‘ใบตองแห้ง’ ออนไลน์: ยืนหยัดพลังที่สาม

ชัยชนะของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ใช่เราเป็นผู้ชนะ แต่เหตุผลเป็นผู้ชนะ…เรื่องเศร้าคือ นักต่อสู้ที่แท้จริง ไม่เคยมีใครเป็นผู้ชนะ มันเป็นลักษณะพิเศษของสังคมไทย เราก็เป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ที่บ้างก็ประสบชะตากรรมจากการต่อสู้ แต่ยืดอกรับมันอย่างยิ่งใหญ่

ผมตกข่าว! ไม่ได้นั่งดูการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าใครบ้างขานชื่อรับร่าง 399 เสียง ซึ่งล้นเกินจำนวน ส.ส.รัฐบาลไปตั้งเยอะ ข่าวบอกว่าพรรคภูมิใจไทยลงให้ แต่ก็มี ส.ว.เยอะอยู่เหมือนกัน ทั้ง ส.ว.เลือกตั้งและลากตั้ง ขณะที่ฝ่ายค้านมีแค่ 199 เสียง ยังงงอยู่ว่า ปชป.มี 159 เสียง กลุ่ม “สมชาย-รสนา” อ้างว่ามี 50 เสียง แล้วคะแนนหายไปไหน ปล่อยให้ “เผด็จการสภาผู้แทนราษฎร” กลายเป็น “เผด็จการรัฐสภา” โดยสมบูรณ์แบบ ฮิฮิ

ผมหลงวางใจว่าสื่อต่างๆ จะเอามาสรุปตอนเช้า แม้หนังสือพิมพ์รายวันลงไม่ทัน แต่ก็น่าเอาลงเว็บหรือลงฉบับวันอาทิตย์ (เพื่อพวกพันธมิตรจะได้เอาไปฟ้องศาล ฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ) ที่ไหนได้ ไม่ยักมีใครสนใจ จบแล้วจบเลย พากันไปเล่นข่าว “เมาเหล้าเมารัก” ที่ไร้สาระด้วยกันทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล

ถามว่าถ้าออเหลิมเมา แล้วต้องลาออกไหม ต้องถอดถอนไหม ก็เปล่า (หรือจะบ้าจี้กันขนาดนั้น) จริงๆ ก็แค่ตำหนิ ติติง ว่าเป็นพฤติกรรมไม่สมควร นักเลงจริงต้องกล้าทำกล้ารับ ก็แอ่นอกรับความจริงไปสิครับ ไม่เห็นต้องตะแบง แต่ฝ่ายค้านก็ทำเหมือนไม่มีอะไรจะเล่น มาคุ้ยขยะเป็นวรรคเป็นเวร (พี่น้องเอ๊ย จะเอาอะไรกันนักหนา เมาหรือไม่เมา ภาพลักษณ์พ่อไอ้ปื๊ดก็ไม่แย่หรือดีกว่าที่เป็นอยู่หรอก)

รายชื่อผู้รับร่างฯ สำคัญนะครับ เพราะบอกได้ในเบื้องต้นว่า นี่จะมีรายการ “ป๋ากับปูกู้อีจู้” อีกหรือเปล่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญผ่าน 2 พรก.ฉลุย ทำเอาฝ่ายค้านฝ่ายแค้นแน่นจุกอก อุตส่าห์เงื้อง่าราคาแพง เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบ ลาออก ถ้า พรก.ไม่ผ่าน

2 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าทำให้ฝ่ายค้านฝ่ายแค้น “เหวอ” ไปเหมือนกัน (รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ ที่เริ่มเข้ารูปเข้ารอย หลังเข้าเฝ้าในหลวง รับพระราชทานคำแนะนำ) แต่พวกเขาไม่รู้จะทำไงนี่ครับ ก็ยังต้องตะแบงปกป้องรัฐธรรมนูญอำมาตย์ (ที่บิ๊กบังไม่มาขานชื่อ) และอ้างสถาบันฯ ปิดกั้นไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ เพราะจะเล่นอย่างอื่นก็ไปไม่เป็น

ที่จริง เพื่อไทยก็ไม่แก้หมวดพระมหากษัตริย์อยู่แล้วแหละ แต่ไหนว่าร่างแก้ไข 291 เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร.เข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รัฐสภาจะไปจำกัดความคิดเห็นเขาได้ไง จะไปปิดกั้นได้ไงว่าห้ามแก้มาตรานั้นมาตรานี้ ถ้ามาตราไหน ส.ส.ร.เขาแก้ แล้วประชาชนลงประชามติให้ผ่าน ก็ต้องยอมรับกันสิครับ

พูดเสียยังกะการแก้หมวดพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องใหญ่โต ทั้งที่เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ตราบใดที่ยังยืนยันว่ามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ภายใต้รัฐธรรมนูญ) การแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ที่ผ่านมามี 2 ครั้งสำคัญๆ คือรัฐธรรมนูญ 2492 ที่ร่างโดยพรรคประชาธิปัตย์ สถาปนาองคมนตรีขึ้น (จากต้นฉบับธรรมนูญรัฐประหาร 2490 ที่มีคณะอภิรัฐมนตรี) แล้วก็รัฐธรรมนูญ 2534 ที่ รสช.แก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์

ทำไม รสช.จึงทำงุบงิบๆ ก้าวล่วงจ้วงจาบ บังอาจแก้บทบัญญัติสำคัญอย่างนี้ได้ แล้วถ้าพสกนิกรทั้งหลาย จะยกขึ้นมาทบทวนกันใหม่ ปรึกษาหารือกันด้วยเหตุด้วยผล ตามครรลองประชาธิปไตย มันผิดตรงไหน

แบบเดียวกับบทบัญญัติเรื่ององคมนตรีนั่นละครับ ผมไม่เข้าใจพวกที่อ้างความจงรักภักดี ก็ไหนบอกในหลวงทรงแต่งตั้งองคมนตรีตามพระราชอัธยาศัย แล้วทำไมรัฐธรรมนูญต้องกำหนดคุณสมบัติ กำหนดเงื่อนไขอะไรต่างๆ ทำไมต้องไปยุ่งกับพระองค์ท่าน ในหลวงไม่ตั้งใครซี้ซั้วหรอก

ทีอย่างนี้ ไทยโพสต์ไม่ยักพาดหัวว่า “รธน.บังคับในหลวง”

เพื่อไทยกับอำมาตย์เกี้ยเซี้ยกันหรือเปล่า ผมว่ามีทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งทั้งสองฝ่ายต่างคิดว่า “โค่นไม่ได้ก็เอาเป็นพวกเสียเลย” อำมาตย์ทำรัฐประหารอีกไม่ได้ ขณะที่รัฐบาลเพื่อไทยก็อยากอยู่ยาว ถ้าหักด้ามพร้าด้วยเข่าก็ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น แถมยังมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข ไม่งั้นเจ๊งหมด ไม่ว่าชินคอร์ป ปูนใหญ่ ไทยพาณิชย์ ซีพี เบียร์ช้าง เบียร์สิงห์ ฯลฯ

แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องช่วงชิงฐานอำนาจกัน ในทุกปริมณฑล ไม่ได้ไว้วางใจกันเสียทีเดียว ข้อสำคัญคือนี่ไม่ใช่ความขัดแย้งแค่ชนชั้นนำเหมือนในอดีต แต่ความขัดแย้งขยายไปสู่มวลชนอย่างกว้างขวาง ระหว่างมวลชนต่อมวลชน ไม่มีใครยอมใคร ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้ามีแค่ชนชั้นนำก็เอาทักษิณกลับบ้านได้ แต่นี่จะเป็นจะตาย สลิ่ม เสื้อเหลือง ก็ไม่ยอม

ร่างรัฐธรรมนูญก็จะสะท้อนภาพอย่างนี้ ซึ่งแน่นอนว่า สสร.เสียงข้างมากภายใต้การชี้นำของพรรคเพื่อไทย คงไม่ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็น “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ด้านที่หนึ่ง จะมีการเกี้ยเซี้ยกับอำมาตย์ ไม่แตะต้องบางส่วน เช่น หมวดพระมหากษัตริย์ ส่วนที่ว่าด้วยศาลยุติธรรมและกองทัพ คงต่อสู้กันไปต่อรองกันไป แต่องค์กรอิสระ ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ไปจน กกต.ปปช.พรรคเพื่อไทยอยากรื้อใหญ่

อีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า นักการเมืองก็ “แก้เพื่อตัวเอง” คือแก้เพื่ออำนาจของฝ่ายการเมือง ไม่ต้องการให้มีกลไกตรวจสอบอะไรมากมาย

อ้าว! ทำไมพูดคล้ายสลิ่มและ พธม. “แก้เพื่อตัวเอง” คล้ายแต่ไม่เหมือนนะครับ เราอาจจะมองนักการเมืองเหมือนพันธมิตรและสลิ่ม แต่มองในมุมที่กว้างกว่า มองในเชิงระบบ ว่าในขณะที่นักการเมืองไม่ใช่ตัวดี เราก็ไม่ต้องการฝากอำนาจไว้กับอำมาตย์หรือตุลาการ ที่อ้างความศักดิ์สิทธิ์ ใช้การครอบงำทางวัฒนธรรมมาปิดปากห้ามวิพากษ์วิจารณ์

นักการเมืองยังไงเราก็ด่าได้ อย่างเก่งติดคุกปีเดียว ระหว่างสู้คดียังได้ประกัน จริงไหม

ฉะนั้น บนจุดยืนนักประชาธิปไตย ตลอดระยะเวลาร่างรัฐธรรมนูญ ที่อาจกินเวลาเป็นปีนับจากนี้ไป เราคงต้องสู้ศึกหลายด้าน

ด้านหลักคือ รบกับสลิ่ม พธม. ปชป. และพลังปฏิกิริยาขวาจัดทั้งหลาย เพื่อผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถึงแม้จะออกมาไม่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามที่ต้องการ แต่นัยสำคัญของการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่คือการ “ล้มล้าง” รัฐประหาร ซึ่งเป็นเจตจำนงร่วมกันของผู้รักประชาธิปไตย ไม่ว่าอยู่ในหรือนอกเสื้อแดง ที่เลือกพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล

ด้านรองคือ หนึ่ง เราต้องต่อสู้กับความไม่ยืนหยัดของนักการเมือง ที่อาจประนีประนอมไม่แก้ไขหลายประเด็นสำคัญ ที่มีผลเชิงหลักการ (นักการเมืองก็ช่วงชิงอำนาจแบบนักการเมือง เช่น ไม่ต้องปรับโครงสร้างกองทัพ แต่ต่อรองเอาพวกตัวเองเข้าไปแทรกซึมคุมกำลัง)

สอง เราต้องต่อสู้กับความเอาแต่ได้ของนักการเมือง เพราะไม่ใช่ว่าปลดพันธนาการ “ตุลาการภิวัตน์” ไปแล้ว จะไม่ต้องมีกลไกตรวจสอบนักการเมือง รัฐธรรมนูญที่ดีต้องวางหลักเกณฑ์ตรวจสอบถ่วงดุลที่มาจากประชาชน ให้การใช้อำนาจทุกอย่างเป็นไปอย่างเปิดเผยโปร่งใส

ที่จริงนี่เป็นประเด็นที่พันธมิตร (เคย) ต้องการ แต่พวกเขาไม่ยอมรับว่า ถ้าออกแบบรัฐธรรมนูญให้ดี พร้อมกับใช้ความอดทน มองให้เห็นพัฒนาการ เราก็สามารถก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยแบบอารยะประเทศได้ โดยไม่ต้องถอยหลังไปหาอำมาตย์

(เคย) แปลว่าไม่ใช่ปัจจุบันนะครับ ปัจจุบันพันธมิตรเตลิดเปิดเปิงไปถึงไหนแล้วไม่รู้

การต้องยืนหยัดอยู่ในหลักที่มั่นคง เป็นความยากลำบากของนักประชาธิปไตย ที่คงต้องวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสองฝ่าย ถึงแม้อาจต้องประชดประเทียดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ (อยู่แล้ว เราไม่เคยเป็นกลาง เพราะอยู่ข้างประชาธิปไตย ฮิฮิ) แต่ก็ไม่สามารถปล่อยวางการตรวจสอบรัฐบาลทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ และการบริหารทั่วไป (ซึ่งแน่นอน เมื่อมั่นใจว่าจะเสวยอำนาจนาน อภิมหาโครงการต่างๆ ก็ผุดเป็นดอกเห็ด)

แต่ในความสับสนนี้คือโอกาสที่พลังประชาธิปไตยจะเติบโตอย่างมีหลักการ มีเหตุผล โดยมี “หลักพิง” คือการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับอุดมคตินอกสภาของนิติราษฎร์ ที่แน่นอนว่าจะไม่เข้าไปเป็น สสร.

พลังประชาธิปไตยที่ก่อตัวขึ้นจากการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 จะต้องยืนหยัดสร้างความแตกต่างอยู่บนหลักการสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าเกมอำนาจของฝ่ายการเมืองและอำมาตย์จะเดินไปอย่างไร เกี้ยเซี้ย หรือต่อสู้กันอย่างไร

ถึงจะเริ่มต้นด้วยคนหยิบมือเดียว แต่เราคือ “เสรีชน” ตรงข้ามกับที่หมอตุลย์หวาดกลัวว่า คนลงชื่อแก้ไข 112 ไม่ใช่เสรีชน แต่อยู่ใต้อาณัตินักการเมือง โห ก็ถึงตอนนี้เพิ่งมีคนลงชื่อไม่กี่พัน ถ้านักการเมืองสั่ง ป่านนี้คงได้ซักล้านแล้วจ้า นี่ตรงข้ามกันเลย คนลงชื่อแก้ 112 ต่างหากคือคนที่ก้าวข้ามนักการเมืองแล้ว

อยากแถมอีกนิดว่า ชัยชนะของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ใช่เราเป็นผู้ชนะ แต่เหตุผลเป็นผู้ชนะ

รัฐธรรมนูญ 2556 อาจจะไม่ได้ยกร่างขึ้นมาเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ มาตรา 112 อาจจะไม่ได้แก้ในวันนี้ หรือในวันหน้า แต่ขอให้หลักการและเหตุผลนั้นประจักษ์และฝังรากลึกอยู่ในใจคน

ประชาธิปไตยคงไม่ได้มาในฉับพลันทันที ไม่ใช่ได้มาด้วยการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ การเมืองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสู่ความเปิดเผยโปร่งใสในวันเดียว (คิดแบบนั้นคือพันธมิตร) มันอาจจะอีกยาวนานก็ได้ แต่ขอให้มีพัฒนาการไปข้างหน้า

เรื่องเศร้าคือ นักต่อสู้ที่แท้จริง ไม่เคยมีใครเป็นผู้ชนะ ตั้งแต่ อ.ปรีดี อ.ป๋วย มาถึงพฤษภา 53 มันเป็นลักษณะพิเศษของสังคมไทยหรือไงไม่รู้ เพราะคงไม่มีนักประชาธิปไตยที่แท้จริงคนไหนได้ก้าวไปเป็นเนลสัน แมนเดลา เราก็เป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ที่บ้างก็ประสบชะตากรรมจากการต่อสู้ แต่ยืดอกรับมันอย่างยิ่งใหญ่

แด่ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และชัยชนะของเหตุผล ที่เห็นได้ชัดเจนโดยไม่ต้องพูดอะไรอีก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท