Skip to main content
sharethis

เนื่องในโอกาสครบรอบ 19 ปีที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในจังหวัดชายแดนใต้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิก โดยระบุว่ากฎหมายนี้ใช้มานานเกินความจำเป็น และให้อำนาจรัฐมากเกินไปโดยขาดการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม

19 ก.ค. 2567 ทีมสื่อของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลแจ้งข่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า เนื่องในโอกาสที่วันพรุ่งนี้ (20 ก.ค.) ถือเป็นวันครบรอบ 19 ปี นับแต่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists - ICJ) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศไทย

อีกทั้งเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่บังคับใช้อยู่โดยเร่งด่วน เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับนี้มีผลบังคับใช้มานานเกินความจําเป็น โดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม จึงนําไปสู่การลิดรอนเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การใช้อํานาจในทางที่ผิด และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

19 ปีต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาแล้ว 77 ครั้ง โดยไม่เปิดเผยถึงความจำเป็น

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลระบุในแถลงการณ์ว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และต่อมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 เพื่อตอบโต้การก่อความไม่สงบทางอาวุธที่ปะทุขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 โดยนายกรัฐมนตรีให้เหตุผลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินว่าเป็นมาตรการที่จําเป็นในการจัดการกับความไม่สงบที่ทวีความรุนแรงขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย

แม้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จะลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเจรจาสันติภาพ ระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มก่อความไม่สงบตั้งแต่พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา แต่รัฐบาลยังคงขยายเวลาประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุก ๆ 90 วันโดยไม่เปิดเผยผลการประเมินโดยละเอียดถึงความจําเป็นของการขยายระยะเวลาดังกล่าวต่อสาธารณะ ซึ่งรวมถึงการขยายเวลาครั้งล่าสุดเมื่อ วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ครอบคลุมระยะเวลาระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม ถึง 19 ตุลาคม พ.ศ. 2567 โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและนับเป็นการขยายเวลาครั้งที่ 77 ทั้งนี้ได้เคยมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเพียงบางอำเภอเท่านั้น

 

กม.ให้อำนาจรัฐมากเกินนำไปสู่การละเมิดสิทธิ

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลระบุในแถลงการณ์ด้วยว่า บริบทของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การใช้อํานาจในสถานการณ์ฉุกเฉินมักถูกใช้ควบคู่ไปกับกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ซึ่งอนุญาตให้มีการควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วันโดยไม่มีการตั้งข้อหา หมายจับ หรือการกํากับ ดูแลของศาล ส่งผลให้บุคคลสามารถถูกควบคุมตัวได้นานถึง 37 วัน โดยในระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ถึง ธันวาคม พ.ศ. 2566 กลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้บันทึกข้อมูลว่ามีบุคคลถูกควบคุมตัวภายใต้ อำนาจกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างน้อย 721 กรณีโดยรวมถึงเด็กอายุ 17 ปีด้วย

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับการกล่าวหาว่ามีการกระทำการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายจากอดีตผู้ถูกควบคุมตัวแก่ทั้งองค์กรภาคประชาสังคมและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2565 กลุ่มด้วยใจได้สัมภาษณ์อดีตผู้ถูกควบคุมตัว 40 คนที่ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกและพ.ร.ก. ฉุกเฉิน และพบว่ามี 10 คนที่อ้างว่าตนเป็นเหยื่อของการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในช่วงเวลาดังกล่าว

พ.ร.ก. ฉุกเฉินยังอนุญาตให้มีการประกาศใช้ข้อกำหนดที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิต่างๆ เช่น เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย โดยไม่มีมาตราการป้องกันที่เพียงพอ ทั้งนี้ ICJ ขอเน้นย้ำว่าภายใต้กติกา ICCPR การจํากัดการใช้สิทธิเหล่านี้จะทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นอย่างเคร่งครัด อีกทั้งได้สัดส่วนกับวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงแห่งชาติหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือวิธีการที่จํากัดสิทธิต้องเป็นวิธีการที่ส่งผลเป็นการจำกัดสิทธิน้อยที่สุด

พ.ร.ก. ฉุกเฉินยังจํากัดบทบาทของฝ่ายตุลาการในการตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายของมาตรการ เหล่านี้อย่างไม่เหมาะสม อีกทั้งลดโอกาสในการดำเนินคดีแพ่ง อาญา หรือทางวินัยต่อผู้ที่ใช้อํานาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นการบ่อนทําลายบทบาทของฝ่ายตุลาการภายใต้หลักนิติรัฐ/นิติธรรม ลักษณะดังกล่าวของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินยังแสดงถึงสภาวะการขาดการคุ้มครองทางกฎหมายต่อการละเมิดในรูปแบบต่างๆ อย่างเพียงพอ รวมถึงเป็นการสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการลอยนวลพ้นผิด

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net