำนาจ ผู้วิเศษ ซุปเปอร์แมนหรือใครก็แล้วแต่ เข้ามาเป็นผู้จัดแจง ตามกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษลงมาล้วงลูกได้

Schmitt กับ Agamben บอกว่า ในหลายๆ ที่การให้อำนาจรัฐบงการกิจกรรม เลยเถิดถึงขนาดลงมาบงการกิจกรรมที่เป็นของปัจเจกบุคคล เป็นเรื่องของปัจเจกชน นึกถึงยุคนาซี สิ่งสำคัญที่พวกเขาพยายามเสนอ คือ ในนามภาวะไม่ปกติ เขาได้ทำให้การใช้อำนาจเช่นนั้นกลายเป็นเรื่องปกติ

เดวิด สเตร็คฟัส บอกว่านั่นคือสังคมไทย ทำให้สิ่งที่ไม่ปกติ หรือไม่ควรจะปกติ กลายเป็นเรื่องปกติ ปกติขนาดไหน อย่างน้อยๆ ที่สุดที่เขาเสนอคือนับตั้งแต่ สฤษดิ์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) เป็นต้นมา เราอยู่ในภาวะไม่ปกติที่เป็นปกติมาประมาณกี่ปีแล้วล่ะ ห้าสิบปี คือครึ่งศตวรรษไปเรียบร้อยแล้ว คือเราเรียกว่าปกติแล้ว แต่ถ้าเราเอาหลักกฎหมาย หลักหลายอย่าง นี่มันสภาวะผิดปกติ

ถ้าผมจะสรุป อันนี้เดฟไม่ได้เขียนนะ ผมสรุปให้ง่ายไปกว่านั้นอีก ง่ายเสียจนอาจจะผิด แต่ผมคิดว่าจะทำให้เราเข้าใจมากขึ้น นั่นคือภาวะ ที่ผู้พิพากษาทั้งหลายสามารถยอมรับกฎที่ออกโดยคณะปฏิวัติทุกฉบับว่าเป็น กฎหมายที่เรารับได้ เอากฎและระเบียบหรือคำสั่งภาวะที่เกิดขึ้นในภาวะไม่ปกติให้กลายเป็นส่วน หนึ่งของชีวิตปกติ “นิติราษฎร์” ต้องการให้เรากลับไปสู่ภาวะปกติที่ปกติ พูดง่ายๆ คือ “เลิกเพี้ยน” เดวิดบอกว่าสังคมไทยอยู่ในภาวะ “เพี้ยน” แล้วยังไม่รู้ว่า “เพี้ยน” มาประมาณ 50 ปีแล้ว นี่คือสาระสำคัญข้อที่สอง

ประเด็นนี้ผมมีข้อแย้งสำคัญ คือ ผมกลับคิดว่า เราสามารถอ่านและเข้าใจ Schmitt กับ Agamben แล้วทิ้ง Schmitt กับ Agamben ไปก็น่าจะได้ แล้วอธิบายประวัติศาสตร์ไทยเอง แต่นี่เผอิญไม่ใช่คนเขียน เขาใช้ Schmitt ใช้ Agamben ว่าไป พูดง่ายๆ ผมคิดว่าสามารถอธิบายภาวะที่ประหลาดๆ ผมไม่รู้จะเรียกว่าปกติ ไม่ปกติไหม ทั้งหมดเป็นคำของ Schmitt กับ Agamben ที่เดฟเอามาใช้ ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรใช้คำเหล่านั้นหรือไม่ แต่อธิบายภาวะอย่างนี้โดยเอาความคิดของพวกเขามาประยุกต์อีกทีหนึ่งก็น่าได้ แต่นี่ก็ไม่เป็นไร เป็นข้อแย้งของผม 

 

000

สาระสำคัญต่อมา คือ อะไรเป็นรากอันที่สอง ที่บอกว่าเป็นเงื่อนไขของ Defamation Regime ตรงนี้เป็นเรื่องที่ผมอยากฝากว่าน่าอ่านมากมาก เถียงได้เยอะ แต่ผมคิดว่าน่าสนใจมากๆ ที่เขาอธิบายว่าTruth และการจัดการความจริงของสังคมไทยผูกพันกับการเข้าใจเรื่อง Truth ของพุทธเถรวาทไทย

ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายแล้วนะ ไม่ใช่แค่เรื่องทฤษฎีการเมืองแล้วนะ และตรงนี้ที่ผมคิดว่าเป็นจุดอ่อนคือเดฟรู้จัก Concept ปรัชญาพุทธ อะไรต่ออะไรไม่ดีเท่าไหร่ แต่กลับกลายเป็นว่าเขานำเสนอในประเด็นที่อาจจะไม่ถูกเป๊ะ แต่สามารถอภิปรายและถกเถียงได้

ในความเห็นผมนะ เป๊ะๆ อาจจะไม่ถูกเป๊ะ รับรองถูกพระถูก Scholar ทางพุทธด่าแหลก ผมเองยังแย้งได้เลย แต่ผมกลับคิดว่าเขาเปิดประเด็นหลายอันที่ถ้าเราอย่าไปติดว่าเขาอธิบายถูกทุด คำไหม มีประเด็นให้คิดจมเลย

ผมจะอธิบายต่อไปนี้ไม่ใช่เดฟทั้งหมด แต่บวกกับความเข้าใจของผมด้วย บวกกับความเข้าใจที่ผม Correct เดฟด้วย คือผมแก้ให้เขาด้วย และผมก็ไม่อยากให้เข้าใจผิด ผมเองก็ไม่ใช่ปัญญาชนพุทธ แต่เอาง่ายๆ คือ ในการเข้าใจประวัติศาสตร์ความคิดของไทย หนีไม่พ้นที่จะต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ความคิดในทางพุทธศาสนาเกี่ยวกับ เรื่องอำนาจ ผมคิดว่าเดวิดอาจจะจับจุดได้ ... ต้องเรียกว่าไม่ผิดนะ แต่ว่าไม่คม ผมอ่านปุ๊บผมปิ๊ง (ดีดนิ้ว) ขึ้นมาทันทีในหลายเรื่องที่ผมไม่เคยคิด ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้วยซ้ำแต่ผมอ่านเรื่องนี้มามากกว่าเดฟ เพราะเป็นไลน์ที่ผมศึกษาวิจัยในขณะที่ไม่ใช่ไลน์เขา แต่เขาอธิบายทำให้ผมปิ๊งหลายเรื่องที่ผมไม่คิดมาก่อน

ประเด็นนี้จึงสำคัญมากและเปิดประตูเบ้อเริ่มให้เราคิดต่อ ผมจะลองอธิบายให้เห็นว่า Truth ในสังคมไทยมีลักษณะที่ไม่เหมือน Concept สมัยใหม่หรือ Truth อย่างที่เราเข้าใจอย่างไร แล้วผมจะเน้นประเด็นที่ใกล้ ม.112 เข้ามาหน่อย

ผมจะอธิบายประเด็นนี้ให้ง่าย ถ้าผมพูดให้ง่ายไม่ใช่ดูถูกผู้ฟัง แต่เพื่อประหยัดเวลาและเพื่อติดประเด็น จุดประเด็นให้พวกเราคิดเอา

ใน Concept อย่างพวกเรา ยิ่งผ่านระบบการศึกษามหาวิทยาลัยระบบตะวันตก เราอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีเชื้อมูลของตะวันตกนี้เยอะ “สัจจะ” หรือ ความจริงขั้นสุดท้ายในทางฟิสิกส์หรือวิทยาศาสตร์เรายังไปไม่ถึง การค้นคว้าวิจัยทำให้เรารู้มากขึ้นเพื่อสักวันเราจะได้รู้ถึงที่สุด นักประวัติศาสตร์บอกว่าอดีตมีมาก มีจิ๊กซอว์อยู่เต็มไปหมด เราต้องรู้จิ๊กซอว์ทีละชิ้นเพื่อที่สักวันเราจะต่อจิ๊กซอว์ครบทั้งอัน

แต่ในแนวคิดพุทธบอกว่า “สัจจะ”ค้นพบแล้ว “อกาลิโก” ไม่ได้แปลว่ายังอยู่ข้างหน้า แต่แปลว่าอยู่โน่นเมื่อ 2,500 ปีก่อน และยัง “อกาลิโก” จนทุกวันนี้ “สัจจะ” เจอแล้วนานแล้ว แต่เราทั้งหลายในปัจจุบันบุญไม่ถึง จึงไม่สามารถบรรลุธรรมได้ “สัจจะ” อยู่โน่นเราทั้งหลายเก่งอย่างไร ในห้องนี้เป็นศาสตราจารย์หมด คุณก็ยังไม่ถึง “Truth” อยู่ดี

ในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า “Truth” และ “Reality” เราแปลเป็นไทยว่าสัจจะความเป็นจริง ใน concept พุทธ การแปล “สัจจะ” มีคำที่ใช้มากกว่านั้นคือ “ธรรมะ” ซึ่งคำนี้ไม่สามารถแยก “Truth” ออกจาก “Reality” ได้ แต่ “ธรรมะ” มีเกรด หรือมีขั้นตามแต่ระดับบุญที่เราสามารถจะเข้าถึง ธรรมะมีอันเดียวแต่เราล่วงรู้ธรรมมะได้ในดีกรีที่ต่างกันตามบุญบารมีและความ สามารถเราถึงได้บรรลุ ธรรมมีหนึ่งเดียวมีอันเดียว แต่ฝรั่งมี “Truth” กับ “Reality” ที่แยกกันและพยายามจะให้คำจำกัดความ

ผมยกเรื่องนี้เพราะระบบกฎหมายต้องอยู่กับเรื่องความจริง ผมถามว่าระบบกฎหมายไทยจะเอาความจริงอันไหน หมายความว่าระบบ กฎหมายไทยเป็นระบบกฎหมายสมัยใหม่ แต่ถามว่าสังคมไทย Concept เรื่องความจริงแบบพุทธ “สัจจะ” หรือ “ธรรมะ”แบบพุทธหายไปหรือยัง ... ยัง ตอบแบบนักประวัติศาสตร์คือไม่มีอะไรในอดีตหายไปอย่างรวดเร็ว บ่อยครั้งมันอยู่กับเราโดยเราไม่รู้ตัว

ถ้าเป็นอย่างนั้น หมายถึงว่าคนที่อยู่ในวงการกฎหมาย กฎหมายหมิ่นประมาท อย่าลืมว่าเรื่องหมิ่นประมาทนั้นเป็นเรื่องพิสูจน์กันยาก หมิ่นประมาทต้องพิสูจน์ด้วยอะไรครับ มีสองอย่างที่ต้องพิสูจน์กัน หนึ่ง พิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริง นี่พูดแบบตามตรรกะนะครับ ถ้าจริงต่อให้คำกล่าวนั้นไม่ก่อให้เกิดความเสียหายคนๆ นั้นก็ไม่ผิด อันที่สอง เสียหายไหม เสียหายมากขนาดไหน เช่น Public Figure เสียหายแค่นี้ไม่เป็นไร ไม่ใช่ Public Figure (บุคคลสาธารณะ) เสียหายแค่นี้ถือว่าผิด เพราะ Public Figure ควรจะต้องเจอความเสียหาย ถูกตรวจสอบมากกว่าคนที่ไม่ใช่ Public Figure

เพราะฉะนั้นมี พิสูจน์ความจริง กับพิสูจน์ระดับความเสียหายนี่เป็นหลักกฎหมายหมิ่นประมาทโดยทั่วไป

ถามว่าเมื่อมาอยู่ในสังคมไทย 2 อย่างนี้พิสูจน์ลำบากแล้วนะ การพิสูจน์ระดับความเสียหาย พิสูจน์อย่างไร ศาลก็ต้องเชิญพยานคนที่หนึ่งมาถามว่า “คุณฟังข้อความนี้แล้ว คุณรู้สึกว่า จำเลยถูกละเมิดหรือไม่” แล้วก็ถามคนที่สอง “คุณฟังข้อความนี้แล้วรู้สึกว่าจำเลยถูกละเมิดหรือไม่” มันไม่มีวิธีพิสูจน์อื่น นี่พูดถึงในระบบสากลนะครับ ไม่มีวิธีพิสูจน์อย่างอื่น ยิ่งระบบลูกขุนยิ่งแล้วใหญ่ เพราะต้องเอาพยานมา ลูกขุนก็นั่งฟังแล้วถามใจตัวเองว่า ตกลงเราฟังแล้วมันละเมิดหรือไม่ละเมิดเพื่อจะตัดสินว่าเกิดการหมิ่นประมาท หรือไม่ แม้ดีกรีที่บอกว่า ถ้าเป็นจริง ก็แปลว่าไม่ผิด

ในโลกนี้หลักพิสูจน์ความจริง กับระดับของการละเมิดนี้ปะปนกันอยู่ตลอดเวลา มีสองเกณฑ์ในการพิจารณากฎหมายหมิ่นประมาท สิ่งที่เดฟเสนอก็คือว่า ในกรณีสังคมไทย ในเมื่อรัฐในไม่ปกติกลายเป็นเรื่องปกติ ผู้มีอำนาจจะกลายเป็น Unquestionable ห้ามโต้แย้ง แปลว่า “ความจริง” ไม่ต้องการการพิสูจน์ เขาพิสูจน์อย่างเดียวว่าละเมิดหรือไม่ กฎหมายหมิ่นเป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุด เพราะไม่มีการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ ไม่มีการพิสูจน์ว่าสิ่งที่พูด สิ่งที่เขียนจริงหรือไม่ พิสูจน์อย่างเดียวคือระดับของการละเมิด แถบระดับพิสูจน์ของการละเมิดโดยที่ตัวผู้ถูกละเมิดไม่สามารถมาบอกเองด้วยซ้ำ ไป เป็นการเดาว่าผู้ถูกละเมิด ถูกละเมิดขนาดไหน เป็นการเดาว่าประชาชนทั่วไปถูกกระทบความรู้สึก ในคำตัดสินคดีอากงใช่ไหมครับ ต้องประชาชนทั่วไปเลยนะและเดาด้วยนะ เพราะศาลไม่สามารถนำคน 60 กว่าล้านคนมาถามทีละคน อย่างน้อยศาลก็ไม่เคยถามผม ใช่ไหมครับ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าศาลเรียกผิดคน หรือถามคนที่บอกว่า “ไม่รู้สึก” ศาลจะเอาโหวตไหม ว่าคนที่เรียกมา 10 คน 9 ชนะ 1, 8 ชนะ 2, 6 ชนะ 4 ... ไม่มีบรรทัดฐานใดๆในเรื่องเช่นนี้ทั้งสิ้น จึงเป็นการใช้เกณฑ์กฎหมายหมิ่นประมาทในภาวะที่ไม่ปกติที่ทำให้กลายเป็นปกติ

ผมกลับมาเรื่อง “พุทธ” ในสังคมเรา มีการใช้ความหมายของคำว่า “จริง” หรือ “ไม่จริง” ปะปนกำกวมกันไปจนน่าปวดหัวโดยที่เราไม่เคยสะสาง แต่ในที่นี้ไม่ได้พูดเพื่อให้สะสาง เพราะผมเชื่อว่าสะสางไม่ได้

สะสางไม่ได้ ทำอย่างได้อย่างเดียวคือกรุณา Aware ตระหนักแล้วอย่าจับใครเข้าคุกง่ายๆ ผมจะยกตัวอย่างให้ฟัง และนี่คือหัวข้อเดิมที่ผมตั้งใจจะพูด แต่ว่าตลกๆ มาอยู่ในนี้ แค่นี้ก็แล้วกัน

คุณว่าพระไทยเล่นกีตาร์ไหม แต่ว่ากองเซ็นเซอร์เขาบอกว่าพระไทยไม่เล่นกีตาร์ รู้ใช่ไหมว่าเคสอะไร

เพราะฉะนั้นเมื่อหนังของคุณอภิชาติพงศ์ (วีระเศรษฐกุล) มีพระเล่นกีตาร์ จึงต้องตัดฉากนั้นออก อะไรคือ Justification ที่ตัดฉากนั้นออก Justification ของกองเซ็นเซอร์ก็คือ เพราะพระไทยไม่เล่นกีตาร์ เมื่อกี้ผมถามว่าพระไทยเล่นกีตาร์ไหม พวกคุณบอกว่า ใช่ คุณคิดว่ากองเซ็นเซอร์ผิดหรือที่บอกว่าพระไทยไม่เล่นกีตาร์

ตัวอย่างที่สอง ในหนังเรื่องเดียวกันมีภาพหมอ รู้ใช่ไหมครับ ขออนุญาต เพื่อไม่ให้ประเจิดประเจ้อ เดี๋ยวจะไม่ได้โดนข้อหาหมิ่น จะโดนข้อหาอนาจาร หมอไทยเกิดความรู้สึก Sex ขึ้นมาเกิด Erection ฉากนั้นถูกตัดออก ผมถามจริงๆ เถอะ หมอไทยไม่มีความรู้สึกทางเพศหรือเปล่าฮะ คุณว่าหมอไทยมีความรู้สึกทางเพศไหม คุณว่าหมอไทยเคยเกิด Erection ไหม แต่กองเซ็นเซอร์เขาบอกว่าหมอเนี่ยไม่ควรมีภาพเกิด Erection คุณคิดว่ากองเซ็นเซอร์เขาผิดหรือ ตกลงเรากำลังพูดเรื่องอะไรอยู่เนี่ย คิดซะ

ผมให้ตัวอย่างที่สาม แล้วเดี๋ยวคุณอาจจะนึกว่าสองตัวอย่างแรก เอาเข้าจริงเขากำลังพูดถึงความเป็นจริงคนละชนิดกัน ผมให้ Hint หน่อยหนึ่ง

เมื่อปี 1995 (2538) 15-16 ปีมาแล้ว อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร กับอาจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ เคยทำวิจัยร่วมกันชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการคอรัปชั่นของตำรวจ แล้วก็ได้ข้อสรุปว่าคอรัปชั่นเต็มไปหมด ตำรวจประท้วง ไม่ใช่แค่อธิบดีประท้วงอย่างเดียวนะ ตำรวจฮือฮา ผมจำไม่ได้ว่าตำรวจตบเท้าประท้วงไหม คิดว่าไม่ถึง แต่เพียงว่าไม่ใช่เพียงแค่ตำรวจผู้ใหญ่บางคนออกมาให้ความเห็น เกิดกระแสความไม่พอใจในวงการตำรวจ ผมก็ไม่รู้แหละครับว่าพวกเขาเกณฑ์มา รู้สึกจริง นั่นเราไม่เกี่ยว เราเคารพกันว่าลองมีคนประท้วงก็คือมีการประท้วง

ข้อโต้แย้งของตำรวจเหล่านั้นก็คือว่า ตำรวจที่คอรัปชั่นเป็นแค่ไม่กี่คน ตำรวจไทยไม่คอรัปชั่น

ถ้าคุณบอกว่าตำรวจไทยคอรัปชั่นมากมาย เท่ากับว่าคุณกำลังยื่นเรื่องต่อ ปปช. อย่างไม่เป็นทางการว่าให้สอบสวนเขาให้หมด ตำรวจถ้าหัวหมอก็อาจจะบอกว่า “อ่า ถ้ารู้อย่างนั้น ก็ฟ้องให้หมดสิ ก็ถ้าคุณไม่ฟ้อง ฟ้อง ก็แปลว่าตำรวจส่วนใหญ่ไม่คอรัปชั่น มีเฉพาะตำรวจที่ถูกฟ้องเท่านั้นถึงคอรัปชั่น แปลว่าความเป็นจริงก็ประจักษ์พยานชัดอยู่ว่าตำรวจไม่กี่คนคอรัปชั่น ตำรวจส่วนใหญ่ไม่ถูกฟ้องจึงไม่คอรัปชั่น ซ.ต.พ.”

เวลาคุณเจออย่างนี้ คุณจะบอกว่าอย่างไร งานวิจัยที่บอกว่าตำรวจคอรัปชั่น หรือ Statement ที่บอกว่าตำรวจไทยไม่คอรัปชั่น อันไหนคือความจริง หรือคุณจะบอกอันหลังว่าไม่จริงเลย โกหกทั้งเพ

ตัวอย่างสุดท้าย คุณอานันท์ ปันยารชุน พูดตลอดเวลาในเวทีสากล ในเวทีประเทศไทยว่าสถาบันกษัตริย์ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

คุณนึกออกหรือยังฮะ

 

พระไทยไม่เล่นกีตาร์ ... พระไทยเล่นกีตาร์

หมอไทยไม่มีพฤติกรรมทาง Sex ที่น่าเกลียดอย่างนั้น ... หมอไทยก็มนุษย์คนหนึ่ง เกิด Erection ได้

ตำรวจไทยไม่คอรัปชั่น ... คอรัปชั่นเต็มไปหมด

พระมหากษัตริย์ไม่ยุ่งการเมือง

 

เรากำลังพูดถึงความจริงคนละภาษากัน และนี่คือวิธีที่คุณอานันท์ใช้ตลอดเวลา ถามผมว่าตำรวจไทยไม่คอรัปชั่น พระมหากษัตริย์ไทยไม่ยุ่งการเมือง มีค่าเท่ากับอะไร ในความเห็นผมนะ มีค่าเท่ากับ “เมืองไทยเรานี้ แสนดีหนักนา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” คุณจะบอกหรือว่าคำกล่าวเหล่านี้เพ้อเจ้อ ไร้เดียงสา มันสะท้อนความรู้สึกของหลายคนนะ เขาถึงอยากอยู่เมืองไทยไง แต่ในทางกลับกัน ความรู้สึกของหลายคนที่เดินอยู่ในประเทศไทยทุกวันก็บ่นเช้าบ่นเย็น

ถามว่าตกลงที่เมืองไทย เป็นเมืองที่ยังน่าอยู่ เรายังอยากอยู่เมืองไทย กับเมืองไทยที่แย่ฉิบหายเลยบ่นเช้าบ่นเย็น อันไหนคือความจริง อันไหนคือความไม่จริง คำตอบก็คือ เผลอๆ มันไม่ใช่อันหนึ่งจริงและไม่จริง แต่เรากำลังพูดถึงความจริงคนละเรื่อง เรากำลังพูดถึงความจริงคนละระนาบ

 

000

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราใช้ความจริงคนละระนาบ เอาไปตัดสินคดีหมิ่นประมาท

คดีหมิ่นประมาท คดีอาชญากรรม เขาไม่ได้มีไว้ให้กับความจริงที่บอกว่าตำรวจไทยไม่คอรัปชั่น พระไทยไม่เล่นกีตาร์ หรือพระมหากษัตริย์ไม่ยุ่งการเมือง เอาไปตัดสิน พูดถึงระบบกฎหมายทั่วไปที่ใช้กันทั่วโลกนะเขาเอาความจริงอีกข้างหนึ่ง

แต่ที่ศาลตัดสินคดีอากง ศาลต้อง Assume ก่อนว่าความจริงคือ คนไทยทั่วไปมีความรู้สึกอย่างนี้ จึงถูกกระทบกระเทือนจากข้อความที่ส่ง SMS ถูกไหมครับ ความจริงที่ศาล Assume ไม่ใช่ความจริงที่จำเป็นต้องมาถามคน 60 ล้านคนหรือแค่สิบคนอย่างที่ยกตัวอย่าง ไมใช่ ไม่จำเป็น เป็นความจริงที่ Assume เหมือนความจริงที่บอกว่าตำรวจไทยไม่คอรัปชั่น เหมือนความจริงที่บอกว่าหมอไทยไม่เคยมีความรู้สึกทางเพศ เหมือนความจริงที่บอกว่าพระไทยไม่เคยเล่นกีตาร์ พระไทยดีหมดเลย หรือความจริงที่บอกว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ยุ่งกับการเมือง

การตัดสินคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง ตัดสินคดีหมิ่นหลายอัน Assume ความจริงชนิดหนึ่งที่ไม่ต้องการการพิสูจน์ เป็นความจริงชนิดนั้นเป็นความจริงที่ไม่ต้องการค้นพบหรือวิจัย เป็นความจริงที่รู้ได้ด้วยเจตสิทธิ ด้วยเจตจำนงภายในของเรา และทุกคนที่เกิดเป็นคนไทยควรจะรู้อยู่ จนกระทั่งคนบุญน้อยและเจตสิทธิ เจตจำนงภายในแย่ จึงต้องถูกตรวจสอบว่าละเมิดหรือไม่

ความจริงชนิดนี้ไม่ต้องการการพิสูจน์ ความจริงชนิดนี้มีไว้สำหรับยึดถือว่ามันเป็นอย่างนั้นโดยที่ไม่ต้องมีการพิสูจน์

Defamation Regime ของไทย อยู่กับความคิดเรื่องความจริงของพุทธนี้แบบสับสนปนเปกันไปหมด มากไปกว่านั้น คิดแบบพุทธคุณพอรู้ใช่ไหม สังคมพุทธไม่ได้เป็นแบบนี้หมด แต่ Hierarchy ในสังคมไทยมีรากฐานจากความคิดเรื่องบุญบารมีในแบบพุทธของไทย คือ พุทธไม่ต้องออกผลมาเป็นแบบสังคมไทยหมด

ในสังคมไทย ความคิดเรื่อง “สัจจะ” ยังขึ้นอยู่กับระดับบุญบารมี หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือระดับบุญบารมีแสดงออกในสถานะทางสังคม หมายความว่า คนอย่างอากง ไม่ได้มีทางที่จะล่วงรู้ถึงเจตนาภายในของผู้พิพากษา แต่ผู้พิพากษานั้นมีความสามารถที่จะล่วงรู้เจตนาภายในของอากง เพราะผู้พิพากษาท่านบอกไว้อย่างนั้น ท่านสืบเข้าไปหาเจตนาภายในของอากง เพราะท่านอยู่ในสถานะเป็นคนที่สูงกว่า มีบารมีพอที่จะสืบไปหาเจตนาภายใน นี่ไม่ได้พูดเล่น นี่เป็น Concept พุทธ แต่ผมพยายามอธิบายพุทธไทยให้ง่าย

ระดับของการบรรลุธรรม ระดับของความเข้าใจสิ่งที่อยู่ข้างใน เข้าใจเจตนา ผูกกับเรื่องความสามารถของคน ความสามารถที่จะเข้าใจนี้ผูกกับเรื่องสถานะ เพราะมันเกี่ยวโยงทั้งหมดว่าระดับของบุญบารมีที่ไม่เท่ากัน

คุณจะกล้าบอกหรือว่า ผมมีบุญบารมีมากกว่าท่านผู้พิพากษา ผมก็ไม่กล้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิพากษาทุกรายได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง นั่นหมายความว่า ได้รับการให้เป็นตัวแทนเพื่อทำหน้าที่ดำรงความยุติธรรม ใช่ไหมครับ เขาถึงภูมิใจหนักหนา บรรดาศาลทั้งหลาย ในกรณีแบบนี้ต่อให้อาจารย์ชัชวาล (หันไปทาง อาจารย์ชัชวาล ปุญปัน) อาจารย์อาจจะอายุมากกว่าผู้พิพากษา แต่ไม่มีสิทธินะครับ ในกรณีนี้วัยวุฒิถูก Override (ยกเลิก) โดย Another Source of Power แหล่งบารมีอันหนึ่งซึ่งสูงกว่า แหล่งบารมีก็มีชั้นนะ อาจารย์ชัชวาลสั่งให้พวกคุณทำงาน เกิดมีบางคนที่ได้รับมอบหมายจากแห่งบุญบารมีที่สูงกว่านั้น สั่งให้คุณทำงานอีกงานหนึ่ง คุณจะเชื่อใคร มันก็เป็น Hierarchy ตามกันอย่างนี้

ในแง่นี้เท่ากับว่าใครที่สามารถเข้าถึงสัจจะและความจริงยังมีดีกรีหรือระดับที่ต่างกันด้วยซ้ำไป คุณลองนึกภาพดูว่า เมื่อ ความเข้าใจเรื่องความสามารรถในการเข้าถึงเจตนา เข้าถึงความจริง รู้จักความจริง ผูกกับ Concept บุญบารมีที่มีมาแต่โบราณ แล้วเอามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฎหมายจะเกิดอะไรขึ้น

อีกประเด็นที่เดวิดเขียนไว้ไม่ยาว แต่เปิดประตูเบอเริ่มโดยที่เขาไม่รู้ตัว คือ ความสำคัญของเจตนา

สังคมไทย ผมมีข้อสังเกตอันหนึ่ง เรื่องนี้ผมคิดมาหลายปีแล้วนะ แต่คิดเป็นงานอดิเรกไม่คิดจะเขียนบทความ คุณลองกลับไปดูข่าววันหนึ่ง มีคนเรียกหาความจริงใจกี่ครั้ง นักการเมืองไม่จริงใจ ถ้าคุณจริงใจก็แก้ปัญหาได้ คนนั้นไม่จริงใจ ไม่จริงใจ ... ทุกคน พวกเราด้วย พวกเราชอบพูดกันว่าไม่จริงใจ ผมว่าถ้าจริงใจแล้วจะช่วยอะไรได้

หรือว่าเพราะ Concept แบบพุทธที่ว่า “ความจริงใจ” หรือ “เจตนา” ในที่นี้ เรามักจะแปลว่า Intention ซึ่งในทางพุทธ เจตนาในที่นี่ถ้าหากผมจะลองแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาอังกฤษสองตัว ซึ่งมันบอกถึงเจตนาคนละชนิด แต่ว่าพุทธนั้นพูดถึงเจตนาทั้งสองชนิดโดยไม่แยกแต่เป็นเจตนาที่อยู่ในระดับ ต่างกันตามระดับของบุญบารมี อย่างที่หนึ่งคือ Intention อย่างที่สองคือ Conscience และสิ่งที่เป็น Conscience ต้องเป็น Positive Moral ในกรณีของเรา “เจตนา” ลึกๆ เป็น “กุศล” หรือ “อกุศล” ได้

พูดอีกอย่างก็คือว่า Intention มีลักษณะอย่างเราคิดและพยายามจะทำ Conscience เป็นสิ่งที่อยู่ข้างใน ซึ่งบางทีเราไม่ได้คิดแต่มันเป็นสำนึกที่อยู่ลึกๆ ในกรณีของฝรั่ง Conscience จึงเป็น Moral คือเป็นเรื่องดี ในกรณีของพุทธสิ่งที่อยู่ลึกๆ ไม่จำเป็นกุศล เป็นอกุศลก็ได้ เรามักจะเข้าใจว่า กุศล และ อกุศล เกิดจากการกระทำของเรา ... ถูกต้องครับ แต่ก่อนที่จะเกิดการกระทำคือสิ่งที่มีอยู่แล้วเบื้องต้น ถ้ามีบุญ บารมีน้อยก็มีอกุศลเจตนาอยู่เยอะ มีกุศลน้อยหน่อย แต่ถ้าคุณมีบุญบารมีมากหน่อย หรือจนถึงมากที่สุด สิ่งที่อยู่ข้างใน Conscience ของคุณก็จะเป็นกุศลเจตนาหมด มีอกุศลน้อยมาก เพราะบุญบารมีได้ชำระสิ่งที่อยู่ข้างในเรียบร้อยแล้ว

นั่นหมายถึงว่า ถ้าหากคุณฆ่าภรรยาคุณ เพราะโดยที่คุณเป็นอาจารย์ เราสามารถสืบได้ว่าคุณต้องมีกุศลเจตนามากกว่าคนอื่นหน่อย

ในขณะที่กรณีอากงมองปราดเดียวก็รู้ว่าเต็มไปด้วยอกุศล เพราะมันถูกกำหนดด้วยสถานะของเขา ถ้าเขาเป็นคนใหญ่คนโตแล้วส่ง SMS อย่างนั้นหรือ เลขาฯ คุณอภิสิทธิ์อาจจะต้องโทรไปถามว่า “มาจากท่านจริงหรือเปล่าครับ” เลขาฯ คุณอภิสิทธิ์จะไม่ฟ้องตำรวจ เลขาฯ คุณอภิสิทธิ์จะถาม “มาจากท่านจริงหรือ ผมว่าเป็นไปไม่ได้นะ เพราะผมรู้จักท่านดีว่าท่านไม่ใช่คนอย่างนั้น”

ใช่ไหมครับ สังคมไทยเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เป็นแค่ “เส้น” ในความหมายว่ารู้จักกันเฉยๆ ในกรณีนี้อาจจะไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัว แต่สามารถ Assume ได้ว่าคนนั้นมีกุศลและอกุศลในใจมากขนาดไหน อยู่ใน Conscience มากขนาดไหน โดยดูจากสถานะทางสังคม

ผมมีอีกตัวอย่างหนึ่งเพื่อให้เห็นถึงการมองกุศลและอกุศลในเบื้องลึกจิตใจโดยที่เราไม่จำเป็นต้องรู้จักกันมากเท่าไหร่

ตอนคุณชาติชาย (ชุณหะวัณ) เป็นนายก รัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลชาติชายชื่อบรรหาร (ศิลปอาชา) ตอนนั้นคนด่ากันมาก เป็นตู้ ATM อะไรต่ออะไร เวลาทำอะไรผิดขึ้นมา ก็จะมีคนบอกว่า “ท่านนายกฯ ไม่ใช่คนแย่นา คนรอบข้างต่างหากที่แย่” พอคุณบรรหารเป็นนายกฯ “คุณบรรหาร ท่านนายกฯ ก็ไม่ได้เป็นคนแย่คนรอบข้างท่านต่างหากที่แย่” หรือพอชวลิต (ยงใจยุทธ) เป็นนายกฯ ก็บอกว่า “ท่านชวลิตไม่ได้เป็นคนที่แย่ คนรอบข้างต่างหากที่แย่”

คำพูดเหล่านี้เกิดจากการที่เราไม่รู้จักคนเหล่านั้นสักคนหนึ่ง แต่เกิดจากการ Assume ว่าใครอยู่ใน Position ไหน และคนที่อยู่ใน Positionสูง เราก็ Assume ว่าเขาไม่แย่ คนที่อยู่ใน Position ที่ต่ำลงมา เราก็ Assume ว่าเขาแย่กว่า คนอยู่ใน Position ที่ห่างไกลจากแวดวงอำนาจและบารมี เราก็ Assume ว่าเขาเต็มไปด้วยอกุศล

ถ้าลองเรายังมีวัฒนธรรมแบบนี้แล้วเอาเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมในกรณีหมิ่นประมาท กรณีหมิ่น ละเมิดอำนาจของรัฐ จะเกิดอะไรขึ้น

“ศาลจึงสามารถพูดเรื่องล่วงรู้เจตนาภายใน” พอผมอ่านตรงนี้ปุ๊บ ผมไม่ได้คิดถึงคำว่า “Intention” เลย ผมคิดกลับไปหาพุทธทันที นี่เป็นธรรมเนียมเดิม จารีตเดิม ที่พูดกันว่า “บริสุทธิ์ก่อนจะรู้ว่าผิด” เป็นธรรมเนียมสมัยใหม่ ธรรมเนียมแต่เดิมคือ “คุณผิดก่อนที่จะพิสูจน์ว่าตัวเองบริสุทธิ์” นี่ผมไม่ได้พูดเล่นนะ จะพูดให้ชัดและตรงเป๊ะคุณจะถูก Assume ว่าผิดหรือบริสุทธิ์ก่อนขึ้นอยู่กับบุญบารมีของคุณ Assumption ไม่ได้ Apply เท่ากัน ภาษาปัจจุบันเขาว่าสองมาตรฐาน พวกนี้คนสมัยใหม่ คนสมัยเก่าเขาไม่เรียกสองมาตรฐานเขาถือว่าขึ้นอยู่กับระดับชั้นของบุญบารมี ไม่ใช่สองมาตรฐาน สองมาตรฐานคือสมัยใหม่ที่คิดว่าต้องมีมาตรฐานเดียว สมัยก่อนไม่ใช่สองแต่ไม่รู้กี่มาตรฐานตามระดับชั้นของบุญบารมี ปัญหาเกิดขึ้นเราอยู่ในโลกสมัยนี้ แล้วยังมีมรดกตกทอดของโลกสมัยเก่าหลงเหลืออยู่ในสมองและจิตสำนึกเราเต็มไป หมด

 

(หมายเหตุ: ประชาไทจะนำเสนอการอภิปรายของธงชัย วินิจจะกุล ตอนที่สองในเร็วๆ นี้)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net