สหภาพร้อง สนง.คุ้มครองแรงงานเชียงใหม่ หลัง บ.จอร์จี้ ไม่จ่ายค่าจ้างตาม ม.75

สหภาพแรงงานรุดเข้าแจ้งสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่หลัง บ. บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ไม่จ่ายค่าจ้างตาม ม.75 ด้านคำพิพากษาศาลฎีการะบุหากปรากฏในภายหลังว่านายจ้างยกเหตุผลใช้ ม. 75 เป็นความเท็จ ลูกจ้างใช้สิทธิฟ้องต่อศาลแรงงานเรียกค่าเสียหายได้
 
4 ก.ค. 2558 สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์เปิดเผยว่าหลังจากที่ บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ได้ประกาศหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เมื่อต้นเดือน มิ.ย. และประกาศใช้ ม.75 ต่อไปอีกหนึ่งเดือน (8 ก.ค. - 7 ส.ค. 2558) นั้น
 
ล่าสุดกลุ่มพนักงานที่ถูกประกาศให้หยุดงานชั่วคราวกลับไม่ได้รับเงินค่าจ้าง ตาม ม.75 โดยทางสหภาพแรงงานได้เขียนคำร้องถึงสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่แล้วเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมาเพื่อที่จะเรียกผู้บริหารบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู เข้ามาชี้แจงเหตุผล 
 
คำพิพากษาศาลฎีการะบุให้ลูกจ้างหยุดงานตาม ม.75 พร่ำเพรื่อไม่ได้
 
จากบทความ "การจ่ายเงินให้ลูกจ้างในวันที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว" เรียบเรียงโดย อาจารย์วิไลพรรณ  เจสะวะ ผู้บรรยายวิชากฎหมายแรงงานและการประกันสังคมคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ระบุว่า การที่นายจ้างประกาศหรืออกคำสั่งเพื่อหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรานี้ ไม่ใช่การแสดงเจตนาเลิกจ้าง ลูกจ้างยังคงเป็นลูกจ้างของนายจ้าง ระหว่างที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว แต่ในระหว่างที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวนี้ ลูกจ้างสามารถไปทำงานให้กับบุคคลอื่นได้ เพื่อความอยู่รอดในการดำรงชีพของตน ทั้งนี้เพราะบทมาตรา 75 นี้ มิได้บัญญัติห้ามลูกจ้างไปทำงานกับบุคคลอื่นในระหว่างที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว และแม้จะมีประกาศจะระบุให้ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานไปทันทีที่ไปทำงานประจำกับบุคคลอื่น ก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่นายจ้างจะใช้สิทธิเลิกจ้างลูกจ้างเท่านั้น ยังไม่มีการแสดงเจตนาเลิกจ้างลูกจ้าง อีกทั้งเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างตามมาตรา 75 ก็เป็นเพียงเงินที่กฎหมายกำหนดให้จ่ายเท่านั้น มิใช่ค่าจ้าง การที่ลูกจ้างไปทำงานกับบุคคลอื่น จึงมิใช่การละทิ้งหน้าที่หรือทำผิดสัญญาจ้าง (นัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7675/2548)
 
ในบางกรณี แม้ว่าลูกจ้างจะได้เงินในระหว่างนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างในวันทำงาน ลูกจ้างยังได้รับเบี้ยขยันและค่าอาหาร รวมแล้วประมาณร้อยละ 80 ของค่าจ้างปกติ  นับว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้างแล้ว เพราะมากกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว (นัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8193/2543)  จึงถือว่านายจ้างได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายในมาตรา 75 นี้แล้ว
 
การที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องแจ้งพนักงานตรวจแรงงานก่อนการหยุดกิจการชั่วคราวก่อนตามมาตรา 75 วรรค 2 นั้น ก็เพื่อควบคุมมิให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง กล่าวคือ แม้กฎหมายจะให้สิทธินายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ได้ กฎหมายก็ไม่ได้ยอมให้นายจ้างกระทำไปโดยอิสระ  หากปรากฏในภายหลังว่านายจ้างกล่าวอ้างยกเหตุจำเป็นต้องหยุดกิจการตามมาตรา 75 เป็นความเท็จ หรือไม่มีความจำเป็นเพียงพอที่นายจ้างจะต้องหยุดกิจการชั่วคราว แต่หยุดเพื่อเอาเปรียบลูกจ้าง ลูกจ้างก็ชอบจะใช้สิทธิฟ้องต่อศาลแรงงานหรือร้องเรียนต่อหน่วยงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในแต่ละจังหวัด เพื่อเรียก ค่าจ้างปกติเต็มจำนวน ค่าเสียหายรวม ทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หากมีตามสัญญาจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจากนายจ้างได้ (นัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8880 - 8886/2542)
 
ความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญนายจ้างที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 วรรค 1 นี้ จะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก จนถึงขั้นทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้ มิใช่เป็นแต่เพียงความจำเป็นทั่ว ๆ ไป เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบแก่กิจการมากนัก อีกทั้งระยะเวลาในการแก้ไขเหตุแห่งความจำเป็นดังกล่าวจะต้องมีกำหนดเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร  เช่น กรณีบางครั้งนายจ้างขาดวัตถุดิบเนื่องจากไม่ได้กักตุนวัตถุดิบไว้ ความจำเป็นในการหยุดงานชั่วคราวของนายจ้างเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการของนายจ้างเองที่ขาดการวางแผนที่ดีและมีปัญหาด้านแรงงาน มิใช่เป็นเหตุจำเป็นถึงขนาดต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ (นัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6960/2548,6703 - 6752/2549) เป็นผลให้นายจ้างไม่มีสิทธิหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 นี้ได้  ดังนั้น นายจ้างต้องจ่ายต้องจ่ายค่าจ้างปกติเต็มจำนวนให้แก่ลูกจ้างที่นายจ้างสั่งให้หยุดงานชั่วคราว
 
การหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดวิธีการในการหยุดกิจการไว้ว่าให้นายจ้างกระทำโดยวิธีใด นายจ้างจึงสามารถกำหนดวิธีการหยุดกิจการให้เหมาะสมแก่ความจำเป็นของกิจการนายจ้างได้ เช่น การที่ลูกจ้างซึ่งเป็นนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการโดยลูกจ้างแบ่งลูกจ้างออกเป็น 3 กุล่ม ให้ลูกจ้างแต่ละกลุ่มสลับกันหยุดงานกลุ่มละ 6 วัน เป็นวิธีการการลดกำลังการผลิตโดยมีระยะเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร และไม่ปรากฏว่าลูกจ้างเลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดหรือลูกจ้างกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหยุดงานเป็นการเฉพาะ ย่อมถือได้ว่าเป็นการหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง (นัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8678/2548)
 
คำว่า “เหตุสุดวิสัย” ตามมาตรา 75 นี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มิได้ให้ความหมายไว้ ดังนั้นอาจถือตามหลักกฎหมายอื่นที่ใกล้เคียง คือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 8 ซึ่งบัญญัติความหมายของคำว่า “เหตุสุดวิสัย” ไว้ว่า “เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น”
 
การที่นายจ้างต้องจ่ายเงินเพียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติในวันที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 นี้ ต้องเป็นการหยุดชั่วคราว เนื่องด้วยเหตุซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยเท่านั้น  เช่น การหยุดโรงงานเนื่องจากนายจ้างประสบภาวะขาดทุน หรือไม่มีการสั่งซื้อจากลูกค้า ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย นายจ้างมีสิทธิหยุดกิจการชั่วคราวได้ แต่นายจ้างต้องค่าเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติในวันที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวนั้นตามมาตรา 75
 
ถ้าเป็นการหยุดเนื่องจากเหตุสุดวิสัย นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินตามมาตรา 75 นี้  เช่น การเกิดแผ่นดินไหวจนทำให้โรงงานถล่มจนไม่อาจดำเนินกิจการได้และต้องหยุดกิจการชั่วคราว ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายเงินตามมาตรา 75ให้ลูกจ้างเนื่องจากการหยุดกิจการชั่วคราวนั้น
 
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับ การจ่ายค่าจ้างในวันที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว
 
1.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8880 - 8886/2542  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์คุ้มครองนายจ้างที่ต้องประสบวิกฤตการณ์ในการดำเนินกิจการซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ส่งผลกระทบกระเทือนแก่กิจการของนายจ้างอย่างรุนแรงจนถึงขั้นมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว อันเป็นการให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะไม่ให้ลูกจ้างทั้งหมดหรือบางส่วนทำงานเป็นการชั่วคราว โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าลูกจ้างที่จะให้หยุดทำงานชั่วคราวนั้นเป็นกรรมการลูกจ้างหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้นายจ้างมีโอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นให้หมดไปหรือบรรเทาลง แต่นายจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินแก่ลูกจ้างในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวเพียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 (กฎหมายใหม่ ปี 2552 กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75) ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน แม้กฎหมายจะให้สิทธินายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ได้ กฎหมายก็ไม่ได้ยอมให้นายจ้างกระทำไปโดยอิสระ แต่ได้กำหนดมาตรการควบคุมไว้ในมาตรา 75 วรรคสอง หากปรากฏในภายหลังว่านายจ้างกล่าวอ้างยกเหตุจำเป็นต้องหยุดกิจการตามมาตรา 75 เป็นความเท็จ เพื่อเอาเปรียบลูกจ้าง ลูกจ้างก็ชอบจะใช้สิทธิฟ้องต่อศาลแรงงานเรียกค่าเสียหายรวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หากมีตามสัญญาจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจากนายจ้างได้
 
2.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8193/2543  นายจ้างประสบปัญหาด้านการตลาด คำสั่งซื้อสินค้าลดลงมาก ทำให้การดำเนินงานของนายจ้างในส่วนการประกอบชิ้นส่วนลดน้อยลง ถือเป็นเหตุจำเป็นที่นายจ้างสามารถสั่งให้หยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้ การที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างที่ทำงานในส่วนการประกอบหยุดงานชั่วคราวเป็นเวลา 2 เดือนจึงชอบด้วยกฎหมาย
 
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ได้กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 (กฎหมายใหม่ ปี 2552 กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75) ของค่าจ้างในช่วงที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เมื่อลูกจ้างได้จ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างในวันทำงาน รวมทั้งเบี้ยขยันและค่าอาหาร รวมแล้วประมาณร้อยละ 80 ของค่าจ้าง นับว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้างอยู่แล้ว ลูกจ้างจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างปกติเต็มจำนวนให้แก่ลูกจ้างที่ลูกจ้างสั่งให้หยุดงานชั่วคราวอีก
 
3.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966 - 2406/2545  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 ให้สิทธิแก่นายจ้างที่ประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจสามารถหยุดการดำเนินกิจการไว้ชั่วคราวเพื่อให้โอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไปหรือบรรเทาลงได้ ฉะนั้น เมื่อลูกค้าของนายจ้างยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากนายจ้างเป็นจำนวนมาก หากนายจ้างยังคงผลิตสินค้าต่อไปก็ไม่แน่นอนว่านายจ้างจะจำหน่ายสินค้าได้หรือไม่และในการผลิตต้องมีเงินลงทุนทั้งในด้านวัตถุดิบและค่าแรงงานย่อมเสี่ยงต่อการขาดทุนอันจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะทางการเงินและความคงอยู่ของกิจการนายจ้างซึ่งอยู่ในระหว่างฟื้นฟูกิจการ ถือได้ว่าเป็นความจำเป็นตามความหมายของมาตรา 75 แล้ว การที่นายจ้างประกาศให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราว เพื่อรอคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าหรือหาลูกค้ารายใหม่ทดแทน โดยนายจ้างจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 50 (กฎหมายใหม่ ปี 2552 กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75) ของค่าจ้างในวันทำงานแก่ลูกจ้างแล้ว จึงชอบด้วยมาตรา 75
 
4.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966 - 2406/2546  พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 ให้สิทธิแก่นายจ้างที่ประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจให้สามารถหยุดการดำเนินกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ชั่วคราวเพื่อให้โอกาสแก้ไขวิกฤติการณ์ดังกล่าวให้หมดสิ้นหรือบรรเทาลงได้ เมื่อได้ความว่าลูกค้าของนายจ้าง ยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากนายจ้าง เป็นจำนวนมาก หากนายจ้าง ยังผลิตสินค้าต่อไปก็ไม่แน่นอนว่านายจ้าง จะจำหน่ายสินค้าได้หรือไม่ การผลิตต้องมีเงินลงทุนย่อมเสี่ยงต่อการ ขาดทุนอันจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะทางการเงินและความคงอยู่ของกิจการนายจ้าง ซึ่งอยู่ในระหว่าง ฟื้นฟูกิจการ กรณีย่อมถือได้ว่าเป็นความจำเป็นตามความหมายของมาตรา 75 แล้ว การที่นายจ้าง ประกาศให้ลูกจ้างหยุดงานรวม 4 ครั้ง เป็นเวลา 109 วัน เพื่อรอคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าหรือหาลูกค้ารายใหม่ทดแทนโดยนายจ้าง จ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 50 (กฎหมายใหม่ ปี 2552 กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75) ของค่าจ้างในวันทำงานแก่ลูกจ้างทั้งหมดแล้ว การประกาศหยุดงานจึงชอบด้วยมาตรา 75 นายจ้าง ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติเต็มจำนวนแก่ลูกจ้าง
 
5.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6960/2548  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง เป็นกฎหมายที่คุ้มครองนายจ้างที่ประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว แต่นายจ้างยังมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนอีกต่อไป เพื่อเป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายจึงให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงครึ่งเดียว(กฎหมายใหม่ ปี 2552 กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75)  แต่ก็ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองลูกจ้างด้วย สำหรับความจำเป็นของนายจ้างที่จะยกขึ้นอ้างจะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้มิใช่เป็นแต่เพียงความจำเป็นทั่ว ๆ ไป เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบแก่กิจการมากนัก อีกทั้งระยะเวลาในการแก้ไขเหตุแห่งความจำเป็นดังกล่าวจะต้องมีกำหนดเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร
 
นายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างบางส่วนคือ ท. กับพวกรวม 444 คน หยุดงานชั่วคราวเป็นระยะๆ จำนวน 17 ครั้ง ครั้งหนึ่งไม่เกิน 2 วัน รวม 31 วัน แม้นายจ้างจะอ้างว่ายอดสั่งซื้อสินค้าลดลง แต่ลักษณะการสั่งให้หยุดงานชั่วคราวของลูกจ้างเป็นการคาดหมายว่าจะประสบปัญหาการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าซึ่งไม่มีความแน่นอน ประกอบกับนายจ้างมีปัญหาด้านแรงงานกับลูกจ้าง และบางครั้งนายจ้างขาดวัตถุดิบเนื่องจากไม่ได้กักตุนวัตถุดิบไว้ ความจำเป็นในการหยุดงานชั่วคราวของนายจ้างเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการของนายจ้างเองที่ขาดการวางแผนที่ดีและมีปัญหาด้านแรงงาน มิใช่เป็นเหตุจำเป็นถึงขนาดต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้
 
6.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7675/2548  ประกาศของนายจ้างที่แจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงความจำเป็นของนายจ้างที่ต้องหยุดกิจการทั้งหมดลงชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 50 (กฎหมายใหม่ ปี 2552 กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75) ของค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างหยุดกิจการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 มิใช่หนังสือเลิกจ้างลูกจ้าง แม้ในประกาศจะระบุให้ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานไปทันทีที่ไปทำงานประจำกับนิติบุคคลอื่น ก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่นายจ้างจะใช้สิทธิเลิกจ้างลูกจ้างเท่านั้น การที่ลูกจ้างไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นจึงมิใช่เป็นการตกลงเลิกสัญญาจ้างกับนายจ้าง ลูกจ้างยังคงเป็นลูกจ้างของนายจ้าง ระหว่างที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว นายจ้างมิได้มอบหมายงานให้ลูกจ้างทำ ส่วนเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในอัตราร้อยละ 50 สิบของค่าจ้างก็มิใช่ค่าจ้าง แต่เป็นเงินที่ต้องจ่ายตาม มาตรา 75 และบทมาตราดังกล่าวก็มิได้บัญญัติห้ามลูกจ้างไปทำงานกับบุคคลอื่นในระหว่างที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว การที่ลูกจ้างไปทำงานกับนิติบุคคลอื่น จึงมิใช่การละทิ้งหน้าที่หรือทำผิดสัญญาจ้าง เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง โดยที่ลูกจ้างมิได้กระทำผิดตาม มาตรา 119 ลูกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง
 
7.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8678/2548  ในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะหยุดกิจการของตนได้โดยจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในระหว่างที่หยุดกิจการไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ (กฎหมายใหม่ ปี 2552 กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75) แต่ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดวิธีการในการหยุดกิจการไว้ว่าให้นายจ้างกระทำโดยวิธีใด นายจ้างจึงสามารถกำหนดวิธีการหยุดกิจการให้เหมาะสมแก่ความจำเป็นของกิจการนายจ้างได้ ดังนั้น การที่ลูกจ้างซึ่งเป็นนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการโดยลูกจ้างแบ่งลูกจ้างออกเป็น 3 กุล่ม ให้ลูกจ้างแต่ละกลุ่มสลับกันหยุดงานกลุ่มละ 6 วัน เป็นวิธีการการลดกำลังการผลิตโดยมีระยะเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร คือในระหว่างวันที่ 22 เมษายน 2545 ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2545 และระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าลูกจ้างเลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดหรือลูกจ้างกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหยุดงานเป็นการเฉพาะ ย่อมถือได้ว่าเป็นการหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง
 
8.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6078 - 6199/2549  พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 เป็นบทบัญญัติที่ต้องการคุ้มครองนายจ้างที่ประสบปัญหาในการดำเนินกิจการมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว โดยนายจ้างยังมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนต่อไปอีกเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของนายจ้าง จึงให้นายจ้างรับภาระจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 (กฎหมายใหม่ ปี 2552 กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75) ของค่าจ้าง แต่ก็เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองประโยชน์ลูกจ้างด้วย ซึ่งหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้ จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ก็จะทำให้ลูกจ้างไม่มีงานทำได้รับความเดือดร้อน เหตุที่นายจ้างจะยกความจำเป็นขึ้นอ้างเพื่อหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป หาใช่ว่าจะต้องมาจากสาเหตุที่นายจ้างประสบปัญหาการขาดทุนเพียงประการเดียวไม่
 
การที่กิจการของนายจ้างซึ่งผลิตเครื่องหนังโดยมีเครื่องหมายการค้าของผู้สั่งซื้อจากต่างประเทศต้องผลิตตามคำสั่งซื้อตามความประสงค์ของผู้สั่งซื้อโดยไม่อาจเตรียมไว้ล่วงหน้า เมื่อมีคำสั่งซื้อสินค้าน้อยลงและขาดช่วง เพราะต้องรอวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้เกิดช่วงเวลาที่ต้องรอวัตถุดิบในการผลิต นายจ้างจึงต้องปิดโรงงานผลิตไปบางส่วน และหยุดกิจการบางส่วนโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ อันเป็นความจำเป็นที่มีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก นายจ้างย่อมหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้ตามมาตรา 75 นี้
 
9.  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6703 - 6752/2549 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว แต่นายจ้างมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนต่อไป เพื่อเป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายของนายจ้าง จึงให้นายจ้างรับภาระจ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงครึ่งเดียว แทนที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเต็มจำนวนในระหว่างที่หยุดกิจการนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองลูกจ้างด้วยเพราะหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้ จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างต้องตกงานขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อน ความจำเป็นของนายจ้างที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท