Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



มีความกังวลกันว่า ปัจจุบันคนไทยส่วนหนึ่งหันมาสนใจแนวคิดโลกวิสัย (secularism) จึงทำให้เลิกนับถือศาสนา เป็นคนไม่มีศาสนามากขึ้น ดูเหมือนฝ่ายที่กำลังคิดหามาตรการรักษาความมั่นคงของพุทธศาสนาซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ความมั่นคงของชาติ” กำลังวิตกกังวลในเรื่องนี้และกำลังคิดหาแนวทางแก้ไข คาดว่าหลังสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายคณะคณะสงฆ์แล้ว ฝ่ายความมั่นคงและผู้เชี่ยวชาญพุทธศาสนาน่าจะมีการประชุมกำหนดแนวทางดังกล่าวตามมา

แต่ความกังวลดังกล่าว อาจเกิดจากความเข้าใจแนวคิดโลกวิสัยผิดไป เพราะแนวคิดโลกวิสัยไม่ได้ปฏิเสธหรือต่อต้านศาสนาใดๆ นักโลกวิสัยนิยม (secularists) อาจจะเป็นคนนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาก็ได้ เขาอาจนับถือศาสนาที่มีพระเจ้า หรือเป็นพวกเอธีสต์ (atheists) ที่เชื่อว่าไม่มีพระเจ้าก็ได้  หรือเป็นพวกปฏิเสธความเชื่อว่ามีพระเจ้า เพราะไม่มีใครรู้จริง (agnostics) ก็ได้ ทั้งสองพวกนี้อาจนับถือศาสนาที่ไม่มีพระเจ้าหรือเป็นพวกไม่มีศาสนา (irreligionists) ก็ได้ ดังนั้นจึงไม่จริงเสมอไปว่าคนไทยบางส่วนหันมาสนใจแนวคิดโลกวิสัยแล้วจะทำให้เลิกนับถือศาสนา เป็นคนไม่มีศาสนา

แท้จริงแล้ว แกนกลางของแนวคิดโลกวิสัยคือการยืนยัน “เสรีภาพทางศาสนา” และการใช้หลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมาปฏิบัติต่อความแตกต่างหลากหลายทางความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม ถ้าคนไทยสนใจแนวคิดโลกวิสัยจริง ยิ่งจะทำให้เข้าใจและยืนยันเสรีภาพทางศาสนาชัดเจนขึ้น

ปัญหาที่สำคัญมากในปัจจุบันคือ เพราะเราไม่เคยเข้าใจแนวคิดโลกวิสัยถ่องแท้ เราจึงเข้าใจผิดๆ ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีเสรีภาพทางศาสนาสมบูรณ์แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาไว้แล้ว และเสรีภาพทางศาสนาในความหมายที่เข้าใจกันก็คือ เราแต่ละคนมีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้ เปลี่ยนศาสนาก็ได้ ไม่นับถือศาสนาก็ได้

แต่เสรีภาพทางศาสนาตามแนวคิดโลกวิสัย  นอกจากจะหมายถึงปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้ เปลี่ยนศาสนาได้ ไม่นับถือศาสนาก็ได้แล้ว ยังหมายถึงการ “ปฏิเสธการทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคน” ด้วย เช่นปฏิเสธการที่รัฐนำหลักความเชื่อทางศาสนามาเป็นหลักการปกครองและการบัญญัติกฎหมาย ปฏิเสธการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ ปฏิเสธการที่องค์กรศาสนาใดๆ จะเอาอำนาจสาธารณะ (กฎหมาย) ไปใช้ปกป้อง คุ้มครอง สนับสนุนส่งเสริมการเผยแผ่ศาสนาของตนเป็นต้น

ดังนั้น การยืนยันเสรีภาพทางศาสนาตามแนวคิดโลกวิสัย จึงเป็นการยืนยันบนหลักการสำคัญว่า รัฐจะใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือใช้ศาสนาสร้างอุดมการณ์ครอบงำประชาชนไม่ได้ และกลุ่มบุคคลหรือองค์การศาสนาใดๆ จะใช้อำนาจรัฐอุปถัมภ์ คุ้มครอง สนับสนุนการเผยแผ่ศาสนาซึ่งเป็นความเชื่อส่วนบุคคลของกลุ่มตัวเองไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐกับศาสนาจึงต้องแยกเป็นอิสระจากกัน (separation of church and state) ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่การเมืองกับศาสนาจะไม่ก้าวก่ายกัน รัฐจะเข้ามายุ่งก็ต่อเมื่อมีการใช้ศาสนาละเมิดสิทธิพลเมืองเท่านั้น เรื่องศาสนาไหนสอนถูก สอนผิด ปฏิบัติถูก ปฏิบัติผิดหลักความเชื่อทางศาสนารัฐไม่ยุ่ง เท่ากับว่าศาสนาจะไม่ถูกทำให้มีอำนาจบังคับคนอย่างเด็ดขาด เมื่อศาสนาไม่ถูกทำให้มีอำนาจบังคับคน ศาสนาจึงเป็นเรื่อง “เสรีภาพส่วนบุคคล” ได้อย่างแท้จริง

ทำไมเราจึงต้องปฏิเสธการทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคน (ไม่ว่าบังคับผ่านอำนาจรัฐหรืออำนาจของคนหมู่มากในสังคมก็ตาม) ก็เพราะสังคมมนุษย์เรียนรู้ความผิดพลาดจากประวัติศาสตร์มามากเกินพอแล้วว่า เมื่อศาสนามีอำนาจบังคับคนมันย่อมนำไปสู่โศกนาฏกรรมในนามของ “ความดี” ที่น่าเศร้า เช่นการประหารชีวิตบุคคลที่มีคุณค่าต่อโลกอย่างโสเครตีสในข้อหาปฏิเสธเทพเจ้าของรัฐ ตรึงกางเขนพระเยซูในข้อหาดูหมิ่นพระเจ้า กักบริเวณกาลิเลโอให้อยู่ในบ้านของตัวเองตลอดชีวิตในข้อหาเสนอความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ขัดกับคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลเป็นต้น ในยุคกลางที่ศาสนาเรืองอำนาจ มนุษย์ไม่มีเสรีภาพแม้แต่จะเสนอความคิด ความรู้ที่แตกต่างจากความเชื่อทางศาสนา ในเอเชีย,เอเชียอาคเนย์และสยามไทย ศาสนาสถาปนาระบบวรรณะ,ชนชั้นศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส เสรีภาพแบบที่สัมผัสได้ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ไม่อาจมีได้

ดังนั้น ยุคศาสนาเรืองอำนาจในประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ ก็คือยุคกดขี่เสรีภาพ ความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ ความรู้ สติปัญญาเกิดขึ้นได้จริงเมื่อมีการแยกศาสนาจากรัฐ หรือ “ยกเลิกการทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคน” จึงทำให้การสถาปนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นไปได้จริง หรือทำให้เสรีภาพในการใช้ชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคล เสรีภาพทางความคิดเห็น เสรีภาพแห่งมโนธรรม ความเชื่อ เสรีภาพในการพูด การแสดงออก เสรีภาพทางสังคมและการเมืองเป็นไปได้จริง

แต่ในสังคมไทยปัจจุบัน ยังไม่แยกศาสนาจากรัฐ จึงมีการทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคน เช่นรัฐกำหนดให้พระสงฆ์มียศศักดิ์ ตำแหน่ง และอำนาจทางกฎหมายที่ห้ามเรื่องสอนผิดหลักธรรมวินัยได้ เอาผิดการละเมิดธรรมวินัยในบางเรื่องได้ (เช่นต้องอาบัติปาราชิกแล้วไม่ยอมสึกมีความผิดทางกฎหมายเป็นต้น)

นอกจากนี้รัฐไทยยังทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคนซับซ้อนขึ้นไปอีก เช่นบังคับเรียนปลูกฝังศีลธรรมพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของรัฐ บังคับร่วมกิจกรรมทางศาสนา จะอบรมจริยธรรมนักเรียนนักศึกษาก็ต้องจริยธรรมพุทธ จะอบรมจริยธรรมครูอาจารย์ ข้าราชการ แพทย์ นักกฎหมาย อัยการ ผู้พิพากษา นักการเมือง ก็ต้องจริยธรรมพุทธ แถมยังมีการเสนอความคิด วาทกรรม การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้ประชาธิปไตยต้องมี “ธรรมาธิปไตย” กำกับและเรียกร้อง “คนดี” เป็นผู้ปกครอง โดยถือว่าผู้ปกครองที่เป็นคนดีนั้นมี “ความชอบธรรม” ในการใช้อัตวิสัยทางศีลธรรมตัดสินว่า อะไรเป็นหรือไม่เป็นประโยชน์ของบ้านเมืองโดยไม่จำเป็นต้องเคารพและปฏิบัติตามกติกาประชาธิปไตยก็ได้ ทั้งหมดนี้เป็นต้น ล้วนขัดหลัก “เสรีภาพทางศาสนา” ตามกรอบคิดโลกวิสัยทั้งสิ้น

เมื่อมองจากมุมของคนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นชาวพุทธ ก็อาจไม่รู้สึกว่าตนเองถูกบังคับ หรือรู้สึก แต่คิดว่าพอรับได้ หรืออาจมีเหตุผลว่า เรื่องที่คณะสงฆ์มีกฎหมายบังคับก็เพื่อรักษาคำสอนที่ถูกต้องตามธรรมวินัย รักษาวัตรปฏิบัติที่น่าศรัทธาของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นการรักษาความมั่นคงของพุทธศาสนาอันเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของชาติ ส่วนการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะเป็นการบังคับให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้สิ่งที่ดีและมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของพวกเขา การใช้หลักจริยธรรมพุทธอบบรมข้าราชการทุกภาคส่วน และการอ้างธรรมาธิปไตยในทางการเมืองก็เพราะสังคมเราคนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ก็ถูกแล้วที่จะนำหลักจริยธรรมพุทธไปใช้ในการอบรมคนทุกภาคส่วนของรัฐให้เป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม อันจะยังประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมและประเทศชาติในที่สุด

แต่นักโลกวิสัยนิยมชี้ให้เราเห็นว่า คนส่วนใหญ่ในยุคโบราณและยุคกลางก็เชื่อเช่นกันว่าศาสนาไม่ได้มีอำนาจบังคับพวกเขามากนัก เพราะที่จริงศาสนาคือหลักการปกครอง การบัญญัติกฎหมาย คือรากฐานของศีลธรรมประเพณีทางสังคมที่ทำให้พวกเขาอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีสงบสุข ดังนั้นก็ยุติธรรมแล้วที่คนขบถต่อความเชื่ออันถูกต้องดีงามของคนส่วนใหญ่อย่างโสเครตีส พระเยซู กาลิเลโอ และคนนอกรีตอื่นๆ สมควรถูกประหาร และรับโทษทัณฑ์ด้วยการถูกทำให้เป็น “คนนอก” ของสังคม

คนส่วนใหญ่ในเอเชียและเอเชียอาคเนย์ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ พุทธในโบราณและยุคประเพณีก็คงเชื่อเช่นกันว่ามันยุติธรรมแล้วที่คนเราเกิดมามีวรรณะ 4 เพราะพระพรหมผู้สร้างโลกกำหนดไว้ และการมีชนชั้นศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาสก็ย่อมยุติธรรมแล้วเช่นกัน เพราะเป็นไปตามกฎแห่งกรรมที่ว่าคนเราทำกรรมมาต่างกันก็ย่อมทำให้เกิดมามีชนชั้นที่ต่างกัน ส่วนการเอาเรื่องราวการลงโทษสัตว์นรกขุมต่างๆ ตามที่บรรยายไว้ในคัมภีร์ศาสนามาออกแบบคุกและกำหนดวิธีลงโทษทรมานและประหารชีวิตนักโทษอย่างทารุณโหดร้าย ก็ถือว่ายุติธรรมแล้วเช่นกัน เพราะคนเราทำกรรมชั่วก็ควรได้รับผลชั่วอย่างสาสม

จะเห็นว่า คนส่วนใหญ่ในอดีตย่อมไม่รู้ถึงความผิดพลาดของการทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคน ต่อเมื่อมีคนส่วนน้อยพยายามแหกจารีตทางศาสนาและอุทิศตนแสวงหาความรู้ทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ จึงทำให้เกิดคำถามและวิพากษ์วิจารณ์การทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคนอย่างจริงจัง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ปรัชญาสังคมและการเมือง และเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย การแยกศาสนาจากรัฐ และการยืนยันหลักสิทธิมนุษยชนเป็นกติกากลางรองรับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ เพศ และอื่นๆ

จริงอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ศาสนาไม่ได้มีอำนาจบังคับคนเข้มข้นเท่ายุคกลาง แต่สภาวะที่รัฐกับศาสนาไม่แยกจากกัน ย่อมทำให้รัฐควบคุมศาสนา ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และทำให้องค์กรศาสนาใช้อำนาจรัฐปกป้อง สนับสนุนความเชื่อเฉพาะทางศาสนาของพวกตน ทำให้จริยธรรมพุทธเป็นศูนย์กลางอำนาจทางจริยธรรมในสังคมไทยที่ทั้งใช้บังคับเรียนในระบบการศึกษาของรัฐ ใช้อบรมจริยธรรมบุคลากรทุกภาคส่วนของสังคมดังกล่าวแล้ว

ผลก็คือทำให้ทัศนะทางศีลธรรมของสังคมไทยคับแคบและไปกันไม่ได้กับคุณค่าสมัยใหม่ที่เน้นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และการเคารพความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรมและอื่นๆ

จึงไม่จริงว่าหากคนไทยหันมาสนใจแนวคิดโลกวิสัยแล้วจะเกิดปัญหา แต่ถ้าคนส่วนใหญ่สนใจแนวคิดโลกวิสัยอย่างจริงจังต่างหากจะเป็นทางแก้ปัญหา เพราะแนวคิดโลกวิสัยที่ให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาอย่างแท้จริงต่างหากที่จะปลดปล่อยสังคมไทยให้มีอิสรภาพจากการขึ้นต่ออำนาจบังคับทางศาสนา ที่ทำให้เราถูกครอบงำด้วยความเชื่อทางศาสนาและศีลธรรมหนึ่งเดียว สู่คุณค่าและศีลธรรมหากหลายตามที่แต่ละคนพึงใจที่จะเลือก

ยิ่งกว่านั้น แนวคิดโลกวิสัยต่างหากที่จะปลดปล่อยพุทธศาสนาจากการตกเป็นเครื่องมือของรัฐ สู่อิสรภาพในการปกครองกันเองและเคารพเสรีภาพในการศึกษาตีความที่แตกต่างหลากหลายระหว่างชาวพุทธกลุ่มต่างๆ ไม่ต้องทะเลาะขัดแย้งกันอีก เพราะไม่มีกลุ่มไหนมี “ดาบ” หรืออำนาจรัฐไว้เอาผิดฝ่ายที่ตีความต่างจากพวกตนอีกต่อไป

อีกประเด็นหนึ่งคือ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าแนวคิดโลกวิสัยเป็นของตะวันตกหรือตะวันออก เป็นของฝรั่งหรือของไทย ไม่ได้อยู่ที่ว่าภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตะวันตกกับของเราต่างกัน เพราะอันที่จริงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสังคมไหนๆ ในโลกล้วนขัดแย้งกับเสรีภาพทางศาสนา ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนมาก่อนทั้งนั้น มันจึงไม่ใช่ปัญหาว่าการนำแนวคิดโลกวิสัย เสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนมาใช้แล้วจะทำให้เราสูญเสีย “ความเป็นไทย” เพราะคนไทยก็ย่อมมี “ความเป็นคน” ไม่ต่างจากมนุษย์ที่ไหนๆ ในโลก เราต่างคือ “คน” ที่ล้วนเป็นสมาชิกครอบครัวของมนุษยชาติเดียวกันกับคนทั้งโลก จึงไม่มีเหตุผลที่จะอ้างความเป็นตะวันตก ตะวันออก ความเป็นฝรั่ง ความเป็นไทยมาปฏิเสธการสถาปนาหลักการและกติกาที่ทำให้เรามีความเป็นคนเท่ากัน

ที่สำคัญถ้าเดินตามแนวคิดโลกวิสัย ย่อมจะทำให้รัฐไทยไม่ตกเป็น “เวทีขัดแย้ง” ระหว่างศาสนาอีกต่อไป เพราะเมื่อแยกศาสนาจากรัฐ จะไม่มีศาสนาใดๆ สถาปนาอำนาจของกลุ่มตนขึ้นมาในโครงสร้างอำนาจรัฐได้ ทุกองค์กรศาสนาเป็นเอกชนทั้งหมด มีเสรีภาพเผยแผ่ศาสนาเท่าเทียมกัน ไม่ต้องมาเถียงหรือต่อรองกันว่ารัฐบาลเข้าข้างศาสนานั้นมากกว่าศาสนานี้ ผ่านกฎหมายให้ศาสนานั้นมากกว่าศาสนานี้ หรือให้งบประมาณสนับสนุนศาสนานั้นมากกว่าศาสนานี้ อย่างที่เป็นมาอีกต่อไป

ทุกศาสนาก็ยังมั่นคงต่อไปได้ ชาติก็ยังมั่นคงต่อไปได้ และเป็นความมั่นบนความมั่นคงของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่เกิดประโยชน์แก่ประชาชน “ทุกคน” ทั้งคนนับถือศาสนา และคนไม่มีศาสนาเท่าเทียมกัน จึงไม่มีเหตุผลที่สังคมไทยจะระแวงแนวคิดโลกวิสัยแต่อย่างใด ยกเว้นกลุ่มอภิสิทธิ์ชนซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในสังคมที่ยังไม่พร้อมจะปรับตัวให้เคารพและยอมรับความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในความหมายที่แท้จริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net