Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
คนไทยยุคใหม่...ต้องใส่ใจดูแลบ้านเมือง...ไม่ว่าท่านจะเรียนมาสาขาใด...เรียนรัฐศาสตร์หรือไม่...ต้องรู้เรื่องการเมืองการปกครอง และคนเรียนการเมืองการปกครองต้องรู้เบื้องลึกของการเลือกตั้ง เพราะ หัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือการเลือกตั้ง และหัวใจของประเทศไทย อยู่ที่ กรุงเทพมหานคร มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า การเลือกตั้งผู้ว่า กทม.หนนี้ จะมีการนำยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการต่อสู้ทั้งในแบบ และนอกแบบ ทั้งใต้ดิน บนดินมาใช้อย่างครบเครื่อง เพราะ เป็นการต่อสู้ที่แพ้ไม่ได้ เป็นศึกแห่งศักดิ์ศรี ฝ่ายหนึ่ง คือผู้กุมอำนาจรัฐ อีกฝ่ายหนึ่ง คือ ผู้ครองพื้นที่เดิม...ผู้สมัครอิสระทั้งหลายก็คือคนซึกฝ่ายเดียวกัน การเลือกตั้งครั้งนี้ คือจุดเปลี่ยนประเทศไทย
 
เตรียมความพร้อมทบทวนองค์ความรู้ “วิชาการเมืองการปกครองของไทย”
 
ไม่ว่าท่านจะเรียนวิชาการเมืองการปกครองของไทยหรือไม่ หรือเป็นเพียงคนไทยแต่ไม่เคยใส่ใจดูแลบ้านเมือง ขอได้โปรดเตรียมความพร้อมด้วยการไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งผู้ว่า กทม.เพราะศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงเกินกว่าที่เราจะนิ่งดูดาย ใครจะแพ้...ใครจะชนะ ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เราต้องรู้ให้ได้ว่า ทำไมผู้ชนะ จึงเป็นผู้ชนะ และทำไมผู้แพ้ จึงต้องเป็นผู้แพ้ และเพื่อนำประเด็นปัญหามาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อสรุปผลสุดท้ายว่า การเลือกตั้งครั้งนี้...สุจริต โปร่งใสและเที่ยงธรรม ควรค่าแก่การเชื่อถือหรือไม่..อย่ายอมให้ผู้ใดได้อำนาจมาโดยการปล้นสะดม จุดจับตามอง 6 ประการ ประเด็นปัญหาที่เป็นข้อเคลือบแคลงในการเลือกตั้งตลอดมา และขอมอบหมายให้คนไทยผู้ห่วงใยบ้านเมืองหาข้อมูลเพื่อไปสังเกตการณ์เลือกตั้ง เตรียมตอบคำถาม 6 ประการ ดังนี้ 
 
1.จุดแตกหัก...พิสูจน์ผลแพ้ชนะของการเลือกตั้ง เขตใด...อยู่ที่ใด กทม.มีเขตการปกครอง 50 เขต มีหน่วยเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 6,548 หน่วย จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 4,333,157 คนแต่พื้นที่ที่เป็นจุดแตกหักมิใช่ทั้งหมด ขอให้สนใจพล๊อตจุดออกมาให้ได้ว่า เขตอิทธิพลอันเป็นขุมกำลังจุดแตกหักของแต่ละฝ่ายคือ พื้นที่เขตใด หน่วยเลือกตั้งใด มีจุดสังเกตได้ไม่ยาก คือ เขตใดที่มี สส. สก. สข. สังกัดพรรคใด หรือนักการเมืองผู้นำพรรคใด มีภูมิลำเนาอยู่พื้นที่ใด พื้นที่นั้นคือ จุดแตกหักที่แพ้ไม่ได้... (ข้อมูลทุกอย่างสืบค้นได้ในอินเตอร์เน็ต) นี่คือ...พื้นที่ที่คนไทยผู้ห่วงใยบ้านเมืองต้องไปสังเกตการณ์หาคำตอบ...ว่า ทำไม...เลือกตั้งทีไรก็ต้องได้ทุกครั้ง 
 
2. จุดที่ตั้งหน่วยเลือกตั้งในบางชุมชนกระจุกตัว มีข้อน่าเคลือบแคลงหรือไม่ เพราะในบางชุมชนกำหนดจุดที่ตั้งหน่วยเลือกตั้ง 4-5 หน่วยหรือมากกว่านั้นไปรวมอยู่กระจุกเดียว จนทำให้เกิดการคับคั่งแออัดโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน มีผู้คนไปชุมนุมกันอยู่อย่างมากมายจนแทบไม่รู้ว่าใครเป็นใคร หน่วยใดเป็นหน่วยใด...มีข้อน่าเคลือบแคลงว่า เจตนาจะให้เกิดการคับคั่งเช่นนั้น...ใช่หรือไม่ เพราะหากต้องการความโปร่งใส ควรกำหนดที่ตั้งหน่วยเลือกตั้งห่างจากกันตามสมควร ไม่จำเป็นต้องเอาหน่วยเลือกตั้งหลายๆหน่วยไปรวมอยู่ติดกันกระจุกเดียว หากไม่มีเจตนาจะเอื้อประโยชน์ให้เหล่ามิจฉาชีพทางการเมือง แต่ละหน่วยเลือกตั้งควรแยกห่างจากกัน 10-20 เมตรเป็นอย่างน้อย (พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นฯ พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2546 ม.17 –ให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำองค์กรฯท้องถิ่น (ในกรณีนี้คือ ปลัด กทม.)กำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งที่จะพึงมีในแต่ละเขต และ ม.18 –การกำหนดหน่วยเลือกตั้งให้คำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน สำหรับในเขตเทศบาล เขต กทม.หรือเขตชุมชนหนาแน่น อาจกำหนดให้ใช้แนวถนน ตรอก หรือซอย คลอง หรือแม่น้ำเป็นแนวเขตของหน่วยเลือกตั้งก็ได้...ที่เลือกตั้งตาม ม.17 ต้องเป็นสถานที่ที่ประชาชนเข้าออกได้สะดวก...) หากพบเห็นสภาพแออัดเช่นว่านี้...ถ่ายรูปไว้...ให้สังคมรับรู้ทาง Social Media 
 
3. บัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีข้อน่าเคลือบแคลงหรือไม่ มีข้อกล่าวหาอยู่ตลอดมาว่า มีการย้ายคนเข้ามาในพื้นที่โดยมิชอบ โดยไม่มีตัวตนอยู่จริง บางบ้านมีคนย้ายเข้ามาเป็นร้อย ทั้งๆที่มิใช่โรงงาน บางบ้านพอประกาศรายชื่อออกมา มีบางตนที่ไม่เคยรู้จัก เจ้าบ้านต้องออกมาโวยวาย ( พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ ม.43 –ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ กรณีต่อไปนี้ให้สันนิษฐานว่า เป็นการย้ายบุคคลเข้ามาเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ...(1) การย้ายบุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปซึ่งไม่มีชื่อสกุลเดียวกับเจ้าของบ้าน) ขอให้คนไทยร่วมกันตรวจสอบข้อมูลนี้ดูว่า ในพื้นที่ที่เป็นจุดแตกหัก พิสูจน์ผลแพ้ชนะ มีบ้านใดที่มีจำนวนคนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากมายผิดสังเกต และมีนามสกุลต่างกันไปจากเจ้าบ้าน (ข้อมูลนี้สามารถไปเปิดดูบัญชีรายชื่อได้ก่อนวันเลือกตั้ง ตามที่ประกาศไว้ ณ ศาลาว่าการ กทม. ที่ทำการเขต หรือ ณ ที่เลือกตั้งซึ่งกฎหมายบังคับให้ประกาศไว้ล่วงหน้า ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน (ม.38) หากมีบ้านใดผิดสังเกต...ถ่ายรูปไว้รายงานทาง Social Media เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบตอบต่อสังคม... 
 
4. การมอบอุปกรณ์การเลือกตั้ง และบัตรเลือกตั้ง...จุดอันตรายที่(ยัง)แก้ไม่ได้ นี่คือจุดล่อแหลมที่มีผลต่อความสุจริตในการเลือกตั้งเป็นอย่างยิ่ง เลือกตั้งครั้งใดก็เป็นเช่นนี้ไม่เคยแก้ได้จึงใคร่ขอเชิญชวนคนไทยผู้รักชาติจงช่วยกันจับตามอง ณ จุดนี้ เพราะก่อนวันเลือกตั้ง 1 วันจะมีการมอบอุปกรณ์การเลือกตั้ง หัวใจสำคัญคือ บัตรเลือกตั้ง สถานที่มอบอุปกรณ์มักจะเป็นหอประชุมโรงเรียน หรือหอประชุมเขต (วันเวลา สถานที่สามารถโทรศัพท์สอบถามได้จากทางเขต) จุดสำคัญที่ต้องจับตามอง 3 ขั้นตอน คือ
 
1) หีบเลือกตั้งกระดาษเจ้าปัญหา ที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะต้องมารับและบรรจุอุปกรณ์การเลือกตั้งใส่ไว้ภายใน ขณะนี้พูดได้ว่า หีบเลือกตั้งเกือบทั้งหมดที่นำมาใช้คือ หีบกระดาษ (หีบโลหะแบบเก่าแทบไม่มีแล้ว) เหตุผลในการนำมาใช้ คือ ประหยัดค่าใช้จ่าย สะดวกในการขนส่งดูแลรักษา เป็นกล่องที่อยู่ในสภาพแผ่นกระดาษแข็งแบนๆที่จะต้องกางขึ้นมาเพื่อใช้บรรจุอุปกรณ์ โดยเฉพาะบัตรเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริง มักจะไม่ได้กาง หรือกางแบบหลวมๆ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถเข้าไปกวดขันดูแลเป็นรายหน่วยได้ ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา สถานที่ บางเขตเลือกตั้งก็แก้ปัญหาโดยกางหีบเลือกตั้งเอาไว้ให้ แต่ปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้คือ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า หีบเลือกตั้งใดปฏิบัติตามระเบียบฯหรือไม่ ในการปิดกล่องกระดาษ (ข้อกำหนด กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่น พ.ศ. 2546 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550 ข้อ 43 – เมื่อได้ตรวจและนับจำนวนบัตรเลือกตั้ง บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิฯ แบบพิมพ์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเลือกตั้งแล้ว ให้นำบัตรเลือกตั้งทั้งหมดบรรจุลงในหีบบัตรเลือกตั้ง แล้วให้ปิดหีบบัตรเลือกตั้งใส่กุญแจประจำครั่งทับรูกุญแจหรืออุปกรณ์อื่นแทนกุญแจและมัดหีบบัตรเลือกตั้งด้วยเชือก ผูกปมเชือกไว้ด้านข้างหีบบัตรเลือกตั้งแล้วประจำครั่งทับปมเชือกและปิดช่องใส่บัตรเลือกตั้ง แล้วให้เก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยตามที่ กกต.ประจำองค์กรท้องถิ่นกำหนด โดยให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วย) จากประสบการณ์ที่เคยไปสังเกตการณ์เลือกตั้ง...ขอเรียนว่า ส่วนน้อยเท่านั้นที่ปฏิบัติครบถ้วนถูกต้อง
 
2) หีบเลือกตั้งเอาไปเก็บไว้ที่ไหนในคืนหมาหอน เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก เคยสังเกตการณ์ในบางเขตเลือกตั้งของ กทม.ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ถึงขนาดจับหีบเลือกตั้งทั้งหมดล่ามเชือกไว้ในห้องเย็นล็อคกุญแจให้ตำรวจเฝ้าทั้งคืน นัดให้มารับตอนรุ่งสาง แต่ก็มีปัญหามารับล่าช้า มาไม่พร้อมกันมีปัญหาการจราจร เสี่ยงต่อการเดินทางกลับไปเปิดการเลือกตั้งไม่ทันเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ 8 นาฬิกา สำหรับหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ไกล เดินทางลำบาก จึงมีเสียงบ่นจากกรรมการประจำหน่วยฯเพราะในทางนิตินัย หีบเลือกตั้งพร้อมอุปกรณ์อยู่ในความรับผิดชอบของกรรมการแล้วตั้งแต่ลงนามเซ็นรับไว้ในเอกสาร บางหน่วยเลือกตั้งถึงขนาดพูดออกมาว่า ยิ่งให้ตำรวจมานอนเฝ้า...นั่นแหละเขายิ่งไม่ไว้ใจตำรวจ ฉะนั้น เลือกตั้งหนนี้ก็ต้องถาม กกต.ประจำท้องถิ่น (กทม.) ผู้มีอำนาจตามข้อกำหนด กกต. ข้อ 43 ว่า...จะให้เอาหีบเลือกตั้ง (ซึ่งมีบัตรเลือกตั้งบรรจุอยู่ข้างใน) ไปเก็บไว้ที่ไหนในคืนหมาหอน...ก่อนวันเลือกตั้ง (คืนที่ 2 มีนาคม 2556)
 
3) การตรวจนับบัตรเลือกตั้งก่อนรับมอบของคณะกรรมการประจำหน่วยฯ นี่ก็เป็นจุดที่ต้องจับตามองเพื่อตอบโจทย์ว่า การเลือกตั้งสุจริตหรือไม่ เพราะความพยายามที่จะกระทำการทุจริตอยู่ที่ความสำเร็จในการลักลอบนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากระบบ ในการปฏิบัติจริง ทุกเขตจะนัด ผอ.ประจำหน่วยเลือกตั้ง และกรรมการประจำหน่วยไม่น้อยกว่า 2 คนมารับมอบตั้งแต่ฟ้าสางก่อนวันเลือกตั้ง (บางเขตมอบไปก่อนวันเลือกตั้ง 2 วัน) เมื่อผู้อำนวยการประจำหน่วยเลือกตั้งไปรับมอบมาแล้วก็จะต้องแจกจ่ายบัตรเลือกตั้งไปนั่งนับกันเพื่อตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนคนละปึก 2 ปึก แยกกันไปนั่งนับหลายซอกหลายมุม เคยไปสังเกตการณ์แล้วพบว่ามีพิรุธ ณ จุดนี้ มีหลายอย่างน่าเชื่อว่า บัตรเลือกตั้งจะถูกลักลอบนำออกไปจากระบบในจุดนี้ที่เอาไปนับแล้วคืนมาไม่ครบ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 7 คนผู้อาสามาปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมืองโดยสุจริตควรตรวจสอบกันเอง ต้องตรวจนับบัตรเลือกตั้งให้ครบก่อนปิดหีบเลือกตั้ง และต้องนับบัตรเลือกตั้งให้ครบก่อนเปิดการลงคะแนน ความจริงแล้ว บุคคลซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดในหน่วยเลือกตั้ง ได้แก่ ผู้อำนวยการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่น พ.ศ. 2546 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2549 ข้อ 47 เปิดโอกาสให้แต่งตั้งจากบุคคลถึง 3 ประเภทเพื่อป้องกันปัญหาความขาดแคลน คือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตจังหวัด ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งละ 1 คน แต่ในตอนหลังเพื่อตัดข้อครหาเกี่ยวกับความสุจริต ผอ.เลือกตั้งประจำท้องถิ่นโดยความเห็นชอบของ กกต.ท้องถิ่นจึงมักจะแต่งตั้งจากข้าราชการเพียงอย่างเดียว เพราะถึงอย่างไรก่อนตัดสินใจทำสิ่งที่มิชอบก็คงห่วงอนาคตราชการ สิ่งสำคัญที่สุด คือ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งทั้ง 7 ท่านที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมืองด้วยความเสียสละ ต้องจับตามอง ตรวจสอบกันเอง..อย่ายอมให้มิจฉาชีพทางการเมืองแอบแฝงเข้ามาทำการทุจริตในหน่วยเลือกตั้งของเราเป็นอันขาด 
 
5. การนำส่งหีบเลือกตั้งไปยังสถานที่นับคะแนนล่าช้าเกินเหตุ...ปมทุจริตสุดท้ายในการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้ ขอให้คนไทยช่วยกันจับตามอง สอดส่องว่า มีหน่วยเลือกตั้งใดมีพิรุธ อ้างเหตุจราจรติดขัด อ้างหิวข้าวต้องพากันไปกินข้าวก่อน อ้างสารพัดอ้างทำให้นำส่งหีบเลือกตั้งไปถึงสถานที่นับคะแนนตอน 2 ทุ่ม 3 ทุ่ม...ทำให้เกิดคำถามว่า...ไปแวะทำอะไรที่ไหนมาหรือเปล่า...หากมีหน่วยเลือกตั้งใดเป็นเช่นว่านี้ อย่าเพิ่งเปิดหีบบัตรเทรวมกลบเกลื่อนเป็นอันขาด ขอให้ทำบันทึกไว้ให้ชัดเจนว่า หน่วยใด ใครเป็นผู้นำส่ง มีตำรวจผู้อำนวยความปลอดภัยหีบบัตรมาด้วยชื่อ ยศอะไร ออกจากหน่วยเวลาเท่าใด...มาถึงสถานที่นับคะแนนเวลาเท่าใด...ขอให้ตรวจสอบบันทึกไว้ให้ชัดเจนว่า ได้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบในการปิดหีบบัตรหรือไม่ คาดสายรัด คาดเทปรอบหีบบัตร กรรมการเซ็นชื่อคาดทับรอยต่อ เพราะในประสบการณ์ตรวจสอบการเลือกตั้งที่มีปัญหา...พอเปิดหีบเข้าไปมักจะพบพิรุธ...บัตรเลือกตั้งที่ใส่เข้าไปใหม่ยังวางเรียงอยู่เป็นตั้ง เมื่อคลี่ออกมา รอยกากะบาดดูก็รู้ว่า คนกาเป็นคนเดียวกัน...เอาออกไปเท่าใด ใส่คืนมาเท่านั้น...เขาเอาบัตรเลือกตั้งที่ไหนมา...ขอยืนยันด้วยประสบการณ์ที่เคยเห็นมาว่า ไม่มีใครลงทุนพิมพ์บัตรปลอม มีแต่บัตรจริงที่ถูกลักลอบนำออกมานอกระบบ...ลักลอบนำออกมาตอนไหน คำตอบมีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ 1. ขั้นตอนการพิมพ์ และกกต.รับจากโรงพิมพ์มาอยู่ในความครอบครองก่อนส่งมอบให้ กทม. แต่โดยประสบการณ์ของ กกต.มักจะไม่ยอมอุ้มเผือกร้อนไว้นาน อย่างดีก็แค่แตะผ่าน ส่งต่อไปเท่านั้น 2. ขั้นตอนที่ กทม.ครอบครองไว้ก่อนวางแผนส่งมอบให้ กกต.จังหวัด/ กกต.ท้องถิ่นเพื่อวางแผนส่งมอบให้ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)... เก็บไว้ที่ไหน อย่างไร แต่ละขั้นตอนใครรับผิดชอบ 3. ขั้นตอนที่ กปน. รับมาอยู่ในความครอบครองซึ่งมีจุดจับตามองอยู่ 3 ช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว คือ ช่วงแบ่งกันนับตรวจสอบความครบถ้วน ช่วงการเก็บรักษาในคืนหมาหอน ก่อนวันเลือกตั้ง และช่วงแอบเอาบัตรนอกระบบคืนใส่หีบเลือกตั้ง... 
 
ต้องพิสูจน์ให้รู้ว่า...นี่คือคำตอบที่ว่า...เลือกตั้งครั้งใดก็ต้องชนะ...หรือไม่
 
ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เกิดเป็นคนไทย อย่านิ่งดูดาย...ยอมให้ใครได้อำนาจไปโดยการปล้นสะดม...
 
ด้วยความห่วงใย...
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net