ฐนพงศ์ ลือขจรชัย: 110 ปีสนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม ประวัติศาสตร์แบบไม่ชาตินิยม

ครบรอบ 110 ปีสนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม ปี 1909 ชวนคุยกับผู้เขียน ‘เสียดินแดนมลายู ประวัติศาสตร์ชาติ ฉบับ Plot Twist’ เข้าใจปัจจัยที่ทำให้ต้องมีสนธิสัญญา ไทยเสียดินแดนจริงหรือ? อะไรคือบาดแผลบนดินแดนปัตตานี? และเส้นพรมแดนบนแผนที่ตีกรอบความรู้สึกนึกคิดของเราได้อย่างไร

  • เหตุการณ์วิกฤตปากน้ำ ร.ศ.112 คือแกนหลักของเรื่องเล่าการเสียดินแดนของสยาม
  • สนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม ปี 1909 ทำให้สยามเสียดินแดนหรือมันคือการแบ่งดินแดนที่สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
  • 5 ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการเจรจาสนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม
  • เส้นพรมแดนเป็นสิ่งกำหนดความรู้สึกนึกคิดและมุมมองต่อการมองเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 110 ปีก่อนในวันที่พรมแดนของไทยหรือสยามยังคลุมเครือ แต่ด้วยสนธิสัญญาอังกฤษ-สยามหรือสนธิสัญญาบางกอก ปี 1909 การขีดลมเป็นพรมแดนจึงชัดเจน ตัดแบ่งดินแดนมลายูออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งอยู่ในการดูแลของอังกฤษ อีกส่วนอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม สนธิสัญญานี้สร้างบาดแผล 2 รอยที่มาจากการมองกันคนละองศา

ด้วยพล็อตเรื่องในแนวประวัติศาสตร์ชาตินิยมกระแสหลักของไทย มันคือการเสียดินแดนอันเจ็บปวดรวดร้าวอีกครั้งที่สยามถูกนักล่าอาณานิคมข่มเหง พรมแดนที่ถูกขีดขึ้นตีกรอบความรู้สึกนึกคิดสืบเนื่องกระทั่งปัจจุบัน

และด้วยพล็อตเรื่องในประวัติศาสตร์ชาตินิยมอีกเช่นกัน มันคือการแย่งยึดและเฉือนแบ่งราชอาณาจักรปัตตานีมาเป็นของจักรวรรดินิยมสยาม รอยแผลเป็นที่ใช้หล่อเลี้ยงสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

งาน ‘เสียดินแดนมลายู ประวัติศาสตร์ชาติ ฉบับ Plot Twist’ ของฐนพงศ์ ลือขจรชัย มิได้มุ่งวิเคราะห์พล็อตที่ 2 แต่ชวนวิเคราะห์พล็อตเรื่องแรกและปัจจัยที่ทำให้เกิดสนธิสัญญา ซึ่งจะสั่นคลอนคำว่า ‘เสียดินแดน’ เพราะเอาเข้าจริงมันอาจเป็นการ ‘แบ่งดินแดน’ ที่สมประโยชน์กันทั้งฝั่งสยามและอังกฤษ โดยมีหัวเมืองมลายูเป็นเพียงก้อนเค้ก

กล่าวอย่างถึงที่สุด การทำความเข้าใจสนธิสัญญาอังกฤษ-สยามอาจไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้ทุเลาลง เราเชื่อว่ามันจะช่วยเพิ่มองศาต่อการมองสถานการณ์ ลดความคับแค้นจากการเสียดินแดน และเพิ่มความเข้าอกเข้าใจต่อประวัติศาสตร์บาดแผล

ทำไมคุณจึงสนใจเรื่องการเสียดินแดนมลายู

ผมกลับไปอ่านสนธิสัญญาว่าถ้าตอนนั้นปัตตานีไปอยู่กับอังกฤษ เจ้าปัตตานีจะได้เป็นยังดีเปอตวนอากงหรือไม่ พออ่านสนธิสัญญากลับพบว่าข้อความในสนธิสัญญาที่เราเรียกว่าเสียดินแดนในแต่ละครั้ง จริงๆ ไม่ได้เขียนว่าเสียดินแดน ผมมีพื้นฐานปริญญาตรีนิติศาสตร์มาก่อน ผมเห็นว่ามันเขียนไม่เหมือนกัน ทำไมทุกคนปฏิบัติต่อมันเหมือนกัน นี่คือจุดตั้งต้นของการกลับมาค้นคว้า

ผมก็กลับไปอ่านงานออริจินัลของอาจารย์เพ็ญศรี ดุ๊ก หรืออาจารย์สุวิทย์ ธีรศาศวัตที่ศึกษาเอกสารชั้นต้นอย่างละเอียดและดีมาก แล้วก็เกิดคำถามว่าหรือเราเสียดินแดนจริงๆ ก็กลับไปอ่านงานอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลอีก ก็รู้สึกว่าเราไม่ได้เสียดินแดน งานสองชิ้นนี้สามารถดำรงอยู่ด้วยกัน แสดงว่ามันต้องมีช่องที่ขัดแย้งกัน หลังจากนั้นผมก็นำหนังสือที่เกี่ยวกับการเสียดินแดนเกือบทั้งหมดสี่สิบห้าสิบเล่มเท่าที่หาได้ มานั่งลิสต์ทุกเล่มเพื่อดูว่าอะไรที่งานสองกลุ่มนี้รับกันและไม่รับกัน ผมจึงกลับมาที่ดินแดนมลายูซึ่งมีความละเอียดอ่อนน้อยกว่าด้านแม่น้ำโขงหรือด้านอื่นๆ เพราะกรณี ร.ศ.112 เราถูกทำให้เจ็บแค้นต่อฝรั่งเศสมากกว่าอังกฤษเยอะ

ในบทนำเขียนว่าแนวคิดเรื่องดินแดนมี 2 แบบคือเราเสียดินแดนกับไม่ได้เสีย งานชิ้นนี้ฟันธงหรือเปล่า
งานชิ้นนี้พยายามไม่ยุ่งกับการเสียดินแดนเพราะเคยคุยกับอาจารย์เหมือนกันว่า เสียมันพูดยากมาก มันมีเสียในทางกรรมสิทธิ์กฎหมาย ถ้าไม่เป็นของผมก็ไม่เสีย ดังนั้น ประเด็นว่าเราเสียดินแดนหรือเปล่า ผมจึงไม่ไปยุ่งเท่าไหร่ แค่ต้องการให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วไปตัดสินกันเอง

ถ้าเรียกให้ถูก ผมคิดว่าเป็นการแบ่งดินแดนและแลกเปลี่ยนบนพื้นฐานที่ไม่เท่าเทียม แต่อยู่บนพื้นฐานทางการทูต ไม่ได้ใช้กำลังยึดไป ดังนั้น มันจะผ่านกระบวนการคิดและไตร่ตรองของทั้งสองฝ่ายระดับหนึ่งแล้ว ดินแดนที่อาจจะรู้สึกว่าเสียจริงๆ ในความรู้สึกของทั้งสองฝ่ายคือทั้งฝ่ายจักรวรรดินิยมที่มองว่าสยามเสียดินแดนและสยามก็มองว่าตนเสียดินแดนก็มีแค่กรณีวิกฤตปากน้ำ ร.ศ.112 แต่ในการเจรจาครั้งอื่นๆ ทั้งก่อนหน้านั้นและหลังจาก ร.ศ.112 ตัวชนชั้นนำสยามก็ไม่ชัดเจนว่าตนเองเสียไปหรือได้มา อังกฤษกับฝรั่งเศสเองก็ไม่ได้รู้ว่าได้หรือเสีย

ผมจึงคิดว่างานเกี่ยวกับเสียดินแดน เหตุการณ์ ร.ศ.112 ถูกใช้เป็นแกน แล้วขยายออกไปว่าเสียหรือไม่เสีย ฝ่ายที่บอกว่าไม่เสียก็ใช้เหตุการณ์ ร.ศ.112 เป็นแกนและบอกว่าตรงนั้นเป็นดินแดนลาว ดังนั้น สยามจึงไม่เสียดินแดน ทั้งสองฝ่ายต่างใช้เหตุการณ์ ร.ศ.112 เป็นแกน

ผมไม่เห็นด้วยกับงานกลุ่มที่บอกว่าพรมแดนของรัฐไม่ฟังก์ชั่น แต่ผมมองว่าฟังก์ชั่นมันเปลี่ยนไป ในบทนำผมจึงเขียนว่าพรมแดนเปลี่ยนชีวิตและความเป็นอยู่มากกว่าจะใช้แค่แบ่งดินแดน พรมแดนจึงยังมีความสำคัญอยู่ในฐานะขอบเขตนโยบายของรัฐ ขอบเขตการใช้กฎหมาย ขอบเขตทางการรับรู้ ดังนั้น พรมแดนระหว่างรัฐยังมีคุณค่าต่อการศึกษา เช่น เราค่อนข้างละเอียดอ่อนกับสามจังหวัดชายแดนมาก แต่ทุ่งสังหารในเขมร ทั้งที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ มากกว่า เรากลับไม่ได้รู้สึกอินกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเราถูกพรมแดนของรัฐบอกว่าเป็นของประเทศอื่น พรมแดนจึงเป็นเส้นกั้นการรับรู้ของประชาชน

ทำไมเหตุการณ์ ร.ศ.112 จึงเป็นแกนหลักในการบอกว่าสยามเสียหรือไม่เสียดินแดน

เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่ชัดเจนที่สุด สยามถูก Aggressive อย่างชัดเจนที่สุดและถูกขยายความไปหลายครั้ง ของฝรั่งจะเรียกว่าวิกฤตปากน้ำ เป็น Crisis แต่ถ้าอ่านงานไทยจะถูกพัฒนาไปเป็นกึ่งสงคราม ภาพถูกสร้างว่าเรากึ่งๆ จะแพ้สงครามและเงินที่เราต้องจ่ายไปสองสามล้านฟรังก์ มันคือค่าปฏิกรรมสงคราม มันถูกขยายให้ใหญ่ว่านี่คือจุดที่สยามถูกคุกคามอย่างไม่เป็นธรรมที่สุด ถ้าเทียบนี่ก็เป็นแผลลึกที่สุดแล้ว แล้วเราก็ใช้แผลนี้มาอธิบายว่าแผลอื่นๆ ก็เป็นแผลย่อยๆ ที่โดนมาตลอด เอาไคลแมกซ์มาเล่าก่อน

แสดงว่าก่อนเหตุการณ์ ร.ศ.112 สยามเคยเสียดินแดนมาแล้ว

สำหรับผมเรียกว่าแบ่งดินแดน แต่สำหรับงานหลายชิ้นก็เรียกว่า เสียดินแดน เช่น เสียเกาะปีนังซึ่งสำหรับผม ผมไม่รู้สึกว่าเราเสียเกาะปีนัง ไม่เคยรู้สึกด้วยว่าปีนังเป็นของเรา หรืออีกกรณีหนึ่งคือเสียเขมรส่วนนอก อุดงมีชัย ก็เรียกว่าเสียดินแดน แต่ผมก็ไม่เคยรู้สึกว่ามันคือการเสียดินแดนเลย หรือเมื่อไปอ่านงาน รัชกาลที่ 4 ก็ไม่รู้สึกว่าเสียไปเท่าไหร่ แต่เหตุการณ์ ร.ศ.112 เป็นที่เห็นตรงกันว่าเสีย รัชกาลที่ 5 ก็รู้สึกว่าฉันกำลังเสีย แล้วฝรั่งเศสก็มีลงหนังสือพิมพ์ว่ากำลังได้ดินแดน แทบจะเป็นเหตุการณ์เดียวที่มีความรู้สึกของการได้และเสียที่ชัดเจนที่สุดแบบตรงไปตรงมา

แต่ประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทยยอมรับเรื่องการเสียดินแดนและยังคงถูกใช้เสมอมาจนทุกวันนี้

ใช่ ผมพยายามวิเคราะห์งานสองกลุ่มนี้ ถ้าเทียบงานอาจารย์ธงชัยเป็นจุดซ้อนก็ยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาที่ดำรงอยู่คู่กันได้ทั้งสองฝ่าย ชนกันบ้าง แต่ไม่เคยแลกหมัดกันเลย มันอยู่กันได้ยังไง ผมพบว่าจริงๆ แล้วงานฝ่ายที่บอกว่าเราไม่เสียดินแดน เขาไม่ได้เถียงเรื่องราวของฝ่ายเสียดินแดนแม้แต่นิดเดียว เขาเถียงเรื่องความรู้สึก เรื่องความเป็นเจ้าของ เช่น งานอาจารย์ธงชัยชัดเจนที่สุดว่าไม่เถียงว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นคือการถูกคุกคาม แต่เขาเถียงว่าดินแดนตรงนี้มันไม่เคยเป็นของเรามาก่อน เขาไปเปลี่ยนมุมมอง แต่เรื่องเล่าหลักไม่ได้แตะ หรืองานสายอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ งานของอาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ที่ทำออกมาว่ารัชกาลที่ 6 ที่อยู่ในช่วงสมัยติดกัน ไม่เคยรู้สึกว่าเราเป็นศัตรูกับฝรั่งเศสหรือเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส เขาเน้นว่ามันไม่เคยเป็นของเรา เราไม่เคยรู้สึกเสีย เพิ่งจะมารู้สึกเสียในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่ไม่เคยซัดกันตรงๆ ในเรื่องเล่าหลักว่างานเสียดินแดนมีความผิดพลาดตรงไหน หรืองานอาจารย์ธงชัยซัดว่าเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์ เหมือนพล็อตเรื่องแนวเสียเอกราช แต่เรื่องเล่าหลักที่เป็นเอกสารชั้นต้น เขาไม่ได้ดู มันก็เลยไม่เคยปะทะกัน แล้วมันก็อยู่กันคนละมิติของเรื่อง

ทำไมสยามกับอังกฤษจึงต้องทำสนธิสัญญาฉบับนี้

สยามต้องทำ ไม่ใช่อังกฤษต้องทำ ในงานผมชัดเจนว่าอังกฤษต้องการดีบุกในภาคใต้ แต่เหมืองดีบุกในภาคใต้เป็นของอังกฤษเกือบทั้งหมดแล้ว อังกฤษไม่มีความจำเป็นต้องผนวกดินแดนเพิ่มเติม แถมยังได้สิทธิ์พิเศษที่สยามกับอังกฤษทำสนธิสัญญาลับกันที่ทำให้สยามกึ่งๆ เหมือนจะเสียอธิปไตยบางส่วนเหนือดินแดนนี้ในทางนิตินัยไปแล้ว จึงเป็นสยามเองที่ต้องการดึงอำนาจนิตินัยตรงนี้กลับมาเป็นของสยามโดยสมบูรณ์ และสยามเองก็กำลังรู้สึกว่าสุลต่านทางภาคใต้เริ่มจะไม่พอใจตนและพยายามปลดแอกตนเองและหนีไปอยู่กับอังกฤษ สยามจึงต้องตัดสินใจทำสนธิสัญญานี้ หลักๆ คือยกเลิกสนธิสัญญาลับที่ทำให้อำนาจทางนิตินัยของตนสูญเสียไปกับสร้างทางรถไฟเพื่อให้ตนเองสามารถควบคุมดินแดนส่วนนี้ได้ดียิ่งขึ้น

เอาเข้าจริงสยามต้องการบางสิ่งบางอย่างจากสนธิสัญญานี้มากกว่าที่อังกฤษต้องการจากเรา

ใช่ สยามเป็นผู้เปิดการเจรจาเอง เป็นคนเสนอให้เอง โดยตั้งเงื่อนไขขึ้น พอเจรจาไปอาจไม่ได้ตามเงื่อนไขอย่างที่ตัวเองคิดขนาดนั้น แต่ก็ยังเป็นเงื่อนไขที่ตนเองเสนอไป

ผลของการเจรจาสยามได้และเสียอะไร อังกฤษได้และเสียอะไร

สิ่งที่สยามได้แน่ๆ คือยกเลิกสนธิสัญญาลับ ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตบางส่วน ได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ กู้จากอังกฤษและให้อังกฤษเป็นคนสร้างทางรถไฟ แต่ถ้ามองในมุมมองของสโตเบลที่เป็นที่ปรึกษาของสยามมองว่าสยามจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบดินแดนพวกนี้ด้วย

การควบคุมดินแดนแต่ละแห่งไม่ว่าจะเป็นสยามหรืออังกฤษมีค่าใช้จ่าย ไม่ใช่ว่ายิ่งเยอะยิ่งดี บางทียิ่งเยอะก็ยิ่งต้องเสียงบประมาณในการควบคุม สโตเบลมองว่าสยามเปลืองเงินไปกับการพยายามรักษาดินแดนตรงนี้เยอะมาก สู้ปล่อยไปแล้วนำเงินไปพัฒนาอย่างอื่นยังดีเสียกว่า ขณะที่ขุนนางสยามก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บางคนก็มองว่ายังไงดินแดนก็สำคัญที่สุด เช่น รัชกาลที่ 6 มองว่าดินแดนสำคัญที่สุด แม้สิ่งที่ได้มาจะมีคุณค่าบางอย่าง แต่ก็เทียบกับดินแดนไม่ได้ แต่กรมพระยาดำรงราชานุภาพเห็นว่าคุ้ม เพราะดินแดนที่ได้มาก็ไม่เคยไปปกครอง ไม่สามารถเก็บภาษีจากมันได้ มีแต่ค่าใช้จ่ายในการควบคุม

สนธิสัญญาลับคืออะไร ทำไมสยามต้องการยกเลิก

สนธิสัญญาลับทำหลังจากเหตุการณ์ ร.ศ.112 ถ้าจะให้ชัดเจนจริงๆ ต้องบอกว่าหลังจากที่อังกฤษและฝรั่งเศสทำปฏิญญาว่าจะรักษาเอกราชของสยามไว้ให้เป็นแนวกันชนและเขตอิทธิพล คือแนวกันชนนี้อังกฤษกับฝรั่งเศสทำกัน แสดงว่ามันไม่ผูกพันสยาม มันผูกพันกันเอง ดังนั้น จึงเหลือดินแดนทางตอนใต้ที่ยังอยู่นอกเขตอิทธิพล ยังไม่มีการตกลงกัน ณ เวลานั้นเยอรมนีกับรัสเซียก็เริ่มเข้ามา ซึ่งอังกฤษรู้สึกว่าปัญหาคือการที่เยอรมนีพยายามเข้ามา

แม้อังกฤษจะสามารถควบคุมรัฐบาลสยามได้ระดับหนึ่ง แต่อังกฤษพบว่าสุลต่านเมืองต่างๆ ก็พร้อมทำสนธิสัญญากับเยอรมนีโดยไม่ฟังสยาม ดังนั้น การรับรองใดๆ กับสยามจึงเป็นปัญหา อังกฤษจึงคุยกับสยามว่าดินแดนส่วนนี้ทั้งหมดอังกฤษจะช่วยป้องกันไม่ให้ใครมายึด แลกกับว่าสยามห้ามให้มหาอำนาจอื่นมาเซ็นสัญญากับเจ้าเมือง สยามต้องคุมให้อยู่ ซึ่งสุดท้ายมันเป็นเรื่องกึ่งๆ สมประโยชน์ สยามจึงพยายามควบคุมดินแดนมลายูโดยมีอังกฤษคอยช่วย เพราะอังกฤษกลัวว่าเจ้าเมืองอื่นๆ จะไปเซ็นสัญญากับมหาอำนาจอื่น
เวลานั้นสยามกลัวว่าจะถูกยึดไปเลย สยามจึงยอมเซ็นสนธิสัญญาลับ เพราะอย่างน้อยดินแดนยังอยู่ แต่อังกฤษพบว่าสยามคุมดินแดนส่วนนี้ไม่อยู่ สุลต่านพร้อมจะไปเซ็นสัญญากับอเมริกา กับเยอรมนี ที่สุลต่านเห็นว่ามีประโยชน์ ส่วนสยามก็เห็นว่าพอประเทศอื่นๆ มาขอสยาม แต่ด้วยสนธิสัญญาลับนี้ สยามจะทำอะไรต้องขออังกฤษ ซึ่งอังกฤษต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะบอกว่าอนุมัติหรือไม่ ซึ่งร้อยละ 90 ไม่อนุมัติ แต่สยามพูดไม่ได้ว่าทำไมจึงไม่อนุมัติ เยอรมนี รัสเซีย จึงไม่พอใจสยามว่าทำไมจึงให้สัมปทานแต่ฝ่ายอังกฤษ สยามก็รู้สึกว่าปล่อยไปแบบนี้จะทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศอื่นร้าวฉาน ขณะที่ประเทศต่างๆ เหล่านั้นเมื่อขอกับสยามแล้วไม่ได้ จึงมาขอตรงกับสุลต่านที่เป็นแหล่งทรัพยากร

จริงๆ มันเกิดการแก้ปัญหาในเบื้องต้นก่อนคือในปี 1902 เกิดกบฏพระยาแขกเจ็ดหัวเมือง คนที่ส่งข่าวให้สยามว่าเจ้าเมืองแขกคิดก่อกบฏก็คืออังกฤษ เจ้าเมืองแขกบอกอังกฤษว่าให้ช่วยยึดตัวเองได้หรือไม่ อังกฤษบอกว่าไม่ได้ เจ้าเมืองแขกจึงบอกว่าถ้าอังกฤษไม่ช่วยก็จะไปหามหาอำนาจอื่นให้มาช่วย แต่อังกฤษเซ็นสนธิสัญญาลับรับรองดินแดนส่วนนี้ ห้ามยึด แต่จะปล่อยให้คนอื่นมายุ่งก็ไม่ได้ อังกฤษจึงส่งข่าวให้สยาม สยามจึงส่งเรือรบมาหนึ่งลำแล้วจัดการเบ็ดเสร็จ หลังจากนั้นไม่นาน สยามกับอังกฤษก็ร่วมกันตั้งที่ปรึกษาไปยังกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี พอตั้งที่ปรึกษาเสร็จ สยามจัดการพระยาแขกทั้งเจ็ดหัวเมืองได้ อังกฤษพอใจว่าสยามคุมดินแดนได้ ประเทศอื่นเข้ามาไม่ได้แล้ว อังกฤษจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะยึดดินแดน เหตุการณ์ปี 1902 ทำให้ทั้งอังกฤษและสยามปฏิบัติตามสนธิสัญญาลับได้ทั้งสองฝ่าย สยามและอังกฤษแทบจะร่วมมือกันปราบมลายูและยกให้สยามเพราะสนธิสัญญาลับระบุว่าอังกฤษห้ามยึด

เมื่ออังกฤษได้ตามที่ต้องการหมดแล้วจึงไม่มีเหตุผลที่จะทำสนธิสัญญาอีก เป็นสยามเองที่รู้สึกว่าปล่อยเป็นแบบนี้ต่อไป ระยะยาวจะเสียเยอะกว่า

คุณระบุว่ามี 5 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจรจาสนธิสัญญาอังกฤษ-สยามปี 1909

ผมใช้คำว่าเป็น 5 ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการเจรจาแล้วค่อยวิเคราะห์ว่าแต่ละปัจจัยส่งผลแค่ไหน อย่างไร บางปัจจัยก็อาจจไม่ได้ส่งผลต่อการแบ่งดินแดนอย่างชัดเจน เพราะงานที่ผมศึกษาคือถ้าฝ่ายที่เชื่อว่าประเทศไทยเสียดินแดน แล้วทำไมอังกฤษไม่เอาปัตตานีไปด้วย ในทางกลับกัน ทำไมสยามเสียไปแค่นี้ ไม่เสียมากกว่านี้ หรือทำไมสยามไม่รักษากลันตัน ตรังกานู ไทรบุรีไว้เหมือนเดิม อะไรคือเหตุผลที่ทำให้แบ่งดินแดนกันแบบนี้ โดยเฉพาะดินแดนสตูลที่เป็นส่วนหนึ่งของไทรบุรี ทำไมไปตัดมาติ่งหนึ่ง หรือตากใบก็ไปตัดมาหน่อยหนึ่ง รามันก็ตัดไปหน่อยหนึ่ง ทำไมจึงเกิดสิ่งนี้ขึ้น ผมจึงตั้งปัจจัยขึ้นมาและสันนิษฐานว่าปัจจัยพวกนี้แหละน่าจะมีผล

ปัจจัยแรกคือชาติและชาติพันธุ์ เพราะว่าสยามตอนนั้นต้องการก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ ซึ่งบางคนพยายามตีขลุมไปเลยว่าก้าวสู่ความเป็นรัฐชาติ (Nation State) ซึ่งคุณต้องมานิยามเรื่องชาติใหม่ ตอนนั้นสยามคุมดินแดนก็ยังไม่เยอะ ชาติพันธุ์ก็หลากหลาย คุณจะใช้เกณฑ์ชาติพันธุ์หรือชาติอะไรที่จะบอกว่าดินแดนตรงนั้นเป็นดินแดนของคุณหรือไม่ใช่ของคุณ ณ วันนั้น ชนชั้นนำสยามกำลังมองว่าใครคือคนของคุณบ้าง มลายูก็ชัดเจนว่าไม่ใช่เพราะเราเรียกเขาว่าคนมลายู แล้วทำไมจึงพยายามเก็บปัตตานีไว้ เกิดอะไรขึ้น เขาก็เป็นคนมลายูไม่ใช่หรือ

ผมก็เลยสำรวจชาติพันธุ์บริเวณนั้นว่ามีการเรียกต่างกันมั้ยหรือเราเรียกมลายูต่างกัน ซึ่งก็พบว่าปัตตานีค่อนข้างต่างจากกลันตัน ตรังกานู และไทรบุรีอยู่บ้าง ตรงที่ปัตตานีเป็นเมืองใหญ่และเป็นเมืองที่อยุธยาต้องเอาเป็นเมืองประเทศราชอยู่เสมอ ไม่ปล่อยไว้ แม้แต่ตอนรัชกาลที่ 1 ก็ต้องลงไปตีปัตตานีให้ได้ ผมไม่รู้ว่าเป็นดินแดนเดียวหรือเปล่า แต่ปัตตานีเป็นดินแดนหลักที่ถูกกวาดต้อนคนมากรุงเทพฯ กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี สยามแทบไม่เคยลงไปเลย เพิ่งจะเคยลงไปครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยซ้ำ เราไม่เคยส่งกองทัพลงไปทำอะไรเหมือนปัตตานี ผมจึงสันนิษฐานว่าหรือเรามีความผูกพันกับปัตตานีว่าจะต้องเอาเป็นเมืองขึ้นให้ได้ไว้ก่อนหรือเปล่า การศึกษาของคุณสุจิตต์ วงศ์เทศ จะพบว่าในกรุงเทพฯ จะมีถนนตานี เรียกว่ามีสัมพันธ์กับปัตตานีมากกว่า ตรงกันข้ามกับกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ที่เราไม่ได้มีการติดต่อจริงๆ ยกเว้นได้รับต้นไม้เงินต้นไม้ทอง

นอกจากประเด็นชาติพันธุ์ก็ยังมองเรื่องรัฐสืบทอด ผมนำแนวคิดจากอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่องการเมืองสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เพราะผมเชื่อตามนั้นก่อนว่าอยุธยาล่มสลายไปแล้ว ผมกลับไปดูว่าสมัยรัชกาลที่ 1 พยายามจะควบคุมดินแดนตรงไหน อย่างไร ก็พบว่าเจ็ดหัวเมืองแต่ก่อนคืออาณาจักรปัตตานี แล้วก็ถูกแบ่งโดยสยาม แต่กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี เราก็ไม่เคยยุ่งกับเขาในยุคนั้น แม้ว่าเขาจะขอเป็นประเทศราชของเราในเวลาใกล้เคียงกันหลังจากเห็นปัตตานีแพ้สยาม แต่เจ็ดหัวเมืองเราคุมตลอด ในยุครัชกาลที่ 1 อาจจะทำให้เห็นว่ากษัตริย์องค์ใหม่ของกรุงรัตนโกสินทร์ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กษัตริย์อยุธยา ในเบื้องต้นจึงต้องเอาดินแดนประเทศราชของอยุธยาคืนกลับมาทั้งหมดก่อน

แล้วอีก 3 ปัจจัยที่เหลือ?

อีก 3 ปัจจัยจะค่อนข้างชัดกว่า เศรษฐกิจและการปกครอง ผมไม่ได้แยกสองเรื่องนี้ออกจากกันเพราะเกี่ยวพันกัน ผมกลับไปดูว่าดินแดนมลายูบริเวณนั้นทั้งหมด หน่วยเศรษฐกิจและการปกครองของสยามมีอะไร หลักๆ ก็เจอว่าปัตตานีเป็นแหล่งปลูกข้าวบางส่วนและก็มีผู้คน แต่ไม่ใช่แหล่งใหญ่เพราะมันไกล ไม่คุ้ม แล้วดินแดนนี้สำคัญต่อสยามอย่างไร ทำไมต้องเอาให้ได้ ผมไม่ได้พบอะไรสำคัญเป็นพิเศษนอกจากให้ยอมรับบารมี จนกระทั่งตะวันตกเข้ามาและต้องการเหมืองดีบุก ดินแดนตรงนี้จึงเริ่มสำคัญขึ้นมาเพราะเป็นรายได้ จากเดิมที่ไม่มีอะไร บริบทโลกตอนนั้นเกิดสงครามน้อยใหญ่ในที่ต่างๆ ดีบุกคือสิ่งสำคัญในการทำอาหารกระป๋อง ซึ่งราคาถีบตัวขึ้นสูงมาก ตรงมลายูคือแหล่งดีบุกสำคัญของโลก นับวันมลายูก็ยิ่งสร้างรายได้ให้สยามมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งตะวันตกเข้ามาขอสัมปทานมากเท่าไหร่ รายได้สยามก็ยิ่งเยอะ

ในทางกลับกัน ยิ่งตะวันตกเข้ามาเท่าไหร่ สยามก็เริ่มรู้สึกว่าคุมไม่อยู่ เริ่มสูญเสียการปกครอง เพราะดีบุกไม่ได้สำคัญต่อสยาม สยามไม่มีเทคโนโลยีในการใช้ดีบุกเลย อังกฤษต่างหากที่ต้องการ อังกฤษจึงต้องการพื้นที่ที่มีดีบุก แต่สยามไม่ได้สนใจตรงนั้นตราบใดที่ยังได้รายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่พอสยามเริ่มรู้สึกว่าสูญเสียการควบคุมดินแดนตรงนี้ไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าต้องจัดการอะไรสักอย่าง ซึ่งผลก็คือการเซ็นสนธิสัญญาลับเพื่อควบคุม แต่สุดท้าย ณ วันที่จะทำสนธิสัญญาปี 1909 มันชัดเจนว่า อังกฤษขีดเอาเฉพาะดินแดนที่มีเหมืองดีบุก อังกฤษไม่แคร์อย่างอื่นเลย ปัตตานีไม่มีดีบุก สตูลก็ไม่มีทรัพยากรอะไรที่อังกฤษต้องการ นี่จึงน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งให้มีการแบ่งปัตตานีออกมา

แต่การแบ่งดินแดนอย่างนี้ก็เท่ากับสยามต้องสูญเสียค่าสัมปทาน

ก็สูญเสียค่าสัมปทาน แต่ตอนนั้นต้องชั่งน้ำหนักกัน สโตเบลเห็นว่าค่าใช้จ่ายที่สยามต้องส่งทหารไปคุมอาจจะเปลืองกว่า มันก็ไม่มีเหตุผลอะไรต้องเก็บดินแดนไว้เมื่อรายได้พอๆ กับรายจ่ายที่รับมา
อีกปัจจัยหนึ่งคือภาพลักษณ์ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องภาพลักษณ์ของสยาม เพราะสยามต้องการก้าวไปเป็นหนึ่งในผู้นำโลกยุคนั้น แล้วในรัฐยุคใหม่ที่ถูกวางหลักไว้ในสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลียที่ว่าต้องยอมรับประเทศนั้นในฐานะเท่าเทียมกัน นั่นหมายความว่าต้องยอมรับกฎหมายของประเทศนั้นๆ สิทธิสภาพนอกอาณาเขตในสายตาผม มันคือการมองว่าสยามป่าเถื่อนในตัวมันเอง มากกว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องการตัดสินคดี

การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้สยามได้รับการยอมรับว่าศิวิไลส์แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำสยามในยุคนั้นซีเรียสมากที่ต้องการให้อังกฤษกับฝรั่งเศสยอมรับสยาม ผมวิเคราะห์ว่าสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่สยามยอมแลกจริงๆ คือแลกกับฝรั่งเศส สยามยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับฝรั่งเศสก่อน แต่กับอังกฤษไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น ที่มันไม่เท่ากันเพราะตอนที่เราสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเพราะเราทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง แล้วประเทศอื่นๆ ก็ทำตาม ในทางกลับกัน สโตเบลคิดว่าถ้าฝรั่งเศสยอมยกเลิกแล้ว เราจะใช้จุดนี้ไปบีบให้ประเทศอื่นยอมยกเลิกโดยไม่ต้องแลกอะไร เหมือนที่เวลาต่อมาอังกฤษ เยอรมนี ยอมยกเลิกโดยที่เราไม่ต้องเสียดินแดนอะไรเพิ่ม ผมจึงมองว่ากรณีที่ขอยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับอังกฤษก็พ่วงไปด้วยกันเลยในการทำสนธิสัญญา 1909 แต่ไม่ใช่เหตุผลหลักที่เรายอมเสียดินแดนเพื่อแลกกับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ต่างกับฝรั่งเศสที่เป็นเหตุผลหลักที่เรายอมปล่อยไป

สโตเบลเขียนชัดเจน ถ้าเขาไม่เสียชีวิตไปก่อนที่จะเจรจาสำเร็จ เขาต้องการแบ่งสนธิสัญญาออกเป็น 2 ฉบับ เรื่องดินแดนเรื่องหนึ่งกับเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเรื่องหนึ่ง เพราะเขากลัวคนเข้าใจผิดว่าสยามยอมเสียดินแดนเพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แล้วจะทำให้ประเทศอื่นเอาอย่างบ้าง ผมจึงวิเคราะห์ว่ามันเป็นแค่ปัจจัยรอง

ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือนโยบายจักรวรรดินิยมเอง อังกฤษมีดินแดนทั่วโลกมหาศาล ดินแดนตรงนี้เป็นแค่ติ่งหนึ่งของจักรวรรดิ เช่นเดียวกับฝรั่งเศส ดังนั้น อย่าเพิ่งมองว่าอังกฤษหรือฝรั่งเศสตัดสินใจกับสยามเหมือนที่สยามตัดสินใจกับเขา จริงๆ การที่อังกฤษต้องการมลายูเพราะอังกฤษต้องการควบคุม 2 อย่างคือช่องแคบมะละกาซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือจากอินเดียสู่จีนและต้องการเหมืองดีบุก ถ้าเป็นเพราะเหตุผลนี้อังกฤษก็ไม่ต้องการดินแดนลึกเข้ามาในส่วนลึกของสยาม

ทั้งหมดนี้ทำให้...

ทำให้เกิดการแบ่งดินแดนในสนธิสัญญา 1909 ในภาพรวมคงไม่มีใครกล้าฟันธงจริงๆ ว่าเขาคิดอะไรกันอยู่ คนในยุคนั้นก็คงไม่ชัดเจนขนาดนั้น ผมเคยทำงานกระทรวงต่างประเทศก็เห็นอยู่ว่าบางทีการเจรจาก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แล้วยิ่งสนธิสัญญา 1909 เริ่มคุยตั้งแต่ปี 1907 เปลี่ยนคนเจรจาก็หลายคน แต่จาก 5 ปัจจัยที่สรุปมาได้ทำให้เกิดการแบ่งดินแดนกันเช่นนี้

การแบ่งดินแดนนี้ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจ ขณะที่กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี อยากจะอยู่กับสยาม

เขาอยากจะอยู่กับสยามในฐานะประเทศราช เขาไม่อยากอยู่กับสยามในฐานะรัฐที่เป็นหนึ่งเดียว เขาเห็นแล้วว่าถ้าอยู่กับอังกฤษมันจะมีระบบต่างๆ ที่มาแทรกแซงการปกครองของเขา อยากเป็นประเทศราชของสยามเหมือนเดิม คุมเมืองได้เหมือนเดิม มีหน้าที่แค่ส่งบรรณาการ แต่ถ้าให้เขาโดนแบบปัตตานี โดนเปลี่ยนแปลงเป็นมณฑล ผมคิดว่าเขาก็ไม่อยู่กับสยามเหมือนกัน

แต่ปัตตานีกลับไม่อยากอยู่กับสยาม

ปัตตานีโดนเรือรบ ปัตตานีมองว่าเมืองที่อยู่กับอังกฤษโอเคกว่า เขาก็อยากอยู่กับอังกฤษ อย่างน้อยก็มีอำนาจคุมพื้นที่ตัวเอง แม้จะถูกอังกฤษส่งที่ปรึกษามาควบคุม แต่เขาก็ยังเป็นเจ้าเมือง แต่อยู่กับสยามเขาไม่ได้เป็นเจ้าเมือง การเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ อยู่กับใครแล้วได้ผลประโยชน์ เขาก็อยากอยู่กับตรงนั้น

สนธิสัญญาอังกฤษ-สยามเมื่อ 110 ปีก่อน ส่งผลต่อปัจจุบันอย่างไร

มันส่งผลแน่นอน อย่างน้อยมันส่งผลต่อวิธีคิดว่าดินแดนส่วนนี้เป็นของสยามมาแต่ช้านานและคนพวกนี้เป็นคนไทย ต้องอยู่กับเรา การปฏิบัติต่อเรื่องนี้ว่าเป็นปัญหาเชิงพื้นที่ลบเส้นเขตแดนออกกับการที่คุณมองว่ามันคือปัญหาภายในประเทศ มันก็นำไปสู่การจัดการปัญหาที่แตกต่างกันแล้ว ผมเคยคุยกับแฟนบนรถแท็กซี่ว่าน่าจะให้สามจังหวัดปกครองกันเองเหมือนพัทยา แท็กซี่หันกับมาพูดว่าไม่ได้ นี่มันดินแดนของประเทศไทย จะปล่อยให้พวกมันปกครองกันเองไม่ได้ มันปิดกั้นความนึกคิด พรมแดนทำให้คุณต้องเรียนว่าพระยาแขกคิดก่อกบฏ ถ้าคุณอยู่มาเลย์ คุณอาจได้เรียนว่าพระยาแขกพยายามปลดแอกตัวเอง ปัญหาที่ชัดเจนที่สุดของพรมแดนสมัยใหม่ที่มันกั้นคนไม่ค่อยได้ แต่กั้นความรู้สึกนึกคิดและมุมมอง

แต่ถามว่าโดยตัวพรมแดนเองมันสร้างปัญหามั้ย ผมเชื่อว่ารัชกาลที่ 5 กับกรมพระยาดำรงฯ รู้อยู่แล้วว่าอาจเกิดปัญหา ยุคนั้นกรมพระยาดำรงฯ ปกครองมณฑลปัตตานีค่อนข้างพิเศษ อะลุ่มอล่วยเยอะมาก ไม่มีการเกณฑ์ทหาร เกณฑ์ตำรวจแทน ปล่อยให้มีศาลอิสลามตัดสินกันเอง ไม่บังคับให้นับถือศาสนาพุทธ จนยุคถัดมา ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เรื่อยมาถึงจอมพล ป. สิ่งเหล่านี้ถูกยกเลิกไป เพราะดินแดนตรงนี้เป็นของฉันแน่นอน ไม่มีความลังเลเหมือนในยุครัชกาลที่ 5

ดินแดน เขตแดน เป็นสิ่งที่ปิดกั้นความรู้สึกนึกคิดและมุมมองเป็นบาดแผลที่สำคัญที่สุด

แล้วก็เป็นบาดแผลที่เป็นปัจจัยหนึ่งของเหตุการณ์ความไม่สงบในปัจจุบัน

ใช่ ยิ่งฝ่ายเสียดินแดนฮาร์ดคอร์เท่าไหร่ พื้นที่ก็จะมีเรื่องเล่าที่ฮาร์ดคอร์สวนกลับมา ต้องอ่านงานแนวประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรปัตตานีก็จะออกแนวชาตินิยมปัตตานี พอๆ กับชาตินิยมไทย ยิ่งฮาร์ดคอร์ยิ่งชนกันแรง ก็ยิ่งเกิดปัญหาเยอะขึ้นเรื่อยๆ ผมอยากจะบอกว่าการแบ่งดินแดน ณ วันนั้น ไม่ได้เคร่งเครียดขนาดนี้ ขนาดว่าดินแดนแม้แต่ 1 ตารางนิ้วก็จะไม่ยอมเสียไป มันเป็นการคุยกันแบบผ่อนคลาย และคุณควรมองพื้นที่ตรงนั้นเป็นดินแดนที่อยู่ในคาบสมุทรมลายู เป็นของใครก็ไม่รู้ แต่เป็นอู่อารยธรรมเก่า ไม่ต่างกับอยุธยา ทำให้พรมแดนมันจางลง ทำให้ความรู้สึกเกี่ยวกับพรมแดนมันจางลงทั้งสองฝ่าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท