Skip to main content
sharethis

กลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา จี้รัฐปรับรูปแบบกระบวนการจัดทำ EHIA ใหม่ หลังจาก คชก. ไม่อนุมัติ EHIA รอบที่ 4 บริษัทดับเบิ้ลเอเดินหน้าแก้ไขรายงานเตรียมยื่นอีก เหตุการทำ EHIA ไม่มีการจำกัดจำนวนครั้ง

24 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้(23 มี.ค.60) เวลาประมาณ 10.00 น. ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในที่ประชุมของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) มีมติไม่อนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) รอบที่ 4 ของบริษัทดับเบิ้ลเอ โดยในวันเดียวกันเครือข่ายติดตามผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน (คตฟ.) จ.ฉะเชิงเทรา ออกแถลงการณ์คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา และเปิดตลาดสีเขียวสัญจรสื่อสัญลักษณ์ความมั่นคงทางอาหาร เพื่อกระตุ้นให้สังคมมองว่าหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมาอาหารอินทรีย์ในพื้นที่จะไม่ปลอดภัย พร้อมกับเสนอให้รัฐปฏิรูปกระบวนการจัดทำ EHIA ใหม่ เนื่องจากการทำ EHIA ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ทำให้เจ้าของโครงการเดินหน้าแก้ไขอีกครั้ง

คชก. ไม่อนุมัติ EHIA รอบที่ 4 กลุ่มทุนเดินหน้าเตรียมยื่นใหม่

สำนักข่าว INN รายงานว่า กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงาน คตฟ. เปิดเผยว่า คชก. สังกัด สผ. มีมติยืนยันไม่อนุมัติ EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งกลุ่มทุนบริษัทกระดาษชื่อดังได้ยื่นเสนอให้พิจารณาเป็นครั้งที่ 4 ขณะนี้ตนและชาวบ้าน ค่อนข้างรู้สึกพึงพอใจแต่ก็ยังไม่ถึงกับโล่งอก เพราะมีรายงานข่าวว่าทางบริษัทฯจะเดินหน้ากลับไปแก้ไขปรับปรุงรายงานเพื่อยื่นให้คชก. พิจารณาอีกเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นจุดอ่อนด้านนโยบายกระบวนการจัดทำ EHIA ของประเทศไทย ที่ออกมาเพื่อตอบโจทย์บริษัท รวมถึงเจ้าของโครงการ เนื่องจากการทำ EHIA นั้นไม่มีกำหนดระยะเวลา รวมถึงไม่จำกัดจำนวนครั้ง คือเจ้าของโครงการสามารถปรับปรุงได้อย่างเต็มที่เพื่อให้สอดคล้องกับแผนจนเกิดเป็นโครงการได้ ทั้งนี้ส่วนตัวตนอยากให้ภาครัฐปรับรูปแบบกระบวนการจัดทำ EHIA ใหม่ ให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้าน แต่คงจะต้องมีการหารือร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ ที่มีแนวคิดต่อต้านการก่อสร้างโครงการที่จะส่งผลต่อประชาชนอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางในการผลักดันแนวคิดดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมและเป็นบรรทัดฐานเดียวกันทั่วทั้งประเทศต่อไป

อาหารกับถ่านหิน เราควรเลือกอะไร

“ห่างจากโครงการฯ 5 กม. คือ พื้นที่เพาะปลูกของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่นี้จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลาง และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตข้าว ผัก ผลไม้ และผลผลิตอินทรีย์กว่า 200 ชนิด โดยผลกระทบจะไม่จำกัดเฉพาะกับเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่เหล่านี้เท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อศูนย์เรียนรู้ ฐานทรัพยากรชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และจะกระทบกับผู้บริโภคกว่า 67,500 คน ซึ่งได้บริโภคผลผลิตอินทรีย์จากพื้่นที่” หนึ่งในข้อแถลงการณ์จาก คตฟ. และกลุ่มฯได้นำผลผลิตเกษตรอินทรีย์มาเปิดตลาดสีเขียวสัญจรหน้า สผ. เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 60  สผ. ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน โพสต์แถลงการณ์เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน (คตฟ.) เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ข้อความว่า

1. เมื่อ พ.ศ.2542 มีโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 47.4 MW ของเครือดั๊บเบิ้ลเอ มาตั้งในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน ส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำคลองท่าลาด ซึ่งเป็นต้นน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำบางปะกง หลังจากมีโรงไฟฟ้าชีวมวลนี้ ชุมชนเริ่มได้รับกลิ่นเหม็น พบปัญหาฝุ่นละออง และน้ำบ่อตื้นของชุมชนที่อยู่ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าก็ไม่สามารถใช้การได้

2. พ.ศ.2550 โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 600 MW ของเครือดั๊บเบิ้ลเอ ใน ต.เขาหินซ้อน ผ่านการประมูลตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2550 (PDP2007) ตามแผนจะตั้งข้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีอยู่เดิม เป็นผลให้ชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้าน และขอให้ยุติโครงการเรื่อยมา ตั้งแต่ที่ได้รับรู้ตราบจนปัจจุบัน

3. น้ำจากคลองท่าลาดส่วนหนึ่งไหลตามธรรมชาติลงสู่แม่น้ำบางปะกง ส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปา เลี้ยงคนส่วนใหญ่ใน จ.ฉะเชิงเทรา และบางส่วนใน จ.ชลบุรี ส่วนหนึ่งถูกจัดสรรสู่พื้นที่ชลประทานมากกว่า 350,000 ไร่ เพื่อการเพาะปลูก เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปศุสัตว์ ส่วนหนึ่งถูกใช้โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งเล็กและใหญ่ น้ำจากที่นี่มีความสำคัญกับผู้คนมากมาย ปัจจุบันมีปัญหาทั้งในเรื่องปริมาณและคุณภาพน้ำ ถ้าโครงการฯนี้เกิดขึ้นเพิ่มอีก จะต้องใช้น้ำปริมาณมาก และมีน้ำทิ้งปริมาณมาก จะเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่เดิมให้หนักหนาสาหัสเข้าไปอีก

4. ชาวสวนมะม่วงที่แต่เดิมปลูกมะม่วงได้ผลผลิตดี สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ปัจจุบันพบปัญหามะม่วงช่อไหม้ ดำ ร่วง ไม่ติดผล ทำให้สวนมะม่วงรอบๆโรงไฟฟ้าชีวมวล มีผลผลิตลดลง และหนักขึ้นถึงขั้นขาดทุนจนชาวสวนมะม่วงหลายรายตัดสินใจล้มสวน หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 MW มาตั้งเพิ่มอีก คงจะถึงยุคสูญสิ้นมะม่วงแปดริ้วที่ขึ้นชื่อเป็นหน้าเป็นตาของ จ.ฉะเชิงเทรา

5. ห่างจากโครงการฯ 5 กม. คือ พื้นที่เพาะปลูกของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่นี้จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลาง และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตข้าว ผัก ผลไม้ และผลผลิตอินทรีย์กว่า 200 ชนิด โดยผลกระทบจะไม่จำกัดเฉพาะกับเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่เหล่านี้เท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อศูนย์เรียนรู้ ฐานทรัพยากรชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และจะกระทบกับผู้บริโภคกว่า 67,500 คน ซึ่งได้บริโภคผลผลิตอินทรีย์จากพื้่นที่

6. ห่างจากโครงการฯ 7 กม. คือ แหล่งผลิตเห็ดฟางกองเตี้ยที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก และเป็นอันดับสองของประเทศ เป็นความหวังของชาวบ้านที่สร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าเนื่องจากในกระบวนการผลิตเห็ดนั้นช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่เห็ดมีความอ่อนไหวต่อคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และอุณหภูมิ การมีโรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อการทำเห็ดไม่ต่างจากมะม่วงเช่นกัน

7. ไม่มีถ่านหินใดเป็นถ่านหินสะอาด แม้เทคโนโลยีจะสามารถลดปริมาณซัลเฟอร์ได้บางส่วน แต่ก็ไม่สามารถป้องกันสารปรอท และโลหะหนัก เช่น แคดเมียม สารหนู ตลอดจนสารอินทรีย์ระเหยและสารประกอบโพลีไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง สารเหล่านี้จะปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร จะมีการสะสมจนเป็นอันตรายต่อคนได้ นี่ยังไม่นับรวมผลกระทบอีกมากมายจากการทำเหมืองถ่านหิน การขนส่งถ่านหิน และเถ้าที่เหลือจากการเผาถ่านหิน

8. ไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ ประเทศไทยยังคงมีไฟฟ้าพอใช้ และหากผนวกแผนการอนุรักษ์พลังงานร่วมกันแผนพัฒนาพลังงานทางเลือก ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าเกินเกณฑ์ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอีกมาก

9. และแน่นอน เรามีทางเลือกในการผลิตพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะไปทำลายแหล่งผลิตอาหารอันสมบูรณ์ที่เราเหลืออยู่ไม่มากนัก อีกทั้งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และยังซ้ำเติมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเรา

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเหตุผลที่ชี้ชัดว่า “โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 600 เมกะวัตต์ ฉะเชิงเทราไม่เหมาะสม อย่างยิ่งกับพื้นที่ต้นน้ำบางปะกง ที่ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศ และไม่มีความจำเป็นเลยเนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยมีไฟฟ้าเกินเกณฑ์ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมากจนถึง พ.ศ.2575 อีกทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินยังเป็นตัวการสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะซ้ำเติมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน (คตฟ.) จึงมีข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ดังนี้ (1) ขอให้พิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 600 เมกะวัตต์ ฉะเชิงเทรา (2) ขอให้เสนอเรื่องความไม่เหมาะสมของโครงการนี้ถึงผู้ที่มีอำนาจเพื่อพิจารณายกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 600 เมกะวัตต์ ฉะเชิงเทรา”

ขณะที่ เพจหยุดถ่านหินกระบี่ โพสต์แถลงการณ์เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ฉบับที่ 5/2560 ให้รัฐปฏิรูประบบ EIA เช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2560  ที่ผ่านมา ระบุว่า แถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อย้ำความทรงจำแก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะต้นสังกัดของ สผ. ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อกระบวนการจัดทำรายงานอีไอเอ ในขณะที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎกระทรวง ห้ามการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงมือทำกระบวนการจัดทำรายงาน อีไอเอ เป็นอันขาด เนื่องจากข้อตกลงนั้นเมื่อยกเลิกรายงานแล้วจะต้องมีการแก้กติกาให้เกิดความเป็นธรรม ตามเจตนารมณ์ของ พรบ.สิ่งแวดล้อมปี 2535 มิใช่ว่าให้เจ้าของโครงการจ้างบริษัทที่รับจ้างมาทำรายงาน อันเป็นเท็จเพื่อนำเสนอต่อ สผ.

ความขัดแย้งและการทำลายสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างมหาศาลในประเทศนี้เพราะกระบวนการจัดทำรายงานนั้นเอื้อให้กับเจ้าของโครงการมิได้เป็นไปเพื่อสร้างทางเลือกการพัฒนาที่เหมาะสมต่อพื้นที่ในการรักษาสิ่งแวดล้อมและปัจจัยอื่นๆตามตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน หากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สผ. อนุญาตให้มีการดำเนินการจัดทำรายงานอีไอเอของ กฟผ. ก่อนการแก้ไขกฎกระทรวง ถือว่ามีเจตนาณ์ละเมิด ข้อตกลง เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจะดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป ในการนี้การแก้ไขกฎกระทรวงจะก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อการพัฒนาและการจัดการสิ่งแวดล้อมชีวิตประชาชนทั้งแผ่นดิน จึงขอเชิญชวนพี่น้องทั้งประเทศมาร่วมกันใช้กำลังและสติปัญญา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน กฎกระทรวง ที่เอื้ออำนวยให้ฝ่ายทุนมากกว่า เจตนาของการสร้างทางเลือกการพัฒนาที่เหมาะสม ตามเจตนารมณ์ของ พรบ.สิ่งแวดล้อม ปี 2535

ขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมใจกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ในเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ประชาชนหลายภาคส่วนได้ตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมในกระบวนการอีไอเอ และได้ร่วมกันศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ เช่น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ต่างมีมติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจึงขอย้ำไปยัง เลขาธิการ สผ.ว่า จงใช้สติดำเนินการให้ถูกต้องและเป็นธรรม โดยประชาชนจะจัดทำข้อเสนอแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้ง อีไอเอ และ การประเมินเชิงยุทธศาสตร์ ในเร็ววัน และขอย้ำว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎกระทรวงก่อนเท่านั้น จึงจะมีการดำเนินการจัดทำรายงานฉบับใหม่ของ สผ.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net