สภาฯ อนุมัติ พ.ร.ก.โอนกำลังพลสู่ส่วนราชการในพระองค์ แต่ยังไม่รู้ว่าเหตุจำเป็นรีบด่วนคือเหตุใด

ปิยบุตรอภิปรายก่อนโหวต พ.ร.ก.โอนกำลังพลกองทัพสู่หน่วยข้าราชการในพระองค์ ชี้การตรา พ.ร.ก.นี้ โดยไม่มีความจำเป็นรีบด่วนคือการแสดงอาการของโรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ ด้านพีระพันธุ์ ส.ส.ปชป. ชี้ความมั่นของประเทศกับความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น สุดท้ายที่ประชุมมีมติอนุมัติ โดยที่ยังไม่ได้คำตอบว่า เหตุจำเป็นรีบด่วนคืออะไร

17 ต.ค. 2562 ในกาประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ต่อ พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ

ก่อนการลงมติดังกล่าว ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายทักท้วงและขอใช้สิทธิ์ลงมติไม่อนุมัติพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว เนื่องจากขัดต่อเงื่อนไขการตรา พ.ร.ก. ซึ่งรัฐธรรมนู​ญ มาตรา 172 วรรคสองกำหนดว่าเมื่อ ครม. เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ทั้งนี้การรักษาความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ รวมทั้งให้ปฏิบัติภารกิจตามพระราชอัธยาศัยและตามพระราชประเพณีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามอำนาจและหน้าที่ของหน่วยงานกองทัพสามารถดำเนินการต่อประเด็นดังกล่าวได้ และถือเป็นภารกิจหลัก

“การรตราพ.ร.ก.ฉบับนี้ ถือเป็นปัญหาการใช้อำนาจของ ครม. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่คุ้นชินกับการมีและใช้อำนาจพิเศษ​ตามมาตรา 44 ทั้งนี้การออกคำสั่งตามมาตรา 44 จำนวนมากมีข้อผิดพลาด และต้องออกคำสั่งแก้ไข ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ให้อำนาจยกเว้นการใช้อำนาจตราพ.ร.ก.ของครม. นั้น จำเป็นต้องใช้อำนาจดังกล่าวอย่างระวัง เพื่อไม่ให้การใช้อำนาจดังกล่าวเป็นเหมือนกับมาตรา 44 จำแลง ดังนั้นผมขอใช้สิทธิ์ไม่อนุมัติพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว เพราะถือว่าผิดเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉิน และเพื่อเป็นการแสดงความไม่ยินยอมที่จะให้พล.อ.ประยุทธ์​ใช้อำนาจที่ได้รับการยกเว้นจากรัฐธรรมนูญ​ จนกลายเป็นพฤติกรรมไม่แยแสต่อรัฐธรรมนูญ” ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตร กล่าว ถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ด้วยว่า เนื้อหาของคำวินิจฉัยนั้นก็ยืนยันว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ทรงเป็นกลางทางการเมือง และใช้คำว่า “ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง” หนังสือหลายเล่มของนักวิชาการกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายท่านก็อยู่ในคณะรัฐมนตรีชุดท่านด้วย ก็เขียนเรื่องนี้เช่นเดียวกันว่า ระบอบนี้คือ ระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง รัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

"พรรคอนาตใหม่และตัวผมเองยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข การอภิปรายของผมในวันนี้เป็นไปเพื่อยืนยันอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายบริหาร รักษาระบบรัฐสภา และที่สำคัญที่สุด นี่คือการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีมิใช่การชี้หน้าด่าคนอื่นว่า ไม่จงรักภักดี การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีมิใช่การใช้อำนาจกระทำการใดเพื่อทำให้พระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด พระราชกำหนดฉบับนี้ตราขึ้นโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ไม่เป็นเรื่องจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน และส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผมไม่สามารถลงมติอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ได้..." ปิยบุตร กล่าว 

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายด้วยว่าการพิจารณาว่า พ.ร.ก.ฉบับใดจำเป็น หรือ เร่งด่วน ฉุกเฉินเป็นดุลยพินิจของรัฐบาล ทั้งนี้การรักษาความมั่นคงประเทศถือเป็นเดียวกันความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ และเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ดังนั้นตนจึงขอใช้สิทธิอนุมัติ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว

ขณะที่การชี้แจงของพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ต่อการอภิปรายทักท้วง ยืนยันว่าการพิจารณาเสนอพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวได้พิจารณาถึงปัจจัยตามรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่าเป็นไปตามความจำเป็นเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติ่มด้วยว่า ที่สุดแล้ว รมช.กลาโหม ก็ไม่ได้ชี้แจงว่า เหตุจำเป็นรีบด่วนนั้นเป็นเพราะเหตุใด

โดยที่ที่ประชุมสภาฯ มีมติเห็นด้วยกับการอนุมัติ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว 374 เสียง ไม่เห็นด้วย 70 งดออกเสียง 2 สำหรับผู้ที่งดออกเสียง 2 เสียง ประกอบด้วย พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ นอกจากนี้ยังพบว่า ส.ส.พรรคอนาคต อย่างน้อย 2 คนที่โหวตเห็นด้วย ประกอบด้วย จารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี และ พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี

รองเลขาฯ อนาคตใหม่ ขอให้เจตจำนงของประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

ชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการ พรรคอนาคตใหม่ โพสต์ผ่านเฟสบุ๊คหลังสภามีมติด้วยว่า "กลุ่มชนชั้นนำจารีตต้องการยุบพรรคการเมืองบางพรรค ก็เพราะต้องการทำลายองค์กรทางการเมืองที่เป็นศูนย์รวมเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน ดังนั้น หากพรรคการเมืองเลือกที่จะทำลายเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนเสียเอง ด้วยหวังว่ากลุ่มชนชั้นนำจะเมตตา พรรคการเมืองนั้นก็ไม่มีเหตุผลในการดำรงอยู่อีกต่อไป วันนี้พรรคอนาคตใหม่เลือกแล้วที่จะยืนอยู่กับประชาชน วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ขอให้เจตจำนงของประชาชนเป็นผู้ตัดสิน"

 

เรียบเรียงจาก: กรุงเทพธุรกิจ เฟสบุ๊ค พรรคอนาคตใหม่ - Future Forward Party Chaithawat Tulathon

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท