ชาวอิหร่านประท้วง 'ทรัมป์' หลังถอนสหรัฐฯ จากข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์

การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์อิหร่านและละเมิดข้อตกลงดังกล่าว ทำให้ประชาชนอิหร่านหลายคนกังวลว่าการที่สหรัฐฯ กลับมาคว่ำบาตรอิหร่านจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา

รายงานในคอมมอนดรีมส์ระบุว่า ชาวอิหร่านนับหมื่นคนออกมาชุมนุมบนท้องถนนในหลายเมืองของอิหร่านเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2561 เพื่อแสดงความไม่พอใจการที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์อิหร่านและละเมิดข้อตกลง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ อีก 6 ประเทศและอิหร่านร่วมเจรจากันได้สำเร็จในช่วงรัฐบาลบารัค โอบามา ในปี 2558 ซึ่งเป็นการยอมยกเลิกการผลิตอาวุธนิวเคลียร์และให้ต่างชาติเข้าไปตรวจสอบโดยแลกกับการผ่อนปรนการคว่ำบาตรบางส่วน

ผู้ประท้วงในกรุงเตหะรานและในเมืองอื่นๆ พากันเดินประท้วงถือป้าย มีป้ายหนึ่งระบุข้อความว่า "คุณทรัมป์ คุณกำลังพูดจาเหลวไหล" ซึ่งเป็นป้ายที่นำมาจากคำกล่าวของผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อาลี คาเมเนอี โดยที่คาเมเนอีวิจารณ์ในเรื่องนี้ตังแต่เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว เขากล่าวว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ โกหกเกี่ยวกับข้อตกลงรวมถึงวิจารณ์การถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงว่าทั้งเป็นการกระทำที่ทั้ง "งี่เง่า" และ "ยโสโอหัง"

มีหนึ่งในกลุ่มผู้ประท้วงที่กรุงเตหะรานระบุว่าการถอนตัวของทรัมป์ถือเป็นการกระทำ "ไร้สติ" เป็นการ "ทำสงครามจิตวิทยา" และถือเป็นการละเมิดข้อตกลง แถลงการณ์ยังระบุในทำนองว่า "ถ้อยคำของเขา (ทรัมป์) ที่ตอบโต้อิหร่านอันเกรียงไกรเป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นลักษณะแบบจักรวรรดินิยมของอาชญากรอย่างผู้นำอเมริกัน" รวมถึงระบุในเชิงว่าพระเจ้าของพวกเขาจะช่วยให้พวกเขายืนหยัดต่อสู้เพื่อ "ทำลายศัตรูของอิสลามและประเทศที่ถูกกดขี่ให้พินาศย่อยยับ"

นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองกลุ่มเล็กๆ ของอิหร่านที่ประท้วงด้วยการเผาธงสหรัฐฯ ในรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา อาลี ลาริจานี กล่าวว่า "มันเห็นได้ชัดว่าทรัมป์รู้จักเพียงแค่ภาษาของการใช้กำลัง"

ข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์อิหร่านมีชื่อเป็นทางการว่าแผนการปฏิบัติการร่วมฉบับสมบูรณ์ (Joint Comprehensive Plan of Action หรือ JCPOA) หลังจากที่ทรัมป์ประกาศจะถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงนี้ก็ทำให้ผู้นำประเทศที่มีส่วนร่วมในหารือข้อตกลงนี้อย่างประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรี แองเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี พยายามโน้มน้าวทรัมป์ให้เคารพข้อตกลงนี้ รวมถึงมีชาวอเมริกันร้อยละ 63 ที่ยังคงต้องการให้สหรัฐฯ ยังคงอยู่ในข้อตกลงนี้จากการสำรวจโพลล์ของสื่อซีเอ็นเอ็น

นอกเหนือจากเรื่องการเมืองระหว่างประเทศแล้ว การเปลี่ยนแปลงของข้อตกลงดังกล่าวนี้ยังจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวอิหร่านเองด้วย โดยถ้าหากข้อตกลงถูกยกเลิกทั้งหมดก็จะกลายเป็นการยกเลิกการตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์อิหร่านและข้อบังคับเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านไปด้วย พร้อมกับที่สหรัฐฯ จะกลับมาคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันและอุตสาหกรรมภาคส่วนอื่นๆ ของอิหร่าน

อามีร์ อาห์มาดี แอริอัน ศาตราจารย์ด้านวรรณกรรมและรอห์มัน บูวซารี นักข่าวในอิหร่าน เขียนบทความในนิวยอร์กไทม์ถึงกรณีนี้ว่าชาวอิหร่านมีความกังวลต่อเรื่องการคว่ำบาตร เพราะตั้งแต่ก่อนหน้าจะมข้อตกลงนี้การคว่ำบาตรทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของชาวอิหร่านมากโดยที่รัฐบาลที่มีลักษณะอำนาจนิยมและทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าใดและไม่ค่อยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ แต่ข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์ของปี 2558 ก็ทำให้ชาวอิหร่านมีความหวังมากขึ้น

ชาวอิหร่านผู้เขียนบทความในนิวยอร์กไทม์ระบุต่อไปว่า ทว่าการประกาศออกจากข้อตกลงของทรัมป์ก็ทำให้ประชาชนชาวอิหร่านทั่วไปส่วนใหญ่รู้สึกขมขื่นและท้อถอย ไม่ว่าจะเป็นบนโต็ะอาหาร ในแถวเข้าคิวซื้อขนมปัง ในวงคนขับแท็กซี่ ผู้คนในอิหร่านต่างก็พูดคุยกันถึงความทรงจำแย่ๆ ของชีวิตในช่วงที่อิหร่านถูกคว่ำบาตร ทั้งการถูกตัดงบประมาณ ภาวะเงินเฟ้อหนัก ค่าจ้างล่าช้า และขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะการนำเข้ายาซึ่งมีหลายชีวิตที่ต้องใช้มัน

เรียบเรียงจาก

Thousands of Iranians Take to Streets, Enraged By Trump's 'Insane' Breach of Nuclear Deal, Common Dreams, 11-05-2018

What Sanctions Mean to Iranians, Amir Ahmadi Arian and Rahman Bouzari, New York Times, 10-05-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท