Skip to main content
sharethis

หลังรัฐประหารพม่าและความไม่สงบในประเทศ แรงงานข้ามชาติผู้เข้าตาจนเริ่มเดินทางไปที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในลาวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่นั่นมีธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวโยงกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ทรงอำนาจมากที่สุดในพม่า

ภาพมุมสูงภาพมุมสูงเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ที่มา: SaiLP/Wikipedia

ในขณะที่นักเดินทางผ่านด่านตม.จาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ในประเทศไทยไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำของลาว (Golden Triangle SEZ) ก็จะเห็นโปสเตอร์เป็นภาษาไทย, จีน และอังกฤษ เตือนให้นักเดินทางทราบถึงอันตรายจากการค้ามนุษย์

หญิงไทยรายหนึ่งกล่าวต่อสื่อฟรอนเทียร์เมียนมาร์ ว่า "ฉันพาชาวฟิลิปปินส์กลุ่มใหญ่มาเมื่อวานนี้" เธอพูดเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2566 ตอนที่ด่านข้ามแดนแม่น้ำโขง เธอเพิ่งจะกลับจากลาว โดยลงจากเรือไม้เล็กๆ ลำหนึ่งที่พาผู้คนข้ามแม่น้ำ

ชาวฟิลิปปินส์เหล่านั้นเป็นฟันเฟืองของขบวนการหลอกลวงต้มตุ๋นขนาดใหญ่หรือที่เรียกว่าสแกมเมอร์ที่ฝังรากในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ อุตสาหกรรมสแกมเมอร์นี้พึ่งพาการบังคับใช้แรงงานและยังสามารถหลอกให้แรงงานข้ามชาติชาวพม่าหลายพันคนติดกับ เช่นเดียวกับ ยุ้นต์ทิน ซึ่งให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ 1 ปีหลังจากที่เขาเดินทางไปที่นั่น

ยุ้นต์ทิน และภรรยาของเขาอยู่ในวัย 30 เคยเป็นครูในหมู่บ้านเล็กๆ ในภาคอิรวดี ก่อนที่กองทัพพม่าจะยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทำให้ประเทศเผชิญกับวิกฤตการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจ

พวกเขาเข้าร่วมการประท้วงหยุดงานครั้งใหญ่ที่เรียกว่าขบวนการอารยะขัดขืนต่อต้านกองทัพพม่า แล้วลาออกจากงานภาครัฐไปทำการเกษตรในไร่ทุรกันดารที่พวกเขาได้เป็นมรดกตกทอดมาจากพ่อแม่ฝ่ายภรรยา แต่ด้วยว่าพวกเขามีประสบการณ์น้อยและการทำเกษตรที่มีต้นทุนสูง ทำให้พวกเขายากลำบากในการหาเลี้ยงตัวเองและลูกชายอายุ 13 ปี
ดังนั้นเมื่อเพื่อนของยุ้นต์ทินที่ทำงานอยู่ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำติดต่อเขาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เขาก็คิดว่ามันอาจจะเป็นโอกาสที่ดีก็ได้ที่จะหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว

"ผมรู้จักกับเขาตอนที่ผมไปเมืองใกล้ๆ กันเพื่อประท้วงหลังการรัฐประหาร เขาเองก็เป็นหนึ่งในครูที่ทำการอารยะขัดขืน ดังนั้นแล้วผมจึงเชื่อใจเขาโดยไม่ได้สงสัยอะไร ถึงแม้ว่าผมจะรู้อยู่ว่าแถวสามเหลี่ยมทองคำมันเป็นอย่างไรก็ตาม" ยุ้นต์ทินกล่าว

สามเหลี่ยมทองคำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในลาว และได้กลายเป็นแหล่งที่อื้อฉาวในเรื่องการพนัน, การฟอกเงิน, การค้าประเวณี, การค้ามนุษย์ และลักลอบค้าของป่า รวมถึงเมื่อไม่นานมานี้ยังมีกรณีการหลอกลวงต้มตุ๋นออนไลน์ด้วย เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2550 โดยบริษัทคิงส์โรมันกรุ๊ปที่จดทะเบียนในฮ่องกง มีผู้ดำเนินการคือ จ้าวเหว่ย ผู้ที่ถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ เมื่อปี 2561 เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าแก๊งมาเฟีย จากการที่เขามีประวัติอาชญากรรมจำนวนมาก

คล้ายกันกับเมืองอื่นๆ ที่ถูกทำให้เป็นแหล่งต้มตุ๋นของสแกมเมอร์อย่าง ชเวก๊กโก่ของพม่า และสีหนุวิลล์ของกัมพูชา เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำนั้นมีการผสมผสานกันอย่างแปลกประหลาดของความหรูหราโอ่อ่าและความเสื่อมโทรม จุดเด่นคือโรงแรมดอกงิ้วคำที่มีแสงสีแพรวพราวกับคาสิโนที่พ่วงมากับโรงแรมด้วย โรงแรมนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางสิ่งก่อสร้างที่ถูกทิ้งร้างและไซต์ก่อสร้างที่ว่างเปล่า ในช่วงที่ฟรอนเทียร์เมียนมาร์ไปเยือนเมื่อปี 2566 ห้องของโรงแรมเป็นภาพลักษณ์ของความหรูหรา แต่ทว่าบนชั้นที่ 4 ที่โฆษณาไว้ว่าจะมีบาร์, ร้านอาหาร และฟิตเนส แต่กลับไม่มี มีแต่กองวัสดุก่อสร้างเท่านั้น

รถปอร์เช, BMW และรถราคาแพงอื่นๆ ที่ดูเก่าแล่นไปบนถนนที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ รถเหล่านี้มีป้ายทะเบียนจีนหรือไม่ก็ลาว บ้างก็ไม่มีป้ายทะเบียนเลย รถอื่นๆ มีแต่ตัวเลขสี่หลักติดอยู่ที่กระจกหน้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจดทะเบียนรถของลาว

ที่คาสิโนบลูชิลด์ซึ่งติดอยู่กับโรงแรมดังกล่าว สื่อฟรอนเทียร์ได้พบเห็นคนสองคนที่ขนถุงขยะใบเขื่อง 2 ถุงที่เต็มไปด้วยเงินหยวนจากหน้าต่างแลกชิพ สถาบันบาเซิลเพื่อธรรมาภิบาล เปิดเผยว่า อาชญากรมักจะฟอกเงินผ่านทางคาสิโนด้วยวิธีการ "เอาเงินเข้าออก" จากสถานประกอบการ

รายงานของสถาบันบาเซิลฯ ระบุว่า "วิธีการที่ใช้กันมากที่สุดในการฟอกเงินแบบกายภาพหรือแบบคาสิโนออนไลน์ ก็ใช้วิธีแค่เปลี่ยนเงินสกปรกให้กลายเป็นชิพหรือหน่วยแลกเปลี่ยนอิเล็กทรอนิก พอเล่นพนันไปไม่นาน ก็จะได้เงินใหม่คืนกลับมา"

ถึงแม้ว่าจะมีบรรยากาศของพื้นที่อาชญากรรม แต่เพื่อนของยุ้นต์ทิน ก็บอกว่าเขากำลังทำงานบริการลูกค้าอย่างสุจริตในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และบอกว่ามีตำแหน่งว่างในบริษัทของเขา

"เขาบอกผมว่าในช่วงทดลองงานผมจะได้รับเงิน 3,000 หยวน ซึ่งเทียบได้กับ 1.36 ล้านจ๊าด (ราว 14,500 บาท หากเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยน ส.ค. 2567) แล้วก็อาจจะได้เงินเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ผมตัดสินใจจะไปทำงานตามเขา" ยุ้นต์ทินกล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ความเกี่ยวพันกับกองกำลังว้า

ในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ ปีนั้น ยุ้นต์ทินได้บินจากย่างกุ้งไปลงที่ท่าขี้เหล็ก เมืองของรัฐทางตะวันออกคือรัฐฉาน ที่อยู่ใกล้กับสามเหลี่ยมทองคำ สาเหตุที่สามเหลี่ยมทองคำได้ชื่อนี้เนื่องจากมันเป็นพื้นที่รอยต่อสามประเทศคือ พม่า, ไทย และลาว ที่มีแม่น้ำโขงกั้น

ยุ้นต์ทิน ข้ามแม่น้ำโขงไปยังฝั่งลาว เขาเจอเพื่อนและคนแปลกหน้าคนหนึ่งรอเขาอยู่ที่ท่าเรือผิดกฎหมายที่อีกฟากหนึ่ง
"เขาบอกว่าคนแปลกหน้าคือเพื่อนของเขา แต่คนๆ นั้นไม่สามารถพูดภาษาพม่าได้ ต่อมาผมก็รู้ว่าเขาเป็นยามให้กับบริษัท เขามีเชื้อสายว้า เขาคอยติดตามเพื่อนผมมาเพื่อให้แน่ใจว่าเพื่อนของผมจะไม่หนีไป" ยุ้นต์ทินอธิบาย
มีประชากรชาวว้าราว 800,000 คน ที่อาศัยในพม่า แต่ชาวว้าจำนวนมากพูดภาษาว้าหรือจีนกลางแทนที่จะพูดภาษาพม่า

ถั่นลวิน นายหน้าจัดหาแรงงานข้ามชาติพม่าบอกว่ามันเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำอย่างผิดกฎหมายโดยการติดสินบนเจ้าหน้าที่ เขาบอกว่าเจ้าหน้าที่ด่านตรวจส่วนมากเป็นตำรวจลาวหรือทหารว้าที่ติดอาวุธ แล้วบางครั้งก็มีผู้ช่วยที่เป็นคนพูดภาษาพม่าที่มักจะไม่มีอาวุธ

"ถ้าพวกเราจ่ายเงิน 300 หยวนให้กับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจทุกคน พวกเขาก็จะอนุญาตให้เราข้ามแดนแล้วก็เข้าไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำได้ พวกเราไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะถูกจับ ที่นี่ พวกเราแก้ปัญหาทุกอย่างได้ด้วยเงิน" ถั่นลวินกล่าว

ถั่นลวิน และยุ้นต์ทิน ต่างก็ไม่แน่ใจว่ายามรักษาความปลอดภัยของว้าที่พวกเขาเจอมีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพสหรัฐว้าหรือไม่ กองทัพสหรัฐว้าหรือ UWSA เป็นกลุ่มติดอาวุธที่ไม่อิงกับรัฐที่ใหญ่ที่สุดในพม่า UWSA ครอบครองพื้นที่กว้างใหญ่ 2 แห่งที่ไม่ได้อยู่ติดกัน หนึ่งในนั้นทางรัฐฉานตอนเหนือเป็นพื้นที่ๆ ติดกับชายแดนจีนและอีกแห่งหนึ่งในรัฐฉานตอนใต้ติดกับชายแดนไทยใกล้กับสามเหลี่ยมทองคำ

แต่ยามชาวว้าที่หนึ่งในไนท์คลับที่ใหญ่ที่สุดในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำกล่าวต่อสื่อฟรอนเทียร์เมียนมาร์ว่า ในช่วงที่พวกเขาไปเยือนในปี 2566 นั้น UWSA ทำหน้าที่เป็นกองกำลังตำรวจกองหนุนของที่นั่นโดยร่วมมือกับตำรวจแห่งชาติลาว

"ถ้าหากว่ามีกรณีอย่างการลักขโมยเกิดขึ้น ทหารว้าก็จะจัดการกับกรณีนั้น ถ้าหากว่ามีความขัดแย้งระหว่างคนจีน ทหารว้าก็จะเป็นคนไกล่เกลี่ย ถ้าหากว่ามีความขัดแย้งระหว่างคนลาว พวกเขาก็จะใช้ตำรวจลาว" ยามชาวว้าผู้ที่ทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ มาเป็นเวลา 6 ปีแล้วกล่าว

นับตั้งแต่ปีที่แล้ว รัฐบาลจีนได้ปราบปรามการหลอกลวงต้มตุ๋นออนไลน์ในตอนเหนือของรัฐฉาน ซึ่งมักจะมีการบังคับใช้แรงงานชาวจีนในการหลอกลวงต้มตุ๋นชาวจีนด้วยกันในโลกออนไลน์ รัฐบาลจีนได้กดดันให้กลุ่มติดอาวุธในพื้นที่รวมถึงกลุ่ม UWSA ด้วยในการส่งตัวชาวจีนหลายพันคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจต้มตุ๋นกลับประเทศ

ทางการจีนยังดูเหมือนจะหนุนหลังปฏิบัติการ 1027 ด้วย ซึ่งปฏิบัติการ 1027 นี้เป็นปฏิบัติการทางการทหารที่มาจากกลุ่มกองกำลังพันธมิตรสามภราดรภาพเริ่มมาตั้งแต่ 27 ตุลาคม 2566 พันธมิตรกลุ่มนี้สามารถยึดพื้นที่สำคัญๆ จากกองทัพเผด็จการพม่าได้ในทางตอนเหนือของรัฐฉาน และสามารถขจัดกองกำลังพิทักษ์ชายแดนโกก้างได้ทั้งหมด ซึ่งกองกำลังที่ว่านี้ซึ่งเป็นกองกำลังที่ขึ้นกับเผด็จการทหารและมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการต้มตุ๋นออนไลน์

ในขณะที่การต้มตุ๋นออนไลน์บางส่วนถูกทลายลงโดยสิ้นเชิงจากปฏิบัติการโจมตี แต่ก็มีการต้มตุ๋นออนไลน์อีกบางส่วนที่ย้ายหนีไปอยู่ที่อื่น ที่ๆ มีการต้นตุ๋นออนไลน์แพร่หลายเช่นกันเช่นที่เมืองเมียวดีในรัฐกะเหรี่ยง และเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในลาว

แต่กลุ่มสแกมเมอร์ก็เริ่มเข้าใจบทเรียนแล้วว่า การบังคับใช้แรงงานชาวจีนแล้วหลอกลวงต้มตุ๋นชาวจีนนั้นเสี่ยงที่จะทำให้จีนไม่พอใจและเข้ามาขัดขวางธุรกิจทั้งหมดได้ สถาบันเพื่อสันติภาพจากสหรัฐฯ ประเมินว่าแก๊งอาชญากรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำการหลอกลวงต้มตุ๋นได้ถึง 64,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 2.2 ล้านล้านบาท) มีผลประโยชน์ที่เดิมพันอยู่มาก ดังนั้นแล้วแก๊งจำนวนมากจึงหันมาใช้วิธีการค้ามนุษย์คนงานที่ไม่ใช่ชาวจีนแทนอย่างยุ้นต์ทินผู้ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ และใช้ภาษาอังกฤษในการหลอกลวงต้มตุ๋นเหยื่อที่พูดภาษาอังกฤษได้แทน

เข้าไปในถิ่นอันตราย

หลังจากที่ผ่านแดนเข้าไปที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำโดยไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ก็มีรถนำยุ้นต์ทิน ไปที่สถานที่แห่งหนึ่งที่มีประตูรั้วปิดล้อมและมีอาคาร 5 ชั้น ในช่วงที่สื่อฟรอนเมียร์เมียนมาร์ไปเยือนนั้น เมืองๆ นี้เต็มไปด้วยอพาร์ทเมนต์ที่ล้อมด้วยรั้วสูง 10 ฟุต ซึ่งมักจะเป็นรั้วลวดหนาม มีป้อมยามที่ประตู แต่สิ่งที่ต่างออกไปจากสถานที่พักอาศัยหรูๆ นั้นก็คือ ยามเฝ้าประตูไม่ได้คอยเฝ้าเพื่อกันไม่ให้คนนอกเข้า แต่เพื่อกันไม่ให้คนในออก

"ผู้จัดการบริษัทบอกผมว่า ผมจะต้องเซ็นสัญญา 6 เดือนเพื่อที่จะทำงานที่นี่ได้" ยุ้นต์ทินกล่าว "สัญญาเขียนเป็นภาษาจีน ดังนั้นแล้วผมจึงรู้สึกไม่สบายใจเล็กน้อย แต่เพื่อนผมก็เกลี้ยกล่อมให้ผมเซ็นสัญญา ผมจึงทำตาม พวกนั้นไม่ได้จัดให้ผมไปทำงานอะไรมากในตอนแรก แต่แค่ให้ผมคุ้นเคยกับระบบคอมพิวเตอร์"

สามวันถัดจากนั้น เพื่อนของยุ้นต์ทินก็บอกเขาว่าเขาจะต้องไปเยี่ยมครอบครัวที่พม่าเพราะเขามีวันหยุด 10 วัน แต่เขาก็ไม่เคยกลับมาเลย แต่ในที่สุดยุ้นต์ทินก็เข้าใจว่าเพื่อนของเขาได้พาเขามาที่บริษัทนี้เพื่อจะให้มาแทนที่เขา ทำให้เขาออกไปจากที่นี่ได้

"ถึงตอนที่ผมรู้เรื่องนี้ มันก็สายไปแล้ว มันไม่ใช่บริษัทการท่องเที่ยวเลยแม้แต่น้อย มันคือบริษัทแนวฉาเปี้ยน" ยุ้นต์ทินกล่าว ซึ่งคำว่าฉาเปี้ยนนี้ เป็นภาษาจีนที่แปลว่าการหลอกลวงต้มตุ๋น

บริษัทนี้ใช้วิธีการทั่วไปที่เรียกว่า "pig butchering" หรือ "ขุนหมูแล้วขึ้นเขียง" ที่เปรียบเปรยกับการหลอกสร้างความไว้วางใจแก่เหยื่อก่อน เสมือนกับการขุนหมูให้อ้วน ก่อนที่จะทำการขึ้นเขียงเชือด คือการหลอกลวงและกดขี่ผู้คนเหล่านั้น วิธีการคือหลังจากที่บริษัทจำพวกนี้พบเห็นเป้าหมายบนโซเชียลมีเดีย พวกสแกมเมอร์ก็จะโน้มน้าวเหยื่อให้ลงทุนในการเงินแบบคริปโตในแพลตฟอร์ม และมักจะทำไปพร้อมๆ กับการสร้างความสัมพันธ์แบบชู้สาวกับพวกเขาไปด้วย ในตอนแรกนักลงทุนที่ระมัดระวังก็มักจะลงเงินไปจำนวนเล็กน้อยก่อน แต่ไม่นานนักก็จะเห็นว่าผลตอบแทนน่าประทับใจ จูงใจให้พวกเขาลงทุนมากขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่แพลตฟอร์มที่ว่านี้ไม่ได้มีอยู่จริงและผลกำไรตอบแทนนักลงทุนก็เป็นเรื่องหลอกลวง หลังจากที่คนลงทุนสะสมผลตอบแทนได้จำนวนมากพอแล้ว ก็จะเริ่มทำการ "เชือดหมู" มีการถอนเงินเหล่านั้นออกไปจนหมดและเหยื่อก็ถูกปิดกั้นการสื่อสารกับพวกเขาในทุกช่องทาง

"ผมต้องคอยหาคนเพื่อหลอกลวงต้มตุ๋นผ่านทางโซเชียลมีเดีย พวกเขาวางเป้าหมายให้พวกเรา ... เช่นว่า คนทำงานจะต้องทำรายได้ให้บริษัท 10,000 หยวนต่อเดือน (ราว 48,000 บาท)" ยุ้นต์ทินกล่าว "ถ้าหากว่าคนทำงานทำยอดได้ง่ายๆ พวกเขาก็จะเพิ่มเป้าหมายให้คนทำงานเหล่านี้ทุกเดือนๆ"

ถึงแม้ว่าสิ่งต่างๆ ที่เพื่อนของยุ้นต์ทินบอกกับเขาจะเป็นเรื่องโกหกโดยส่วนใหญ่ แต่เรื่องเงินเดือนที่ได้ก็เป็นเรื่องจริง ยุ้นต์ทิ ได้เงินเดือน 3,000 หยวนต่อเดือน ซึ่งทำให้เขาสามารถส่งเงินกลับไปที่บ้านเขาที่พม่าได้

ภาษาอังกฤษของยุ้นต์ทิน ดีพอที่จะแช็ตผ่านตัวอักษร ดังนั้นแล้วเขาจึงถูกจัดวางให้ทำหน้าที่หลอกลวงต้มตุ๋นกลุ่มเหยื่อ 50 รายที่ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ เขาทำการต้มตุ๋นผ่านทางโซเชียลมีเดียเพจที่เขาตั้งเป็นชื่อผู้หญิงและแกล้งเล่นละครตบตาว่าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ถ้าหากว่าเหยื่อเริ่มสงสัยแล้วขอให้เขาพูดด้วยผ่านทางโทรศัพท์ คนทำงานที่เป็นผู้หญิงที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีก็จะมาทำหน้าที่รับโทรศัพท์แทน เนื่องจากเวลาตื่นนอนของฝั่งทวีปอเมริกาต่างจากเอเชียทำให้ ยุ้นต์ทิน ต้องทำงานวันละ 13 ชั่วโมง ซึ่งเริ่มทำงานตั้งแต่ 3 ทุ่ม ไปจนถึง 10 โมงเช้าของอีกวัน ส่วนสแกมเมอร์อื่นๆ จะทำงานในช่วงเวลาที่ต่างกันขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาเน้นหลอกลวงคนในภูมิภาคไหนของโลก รวมถึงมีอยู่บางส่วนที่ยังคงวางเป้าหมายหลอกลวงคนในประเทศจีน

เช่นเดียวกับศูนย์ปฏิบัติการสแกมเมอร์ที่อื่นๆ อีกจำนวนมาก คนทำงานที่บริษัทของยุ้นต์ทินถูกควบคุมและจำกัดอย่างหนัก รวมถึงมีการลงโทษหนักต่อคนที่ทำยอดได้ไม่ถึงเป้าหมาย

ยุ้นต์ทิน บอกว่าพวกเขาถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานที่ทำงานเป็นส่วนใหญ่ ถูกปล่อยให้ออกไปเที่ยวในเมืองได้แค่เดือนละ 1 วัน แต่จะต้องเป็นคนที่ทำยอดได้ตามเป้าเท่านั้น คนที่ทำไม่ได้ตามเป้าหมายจะถูกตัดเงินเดือนหรือแม้กระทั่งถูกสั่งปรับ ถ้าหากพวกเขาไม่สามารถจ่ายค่าปรับได้พวกเขาก็จะถูกทุบตีแล้วก็ถูกขายต่อไปให้กับนายหน้าผู้ที่พาตัวพวกเขาไปยังแหล่งสแกมเมอร์แหล่งใหม่

