Skip to main content
sharethis

บทวิเคราะห์จากสำนักข่าวฉาน (SHAN) ระบุถึงเรื่องที่กองกำลังชาติพันธุ์โจมตีกองบัญชาการตะวันออกเฉียงเหนือในรัฐฉานสำเร็จ และอาจจะส่งผลให้ฝ่ายกองทัพเผด็จการสูญเสียกองบัญชาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าฝ่ายกองกำลังชาติพันธุ์ที่มีความไม่ลงรอยกันอยู่จะเข้าไปยึดกุมสุญญากาศทางอำนาจอย่างไร และควรทำอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนที่เดือดร้อนจากสงครามยาวนานและอยากได้สันติภาพ


การประชุมของคณะกรรมการเจรจาและปรึกษาทางการเมืองแห่งสหพันธรัฐ (FPNCC) เมื่อปี 2560 | ที่มาภาพ: Shan Herald Agency for News

ความพ่ายแพ้ของกองทัพเผด็จการพม่าในล่าเสี้ยว ที่สูญเสียกองบัญชาการตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีการประเมินสถานการณ์ว่ามีโอกาสเกิดผลกระทบต่อเนื่องแบบโดมิโนไปสู่กองบัญชาการอีก 13 แห่งของกองทัพพม่า ทำให้กองบัญชาการเหล่านี้มีโอกาสแตกพ่ายได้เช่นกัน

ล่าเสี้ยวถือเป็นแหล่งกองบัญชาการทางทหารที่มีความสำคัญมากเป็นอันดับที่ 3 ถัดจากเนปิดอว์ และถัดจากกองบัญชาการภาคเหนือ แต่เรื่องสำคัญที่มาก่อนในตอนนี้คือคำถามที่ว่าจะมีอะไรมายึดกุมสุญญากาศทางอำนาจที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการ 1027 ช่วงเฟสหนึ่งและเฟสสอง ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีสิทธิไม่มีเสียงผู้ติดอยู่ตรงกลางระหว่างการสู้รบของสองฝ่ายนั้น พวกเขาก็แค่ต้องการความปลอดภัยในชีวิตและบรรยากาศสงบสุขเพื่อที่อย่างน้อยพวกเขาจะได้อยู่รอดและมีชีวิตต่อไปได้

มันจึงมีคำถามว่าแล้วฝ่ายไหนที่จะเข้ามายึดกุมสุญญากาศทางอำนาจนี้ ซึ่งแน่นอนว่ากองทัพเผด็จการพม่าจะไม่มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้ จากการที่กองทัพพม่าทำการปกครองแบบทรราชไร้ซึ่งความเห็นอกเห็นใจต่อพลเรือน มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในช่วงตลอดมากกว่า 3 ปีหลังการรัฐประหาร

ถ้าเช่นนั้นแล้ว องค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAOs) ที่กำลังทำสงครามอยู่ควรจะเป็นผู้ยึดกุมอำนาจกองบัญชาการทางตอนเหนือของรัฐฉาน (NSS) ใช่หรือไม่ หรือถ้าให้ดีกว่านั้นคือ ให้การยึดกุมอำนาจนี้ตกเป็นของพันธมิตรชาติพันธุ์ที่ชื่อว่า คณะกรรมการเจรจาและปรึกษาทางการเมืองแห่งสหพันธรัฐ (FPNCC) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งสัมพันธมิตรฝ่ายเหนือ FPNCC ซึ่งกลุ่มที่สู้รบในพื้นที่นั้นส่วนใหญ่เป็นสมาชิก

FPNCC มีสมาชิก 7 รายที่ปฏิบัติการใน Panghsang หรือ Pangkham นำโดย พรรคสหรัฐว้า/กองทัพสหรัฐว้า (UWSP/UWSA) สมาชิกอื่นๆ อีก 6 มาจากองค์กรเอกราชคะฉิ่น/กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIO/KIA) พรรคเพื่อความจริงและความยุติธรรมแห่งชาติเมียนมา/กองกำลังโกก้าง (MNDJP/MNDAA), แนวร่วมปลดปล่อยแห่งรัฐปะหล่อง/กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (PSLF/TNLA) คณะกรรมการสันติภาพและความเป็นปึกแผ่น เขตพิเศษหมายเลข 4 รัฐฉานตะวันออก/กองทัพเมืองลา (PSC/NDAA) พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉานเหนือ (SSPP/SSA) สหสันนิบาตแห่งอาระกัน/กองกำลังอาระกัน (ULA/AA)

