อำนาจจัดการความทรงจำทางประวัติศาสตร์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เมื่อวาน (5 ตุลาคม 2557) ผมไปฟังเสวนาวิชาการ "ประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการชำระ และการสร้าง” ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดยกลุ่มสภาหน้าโดม มีวิทยากรสามมุมมองคือ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ และ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ดำเนินรายการโดย เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี มีบางประเด็นที่ผมอยากนำมาคิดต่อ

อาจารย์ธเนศพูดถึง “ความจริงทางประวัติศาสตร์” ว่ามันไม่มีการร้อยเรียง facts ทางประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นภววิสัย (objectivity) ความจริงทางประวัติศาสตร์มีอคติทั้งนั้น ประเด็นอยู่ที่ว่ามันเป็นอคติที่ดี (good bias) หรืออคติที่เลว (bad bias)

อคติที่ดีหรือเลวที่อาจารย์ธเนศพูดถึงคงไม่ได้มีความหมายตื้นๆแบบ “ขาว-ดำ” แต่มีความหมายซับซ้อนเช่น ถ้าเป็นอคติที่ดีก็คือการพยายามให้ความสำคัญกับข้อมูลหลักฐานรอบด้านมากที่สุด สมมติว่าในเหตุการณ์หนึ่งๆ มันมีด้านดีด้านไม่ดีก็ต้องนำเสนอทั้งสองด้านอย่างตรงไปตรงมามากที่สุดเป็นต้น แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่ามันยังมีอคติอยู่ดี เพราะประวัติศาสตร์มันมี “พล็อตเรื่อง” ที่หนีไม่พ้นอคติเนื่องจากข้อจำกัดบางประการของการรวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลและทัศนคติของคนเขียนเป็นต้น

มองจากที่อาจารย์ธเนศพูด ประวัติศาสตร์ที่พูดถึงแต่ด้านดีเพียงด้านเดียวของชนชั้นปกครอง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นจากอคติที่ดีและการเรียนการสอนประวัติศาสตร์เชิงปลูกฝังให้เชื่อว่าข้อมูลที่ปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์คือความจริงทั้งหมดจึงเป็นวิธีคิดที่ผิด

แต่ดูเหมือนชนชั้นปกครองไทยปัจจุบันพยายามจะชี้นำว่า ประวัติศาสตร์ฉบับทางการเป็นความจริงที่คนไทยจำเป็นต้องรู้ เพื่อที่จะได้รู้จักความเป็นมาของชาติตนเองว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ผู้ปกครองในอดีตของสยามไทยเสียสละสร้างชาติบ้านเมืองมาอย่างยากลำบากขนาดไหน หากคนไทยเข้าใจความจริงนี้ก็จะมีจิตสำนึกกตัญญูรู้คุณของแผ่นดิน เป็นต้น

นอกจากความจริงทางประวัติศาสตร์จะไม่มีความเป็นภววิสัยแล้ว อาจารย์พิพัฒน์ยังชี้ให้เห็นต่อเนื่องจากอาจารย์ธเนศว่า ความจริงทางประวัติศาสตร์มักเป็นสิ่งที่ถูกชำระและสร้างขึ้นใหม่มากบ้างน้อยบ้าง โดยการตัดทอนบางส่วนออกไป หรือเพิ่มบางส่วนเข้ามาใหม่ในบริบทสังคมสมัยนั้นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้มีอำนาจชำระหรือสร้างความจริงทางประวัติศาสตร์ในยุคนั้นๆ

มองในแง่นี้ประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องของอำนาจจัดการความทรงจำร่วมของสังคมหนึ่งๆ ซึ่งอำนาจนั้นอาจลดทอน ลบทิ้ง หรือเพิ่มความทรงจำบางอย่างตามความต้องการของฝ่ายผู้มีอำนาจจัดการความทรงจำ ซึ่งก็คือฝ่ายที่มีอำนาจเขียนประวัติศาสตร์ ดังที่อาจารย์สุลักษณ์ยกตัวอย่างว่า ความทรงจำเกี่ยวกับพระนเรศวรในประวัติศาสตร์ฉบับสยามไทย คือวีรกรรมยุทธหัตถีที่พระนเรศวรใช้พระแสงง้าวฟันพระมหาอุปราชาขาดแล่งสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง ขณะที่ประวัติศาสตร์ฉบับพม่าสร้างความทรงจำว่าพระนเรศวรใช้ปืนยิงพระมหาอุปราชา แต่ประวัติศาสตร์ของใครคือ “ความจริง” ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินได้ง่ายๆ

หากประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของอำนาจจัดการความจริงหรือความทรงจำร่วม ก็แปลว่าประวัติศาสตร์ศาสตร์มี “ความเป็นการเมือง (the political)” ดังนั้น อคติที่ดีหรือเลวจึงมีนัยสำคัญเกี่ยวโยงกับจุดยืนทางการเมืองในงานเขียนประวัติศาสตร์นั้นๆ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าทำไมประวัติศาสตร์ประชาชนเช่นประวัติศาสตร์ 14,6 ตุลาจึงถูกอำนาจจัดการความจริง/ความทรงจำตัดทิ้งซึ่งเนื้อหาทางความคิด เหตุผลสนับสนุนจุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมืองในการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชน โดยเฉพาะในปีนี้อำนาจรัฐยังห้ามแม้กระทั่งการจัดกิจกรรมรำลึก 6 ตุลาในมหาวิทยาลัยอีกด้วย

แปลว่า แม้แต่เสรีภาพจะจัดกิจกรรมระลึกถึงประวัติศาสตร์ประชาชนในพื้นที่มหาวิทยาลัยก็ไม่เหลืออยู่อีกแล้วในสยามไทยยุคสตวรรษที่ 21 อย่าว่าแต่จะฝันให้ประวัติศาสตร์ประชาชนไปปรากฏเนื้อหาทุกด้านอย่างสง่าผ่าเผยอยู่ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ฉบับทางการเลย

ถ้าประวัติศาสตร์มีความเป็นการเมือง ภาพของ “ความเป็นการเมือง” ในมุมมองของ Carl Schmitt นักเทววิทยาชาวเยอรมันผู้ตีความปรัชญาการเมืองของโทมัส ฮอบส์สนับสนุนนาซีมองว่า ธรรมชาติของความเป็นการเมืองคือการ “แยกมิตร-ศัตรู” อย่างชัดเจน ฉะนั้น การที่ประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่เน้นการยกย่องวีรกรรมชนชั้นปกครองกับประวัติศาสตร์ประชาชนไม่ถูกยกสถานะเป็นประวัติศาสตร์ทางการให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนอย่างเท่าเทียมกัน ย่อมสะท้อนให้เห็นความเป็นการเมืองในความหมายดังกล่าวที่ดำรงอยู่ในอำนาจจัดการความทรงจำของรัฐไทยอย่างชัดเจนว่า อำนาจนั้นมองประวัติศาสตร์ประชาชนในฐานะมิตรหรือศัตรู

“ศัตรู” ในความหมายของ Schmitt คือบุคคลหรือฝ่ายที่ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคง แน่นอนว่า “ความมั่นคง” มีนิยามที่ซับซ้อน แต่สำหรับรัฐไทยอันตรายหรือภัยต่อความมั่นคงมักหมายถึงบุคคล กลุ่มบุคคล รวมทั้งความคิด อุดมการณ์ที่ถูกมองว่ากระทบต่อความมั่นคงของโครงสร้างอำนาจและอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม แต่ภัยต่อความมั่นคงในความหมายของ Schmitt ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เลวร้าย หรือมีกองกำลังแข็งแกร่ง แม้แต่คนที่รักสันติ รักความยุติธรรมที่ไร้อาวุธ หรือคนอ่อนแอไร้อำนาจเพียงใด หากถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงย่อมแปลว่าต้องถูกกำจัด (โปรดนึกภาพว่า ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทย คนที่ถูกขจัดมีคนเล็กคนน้อย นักศึกษา ชาวบ้านธรรมดาจำนวนมากเท่าใด)

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สุลักษณ์ชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์แบบทางการของทั่วโลก มักเป็นประวัติศาสตร์ที่ยกย่องวีรกรรมของชนชั้นปกครองทั้งนั้น แม้แต่ประวัติศาสตร์สหรัฐ แต่ในขณะเดียวกันสหรัฐก็มีประวัติศาสตร์ฉบับประชาชนที่สะท้อนภาพด้านลบของชนชั้นปกครอง (ทั้งในยุคอดีตและปัจจุบัน) ด้วยเช่นกัน

ดูเหมือนวิทยากรทั้งสามจะเห็นสอดคล้องกันว่า อำนาจจัดการความทรงจำทางประวัติศาสตร์ (ชำระ/สร้าง) ของสยามไทยอยู่ในมือของชนชั้นปกครองมาโดยตลอด แต่อาจารย์ธเนศแยกให้เห็นภาพกว้างๆ ว่า ประวัติศาสตร์สมัยเก่าเป็นประวัติศาสตร์ในรูปพงศาวดาร ขณะที่ประวัติศาสตร์ในยุคสมัยใหม่ตั้งแต่สมัย ร.4, ร.5 เป็นต้นมาเริ่มใช้วิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์แบบตะวันตกเข้ามาผสมกับพงศาวดาร คือมีการให้ข้อมูลหลักฐานทางพงศาวดาร และหลักฐานด้านอื่นๆ เช่นตำนาน เรื่องราวความทรงจำของท้องถิ่นต่างๆ เข้ามาผสมผสาน มีการวิเคราะห์ตีความและทิ้งประเด็นให้ผู้อ่านไปวินิจฉัยเองจะเชื่อไม่เชื่อก็ได้เป็นต้น

ในมุมมองของอาจารย์ธเนศ ประวัติศาสตร์ฉบับทางการเริ่มเลอะเทอะในช่วงทศวรรษ 2490 เรื่อยมาในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จนถึงปัจจุบัน เพราะนักประวัติศาสตร์ยุคนี้เขียนประวัติศาสตร์ตอบสนองอุดมการณ์ชาตินิยม แต่ขาดความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เทียบเท่าฝรั่ง นักประวัติศาสตร์สมัย ร.5 ยังมีความรู้ทางประวัติศาสตร์เทียบเท่าฝรั่งมากกว่า

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ธเนศมองว่า การควบคุมความทรงจำทางประวัติศาสตร์โดยชนชั้นปกครองในโลกยุคอินเตอร์เน็ตไม่อาจทำได้ เพราะแม้แต่ในเฟซบุ๊คเราก็ได้เห็นความจริงหรือมุมมองทางประวัติศาสตร์ที่ท้าทายประวัติศาสตร์แบบทางการอยู่ทั่วไป ขณะที่อาจารย์พิพัฒน์มองว่า การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไม่ใช่สอนให้จำ แต่ต้องสอนให้คิดเพื่อดึงบทเรียนในอดีตมาเปลี่ยนแปลงปัจจุบันและอนาคตที่ดีกว่า

อีกประเด็นหนึ่ง อาจารย์สุลักษณ์กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ตามมุมมองทางพุทธศาสนาไม่ยึดความสำคัญเรื่องเวลา เช่นข้อความในพระไตรปิฎกมักจะขึ้นต้นว่า “ดังข้าพเจ้าได้ยินมาอย่างนี้ว่า...” แล้วก็ต่อด้วยเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ โดยไม่บอกว่าเกิดในเวลาที่แน่นอนเมื่อไร และไม่ให้ความสำคัญมากว่าเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เช่นที่พุทธะเล่าว่าในภัทรกัปป์นี้มีพระพุทธเจ้าตรัสรู้ไปแล้วก่อนท่าน 3 องค์ และจะมีองค์ที่ 5 คือพระศรีอริยเมตไตรย์ อีกทั้งชาดกต่างๆ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ สิ่งที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญคือประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวนั้นๆ สอนอะไร ให้แง่คิดหรือบทเรียนอะไร (ซึ่งอาจารย์สุลักษณ์บอกกว่าให้ “สัจจะ” แต่สัจจะที่ว่านี้น่าจะหมายถึง “ความถูกต้อง” ในความหมายเชิงคุณค่าหรือศีลธรรม ไม่ใช่ความถูกต้องของข้อเท็จจริง)

หากมองตามกรอบคิดประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ประวัติศาสตร์ตามมุมมองพุทธศาสนาที่อาจารย์สุลักษณ์ว่าอาจไม่ใช่ประวัติศาสตร์ หากจะเป็นประวัติศาสตร์ก็คงเป็น “ประวัติศาสตร์เชิงศาสนา” (religious history ไม่ใช่ history of religion) ซึ่งทุกศาสนาก็เป็นแบบเดียวกันคือใช้เรื่องเล่าเพื่อสอนอะไรบางอย่าง ประวัติศาสตร์เชิงศาสนานี่เองที่มีอิทธิพลให้เกิดประวัติศาสตร์แบบพงศาวดารต่างๆ และประวัติศาสตร์พงศาวดารก็คือเครื่องมือปลูกฝังความทรงจำตามที่ชนชั้นปกครองต้องการ

อย่างไรก็ตาม หากมองตามกรอบคิดพุทธศาสนาที่ว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ควรพบ “สัจจะ” ในนั้นอย่างที่อาจารย์สุลักษณ์เสนอ พุทธศาสนาก็สอนว่าการแก้ปัญหาหรือการสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จำเป็นต้องใช้ปัญญา แต่ปัญญาย่อมสัมพันธ์อย่างจำเป็นกับความจริงและความถูกต้อง ในสังคมที่ไม่มีเสรีภาพจะพูดความจริงและความถูกต้อง ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร

ฉะนั้น ตราบใดที่สยามไทยไม่มีเสรีภาพจะพูดความจริงและความถูกต้อง ก็คงต้องไปหาปัญญาจากดาวอังคารมาเขียนประวัติศาสตร์ฉบับประชาชนและปฏิรูปประชาธิปไตย

 

 

หมายเหตุ

1. ผู้เขียนเพียงเก็บบางประเด็นที่วิทยากรพูดและอธิบายความ แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมตามความเข้าใจของตัวเอง ไม่ใช่การถ่ายทอดแบบคำต่อคำ หากคลาดเคลื่อนเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน

2. ผู้อ่านที่สนใจการวิเคราะห์ความคิดเรื่องการเมืองแบบแยกมิตร-ศัตรูของ Carl Schmitt โปรดดู “รัฐศาสตร์สาร” (กันยายน-ธันวาคม 2557) มีบทความวิเคราะห์ความคิดของ Schmitt ถึง 4 บทความ เช่น  “Carl Schmitt และเอกเทวนิยม: ตำนานแห่งความเป็นรัฐ/การเมือง” โดยธเนศ วงศ์ยานนาวา เป็นต้น
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท