Skip to main content
sharethis

กรณี 14 ชาวบ้านซับหวาย จ.ชัยภูมิ ถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุกและปรับ หลังไม่ยอมย้ายออกจากที่ดินของตน ตามนโยบาย 'ทวงคืนผืนป่า' ทนายระบุปัญหาเริ่มจากการตกสำรวจที่นำไปสู่การไม่มีเอกสารสิทธิรับรอง และข้อต่อสู้ทางคดีที่ศาลไม่รับพิจารณา

ในเวที “ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ากับผลกระทบต่อคนจน: กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง” เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมออดิทอเรียม อาคารรัตนคุณากร (อาคาร 11) มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทที่ดินและป่าไม้ระหว่างชุมชนซับหวาย และอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ ได้ร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็น

ถูกจับกุมบุกรุกป่าในที่ดินตกทอดจากญาติ

ปัทมา โกเม็ด เกิดที่ชุมชนซับหวาย ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ พื้นที่เขตป่าที่ไม่อาจขอโฉนดได้ แต่ทุกฝ่ายรู้กันว่าชาวชุมชนอาศัยอยู่มายาวนาน  ยายเคยอยู่ที่เดียวกันนั้น ก่อนจะยกให้แม่ของเธอ และตกทอดมาสู่รุ่นเธอ

จู่ๆ วันหนึ่งในเดือนเมษายน ปี 2558 ระหว่างพาแม่ไปโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทองโทรศัพท์มาตามเธอ เธอรีบกลับบ้านและพบว่ามีเจ้าหน้าที่ประมาณ 25 คนรออยู่ บางคนมีปืน พร้อมบอกว่าครอบครัวทำผิดกฎหมายบุกรุกพื้นที่ป่า โดยให้เซ็นเอกสาร ‘บันทึกข้อตกลงการคืนพื้นที่’ ยินยอมคืนพื้นที่ตามนโยบายทวงคืนผืนป่า

ปัทมาไม่อยากเซ็นเพราะไม่อยากคืนที่ดินที่เป็นของเธอ ที่ดินผืนเดียวที่เธอใช้ทำมาหากินกับสามี เพื่อเลี้ยงพ่อ แม่ ลูก และหลานอีก 2 คน

“ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงเมียผมถึงยอมเซ็น ต้องยอมเซ็นเพราะกลัวหมายศาลมา ต้องยอมเซ็นทั้งน้ำตา” อำพล แก้วจริง สามีของปัทมาเล่า

เซ็นคืนที่ดินด้วยความจำยอม ก่อนถูกดำเนินคดี

ในเวลาใกล้กัน พื้นที่เดียวกัน ขณะที่นิตยา ม่วงกลางและน้องสาวอีกสองคนไม่อยู่บ้าน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ประมาณ 25 คน เข้ามาหาแม่ของเธอ ขอโดยให้เซ็นเอกสารยินยอมคืนพื้นที่ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าเช่นกัน

เจ้าหน้าที่บอกให้แม่ของนิตยาเซ็นแทนให้เธอและน้องสาวด้วย แม้แม่ของนิตยาขอให้รอเจ้าตัวมาเซ็นเอง แต่ได้รับการปฎิเสธ พร้อมกับข่มขู่ว่าหากไม่เซ็นจะถูกจับกุม ดำเนินคดี และจะไม่ให้เก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง แม่ของนิตยาจึงเซ็นด้วยความจำยอม

เมื่อทราบเรื่อง นิตยาจึงกลายเป็นแกนนำรวมกลุ่มชาวชุมชนซับหวายต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในสิทธิที่ดินทำกิน ด้วยเกรงว่าในอนาคตครอบครัวรวมทั้งเพื่อนบ้านจะไม่มีที่ดินทำกิน เหตุเพราะเพื่อนบ้านของเธอก็ถูกข่มขู่ให้ยินยอมเซ็นเอกสารหลายราย ในลักษณะเดียวกัน

กระทั่งวันที่ 18 กรกฎาคม 2559 นิตยาและแม่ รวมทั้งน้องสาว รวม 4 คน ได้รับหมายเรียกให้เข้าพบพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรวังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง แจ้งความดำเนินคดีฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ โดยนอกจากครอบครัวนิตยาแล้วยังมีเพื่อนบ้านถูกแจ้งหาอีกรวมทั้งหมด 14 รายรวมทั้งปัทมาด้วย

ศาลพิพากษาติดคุก 13 ราย

อำพล แก้วจริง สามีของปัทมา โกเม็ด ที่ถูกดำเนินคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทอง หรือคดีทวงคืนผืนป่า จ.ชัยภูมิ

 “หลังจากที่เมียผมติดคุก ตอนนี้ผมต้องรับผิดชอบคนเดียว แม่ยายเป็นคนป่วยติดบ้าน เวลาไปหาหมอต้องเหมารถไป ส่งลูกเรียน เลี้ยงหลาน หนี้ก็เยอะ รับจ้างก็ไม่พอ” อำพลสามีของปัทมากล่าวอย่างทุกข์ใจ 

14 คน โดนรวม 19 คดี ศาลชั้นต้นสั่งจำคุก 13 คน รอลงอาญา 1 คน แต่ละคนมีโทษปรับต่างกันไป ทนายอุทธรณ์ต่อสู้คดี วันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมาศาลจึงตัดสินครบทุกคดี กล่าวโดยสรุปทุกคนยังคงมีโทษจำคุก ปรับลดระยะเวลาจำคุกบ้าง เพิ่ม-ลดค่าเสียหายบ้าง

สมนึก ตุ้มสุภาพ ทนายความของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานระบุว่าขณะนี้กำลังทำเรื่องในการขอฎีกาอยู่ โดยต้องให้ศาลชั้นต้นรับรองก่อนว่ามีเหตุผลอันควรให้ศาลสูงวินิจฉัย และถ้าสำเร็จจะยื่นฎีกาให้ครบทุกคดี

ทวงคืนผืนป่า คนธรรมดาเสียที่ทำกิน

นโยบายทวงคืนผืนป่า เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายจะทำให้พื้นที่ป่าไม้มีสภาพสมบูรณ์อย่างน้อยร้อยละ 40 หรือ 26 ล้านไร่ จาก 31.5% หรือ 102 ล้านไร่ ในปี 2557 จัดทำโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการมอบหมายจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ทั้งนี้ จากรายงานผลการศึกษามาตรการทวงคืนผืนป่าของกลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน หรือ Land Watch ได้ตั้งข้อสังเกตต่อมาตรการการทวงคืนผืนป่าของคสช. ว่า จากผลการดำเนินงานของ กอ.รมน. ไม่มีการระบุถึงการจับกุม ดำเนินคดีขบวนการลักลอบตัดไม้ หรือนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังการบุกรุกที่ดินในเขตป่า โดยไม่แจกแจงข้อมูลว่ามีผู้ต้องหาที่จับกุมได้นั้น เป็นนายทุน นักการเมือง เจ้าของโรงงานแปรรูปไม้ เจ้าหน้าที่รัฐ จำนวนเท่าใด และเป็นประชาชนทั่วไปจำนวนเท่าใด และมีความเป็นไปได้ที่มาตรการดังกล่าวถูกใช้กับประชาชนผู้ยากไร้ที่อาศัยในเขตป่าเป็นหลัก

นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ชาวบ้านผู้ยากไร้ที่อาศัยในเขตป่าต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบอย่างน้อยสามลักษณะภายใต้มาตรการทวงคืนผืนป่า ได้แก่

หนึ่ง การข่มขู่คุกคาม ไล่รื้อ และดำเนินคดีกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 226 ครั้ง เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และป่าไม้ พร้อมอาวุธ กว่า 50 ราย ควบคุมตัวแกนนำชาวบ้านกว่า 11 คน ออกจากพื้นที่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่กรณีปัญหาพิพาทเรื่องที่ดินป่าไม้มายาวนาน 

สอง การไล่รื้อ ตัดฟันทำลายพืชผลอาสินของชาวบ้านในพื้นที่ โดยใช้คำสั่งทางปกครอง ที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 287 ครั้ง เช่น เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง เข้าตัดฟันไร่ข้าวและข้าวโพดของชาวบ้านห้วยหก อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

สาม การจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้านในพื้นที่ป่า ที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 168 ครั้ง มีคดีเกิดขึ้นอย่างน้อย 1,003 คดี เช่น กรณีชาวบ้านทุ่งป่าคา อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน กรณีบ้านจัดระเบียบ อ.ภูพาน จ.สกลนคร

ทวงคืนผืนป่าที่ไม่มีคนเป็นศูนย์กลาง

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ที่มา: Protection International)

อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายทวงคืนผืนป่านั้นได้ใจคนชั้นกลางในเมืองไว้ชื่นชมท่องเที่ยว กลุ่มชนชั้นกลางคือกลุ่มที่สนับสนุนการรัฐประหารในช่วงม็อบ กปปส. คนเหล่านี้จึงมีแนวโน้มสมาทานความคิดเหล่านี้ เป็นไปได้หลังยึดอำนาจใหม่ นโยบายทวงคืนผืนป่าเป็นปฏิบัติการให้กองเชียร์ที่เรียกร้องต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ไปไกลกว่านั้นคือนโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสยายปีกของกองทัพในนาม กอ.รมน. ในฐานะเป็นเบี้ยตัวหนึ่งของเครือข่ายอำนาจเก่า ที่พยายามรื้อฟื้นปักหลักอำนาจในทางการเมืองและเศรษฐกิจ

อนุสรณ์ตั้งคำถามว่า ภายใต้โจทย์นี้ คนจนอยู่ตรงไหน เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น 5 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามสถาปนาระเบียบอำนาจจัดสรรผลประโยชน์ โดยรัฐสมคบทุนใหญ่และเจียดกำไรไปให้ทานคนจน ฉะนั้นไม่น่าประหลาดที่เราจะเจอชุดนโยบายต่างๆ เช่น โครงการประชารัฐ ไทยนิยม ซึ่งเป็นการสงเคราะห์ แต่ความจนไม่สามารถแก้ได้ด้วยนโยบายสงเคราะห์ สาเหตุความยากจนคือจนสิทธิ จนโอกาส จนอำนาจ จนการเข้าถึงทรพัยากร ดังนั้นการแก้ไขเรื่องความยากจนต้องเป็นนโยบายทางด้านสิทธิ แต่นโยบายทวงคืนผืนป่ากลับทำในสิ่งตรงกันข้าม

ในการทำงานนี้ คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เรื่องเพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม เช่น การกระทำใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ไร้ที่ทำกิน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ

แต่ทำไมชาวบ้านที่เคยอยู่อาศัยมาแต่เดิมถึงถูกเจ้าหน้าที่ขับไล่ได้ ประชาไทได้คุยกับสมนึก ตุ้มสุภาพ ทนายความของคดีดังกล่าวถึงคำถามนี้

ศาลอุทธรณ์ชัยภูมิพิพากษาคดี "ทวงคืนผืนป่า" จ.ชัยภูมิ เพิ่มเป็น 9 ราย, 25 มิ.ย. 2562

226 ประชาสังคมทั่วโลก เรียกร้องไทยยุติดำเนินคดี-รับรองสิทธิที่ดินชาวบ้านซับหวาย, 1 ก.ค. 2562

อุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นจำคุกชาวบ้านซับหวายอีก 2 รายคดีทวงคืนผืนป่า, 2 ก.ค. 2562

มูลนิธิมานุษยะ-เครือข่ายธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนฯ เรียกร้องเยียวยา 14 ชาวบ้านซับหวาย, 8 ก.ค. 2562

83 เครือข่ายภาคประชาสังคมแถลง “หยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า คืนความเป็นธรรมให้คนจน”, 10 ก.ค. 2562

ปัญหาการตกสำรวจที่นำไปสู่การไม่มีเอกสารรับรอง

สมนึก ตุ้มสุภาพ ทนายความฝ่ายชาวบ้าน คดีพิพาทที่ดินบ้านซับหวาย

สาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านซับหวาย 14 คนถูกฟ้อง เนื่องมาจาก หนึ่ง การตกสำรวจจากมติ ครม. วันที่ 30 มิถุนายน 2541 และสอง เป็นทายาทที่สืบทอดที่ดินต่อและยังไม่มีชื่ออยู่ในเอกสารสำรวจ

สมนึกอธิบายว่า เกณฑ์ในการใช้ตรวจสอบพิสูจน์สิทธิของชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ป่าคือการใช้เกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 แต่ในการสำรวจตามมติ ครม. นี้ก็ไม่ได้สมบูรณ์ มีเงื่อนไขเช่น เวลาในการสำรวจของเจ้าหน้าที่มีจำกัด บุคลากรในการสำรวจมีจำกัด งบประมาณมีจำกัด เมื่องบหมดเจ้าหน้าที่จึงไม่ดำเนินการต่อ แต่เจ้าหน้าที่ก็ปล่อยให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่ต่อไป ดังนั้นจึงมีประชาชนบางกลุ่มที่ตกสำรวจ และยังมีกลุ่มลูกหลานกลุ่มใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ เมื่อไม่ได้รับการสำรวจ จึงนำเอาเงื่อนไขนี้มาอ้างว่าประชาชนบางส่วนเป็นผู้บุกรุกใหม่ และทำให้โดนฟ้องคดี 

สมนึกยังกล่าวว่า แต่พูดให้ชัดๆ การถูกฟ้องครั้งนี้เจ้าหน้าที่ขึ้นเบิกความว่ามาจากนโยบายทวงคืนผืนป่า เพราะที่ผ่านมาแม้ชาวบ้านจะอยู่อาศัยในเขตป่าแต่ก็ไม่เคยมีการฟ้องร้อง เพราะไม่มีนโยบาย

อีกประการคือแม้คำสั่งที่ 66/2557 จะบอกว่าไม่ให้กระทบผู้ยากไร้ แต่ศาลระบุว่าคำสั่งที่ 64/2557 เป็นเงื่อนไขหลักที่ต้องทวงคืน ขณะที่คำสั่งที่ 66/2557 ศาลกล่าวว่าชาวบ้านที่โดนคดีไม่สามารถได้รับประโยชน์ เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ยากไร้ มีที่ดิน 2-3 แปลงแล้ว และเป็นผู้มาอยู่ใหม่เนื่องจากไม่มีรายชื่อในการสำรวจตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 

ข้อต่อสู้ทางคดี

กระบวนการของชาวบ้านเบื้องต้นคือร้องเรียนให้หน่วยงานคือพีมูฟเข้ามาแก้ไขปัญหา เพื่อชะลอกระบวนการฟ้องร้อง พีมูฟได้นำเรื่องเข้าสู่ภาครัฐ มีการตั้งคณะกรรมการ ตั้งคณะทำงาน ศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่ และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้หน่วยงานรับรอง ซึ่งชาวบ้านมองว่าถ้าการแก้ไขปัญหามันเดินตามแนวทางนี้ ก็น่าจะผ่อนคลายการฟ้องร้องได้ แต่กระบวนการดังกล่าวไม่เดิน คดีจึงเกิด

“เรานำเงื่อนไขเหล่านี้ไปส่งศาล แต่ไม่ถูกนำมาพิจารณาเลย เราพยายามถกเถียงว่าควรได้รับการเยียวยาในกระบวนการ” สมนึกกล่าว

อีกประเด็นที่ใช้ในการโต้แย้งคือคำสั่ง ที่ 66/2557 ที่ศาลวินิจฉัยว่าไม่เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้าน ขณะที่สมนึกมองว่าคำสั่ง ที่ 64/2557 หรือ 66/2557 ก็ดี ไม่ได้วางระเบียบว่าต้องนำแนวปฏิบัติเรื่องเงื่อนไขของมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 มาใช้ แต่การนำมาใช้เป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เอง ซึ่งการนำมาใช้หน่วยงานต้องชี้แจงว่าคำสั่งที่ 64/2557 หรือ 66/2557 มีระเบียบที่จะให้นำมติ ครม. ดังกล่าวมาใช้ปฏิบัติ แต่ทั้งนี้คำสั่งก็ไม่ได้ระบุ และในที่นี่เมื่อศาลตีความว่าคำสั่งเป็นกฎหมาย ดังนั้นคำสั่งจึงมีศักดิ์สูงกว่ามติ ครม. ดังนั้นควรตีความตามตัวอักษรตามเจตนาของคำสั่ง และตามเจตนาจะต้องคุ้มครองชาวบ้าน แต่ศาลไปพิจารณาตามมติ ครม. ดังกล่าว คือต้องผ่านการสำรวจ ต้องมีรายชื่อได้รับการผ่อนผัน ถึงได้ประโยชน์จากคำสั่ง 66/2557 คือได้รับการคุ้มครอง หรือหากมาอยู่ภายหลังจริง ในคำสั่งก็บอกว่าต้องมีกระบวนการพิสูจน์ก่อน ไม่ใช่การฟ้องคดีด้วยซ้ำ

“เราสู้ประเด็นนี้ แต่เราไม่ได้ถูกพิจารณาในประเด็นนี้เช่นกัน” สมนึกระบุ

ข้อเสนอแก้ไขปัญหายั่งยืน

83 องค์กรภาคประชาสังคม อ่านแถลงการณ์ “หยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า คืนความเป็นธรรมให้คนจน" ที่อาคารรัตนคุณากร มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อ 10 ก.ค. 62 (ที่มา: Protection International)

สมนึกระบุว่า กระบวนการแก้ไขมีแล้วเพียงแต่ยังไม่คืบหน้า คือให้จัดการร่วมกันระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ มีแผนการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนของชุมชน ซึ่งตอนนี้ชุมชนก็มีแล้ว หากจังหวัดรับรอง ส่งให้ส่วนกลางคือกระทรวงหรือ ครม. รับรอง ชาวบ้านก็สามารถอยู่ในพื้นที่ของตัวเองซึ่งอยู่ในเขตอุทยานได้ สามารถส่งมอบให้ลูกหลานได้ แต่ขยายเกินที่ได้รับอนุญาตไม่ได้ การแก้ไขปัญหานี้จะรับรองได้ว่าชาวบ้านจะไม่สามารถถูกฟ้องได้อีก

โดยในเวที “ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ากับผลกระทบต่อคนจน: กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง” ดังกล่าว เครือข่ายภาคประชาสังคม 83 องค์กร ออกแถลงการณ์หลังศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก-เรียกค่าเสียหาย 14 ชาวบ้านซับหวาย จ.ชัยภูมิ คดีทวงคืนผืนป่า โดยเรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่า เร่งพิจารณารับรองแผนการจัดการที่ดินกรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง เยียวยาผู้ถูกดำเนินคดี และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านต่อสู้ในชั้นศาลฎีกา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ประวัติชุมชนซับหวายและคดีทวงคืนผืนป่า

พัฒนาการในการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในพื้นที่ตำบลห้วยแย้ และตำบลวังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เกิดขึ้นหลังการยกเลิกการทำสัมปทานตัดไม้ ของบริษัท ชัยภูมิทำไม้ จำกัด ตั้งแต่ปีช่วงปี 2510 เป็นต้นมา จากนั้นเริ่มมีชาวบ้านทยอยเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น จนก่อตั้งเป็นชุมชนในเวลาต่อมา โดยชุมชนที่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติไทรทอง มีทั้งหมด 5 ชุมชนด้วยกัน คือ 

1. บ้านหนองผักแว่น ก่อตั้งปี 2501 
2. ชุมชนหินรู ก่อตั้งปี 2512
3. ชุมชนซับหวาย ก่อตั้งปี 2515
4. กลุ่มบ้านซับสะเลเต ก่อตั้งปี 2518
5. กลุ่มบ้านซอกตะเคียน ก่อตั้งปี 2519

หลังจากการตั้งชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว เมื่อปี 2522 มีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายางกลัก ทับที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินชาวบ้าน แต่ยังไม่เกิดปัญหา จนกระทั่ง วันที่ 30 ธันวาคม 2535 มีการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติไทรทอง หลังจากนั้น ชาวบ้านที่ถือครองทำประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ เริ่มได้รับผลกระทบโดยเฉพาะ 5 ชุมชนหลักที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากที่ดินเดิมของชาวบ้านทับกับเขตที่ประกาศอุทยานแห่งชาติ และอุทยานต้องการพื้นที่ไปเป็นของอุทยาน แต่ปัญหาระหว่างชาวบ้านกับอุทยานก็อยู่ในระหว่างการเจรจาหาทางออกที่ยังไม่ยุติ

จนกระทั่งปี 2557 มีการประกาศ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” โดย คสช. และในพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวในปี 2558 ทางภาครัฐได้ใช้กำลังทหารร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ และอีกหลายหน่วยงาน เข้าปฏิบัติการ ชาวบ้านถูก "ขอคืนพื้นที่" ตัดฟันสวนยางพารา และดำเนินคดี 

แม้คำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 จะระบุไว้ว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อยู่อาศัยในพื้นที่เดิมนั้นๆก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติไทรทองที่อยู่มาก่อน และกำลังอยู่ในขั้นตอนพิสูจน์สิทธิถูกดำเนินคดีทั้งหมด 14 คน รวมทั้งหมด 19 คดี โดยคนที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมดได้ใช้ที่ดินในการอยู่อาศัย และทำการเกษตร คือ ทำไร่มันสำปะหลัง

บีบีซีไทย อ้างคำให้สัมภาษณ์ของ วรพล ดีปราสัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง ที่ระบุว่า ชาวบ้านทั้ง 14 คนไม่ยอมออกจากพื้นที่ ทั้งๆ ที่มีการเซ็นยินยอมคืนพื้นที่แล้ว จึงมีการแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้งหมด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net