สแกมเมอร์จำนวนมากเป็นคนที่ถูกหลอกมาทำงานนี้ แต่จากการเฝ้าดูโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่าง TikTok, Facebook และ Telegram แล้ว สื่อฟรอนเทียร์เมียนมาร์ก็พบว่ามีบริษัทจำนวนมากที่โฆษณารับสมัครงานสแกมเมอร์ออนไลน์ผ่านทางพื้นที่เหล่านี้ด้วย

มะจ่อจ่อ เดินทางมาที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสมาเหลี่ยมทองคำเมื่อเดือนธันวาคม 2566 เพื่อหางาน แต่หลังจากที่หางานมาเดือนหนึ่งแล้ว ผู้อพยพชาวพม่ารายนี้ก็เข้าไปทำงานในบริษัทหลอกลวงต้มตุ๋นทั้งที่รู้ดี

"ผู้จัดการบริษัทผมไม่ได้เข้มงวดมาก พวกเราได้รับเงินน้อยกว่าที่อื่นบางแห่ง แต่พวกเราก็ไม่ได้ถูกกดดันมาก แล้วพวกเราก็ได้วันหยุดสองวันต่อเดือน" เธอกล่าวให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ต่อฟรอนเทียร์เมียนมาร์ "ผู้จัดการคนอื่นๆ บางคนหยาบคายและปฏิบัติต่อคนงานเยี่ยงทาส"

เธอบอกอีกว่าบริษัทเหล่านี้มีคนทำความสะอาดห้องให้พวกเขาและซักผ้าให้พวกเขา ทำให้พวกเขาสามารถ "เน้นความสนใจไปที่การค้นหาคนมาหลอกลวงต้มตุ๋นออนไลน์ได้ แต่มันก็ยังเป็นเรื่องชวนให้เครียดในวันที่พวกเขาไม่สามารถหาคนมาให้หลอกได้"
มะชอว์ชอว์ บอกว่าเพื่อร่วมงานเธอบางคนดูเหมือนว่าพวกเขาถูกหลอกไปทำงานที่นั่น แล้วทุกคนก็ถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของตัวเองรวมถึงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เธอบอกว่าตัวเธอเองก็เคยเผชิญกับการล่วงละเมิดทางวาจาและถูกตัดเงินเดือนเป็นบางครั้ง แล้วก็ได้เห็นคนงานคนอื่นๆ ถูกปฏิเสธไม่ให้อาหารเพื่อเป็นการลงโทษที่ทำผลงานได้ไม่ดี

แต่สำหรับยุ้นต์ทินแล้ว ไม่นานนักเขาก็รู้สึกว่าแรงกดดันเริ่มจะมากเกินไป "ผมไม่มีความสุขกับงานเลย ดังนั้นแล้วหลังจากนั้น 3 เดือน ผมก็บอกกับผู้จัดการว่าผมอยากลาออก ... เขาบอกผมว่าถ้าหากผมต้องการจะลาออก ผมจะต้องจ่ายเงินเดือนที่เหลืออีก 3 เดือนในสัญญาจ้างของผม" ยุ้นต์ทินกล่าว

เขาตัดสินใจจ่ายเงินที่เปรียบเสมือนค่าไถ่ที่จะทำให้เขาออกจากงานได้ อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้มีเงินอยู่กับมือเพราะได้ส่งเงินเดือนก้อนที่แล้วกลับบ้านเพื่อให้ครอบครัวเขาได้ใช้ เขายังได้ใช้เงินไปกับการเดินทางเข้าไปที่เขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย ทำให้ครอบครัวของยุ้นต์ทินถูกบีบให้ต้องเลือกทางที่ลำบากเพื่อที่จะไถ่ตัวเขาออกมาได้

"ภรรยาของผมส่งเงินมาให้ผมหลังจากที่ขายเพชรพลอยของเธอและที่ดินอีก 1 เอเคอร์ (ประมาณ 2.53 ไร่) แล้วพวกเขาก็คืนเอกสารส่วนตัวของผมที่พวกเขายึดไปในวันแรก แล้วก็อนุญาตให้ผมออกจากงาน" ยุ้นต์ทินกล่าว

ยุ้นต์ทิน กล่าวว่า มีอีกวิธีหนึ่งที่จะออกจากงานได้ คือการค้นหาคนงานคนอื่นที่จะมาแทนที่เขา แบบเดียวกับที่เพื่อนเขาทำ แต่ยุ้นต์ทินก็บอกว่า "ผมไม่อยากให้คนอื่นต้องมาทนทุกข์แบบผม"

แบบแผนของแรงงานอพยพ

แม้กระทั่งก่อนหน้าที่การสแกมจะบูมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำก็เป็นแหล่งยอดนิยมที่แรงงานอพยพจากพม่านิยมเข้าไปทำงานอยู่ก่อนแล้ว มะชอว์ชอว์ ผู้ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ต่อฟรอนเทียร์เมียนมาร์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาเคยทำงานรับจ้างทำความสะอาดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา เธอบอกว่าก่อนหน้าที่จะเกิดโรคระบาดใหญ่ COVID-19 แรงงานชาวพม่าส่วนใหญ่จะทำงานก่อสร้าง, ทำความสะอาด และงานซ่อมบำรุง หรืองานในครัว

ในตอนที่สื่อฟรอนเทียร์ไปเยือนเมื่อปี 2566 ไซต์ก่อสร้างแทบทั้งหมดเต็มไปด้วยคนนุ่งผ้าโลงจีและรองเท้าแตะ มีการพูดคุยด้วยภาษาพม่าเป็นพักๆ แทรกเสียงเครื่องจักรใหญ่ออกมา ในตอนกลางคืน ช่วงเดียวกับที่นักท่องเที่ยวจีนวางเดิมพันเงินก้อนใหญ่ในคาสิโนที่ดูทันสมัยและเต็มไปด้วยแสงสี แรงงานอพยพชาวพม่าก็เข้าไปอยู่อย่างแออัดในบ่อนโทรมๆ ที่เต็มไปด้วยควันบุหรี่พม่าเพื่อเล่นการพนันแบบของพม่าอย่างกะล็อก-กะล็อก ที่มีการทอยลูกเต๋ายักษ์ที่แต่ละด้านจะมีรูปสัตว์ต่างๆ อย่าง นกยูง, เสือ, ม้าบิน โดยคนเล่นพนันจะวางเงินเดิมพันลงที่รูปบนผ้าปูโต๊ะ ซึ่งมีคนจำนวนมากที่ลงพนันรูปนกยูงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดีนำมาใช้ รวมถึงขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตยในพม่าก็นำมาใช้ด้วย "อาเหม่ ซู อาเหม่ ซู" ชาวพม่าร้องภาวนาว่า “แม่ซู แม่ซู” ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกอองซานซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี เพื่อเรียกโชคก่อนที่จะทอยลูกเต๋า 

แต่มะชอว์ชอว์ ก็กล่าวเมื่อไม่นานนี้ว่ากลุ่มประชากรเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีคนหนุ่มสาวและมีการศึกษาชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในศูนย์สแกมมากขึ้นแทนที่จะทำงานใช้แรงงานค่าจ้างต่ำ

"พวกเขาวางเป้าเป็นคนงานที่มีทักษะด้านคอมพิวเตอร์ ถ้าหากคนงานสามารถเขียนหรือพูดภาษาอังกฤษได้พวกเขาจะเสนอให้เงินเดือนสูง" มะชอว์ชอว์กล่าว และบอกอีกว่าบางคนอาจจะได้เงินเดือนถึง 3-4 ล้านจ๊าด (ราว 31,000-42,000 บาท หากเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยน ส.ค. 2567)

สมาชิกองค์กรให้ความช่วยเหลือแรงงานอพยพในเขตเศรษฐกิจพิเศษแสดงความคิดเห็นแบบไม่เปิดเผยชื่อว่า นายหน้าผู้ที่มาจากพม่าเช่นเดียวกันมีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้แรงงานที่นั่น

"พวกเราจะขายคนงานให้กับนายหน้าคนอื่น ถ้าหากว่าบริษัทมีคนงานมากเกินพอแล้ว คนงานไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพวกเขาถูกขายต่อ บางครั้งบริษัทก็ปรับเงินนายหน้าถ้าหากคนงานถูกไล่ออกเพราะทำงานได้ไม่ดีพอ ถ้าหากเป็นเช่นนั้นนายหน้าก็จะขายพวกเขาต่อไปยังสถานที่ทำงานที่แย่กว่า" คนทำงานช่วยเหลือผู้อพยพบอกอีกว่ามีผู้หญิงบางคนที่ถูกขายต่อให้ไปค้าประเวณีด้วย

ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่ามีผู้อพยพที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำกี่คน แต่กลุ่มให้ความช่วยเหลือก็ประเมินว่าตัวเลขผู้อพยพพม่าที่นั่นอยู่ที่ระหว่าง 40,000-50,000 คน

ปีเตอร์ ยุ้นต์หม่อง รองประธานสหพันธ์หน่วยงานจัดหางานต่างประเทศของพม่า กล่าวกับสื่อฟรอนเทียร์ว่ารัฐบาลพม่าอนุญาตให้แรงงานพม่าเดินทางไปลาวทางเครื่องบินได้เท่านั้น และไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้อพยพในลาว

แต่ถึงแม้ว่าจะมีสนามบินเปิดใหม่ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำไม่นานนีก แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีการบินโดยสารที่นั่น และผู้อพยพส่วนมากก็ดูเหมือนจะเดินทางเข้าไปที่นั่นผ่านช่องทางผิดกฎหมายทางแม่น้ำโขงเท่านั้น

แรงงานอพยพ 7 คน กล่าวต่อสื่อฟรอนเทียร์ว่าพวกเขาเลือกลาวแทนประเทศอื่นๆ เพราะว่าค่านายหน้าถูกกว่ามาก อยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านจ๊าด (ราว 13,800 บาท) รวมค่าเดินทางแล้ว เทียบกับ 2 ล้านจ๊าด (ราว 21,200 บาท) เพื่อไปที่ไทยและประมาณ 5 ล้านจ๊าด (ราว 53,000 บาท) เพื่อไปที่มาเลเซีย แรงงานผู้ที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่แล้วมักจะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียม 200,000 จ๊าด (ราว 2,100 บาท) ให้กับนายหน้าแต่กลุ่มสแกมเมอร์จะไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพราะบริษัทจะจ่ายให้นายหน้าโดยเฉพาะเพื่อหาตัวคนงานเหล่านี้

ในขณะที่ผู้อพยพสามารถเข้าออกเมืองได้โดยไม่ต้องมีเอกสารใดๆ พวกเราจะถูกบอกให้ต้องจดทะเบียนที่สำนักงานนิเทศแรงงานที่ดำเนินการโดยฝ่ายบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษของจ้าวเหว่ย ถ้าหากพวกเขาได้รับการรับรองจากนายจ้างพวกเขาก็จะสามารถรับบัตรแรงงานและหนังสือรับรองสถานะผู้พำนักชั่วคราว

การจดทะเบียนจะต้องมีการต่ออายุทุกๆ 6 เดือนด้วยเงินค่าธรรมเนียม 800 หยวน (ราว 3,800 บาท) นายหน้าชื่อถั่นลวินบอกว่าเพราะราคาแบบนี้เอง คนจำนวนมากถึงหลีกเลี่ยงที่จะจดทะเบียน

"ถ้าพวกเขาไม่มีเอกสาร พวกเราก็จะต้องเล่นซ่อนหากับตำรวจ แต่การจับกุมแรงงานจะมีการปล่อยตัวได้ง่ายมาก แค่จ่ายค่าปรับ 1,000 หยวน (ราว 4,800 บาท) กับการยืนยันจากหัวหน้างานหรือนายหน้าของพวกเขา" ถั่นลวินกล่าว

ถึงแม้ว่าจะมีความหละหลวมจากรัฐบาล แต่ผู้อพยพก็มีสิทธิน้อยมากและเผชิญกับการกดขี่ขูดรีดแรงงานได้ง่ายมาก มะชอว์ชอว์สมาชิกกลุ่มให้ความช่วยเหลือกล่าวว่าหัวหน้าที่เขตเศรษฐกิจพิเศษรู้เรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในพม่า รวมถึงเรื่องการสู้รบและการเพิ่มการเกณฑ์ทหารเมื่อไม่นานนี้ แล้วก็มีการอาศัยเรื่องนี้มาเอาเปรียบคนงาน

"มีนายจ้างจำนวนมากที่จ่ายเงินให้คนงานพม่าน้อยกว่าที่พวกเขาควรจะได้ มีหัวหน้าบางคนไม่ได้ให้เงินเดือนกับคนงานเลยเมื่อทำงานเสร็จแล้ว" มะชอว์ชอว์ กล่าว

มะชอว์ชอว์ เรียกร้องให้คนที่อยากอพยพคิดให้ดีก่อนที่จะมาที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ โดยเตือนว่าโครงการก่อสร้างจำนวนมากยุติลงหลังจากที่เกิดการระบาดของ COVID-19 และงานสายการบริการก็จำเป็นต้องอาศัยทักษะภาษาจีน

"งานสุจริตหายาก และมีชาวพม่าจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ถูกบีบให้ต้องเข้าสู่ที่ทำงานที่มีความเสื่อมทรามทางศีลธรรม" มะชอว์ชอว์กล่าว "ฉันไม่อยากให้ชาวพม่ามาที่ประเทศนี้ (ลาว) โดยเฉพาะผู้หญิง มันอันตรายมาก"

เรียบเรียงจาก

‘Like slaves’: Myanmar workers trafficked to Laos scam hub, Frontier Myanmar, 19-06-2024

Golden Triangle Special Economic Zone, Wikipedia (เข้าถึงเมื่อ 18 ส.ค. 2024)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net