ยุโรปถือเป็นภูมิภาคที่มีการจ้างงานและสวัสดิการให้กับคนทำงานดีที่สุดของโลก ตามหนึ่งในหลักการของ European Pillar of Social Rights (EPSR) ระบุไว้ว่า "คนงานมีสิทธิที่จะได้ค่าจ้างที่ยุติธรรมเพื่อสร้างมาตรฐานการครองชีพที่ดี ความยากลำบากจากการทำงานจะต้องได้รับการป้องกัน" แต่ปัจจุบันปัญหา 'การจ้างงานไม่มั่นคง' กำลังคุกคามภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการจ้างงาน ‘แรงงานฟรีแลนซ์’ (freelance worker) ในหลายอุตสาหกรรมซึ่งรวมถึงภาคสื่อมวลชน กำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปี 2561 (2018 World Press Freedom index) ที่ตีพิมพ์ในเดือน เม.ย. 2561 ระบุว่ายุโรปเป็นภูมิภาคที่สัดส่วนมาตรฐานด้านเสรีภาพลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกภูมิภาค ซึ่งหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ผู้สื่อข่าวในยุโรปกำลังเผชิญก็คือการจ้างงานที่ไม่มั่นคงและค่าแรงที่ต่ำ
มีงานศึกษาและสำรวจหลายชิ้นที่ระบุว่าการจ้างงานฟรีแลนซ์ ซึ่งมีลักษณะของการเป็น ‘แรงงานรับจ้างตนเอง’ (self-employed) เพิ่มมากขึ้นในแวดวงสื่อมวลชน ส่งผลให้ ‘ช่องว่างของรายได้และความมั่นคง’ ระหว่างผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์และผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำ ถ่างมากขึ้นด้วย
"การทำงานแบบนี้กลายเป็นงานอดิเรก มันไม่ใช่อาชีพที่มีค่าตอบแทนตามความเป็นจริง" - ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ชาวอังกฤษท่านหนึ่งกล่าว
สหราชอาณาจักร เมื่อปี 2559 เว็บไซต์ Journalism.co.uk ได้ทำแบบสำรวจผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์จำนวน 310 คน มากกว่า 2 ใน 3 ระบุว่าการประกอบอาชีพผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์นี้เป็นรายได้หลักของตนเพียงอย่างเดียว ประมาณร้อยละ 40 เป็นกลุ่มคนยุค 'มิลเลเนียม' คือมีอายุระหว่าง 18-34 ปี และอีก 1 ใน 3 มีอายุระหว่าง 35-44 ปี ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่ระบุในแบบสอบถามว่ามีความกังวลใจเรื่องความไม่มั่นคงในการทำงานและรายได้ที่ต่ำ
ทั้งนี้ค่ามัธยฐานของรายได้ผู้ประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์ (ทั้งผู้สื่อข่าวและกองบรรณาธิการที่เป็นพนักงานประจำ) จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2558 อยู่ที่ 31,294 ปอนด์ต่อปี (ประมาณ 1.32 ล้านบาทต่อปี) แต่ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้ตอบแบบสอบถามของ Journalism.co.uk เมื่อปี 2559 ร้อยละ 10 ระบุว่าพวกเขามีรายได้ระหว่าง 30,000-39,000 ปอนด์ต่อปี (ประมาณ 1.27-1.65 ล้านบาทต่อปี) ร้อยละ 21 มีรายได้ 10,000-19,999 ปอนด์ (ประมาณ 422,000-845,000 บาทต่อปี) และร้อยละ 33.9 มีรายได้ไม่ถึง 10,000 ปอนด์ต่อปี (ประมาณ 422,000 บาทต่อปี)
แผนภูมิแสดงรายได้ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2558 จากการสำรวจของ Journalism.co.uk
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของสหภาพสื่อมวลชนแห่งสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ (NUJ) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2558 ระบุว่ากว่าร้อยละ 50 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ได้รับความยากลำบากเนื่องจากรายได้ที่ต่ำ และเกือบร้อยละ 90 ระบุว่าพวกเขาไม่ได้รับการขึ้นค่าแรงในรอบปีที่ผ่านมา
แม้ผู้ตอบแบบสอบถามของ Journalism.co.uk ประมาณร้อยละ 60 จะเป็นผู้หญิง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัดส่วนเพศหญิงที่มีอยู่มากในภาคสื่อมวลชนของสหราชอาณาจักร แต่กระนั้นพวกเธอก็ยังต้องเผชิญกับปัญหา ‘ช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ’ (gender pay gap) อีกเช่นเคย เมื่อโดยเฉลี่ยแล้วผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้หญิงที่ตอบแบบสอบถาม มีรายได้ประมาณ 10,000-19,999 ปอนด์ต่อปี (ประมาณ 422,000-845,000 บาทต่อปี) เทียบกับผู้ชายที่มีรายได้ประมาณ 20,000-30,000 ปอนด์ต่อปี (ประมาณ 845,000 บาท-1.27 ล้านบาทต่อปี)
ส่วนข้อมูลจากอีกแหล่งเมื่อปี 2560 ระบุว่าว่าร้อยละ 14 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีรายได้น้อยกว่า 5,700 ยูโรต่อปี (ประมาณ 214,000 บาทต่อปี) ขณะที่ร้อยละ 2 มีรายได้มากกว่า 85,000 ยูโรต่อปี (ประมาณ 3.2 ล้านบาทต่อปี) รวมทั้งรายได้ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ลดลงอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้
เยอรมนี มีการศึกษาของมหาวิทยาลัยลุดวิก แมกซิมิเลียน แห่งมิวนิค (Ludwig Maximilian University of Munich: LMU Munich) พบว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์แม้จะมีการศึกษาสูงแต่กลับได้ค่ารับตอบแทนต่ำกว่าผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำ โดยร้อยละ 83 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ในเยอรมนีมีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย (ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 91 ในหมู่ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้หญิง) ส่วนผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำมีเพียงร้อยละ 74.1 เท่านั้น และ 1 ใน 3 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ทำอาชีพนี้ควบคู่ไปกับการทำอาชีพอื่น
เบลเยียม งานวิจัยของสมาคมนักข่าวเบลเยียม (Association des journalistes professionnels: AJP) ระบุว่าในภูมิภาคที่พูดภาษาฝรั่งเศสของเบลเยียม ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ได้รับค่าตอบแทนต่ำมาก อย่างรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันพวกเขาได้ค่าเรื่องเพียง 20 ยูโร (ประมาณ 750 บาท) รายงานขนาดยาวที่ตีพิมพ์หลายตอนได้ค่าเรื่องประมาณ 120-150 ยูโร (ประมาณ 4,500-5,600 บาท) ส่วนรายงานข่าวผ่านรายการทีวีได้ชิ้นละประมาณ 125 ยูโร (ประมาณ 4,700 บาท) นอกจากนี้การสำรวจผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ที่พูดภาษาดัตช์ในเขตฟลามส์ (Flanders - เขตปกครองทางตอนเหนือของเบลเยียม) เมื่อปี 2560 พบว่าค่าจ้างผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ยิ่งต่ำลงลดลง ในนิตยสารเฉพาะทางและเว็บไซต์ต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหรือสื่อด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ยังถูกใช้งานแบบอาสาสมัคร (ไม่ได้รับเงินตอบแทน) อีกด้วย
สเปน เกือบร้อยละ 45 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีรายได้น้อยกว่า 1,000 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 37,500 บาทต่อเดือน) ซึ่งตัวเลขนี้ยังมีเรื่องช่องว่างรายได้ระหว่างเพศแฝงอยู่ โดยร้อยละ 51 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้หญิงได้ค่าแรงต่ำมาก เมื่อเทียบกับผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้ชายที่ร้อยละ 26 ทั้งนี้สถานีโทรทัศน์ในสเปนสเปนจ่ายเงินระหว่าง 200-400 ยูโร (ประมาณ 7,500-15,000) ต่อสกู้ปข่าวหนึ่งชิ้น
ฝรั่งเศส จากการสำรวจของสหภาพแรงงานผู้สื่อข่าวแห่งชาติ (Snj-CGT) พบว่ามีผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ประมาณ 6,500 คน ที่มีบัตรสื่อมวลชน (press cards) แม้ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์จำนวนหนึ่งจะไม่ผ่านเกณฑ์รับรองอย่างเป็นทางการ แต่กระนั้นจำนวนนี้ก็เป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของผู้ถือบัตรสื่อมวลชนในฝรั่งเศส โดยปี 2560 ที่ผ่านมาร้อยละ 66 ของได้รับอนุญาตถือบัตรสื่อมวลชนรายใหม่เป็นผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ ข้อมูลที่น่าสนใจอีกหนึ่งประการก็คือกว่าร้อยละ 57 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ที่มีบัตรสื่อมวลชนมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ 1,969 ยูโร (ประมาณ 74,000 บาท) เทียบกับผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำที่ 3,549 ยูโร (ประมาณ 133,000 บาท) ทั้งนี้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ (ที่มีบัตรสื่อมวลชน) ลดลงจากปี 2543 ที่เคยได้อยู่ที่ 2,058 ยูโร (ประมาณ 77,000 บาท) นอกจากนี้พบว่ายังมีผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์อีกจำนวนมากที่ไม่มีบัตรสื่อมวลชน บางคนต้องทำงานมากกว่า 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อแลกกับรายได้เพียงหลักร้อยยูโร
อิตาลี สถาบันคุ้มครองทางสังคมสื่อมวลชนแห่งชาติ (INPGI) ระบุว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีถึงร้อยละ 65 ของผู้สื่อข่าวทั้งหมดในประเทศ ข้อมูลในปี 2558 พวกเขามีรายได้เฉลี่ยต่อปี 11,241 ยูโร (ประมาณ 420,000 บาท) ซึ่งเป็นตัวเลขเพียง 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำ และผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ประมาณร้อยละ 83 ยังมีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 10,000 ยูโร (ประมาณ 370,000 บาท) ด้วยซ้ำ
ข้อมูลประกอบการเขียน
Exploitation of freelance journalists is a threat to our democracy (Renate Schroeder, Director of the European Federation of Journalists, Europeanjournalists.org, 30 April 2018)
How much do freelance journalists really earn? (Journalism.co.uk, 28 July 2016)
แสดงความคิดเห็น