Skip to main content
sharethis

สถาบันสันติสุขแห่งสหรัฐอเมริกา (USIP) เผยแพร่รายงานเรื่องการเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนที่ฉวยโอกาสในตอนที่โลกกำลังเผชิญและให้ความสนใจกับการระบาดหนักของ COVID-19 ทุกวัน จีนก็กำลังแผ่อิทธิพลด้วยการเข้าไปทำธุรกิจจำพวกบ่อนคาสิโนใน "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ของพื้นที่ประเทศพม่า ส่งผลให้กลุ่มเครือข่ายแก๊งอาชญากรรมในจีนผูกสัมพันธ์กับกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่เหล่านั้น


ที่มาภาพ: Sim Chi Yin/The New York Times (อ้างใน United States Institute of Peace)

ตามตลิ่งแม่น้ำเมยที่เป็นเส้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า มีเมืองใหม่เกิดขึ้น 3 แห่งบนผืนดินที่เป็นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้พื้นที่เหล่านี้เพิ่งจะมีการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองทัพแห่งชาติกะเกรี่ยง แต่ในตอนนี้พื้นที่อดีตสมรภูมิก็กลับกลับกลายเป็นเมืองที่มีโรงแรม, บ่อนคาสิโน และคอนโดมิเนียม ผุดขึ้นในฐานะ "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ที่ไม่ได้รับอนุญาต มีเจ้าของเป็นเครือข่ายธุรกิจจีนที่ทำสัญญาหุ้นส่วนกับคนในพื้นที่รวมถึงกลุ่มติดอาวุธที่ขัดแย้งกัน

มีการเซ็นสัญญาเกี่ยวกับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษใน 3 เมืองนี้ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ที่ผ่านมาในขณะที่โลกกำลังมัวแต่สนใจเรื่อง COVID-19 แต่อย่างเดียว ทำให้ในตอนนี้พื้นที่เขตแดนพม่า 157 ตร.กม. ตกเป็นของธุรกิจจีนที่โยงใยกับการพนัน, การฟอกเงิน, การเงินแบบเข้ารหัส และกระทั่งเครือข่ายอาชญากรรม

ถึงแม้ว่าโครงการสำหรับพื้นที่เหล่านี้จะมีแผนการมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งจะมีการเร่งโครงการในเดือน ส.ค. 2562 ในช่วงเดียวกับที่ตำรวจจีนและกัมพูชาเริ่มกวาดล้างบริษัทที่ทำบ่อนออนไลน์, คาสิโนผิดกฎหมาย และตั้งแก๊งอาชญากรรมรุนแรงในพื้นที่สีหนุวิลล์ของกัมพูชา

โครงการบ่อนจากจีนทำให้ผู้อยู่อาศัยในรัฐกะเหรี่ยงกลัวว่าการรุกรานนี้จะส่งผลกระทบต่อสถาบันของพลเรือน จากการที่มีเศรษฐกิจแบบผิดกฎหมายฝั่งรากทำลายการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สร้างความรู้สึกแย่ให้กับคนในพื้นที่

มีเรื่องน่าสงสัยว่านักลงทุนเหล่านี้หลบเลี่ยงการกำกับดูแลจากรัฐบาลพม่าได้อย่างไร ทำไมฝ่ายรัฐบาลทั้งทหารและรัฐบาลพลเรือนต่างก็มองข้ามเรื่องที่กลุ่มติดอาวุธจะกลายเป็นคู่ค้ากับกลุ่มผลประโยชน์จากต่างชาติที่น่าสงสัย

สถาบันสันติสุขแห่งสหรัฐอเมริกา (USIP) มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาในพม่าอย่างเดียวเท่านั้นแต่ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ท้าทายผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ด้วย จากการที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้มีกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับแก๊งอั้งยี่ (triads) ที่มีอยู่ในสหรัฐฯ และกำลังพยายามแผ่อิทธิพลในรัฐกะเหรี่ยง เรื่องนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพในพม่าได้ และสหรัฐฯ เองก็มีส่วนในการยื่นมือเข้าไปส่งเสริมประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในพม่ามาโดยตลอด และในช่วงไม่นานนี้ก็ลงทุนไปกับการสร้างสันติภาพที่ ความมั่นคง ยุติความขัดแย้ง และทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเที่ยงธรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐกะเหรี่ยงตอนนี้กำลังกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ในรัฐกะเหรี่ยงนั้นมีความขัดแย้งในหลายแง่มุมเกิดขึ้น เริ่มจากการที่มีสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ทำสงครามสู้รบกับรัฐบาลพม่ามาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2492 แล้ว หลังจากนั้นก็เริ่มมีกลุ่มแตกแยกออกมาจาก KNLA คือกลุ่มกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) โดยที่กลุ่ม KNLA เป็นสายคริสต์

โดยที่ในปี 2552 กองทัพพม่าได้ประกาศแผนการจัดตั้งกลุ่มกองติดอาวุธให้กลายเป็น "กองกำลังพิทักษ์ชายแดน" โดยจะอนุญาตให้พัฒนาพื้นที่ของตัวเองได้ในฐานะตัวแทนของกองทัพพม่า กลุ่มที่เอาด้วยคือ DKBA ภายใต้การนำของนายพลซอว์ชิดตู่ ผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชายแดนผู้เป็นหัวหอกเบื้องหลังโครงการพัฒนาเมืองใหม่สองแห่ง โดยมีกองทัพพม่าเป็นผู้กำกับดูแล นายพลผู้นี้เป็นคนที่เคยร่วมโจมตีกองกำลังติดอาวุธชนพื้นเมืองพม่าหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นในรัฐกะเหรี่ยงหรือรัฐมอญ

ขณะเดียวกันกลุ่ม KNU ก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับพม่าในปี 2558 แต่กระบวนสันติภาพในตอนนี้ก็ยังคงหยุดชะงัก จากการที่กลุ่มผู้นำ KNU เริ่มระมัดระวังเรื่องสนธิสัญญาและพิจารณาเรื่องความสามารถในการปกครองตนเองในหลายๆ ด้าน ขณะเดียวกันก็มีการสู้รบระหว่าง KNU กับกองทัพและกองกำลังพิทักษ์ชายแดนเกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. ที่่ผ่านมานี้เอง

สรุปรวบยอดได้ว่านักลงทุนจีนนำกองกำลังติดอาวุธทั้งสองฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาที่น่าจะทำกำไรได้ โดยเสนอเงินลงทุน 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1 ล้านล้านบาท) มีการเสนอว่าจะให้ผลกำไรคืนมหาศาลอาจจะมากถึง 10 เท่า ภายในไม่ถึง 10 ปีในเรื่องการซื้อขายที่ดินแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ตัวโครงการทั้งสามยังสัญญาว่าจะทำให้มีคนเข้าไปในพื้นที่ถึงหลายแสนคนซึ่งน่าจะหมายถึงชาวจีนเข้าไปในพื้นที่ๆ เปราะบางเสี่ยงต่อความขัดแย้งมากที่สุดของโลก

USIP ระบุว่ากลุ่มธุรกิจที่อยู่เบื้องหลังโครงการทั้ง 3 โครงการนี้มีหลายอย่างที่เหมือนกัน หนึ่งคือ กลุ่มผู้นำบริษัทเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายแก๊งอาชญากรรมหรือคนที่มีส่วนในธุรกรรมลักลอบแบบผิดกฎหมาย องค์กรเหล่านี้มีประวัติเคยตั้งและบริหารคาสิโนกับการเงินแบบเข้ารหัสมาก่อนแล้ว อีกทั้งกลุ่มเหล่านี้ยังอ้างหลอกคนอื่นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของรัฐบาลจีนและอวดอ้างเรื่องคอนเนคชันกับหน่วยงานภาครัฐของจีน ธุรกรรมของกลุ่มเหล่านี้ทำให้เกิดการปราบปรามจากรัฐบาลกัมพุชาและรัฐบาลจีนมาแล้ว

กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ทำสัญญากับกลุ่มติดอาวุธกะเหรี่ยงต่างกลุ่มกัน โดยที่กลุ่มแรกคือโครงการยาไตนิวซิตี้ใน ชเวโกกโก มาจากบริษัทยาไตอินเตอร์เนชันแนลโฮลดิงส์กรุ๊ป (IHG) ทำโครงการนี้โดยลงนามร่วมกันกับกลุ่มกะเหรี่ยงพิทักษ์ (BGF) มาตั้งแต่ปี 2560 บริษัทนี้และกลุ่มติดอาวุธนี้เป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยถูกปราบปรามจากทางการกัมพูชาจนต้องออกมาจากสีหนุวิลล์มาก่อน ทั้งนี้บริษัทยาไตยังมีธุรกิจในกัมพูชา, ฟิลิปปินส์ และประเทศปาเลา (ประเทศสาธารณรัฐฯ ที่อยู่ห่างออกไป 500 กม. ทางตะวันออกของฟิลิปปินส์) ที่เน้นเรื่องบล็อกเชนและสถานบันเทิง

มีการโฆษณาจากเมืองที่ทำโครงการนี้ว่าเป็นพื้นที่แห่งเดียวในชเวโกกโกที่อนุญาตให้เปิดบ่อนคาสิโน และแผนธุรกิจของเมืองนี้ก็เผยให้เห็นว่าจะให้คาสิโนเป็นสิ่งที่ทำรายได้สูงสุดโดยคาดการณ์ว่าจะได้รับรายได้ 11,400 ล้านบาทภายใน 10 ปี รวมถึงมีแผนจะรองรับประชากรอีก 450,000 ราย

โครงการที่สองคือโครงการพื้นที่อุตสาหกรรม Saixigang ที่มีการออกแบบให้รอบรับกลุ่มธุรกิจจากจีนที่ถูกบีบให้ออกจากประเทศกัมพูชา (แม้แต่ในชื่อ Saixigang เองก็ตั้งให้สามารถแปลหยาบๆ ได้ว่า "เลยจากสีหนุวิลล์") ตัวตั้งตัวตีสำคัญโครงการนี้คือหนึ่งในอดีตหัวหน้าแก๊งอั้งยี่ที่คนรู้จักกันคือ ว่านก๊วกกุย คนที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการฆาตกรรม 14 รายในมาเก๊าจนถูกจับกุมเมื่อปี 2542 แต่แก๊งมาเฟีย 14K ที่ก่อเหตุฆาตกรรมครั้งนั้นก็ยังคงอยู่โดยมีสมาชิก 20,000 รายก่อเหตุผิดกฎหมายอยู่ทั่วโลก

ผู้เชี่ยวชาญด้านแก๊งอาชญากรรมจีนระบุว่ากลุ่ม 14K นี้มีอิทธิพลฝักรากอยู่ในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการค้าเฮโรอีน, บ่อนพนันผิดกฎหมาย, การเรียกค่าคุ้มครอง และการค้ามนุษย์ หลังจากที่ Wan ได้รับการปล่อยตัวจากคุกในปี 2555 เขาก็เป็นหัวหน้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตงเหมยกรุ๊ป และต่อมาก็ตั้งธุรกรรมการเงินแบบเข้ารหัสในชื่อว่า "triad coin" ตงเหมยกรุ๊ปเป็นบริษัทที่จัดตั้งหุ้นส่วนร่วมกันกับนักธุรกิจมาเลเซียจนกลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในโครงการ Saixigang

โครงการที่สาม คือ โครงการ ฮัวเนีย อินเตอร์เนชันแนลซิตี ตั้งอยู่ในเขตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่ม KNU ในเมืองเมียวดี โดยมีคนสำคัญของ KNU อย่าง ซอว์ โรเจอร์ ขิ่น สมาชิกกรรมาธิการบริหาร KNU และประธานฝ่ายกลาโหมของ KNU มีส่วนร่วมด้วย ฝ่ายนักลงทุนจีนมีบริษัท ฮัวเนีย และสมาคมธุรกิจแห่งสีหนุวิลล์ที่ร่วมโครงการและหนึ่งในนั้นได้เริ่มสร้างคาสิโนในพื้นที่นี้ไปแล้ว

ทว่า คณะกรรมาธิการ KNU เองประกาศว่าพวกเขาไม่อนุมัติโครงการนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ซอว์ โรเจอร์ ขิ่น กระทำการเองหรือความเป็นไปได้ที่สองที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้คือ KNU ต้องการมีส่วนร่วมโครงการเช่นนี้เพราะต้องการแข่งขันกับกลุ่มกองกำลังพิทักษ์ชายแดน รวมถึงว่าอาจจะนำรายได้ตรงนี้ไปคัดง้างกับกองทัพได้ด้วยถ้าหากดารเจรจามสนธิสัญญาหยุดยิงล้มเหลว

ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่า KNU ไม่ได้เข้าใจเรื่องปูมหลังทางอาชญากรรมของนักลงทุนจีนบางส่วนนี้ และไม่รู้ว่ากลุ่มนักลงทุนนี้มีแรงจูงใจจะครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในรัฐกะเหรี่ยง ยกตัวย่างเช่น ในกรณีของโครงการที่ชเวโกกโกนั้น หนึ่งในนักลงทุนรายสำคัญที่ใช้นามสมมุติว่า Dylan She ได้พูดถึงยาไตซิตี้ว่าเป็น "เมืองของเขา" ซึ่งรัฐบาลพม่าดูเหมือนจะเพิกเฉยไม่ดำเนินการกำกับดูแลใดๆ ต่อกิจการเหล่านี้

แล้วเรื่องนี้น่าเป็นห่วงสำหรับสถานการณ์โลกอย่างไรบ้าง หน่วยานสันติภาพสหรัฐฯ ระบุว่าโครงการทั้ง 3 นี้มีความน่าเป็นห่วงทั้งต่อเรื่องรัฐกะเหรี่ยง ต่อประเทศพม่าทั้งหมด และในระดับกว้างๆ แล้วก็น่าเป็นห่วงต่อความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับนานาชาติ

ส่วนหนึ่งเพราะการแผ่ขยายอิทธิพลของกลุ่มแก๊งอาชญากรรมที่มาจากจีนนั้น ส่งผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่อย่างมาก ไม่ใช่แค่เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย มีกรณีตัวอย่างการเข้าไปลงทุนคาสิโนในสีหนุวิลล์ส่งผลให้เกิดภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ผลักให้คนที่เป็นคนท้องถิ่นออกจากเมืองไป ทำให้ยากที่จะติดต่อทางธุรกิจถ้าหากไม่มีความรู้เรื่องภาษาจีน ทั้งนี้คาสิโนยังทำให้สมาชิกแก๊งมาเฟียจีนเข้าไปในประเทศและบางครั้งกลุ่มนี้ก็ใช้ความรุนแรงทำร้ายตำรวจในพื้นที่หรือไม่ก็เข้าคุมอิทธิพลตำรวจไว้ได้

เรื่องดังกล่าวนี้ทำให้กัมพูชาเองประสบปัญหา การไร้ขื่อไร้แปทำให้ทางการกัมพูชาต้องขอร้องทางการจีนให้เข้ามาช่วยปราบปราม และในขณะเดียวกันการฟอกเงินอย่างหนักของกลุ่มเหล่านี้ก็ทำให้กัมพูชาถูกตัดการเข้าถึงแหล่งการเงินนานาชาติ เมื่อมองจากระดับการเข้าไปลงทุนของชาวจีนกับความเปราะบางในเรื่องสันติภาพของรัฐกะเหรี่ยงแล้ว ก็ประเมินได้ว่าผลกระทบทางด้านลบน่าจะรุนแรงยิ่งกว่าเมื่อเทียบกับกรณีสีหนุวิลล์

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า การเข้าไปลงทุนคาสิโนในครั้งนี้ไม่ได้รับการอนุมัติใดๆ จากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของพม่าเลย รมถึงไม่ได้มีการพิจารณาจากสภาของพม่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลพม่าก็มีแผนการจะเปิดให้การพนันในบางรูปแบบถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้มีการให้ใบอนุญาตประกอบการบ่อนใดๆ เลย ตรงกันข้ามกับสิ่งที่นักลงทุนจีนอ้างในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเอง

ในการประชาสัมพันธ์ตัวเองของนักลงทุนจีนเหล่านี้ยังมีการอ้างว่าพวกเขาดำเนินการภายใต้โครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (BRI) ซึ่งเป็นชื่อโครงการพัฒนาที่จีนประกาศต่อชาวโลกเมื่อไม่นานนี้ การอ้างเช่นนี้ก็ทำให้รัฐบาลจีนได้รับผลกระทบจากการเสี่ยงต่อการสูญเสียภาพลักษณ์ ทั้งในพม่าและในสายตาชาวโลก และจะกลับทำให้ BRI มีภาพลักษณ์แบบเป็นอาชญากรรม รวมถึงส่งผลให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจีนต้องเสียทรัพยากรเอามาใช้กับเรื่องแบบนี้ไปด้วย

USIP ระบุว่าถ้าหากทางการจีนไม่ดำเนินการสกัดกั้นโครงการในพม่าแต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่าจีนพยายามทำให้นักลงทุนตะวันตกออกห่างจากพม่าด้วยการอนุญาตให้มีการคอร์รัปชันในระบบเศรษฐกิจและระบบการธนาคารจีน เจ้าหน้าที่จีนบางส่วนอาจจะมองว่าการที่เครือข่ายอาชญากรรมจากจีนเข้าไปลงทุนในครั้งนี้เป็นก้าวแรกไปสู่การพยายามปักธงอิทธิพลของตัวเองในแถบชายฝั่งของพม่า ถ้าหากปัญหาอาชญากรรมเพิ่มสูงมากก็อาจจะทำให้รัฐบาลพม่าต้องเชิญให้รัฐบาลจีนหรือรัฐวิสาหกิจจีนเข้ามาควบคุมสถานการณ์ในที่สุดแบบกัมพูชา กลายเป็นแผนการที่อธิบายได้ว่าเหตุใดทางการจีนถึงส่งเสริมให้บริษัทยาไตสร้างอิทธิพลกับรัฐบาลแห่งรัฐกะเหรี่ยงด้วยการบริจาคและให้เครื่องมือทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการระบาดของ COVID-19

ในขณะที่พม่ากำลังจดจ่ออยู่กับการโต้ตอบวิกฤตโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่เช่นเดียวกับรัฐบาลอื่นๆ ทั่วโลก แต่นักลงทุนจีนก็ยังคงจะเดินหน้าก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์และคาสิโนเหล่านี้ต่อไป USIP ระบุว่าถ้าหากว่าพม่าไม่อาศัยความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรพวกเขาก็จะสกัดกั้นกลุ่มนักลงทุนเหล่านี้ได้ยาก นั่นจะทำให้กลุ่มติดอาวุธมีอิทธิพลมากขึ้น แต่กลุ่มรัฐกะเหรี่ยงที่หวังว่าจะได้รับอาณัติในการปกครองตนเองกลับจะกลายเป็นเหยื่อของการถูกต่างชาติเข้ามายึดครองเป็นเจ้าของ และความรุนแรงจากความขัดแย้งแบบใหม่อาจจะเกิดขึ้นไปทั่วพื้นที่เปราะบางแห่งนี้ได้


เรียบเรียงจาก
Chinese Crime Networks Partner with Myanmar Armed Groups, USIP, 20-04-2002

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net