Skip to main content
sharethis
กลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามในต่างประเทศโน้มเอียงเข้าสู่อำนาจโดยวิถีประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ในไทยอาจเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นกลุ่มคนเห็นต่างที่ปาตานีเลือกเข้าสู่อำนาจโดยวิถีประชาธิปไตยในบริบทปัจจุบัน เผยอัตลักษณ์ผู้หญิงปาตานีที่โลดแล่นมาจากอดีต จากชาตินิยมสู่ยุคกระแสฟื้นฟูอิสลาม

ระหว่างวันที่ 27 - 29 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่าน ณ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จ.เชียงใหม่ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 8 จัดประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ มนุษยศาสตร์ที่แปรเปลี่ยนในโลกที่เปลี่ยนแปลง (Changing Humanities in a Changing World)

ในการประชุมมีบทความนำเสนอที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนใต้ 4 เรื่อง ได้แก่

1.บทความเรื่องการปฏิรูปกฎหมายและการศาลในเจ็ดหัวเมืองมลายูในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ของ ผศ.ดร.ปิยดา ชลวร

2.การแก้ไขปัญหาภาคใต้ครั้งแรกของรัฐไทย : ข้อเรียกร้องของมลายูมุสลิมกับการตอบสนองของรัฐไทย ของอาจารย์พุทธพล มงคลวรวรรณ

3.ในระหว่างพื้นที่ : อัตลักษณ์ผู้หญิงมาเลย์-มุสลิมปาตานีสามรุ่นที่ผ่านการศึกษาแผนใหม่ ระหว่าง พ.ศ.2500-2525 ของนางสาวทวีลักษณ์ พลราชม

4.อิสลามการเมืองในการเมืองไทย ของนายอิมรอน ซาเหาะ

การเคลื่อนไหวของมุสลิมในการเมืองไทย

นายอิมรอน ซาเหาะ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาความขัดแย้งและสันติศึกษา สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเสนอบทความ เรื่อง อิสลามการเมืองในการเมืองไทย โดยกล่าวว่า บทความของตนต้องการกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของมุสลิมในทางการเมืองของไทย นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2475เป็นต้นมา

นายอิมรอน กล่าวต่อไปว่า มุสลิมเคลื่อนไหวอยู่ในเส้นทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด โดยยกตัวอย่าง นายแช่ม พรหมยงค์(ซำซุดดิน มุสตาฟา)นักเรียนที่จบมาจากกรุงไคโรผู้ใกล้ชิดกับหัวหน้าคณะราษฎร์ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเขาได้ปรับเปลี่ยนบทบาทของจุฬาราชมนตรีให้มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในสมัยนั้น แต่เขาอยู่ในตำแหน่งได้เพียงแค่สองปีก่อนจะถูกรัฐประหาร

นายอิมรอน ยังได้ยกตัวอย่างกรณีนายอดุลย์ ณ สายบุรี (ตึงกูญะลาล นาเซร ลูกชายของตึงกูอับดุลมุตตอลิบ เจ้าเมืองตะลุบันหรือสายบุรี) ส.ส. มลายูมุสลิมคนแรกในปี พ.ศ. 2480 ก่อนที่เขาจะมองว่าไม่สามารถต่อสู้ในแนวทางการเมืองแบบรัฐสภาได้ในภาวะการเมืองในสมัยนั้น(สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม) และหลบหนีไปยังประเทศมาเลเซียในปี พ.ศ. 2488 และได้ร่วมก่อตั้งขบวนการ BNPP ที่มาจากชื่อเต็มว่า Barisan National Pembebasan Patani แปลว่า ขบวนการแนวร่วมแห่งชาติปลดปล่อยปาตานี เป็นต้น

กลุ่มเห็นต่างเลือกสู้ตามวิถีประชาธิปไตยอาจเป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน

นายอิมรอน ยังได้อธิบายถึงแนวคิดอิสลามการเมือง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายกิจกรรมทางการเมืองที่ปรับใช้แนวทางอิสลามเข้ามาภายใต้พื้นที่รัฐชาติปัจจุบัน อันหมายถึงการก่อตั้งพรรคการเมืองแนวทางอิสลามหรือพรรคการเมืองมุสลิม ซึ่งในประเทศไทยเริ่มมีการก่อตั้งพรรคการเมืองมุสลิมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา

นายอิมรอน สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า ปัจจุบันกลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามในต่างประเทศมีการโน้มเอียงไปทางการเข้าสู่อำนาจโดยวิถีทางประชาธิปไตยมากขึ้น เช่น ในซูดาน ตูนีเซีย อียิปต์ ตุรกี ปาเลสไตน์ เป็นต้น แต่ในภาวะการเมืองไทยในปัจจุบันที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ความหวังที่จะเห็นกลุ่มคนที่เห็นต่างจากรัฐและต่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานี เลือกการเข้าสู่อำนาจโดยวิถีทางประชาธิปไตยอาจไม่สามารถเป็นไปได้ในบริบทปัจจุบัน เพราะแม้แต่กลุ่มคนที่เลือกเคลื่อนไหวอิสลามการเมืองในการเมืองไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนอะไรได้เลยในปัจจุบัน

อัตลักษณ์ผู้หญิงมาเลย์-มุสลิมปาตานีสามรุ่น

นางสาวทวีลักษณ์ พลราชม นักศึกษาปริญญาเอกหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเอเชียศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำเสนอบทความ เรื่อง “ในระหว่างพื้นที่” : อัตลักษณ์ผู้หญิงมาเลย์-มุสลิมปาตานีสามรุ่นที่ผ่านการศึกษาแผนใหม่ ระหว่าง พ.ศ.2500-2525 โดยกล่าวว่า บทความของตนต้องการทำความเข้าใจการสร้างอัตลักษณ์ของผู้หญิงมาเลย์-มุสลิมปาตานีสามรุ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีเส้นทางการศึกษาที่แตกต่างกัน

นางสาวทวีลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า เส้นทางการศึกษาที่แตกต่างกันที่ว่า คือ ผลมาจากช่วงเวลา บริบททางสังคม ภูมิหลังของครอบครัว ระดับชนชั้นทางสังคม และความเคร่งครัดทางศาสนาในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน รวมถึงประสบการณ์การเดินทางและการใช้ชีวิตในพื้นที่อื่นนอกบ้านเกิดของตนเองในบริบทสังคมและการศึกษาแบบข้ามพรมแดนและวัฒนธรรม

นางสาวทวีลักษณ์ อธิบายว่า ปัจจัยและเงื่อนไขข้างตนได้สร้างนัยยะสำคัญต่อความแตกต่างของการก่อรูปอัตลักษณ์และสำนึกความเป็นคนมาเลย์-มุสลิมของพวกเธอ มากกว่านั้นยังทำให้พวกเธอได้สำรวจความแตกต่างภายในความเป็นมุสลิมด้วยกันเอง อันเป็นผลมาจากความแตกต่างทางพื้นที่ วัฒนธรรมและการตีความทางศาสนาที่แตกต่างกันในช่วงระยะเวลาเริ่มแรกของการก่อตัวของกระแสฟื้นฟูอิสลามที่พวกเธอได้ไปเผชิญยังพื้นที่อื่นและที่ประสบภายในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง

จากชาตินิยมสู่กระแสฟื้นฟูอิสลาม

นางสาวทวีลักษณ์ กล่าวว่า พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมสู่ความทันสมัย และการเปลี่ยนผ่านจากการต่อสู้ชาตินิยมเพื่อการปลดปล่อยจากอาณานิคมสู่การเคลื่อนไหวของกระแสฟื้นฟูอิสลาม ซึ่งประสบการณ์ของพวกเธอถือเป็นประจักษ์พยานที่ทำให้เราเห็นรอยต่อ การประสาน ไกล่เกลี่ย การโต้แย้งไม่ลงรอยต่างๆของแนวคิดการตีความทางศาสนาและอัตลักษณ์ที่มีความแตกต่างหลากหลายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และทำให้เกิดมิติใหม่ต่อการศึกษาเรื่องอัตลักษณ์ของคนมาเลย์-มุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาใหม่ด้วย

“ด้วยการศึกษาประสบการณ์และอัตลักษณ์ในมิติเช่นนี้จึงทำให้ “เสียง”และเรื่องราวของผู้หญิงมาเลย์-มุสลิมปาตานีถูก “มองเห็น” และ “โลดแล่น”อยู่ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่ได้กลายเป็นเพียงความทรงจำส่วนบุคคลและเรื่องเล่าส่วนตัวที่ถูกทำให้เงียบหายไปตามกาลเวลา แต่มันทำให้เราได้เปิดพื้นที่ใหม่ต่อการศึกษาในประเด็นผู้หญิงและอัตลักษณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาใหม่ด้วย” นางสาวทวีลักษณ์ กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net