Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2554  ให้ความหมายของคำว่า ปรนัย แปลว่า “เรียกการสอบที่ผู้สอบมักไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นส่วนตัว  เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบตายตัว”(หน้า 697)

ขณะที่ในพจนานุกรมเล่มเดียวกันให้ความหมายของคำว่า อัตนัย ว่า “ที่เปิดโอกาสให้แสดงความรู้หรือความคิดเห็นส่วนตัวได้, เรียกการสอบที่ให้ผู้ตอบแสดงความคิดเห็นว่าการสอบแบบอัตนัย,คู่กับปรนัย” (หน้า 1394)

หากดูจากผลการสอบ PISA ของนักเรียนไทย ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของไทยบางคน (เช่น อ.สมพงษ์ จิตระดับ/จุฬาฯ) สรุปว่า “ผลการสอบตก” ไม่ผ่านเกณฑ์ของ PISA นั้นก็แสดงให้เห็นว่า นักเรียนไทยนั้นอาจไม่ถูกโฉลกกับแนวทางการทดสอบแบบอัตนัย แต่หากPISA ใช้แนวข้อสอบแบบปรนัย ก็ไม่แน่ว่า นักเรียนไทยจะผ่านฉลุย เพราะวัฒนธรรมการศึกษาแบบไทยๆ ได้ชื่อว่าใช้แนวปรนัยมาหลายช่วงทศวรรษ

เป็นแนวข้อสอบเดียวกับคำตอบข้อสอบที่นักเรียนไทยเคยได้ยินกันมานับโคตร เช่น “คนไทยมีต้นกำเนิดและอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต” เป็นต้น

แน่นอนว่า วัฒนธรรมปรนัยได้หล่อหลอมสังคมไทยมานานมากพอที่จะทำให้สังคมของเราหลายเป็นสังคมปรนัยที่อยู่ตรงกันข้ามกับอัตนัยสากลหรือแบบตะวันตก (อย่างน้อยก็ดูจากการศึกษาในแบบอเมริกัน)แม้จนเมื่อนับจากวัฒนธรรมด้านการศึกษา ซึ่งย่อมแน่นอนเช่นกันว่า มันพลอยทำให้องคาพยพอื่นๆ เป็นแนวปรนัยไปโดยปริยายไปด้วย

วัฒนธรรมสังคมแนวปรนัยดังกล่าว ไม่ต้องการการวิพากษ์ทั้งสังคมข้างนอกและตนเอง ต้องการคำตอบสำเร็จรูปเหมือนบะหมี่สำเร็จรูปในซอง เชื่อว่ามีพระเอกขี่ม้าขาวมากกว่าที่จะเชื่อว่า ทุกคนเป็นพระเอกได้ จึงให้ความสำคัญกับตัวบุคคลที่เชื่อกันว่าเป็น “บุคคลพิเศษ”มากกว่าที่จะคิดว่าทุกคนมีความเป็นสามัญธรรมดาเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันหมด

แท้จริงแล้ว การมี “บุคคลพิเศษ”ขึ้นมา ก็เพื่อตอบสนองตอบความสำเร็จรูปของคำตอบที่สังคมขี้คร้านที่จะหา ขี้คร้านที่จะวิพากษ์หรือวิเคราะห์ทั้งตนเองและสังคม จึงเป็นสังคมที่แสวงหาหรือผูกติดอยู่กับบุคคลที่เชื่อว่า “พิเศษ”อยู่ตลอดเวลาแบบ “ห้ามมีข้อสงสัย” ซึ่งเป็นแนวทางที่อยู่ตรงกันข้ามกับแนวทางการศึกษาของตะวันตกโดยเฉพาะการศึกษาตามวัฒนธรรมการศึกษาของสหรัฐอเมริกา

ไยจะพูดถึงการวิพากษ์วิจารณ์ตรงไปที่ตัวอธิการบดี ผู้บริหารมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่กับอาจารย์ผู้สอนของบรรดาผู้เรียนทั้งหลาย ด้วยความเชื่อว่าคำสอนและวัตรปฏิบัติของอาจารย์มิใช่คำตอบสำเร็จรูปให้ศิษย์เสมอไป ซึ่งหากจะสรุปกันแล้ว แนวทางการเรียนการสอนแบบตะวันตก (สากล) ดังกล่าวพ้องกับแนวทางในรูปแบบอัตนัยมากกว่ารูปแบบปรนัยแบบไทยๆ นั่นเอง

จึงไม่แปลกที่บทความของนิวยอร์ค ไทม์ ล่าสุดวิเคราะห์แบบฟันธงชั๊วลงไปว่า ระบบการศึกษาที่ผิดพลาดของไทยนำมาสู่ปัญหาความขัดแย้ง (ทางการเมือง) ของสังคมไทยในปัจจุบัน หรือสรุปรวมๆ ก็คือ “ปัญหาความยุติธรรมในสังคม (ไทย)”

นอกเหนือไปจาก ความต้องการแนว “สำเร็จรูป” หรือ “ฮีโร่เชิงบุคคล” (คนดี) แล้ว แนวความเป็นปรนัยของสังคมไทยที่มาจากฐานของระบบการศึกษาที่ผิดพลาด กล่าวคือไม่สอนให้ผู้เรียนวิเคราะห์ หากแต่ผู้เรียนเองต้องยอมสยบต่อระบบหรือวัฒนธรรมของสถาบันการศึกษาที่สังกัดหรือกำลังศึกษาอยู่ ส่งผลให้อัตลักษณ์ของผู้เรียนหายไปโดยปริยาย หากผู้เรียนเป็นผู้อัตลักษณ์ก็จะอยู่ในสถานศึกษาอย่างลำบากยิ่ง

โดยแนวนี้การศึกษาแบบปรนัยจึงไม่ตอบสนองต่อการเกิดขึ้นของนวัตกรรม ทั้งที่ประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของนวัตกรรม (โดยเฉพาะในอเมริกา)แสดงให้เห็นอยู่ทนโท่ว่า ผู้ให้กำเนิดนั้นมีเป็นผู้มีอัตลักษณ์มากน้อยอย่างไร การดำเนินชีวิตของพวกเขาเป็นแบบปรนัยหรืออัตนัย

เช่น ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ที่เขามักตั้งคำถามแบบไม่ให้คำตอบที่สำเร็จรูปไว้เสมอเวลาไปพูดตามงานต่างๆ การเปิดช่องว่างเอาไว้ ด้วยการตั้งคำถามของเขาดังกล่าว ถือเป็นการวางรากฐานเพื่อการต่อยอด(นวัตกรรม) ที่มีมากกว่าการให้คำตอบสำเร็จรูปแบบปรนัย เป็นไหนๆ เพราะมนุษย์ต้องคอยเติมเต็มโลกของมนุษย์ด้วยกันเองเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้วจากรุ่นสู่รุ่น

ที่สำคัญคือ ซัคเกอร์เบิกร์กหรือแม้แต่ สตีฟ จอบส์ (แอพเปิ้ล) ไม่ได้คิดว่า ต้องมี “ฟอร์ม”ของผู้สร้างนวัตกรรมแต่อย่าง การใช้ชีวิตของพวกเขาเป็นไปอย่างธรรมดาสามัญอย่างยิ่ง ต่างจากสังคมปรนัยที่เน้นการมีฟอร์มเป็นหลัก ไล่ตั้งแต่การวางท่าวางทางที่เรียกว่า ท่าทางของคนดี การมีชุด มีเครื่องแบบที่แสดงว่าเป็นคนดีสุภาพเรียบร้อย โดยนัยนี้เครื่องแบบนักเรียนหรือเครื่องแบบข้าราชการก็คือตัวสะท้อนความเป็นปรนัยของสังคมไทยนั่นเอง

เครื่องแบบในสังคมไทย นับเป็นการสะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นต่อตนเอง เครื่องแบบเป็นอุดมคติของความสำเร็จรูปที่ค่อนข้างเห็นได้ชัด เครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา รวมถึงทรงผมจึงสะท้อนถึงการมีสังกัดหรือการขึ้นตรงต่อสถาบันหรือโรงเรียน ตรงกันข้ามความมีอัตลักษณ์ที่สื่อถึงนวัตกรรม จึงตอกย้ำในเรื่องความเป็นปรนัยของสังคมได้เป็นอย่างดี

ในทางการเมือง ก็ชัดว่า รัฐประหารคือสูตรความสำเร็จต่อการดำรงอยู่ได้ของผู้คนในสังคมไทยอย่างไร

ในทางเศรษฐกิจ ก็ชัดว่าแบบอย่างของกลุ่มธุรกิจที่ประสบความสำเร็จกลายเป็นกลุ่มทุนผูกขาดตลอดกาลอย่างไร ตัวแทรก (ผู้สร้างนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ)มีความยากลำบากขนาดไหนในการเบียดแทรกเพื่อเป็น “รายใหม่”

ในทางการศึกษา ก็ชัดว่า เรามีพวกกลุ่มคนจบปริญญาเอก (ดอกเตอร์) จำนวนมากมายขนาดไหน หากบรรดาศักดิ์ทางการศึกษาเหล่านี้มิได้มีเพื่องานด้านวิชาการหรือเป็นแบบอย่างทางด้านวิชาการ หากเพื่อการโชว์สถานภาพของตนเองต่อสังคมที่เห่อปริญญาบัตรเท่านั้น ทั้งหากดูจากกิจวัตรและกิจกรรมที่พวกเขากระทำหรือนิยมประพฤติกลับสะท้อนด้วยว่า ความเป็นอัตนัยมิได้ซึมแทรกเข้าไปอยู่ในหัวของคนกลุ่มนี้แม้แต่น้อย

สังคมไทยจึงเป็นสังคมแนวปรนัยอย่างเต็มตัว คนส่วนใหญ่ต้องการความสำเร็จรูป ไม่ว่าจะเป็นทางจิตหรือทางวัตถุ บนฐานของการเหยียบกดตัวเองเอาไว้เพื่อไม่ให้อัตลักษณ์ใดๆ โผล่ออกมาคนในสังคมเห็น ส่วนคนที่อัตลักษณ์ตนเองโผล่ออกมาก็ย่อมอยู่ในสังคมได้อย่างยากลำบาก เพราะมีความคิดและพฤติกรรมไม่เหมือนชาวบ้านเขา

จึงป่วยการที่จะพูดถึงนวัตกรรมและ “ไทยแลนด์ 4.0”ที่น่าจะเป็นแค่ความฝันเพื่องใน “สังคมปรนัย”

คำถามที่รัฐและคนไทยต้องตอบให้ได้ก็คือ การศึกษาของไทยตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยได้เลยไกลไปจากระบบปรนัยไปมากน้อยขนาดไหน อย่างไร?

 



  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net