ในขณะที่ FPNCC โดยหลักๆ แล้วนับเป็นกลุ่มพันธมิตรทางการเมือง แต่ก็มีกลุ่มพันธมิตรทางการทหารอยู่ 2 กลุ่มอยู่ด้วย หนึ่ง คือ พันธมิตรภาคเหนือพม่า (NA-B) ซึ่งประกอบด้วย  AA, KIA, MNDAA และ TNLA แต่พวกเขาก็ไม่ได้ร่วมมือกันทางการทหารแต่อย่างใด อีกกลุ่มหนึ่งคือพันธมิตรสามภราดรภาพ (3BHA) ที่ประกอบด้วย AA, MNDAA และ TNLA ซึ่ง AA ได้เข้าร่วมปฏิบัติการในช่วงเฟสแรกของปฏิบัติการ 1027 ในทางตอนเหนือของรัฐฉานแต่ไม่ได้เข้าร่วมในปฏิบัติการเฟสที่สองเพราะพวกเขายุ่งอยู่กับการพยายามไล่ต้อนกองทัพพม่าในรัฐบ้านเกิดของตัวเองที่ยะไข่หรืออาระกัน

หลังจากที่กองบัญชาการล่าเสี้ยวของกองทัพพม่าถูกตีแตก มันก็เป็นไปได้ว่าป้อมทหารอื่นๆ ที่เล็กกว่าในรัฐฉานจะถูกตีแตกด้วยเช่นกัน

บทวิเคราะห์ระบุว่าในภาวะสุญญากาศทางอำนาจที่ยังไม่คลี่คลายเกี่ยวกับกองบัญชาการทางตอนเหนือของรัฐฉาน กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีสิทธิไม่มีเสียงก็ต้องการความปลอดภัยในชีวิตและบรรยากาศของสันติภาพมากกว่าอะไรอื่นทั้งหมด เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่กองกำลัง TNLA และ MNDAA จะสามารถบริหารอย่างมีความรับผิดชอบได้แบบฝ่ายเดียวหรือแม้กระทั่งร่วมกันบริหาร เพราะมีเรื่องความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ เช่น เรื่องการพิพาทสิทธิเหนือเขตแดน, การทับซ้อนกันของพื้นที่ภูมิศาสตร์, การทับซ้อนกันของพื้นที่ปฏิบัติการขององค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ที่รวมกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ไว้ พวกเขาต้องคอยดูแลและจัดการให้เกิดความปลอดภัยและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติแบบตอนก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามกลางเมืองไปทั่วประเทศพม่า

นอกเหนือจากนี้แล้ว สมาชิกของ FPNCC ทั้งหมดกำลังมีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองที่กำลังเกิดขึ้นไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมด้วย กลุ่มอย่าง UWSA, SSPP, NDAA อาจจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบกับกองทัพเผด็จการโดยตรง แต่ในตอนนี้พวกเขาก็มีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องเขตแดนที่พวกเขาควบคุมอยู่ ไม่ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สู้รบ และกลุ่มเหล่านี้ก็กำลังปฏิบัติการเพื่อเป้าหมายการคุ้มครองพื้นที่ตัวเอง

ยกตัวอย่างเช่น UWSA ได้ยึดครองเมือง Tangyan และยังได้เคลื่อนพลเข้าไปยังล่าเสี้ยวในช่วงไม่นานนี้ด้วยเหตุผลเพื่อปกป้องประชาชนของตัวเองและผลประโยชน์ของพวกเขาเอง SSPP ยังได้ยึดครอง Mongyai ซึ่งติดกับ Tangyan ไม่นานนักหลังจาก UWSA ด้วยเหตุผลเดียวกัน ส่วน NDAA ก็ทำการเคลื่อนพลเข้าไปในหมู่บ้านต่างๆ รอบ Mong Yawng ในทางตะวันออกของรัฐฉานด้วยสาเหตุแบบเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีกรณีการปะทะกันระหว่าง MNDAA กับ SSPP และมีกรณี TNLA ปะทะกับ SSPP ด้วย รวมถึงมีความไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่ม KIA กับ TNLA และกรณี KIA กับ MNDAA รวมถึงกรณีอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาข้อพิพาทสิทธิเหนืออาณาเขตและการปักปันเขตแดน ในขณะที่ปัญหาเหล่านี้ถูกพูดถึงน้อยแต่ก็อาจจะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการปะทุขึ้นของสงครามระหว่างสมาชิกองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์หรือ EAOs ด้วยกันเองได้ทุกเมื่อ

บทวิเคราะห์เสนอว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ มันอาจจะเป็นการดีถ้าหาก EAOs ช่วยลดปัญหาความอยากขยายเขตแดนด้วยกำลังทหาร และควรจะหันมาแสวงหาวิสัยทัศน์ในวงกว้าง รวมถึงหันมาจัดตั้งสหภาพสหพันธรัฐประชาธิปไตยพม่า และปฏิบัติการเพื่อเน้นให้เกิดการแทนที่อำนาจของเผด็จการทหาร ซึ่งจะเป็นการทำเพื่อประชาชนรัฐฉาน

ดังนั้นแล้ว EAOs จึงควรปล่อยให้การจัดการต่างๆ เกิดขึ้นผ่านทางผู้ที่ได้รับเลือกตั้งหรือโดยบุคคลในท้องถิ่น อย่างเรื่อง แผนที่ทางการเมืองของตัวเอง รวมถึงการกระจายอำนาจ และการสร้างภาคส่วนการปกครองท้องถิ่นแบบใหม่ที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลกลาง ซึ่งจะเป็นหน่วยงานฝ่ายปกครองที่กำกับดูแลทั้งประเทศ พูดในอีกแง่หนึ่งคือ EAOs ที่ปฏิบัติการที่กองบัญชาการทางตอนเหนือของรัฐฉานควรจะเป็นผู้ดูแลและเป็นส่วนหนึ่งของภาคส่วนการปกครองภายใต้ FPNCC โดยอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากประชาชนในท้องถิ่น ในช่วงที่เป็นระยะเปลี่ยนผ่านก่อนที่จะมีการก่อตั้งทางการเมืองแบบองค์รวมทั่วประเทศ

บทวิเคราะห์เสนออีกว่า ในแง่นี้เอง จึงควรพิจารณาดูจุดยืนและความมุ่งมั่นทางการเมืองของ FPNCC ที่ระบุถึง "การสร้างสันติภาพสำหรับประชาชนทุกคนของพม่า พวกเรามีความมุ่งมั่นที่จะจัดตั้งสหภาพสหพันธรัฐอย่างแท้จริงโดยการันตีสิทธิในการกำหนดตนเอง, การปกครองตนเองในส่วนภูมิภาค และความเท่าเทียม เป้าหมายของ FPNCC คือการเจรจาต่อรองและให้คำปรึกษากับรัฐบาลพม่าเพื่อที่จะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และสงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุดในโลกผ่านทางวิธีการแบบการเมืองอย่างสันติ เพื่อให้เกิด สันติภาพ, เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่งคั่งที่คงอยู่ได้ยาวนาน พวกเราต้องการที่จะสร้างสหภาพสหพันธรัฐประชาธิปไตยอย่างแท้จริงที่ซึ่งจะมีการการันตีทางกฎหมายในเรื่องความเท่าเทียมทางการเมือง, สิทธิในการกำหนดตัวเองของกลุ่มชาติพันธุ์และการปกครองตนเองในระดับภูมิภาค พูดสั้นๆ คือ พวกเรากำลังเรียกร้องสิทธิในการกำหนดสถานะทางการเมืองของตัวเองอย่างอิสระและให้มีการมุ่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรมอย่างเป็นไปตามกฎหมายนานาชาติ"

สุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการที่ FPNCC ควรอาศัยการประชุมที่มีจีนเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่าง 3BHA กับ เผด็จการทหาร ในการเสนอสัญญาสงบศึกชั่วคราวอย่างน้อยก็ในทางตอนเหนือของรัฐฉาน บวกกับการเสนอตัว FPNCC ในการเป็นผู้มาเติมช่องว่างสุญญากาศทางอำนาจสำหรับช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่าน เพื่อที่ว่า กลุ่มประชาชนที่เดือดร้อนจากสงครามอย่างน้อยก็สามารถอยู่รอดได้ในสภาพที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติรวมถึงเหตุผลอื่นๆ


เรียบเรียงจาก
IN THE AFTERMATH OF LASHIO CAPITULATION: Will FPNCC fill in the power vacuum in Northern Shan State?, Shan Herald Agency For News, 05-08-2024
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net