Skip to main content
sharethis

ประเทศคิวบากำลังมีการจัดทำประชามติ รับ-ไม่รับ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงในแง่ที่ว่าประเทศค่ายสังคมนิยมอย่างคิวบาจะหันมายอมรับระบบตลาดแบบเสรีไปพร้อมๆ กับที่ยังคงยกย่องคอมมิวนิสต์เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองหลักของประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ ทั้งทางการเมืองและสังคม

กรุงฮาวานา เมืองของของคิวบาในปี 2559 ที่มา: แฟ้มภาพ/U.S. Department of State

หลังจากที่รัฐสภาคิวบามีมติอนุมัติการปรับปรุงรัฐธรรมนูญของคิวบาเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 คิวบาก็มีการจัดลงประชามติในวันที่ 24 ก.พ. 2562 โดยรัฐธรรมนูญที่มีการปรับปรุงแก้ไขในครั้งนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้มาตั้งแต่ช่วงยุคสงครามเย็นในปี 2519

การแก้ไขรัฐธรรมนูญของคิวบาระบุให้มีการยอมรับระบบกรรมสิทธิเอกชน มีการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีอยู่ที่ 5 ปี และดำรงตำแหน่งได้อย่างมากที่สุด 2 วาระติดต่อกันเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มตำแหน่งหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีให้ดูแลกิจการต่างๆ ของรัฐเป็นรายวัน มีการเพิ่มระบบ "สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์" (Presumption of Innocence) ในกระบวนการศาล และขยายการสั่งห้ามกีดกัน-เลือกปฏิบัติเพิ่มขึ้นรวมไปถึงกรห้ามกีดกัน-เลือกปฏิบัติบนฐานเรื่องเพศวิถีและเพศสภาพด้วย

ทั้งนี้ในร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วงร่างแรกๆ มีการระบุส่งเสริมความเท่าเทียมกันในการแต่งงานระหว่างทุกเพศ แต่ในร่างฉบับที่นำมาลงประชามติในครั้งนี้มีการตัดวรรคนี้ออกไปและมีความล่าช้าในการนิยามคำว่าการแต่งงานจากที่กลุ่มศาสนาต่อต้านในเรื่องนี้

ลูอิซ คาร์ลอส แบตติสตา จากศูนย์เพื่อประชาธิปไตยในทวีปอเมริกากล่าวว่าสภาพความเป็นจริงของคิวบามีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายสิบปีที่แล้วโดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น มีภาคส่วนเอกชนขยายตัวในคิวบามาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ทำให้รัฐธรรมนูญต้องมีการปรับปรุงแก้ไข

อย่างไรก็ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่นี้ก็มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและฝ่ายต่อต้าน ฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่ามันสะท้อนให้เห็นพัฒนาการของคิวบาหลังจากสิ้นสุดยุคสงครามเย็นรวมถึงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่เริ่มดีขึ้นกว่ายุคนั้น ส่วนฝ่ายต่อต้านวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไม่มีการปรับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองด้วย ทำให้ยังคงอยูู่ในภาวะรัฐบาลพรรคเดียวรวมถึงไม่มีการออกระบบให้เลือกตั้งประธานาธิบดีโดยการลงคะแนนเสียงทางตรง โดยที่สื่อรัฐบาลคิวบามีการโฆษณาชวนให้คนไปโหวต "รับ" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้

มีนักประวัติศาสตร์ชาวคิวบา-อเมริกัน แอนเดรส แปร์เทียร์รา กล่าวว่าการลงประชามติในครั้งนี้ไม่เพียงแค่เป็นการโหวตการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้นแต่ยังเป็นเสมือนการโหวตให้กับรัฐบาลของประธานาธิบดี มิเกล ดิแอซ-คาเนล ผู้ที่สืบต่อตำแหน่งประธานาธิบดีจาก ราอูล คาสโตร เมื่อปีที่แล้วด้วย แปร์เทียร์ราวิเคราะห์ว่าถ้าหากฝ่ายโหวต "ไม่รับ" ชนะจะกลายเป็น "ชัยชนะในเชิงสัญลักษณ์" ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ขณะเดียวกันฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเองก็มีความคิดเห็นไม่ตรงกันว่ารัฐบาลควรจะดำเนินไปในทิศทางใด ถ้าหากว่านโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังคงมีลักษณะในเชิงก้าวร้าวเป็นไปได้ว่าฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจะหันมาร่วมมือกันเพราะมองว่าเป็นช่วงที่ต้องการความสมานฉันท์

หลังจากที่คิวบาถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ มานาน รวมถึงผลกระทบจากปัญหาการเข้าถึงทรัพยากรน้ำมันเนื่องจากเวเนซุเอลาประสบวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้คิวบาต้องพยายามทำให้เศรษฐกิจยืนพื้นในระยะยาวได้ โดยในปี 2553 ราอูล คาสโตร ที่เป็นประธานาธิบดีในยุคนั้นยกเลิกข้อจำกัดทางตลาดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจเอกชนและการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งในปัจจุบันมีชาวคิวบาเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวมากกว่า 580,000 ราย จากสถิติของรัฐบาล และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลก็ประกาศจะเปิดทางให้การเป็นผู้ประกอบการรูปแบบอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นรวมถึงการเป็นผู้ผลิตงานศิลปะด้วย

อย่างไรก็ตามถึงแม้คิวบาจะมีท่าทีเปิดรับทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ในยุคสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีปัจจุบันของสหรัฐฯ ก็ไม่เปิดให้กับคิวบามากเท่าสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งพยายามเชื่อมสัมพันธ์กับคิวบา ฟรานซิสกา โลเปซ ซิเวรา ศาตราจารย์ประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวานากล่าวว่าการทำประชามติในครั้งนี้ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงท่าทีเป็นปฏิปักษ์จากนโยบายสหรัฐฯ ยุคปัจจุบันได้

เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมารัฐบาลทรัมป์เคยส่งสัญญาณว่าอาจจะประกาศใช้กฎหมายเก่าที่รู้จักกันในนาม บรรพ 3 ของ เฮล์มส์-เบอร์ตัน ซึ่งจะดำเนินคดีกับบริษัทที่ได้กำไรจากทรัพย์สินที่ได้มาจากการยึดครองของรัฐบาลคิวบา เป็นกฎหมายเก่าตั้งแต่ปี 2539 แต่กฎหมายนี้ก็อาจจะกลายเป็นการทำให้พันธมิตรสหรัฐฯ แปลกแยกไม่เป็นผลดีต่อสหรัฐฯ เอง

ในแง่การใช้โวหารผ่านสื่อนั้น ทรัมป์ มักจะแถลงในทำนองเย้ยหยันกลุ่มประเทศสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ โดยรวมเอาคิวบา ไปกับนิคารากัวและเวเนซุเอลด้วย แต่ผู้นำคิวบา ดิแอซ-คาเนล ก็ฉวยใช้การโต้ตอบทรัมป์มาเรียกคะแนนเสียงโหวต "รับ" ร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ โดยบอกว่าจะเป็นการแสดงให้เห็น "ชัยชนะ" สำหรับพวกเขา ทั้งนี้รัฐบาลคิวบายังคงใช้กลุ่มคำอย่าง "ก้าวหน้าไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์" มาเป็นเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งซิเวรามองว่าพวกเขาต้องการเอาใจคนส่วนใหญ่ที่ยังอยากคงปณิธานในการสร้าง "สังคมที่เป็นธรรมและเข้าถึงทุกคนมากขึ้น"

เรียบเรียงจาก

Cuba's constitutional referendum: What you should know, Aljazeera, 24-02-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net