Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงานเผยเร่งประกันสังคมเดินหน้าอนุมัติสิทธิว่างงานเหตุสุดวิสัยให้ผู้ประกันตน ระบุจ่ายไปแล้วกว่า 2.5 พันล้าน โฆษกก้าวไกลชี้ 3 ปัญหาที่ทำให้ประกันสังคมจ่ายล่าช้า ด้าน ปธ.กมธ.แรงงานเตรียมข้อเสนอยื่นต่อรัฐบาลช่วยเหลือแรงงานทั้งในและนอกระบบ

6 พ.ค.2563 จากปัญหาของระบบประกันสังคมในการตอบสนองปัญหาช่วงโควิด 19 ระบาดนี้ สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับการดำเนิงานจ่ายสิทธิประโยชน์ว่าเนื่องจากเหตุสุดวิสัยในกรณีที่ลูกจ้างผู้ประกันไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน อันเนื่องมาจากสัมผัสหรือไกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือเนื่องจากนายจ้างหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนได้รับผลกระทบและไม่ได้รับค่าจ้างสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ได้รับคือ สิทธิกรณีว่างงานร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวันไม่เกิน 90 วัน ซึ่งจากการได้ลงพื้นที่เร่งรัดให้ดำเนินการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุ

สุดวิสัยนั้นแล้วเสร็จ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้าง ผู้ประกันตนนั้น สำนักงานประกันสังคมได้ทยอยจ่ายเสร็จสิ้นไปกว่าครึ่งจากจำนวนผู้มีสิทธิ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 จำนวน 990.523 ราย เจ้าหน้าที่วินิจฉัยอนุมัติแล้วจำนวน 492,273 ราย เป็นงินจำนวน 2,563.612 ล้านบาท

รมว.แรงงานกล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้ดำเนินการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แล้วเสร็จงวดแรก ภายในวันที่ 15 พ.ค.2563 สำหรับในกรณีที่สถานประกอบการที่หยุดประกอบกิจการชั่คราว และไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมขอให้สถานประกอบการกลุ่มดังกล่าวเร่งดำเนินการรับรองการหยุดของลูกจ้าง ซึ่งพบว่ามีผู้ประกันตน จำนวน 289,104 รายที่รอนายจ้างเข้ามารับรองสิทธิ สถานประกอบการกลุ่มนี้จะได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน รวมทั้งได้รับหนังสือแจ้งเตือนจากสำนักงานประกันสังคมเร่งรัดให้เข้ามารับรองการหยุดงานของลูกจ้าง ภายในวันที่ 8 พ.ค. 2563

ส่วนกรณีลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ได้รับการวินิจฉัยปฏิเสธไม่ได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย นั้น ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม ได้เตรียมความพร้อมรองรับข้ออุทธรณ์จากผู้ที่ได้รับการปฏิเสธสิทธิดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการอุทธรณ์ในการร่วมพิจารณาวินิจฉัยให้กับผู้ที่ได้รับการปฏิเสธการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยแล้ว อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ประกันตนที่ได้รับการปฏิเสธสิทธิดังกล่าว รีบยื่นอุทธรณ์ต่อสำนักงานประกันสังคมโดยทันทีศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

'ก้าวไกล' ชี้ 3 ปัญหาประกันสังคมจ่ายล่าช้า 

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงมติ ครม.เรื่องขยายความครอบคลุมผู้ประกันตนมาตรา 33 ว่างงานจาก “เหตุสุดวิสัย” เพื่อให้ผู้ประกันตน ที่ว่างงานจากผลกระทบจากโควิด-19 สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 62% ของค่าจ้างรายวัน (ฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท) ไม่เกิน 90 วัน [1] รวมทั้งมีการเพิ่มเงินทดแทนกรณีว่างงาน โดยกรณีลาออกปรับเพิ่มเป็น 45% 90 วัน (เดิม 30%) และกรณีถูกเลิกจ้างปรับเพิ่มเป็น 70% 200 วัน (เดิม 50% 180 วัน) ซึ่งจริงๆ แล้วถือเป็นข่าวดีมากๆ ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 11.7 ล้านคน

แต่ในทางปฏิบัติ พบว่ามีการจ่ายชดเชยได้ล่าช้ามากๆ เพราะข้อมูลวันที่ 4 พ.ค. จากผู้ประกันตนที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานกรณีเหตุสุดวิสัยจากโควิด-19 1,177,841 คน ซึ่งพบว่าเป็นผู้มีสิทธิ์จำนวน 958,304 ราย นั้นจ่ายไปแล้วเพียง 455,717 คน คิดเป็น 44.55% เท่านั้นเอง ยังมีผู้ประกันตนรอคอยอยู่อีกถึง 52.45%

เมื่อดูข้อมูลระหว่างวันที่ 3 และวันที่ 4 เม.ย. พบว่าใน 1 วันสามารถจ่ายเพิ่มได้ 29,359 ราย ดังนั้นด้วยสถานการณ์ที่มีผู้ยื่นเรื่องเข้ามาเฉลี่ยวันละ 30,000 ราย นั่นเท่ากับว่ากว่าผู้ประกันตนจะได้รับการจ่ายเงินชดเชยเยียวยา คงต้องกินระยะเวลาอีกนานพอสมควรแน่ๆ อย่างแน่ๆ ผู้มีสิทธิ์อีกยังตกค้างอยู่ 502,587 คน ก็ต้องรออย่างน้อยๆ ก็อีก 17 วัน สำหรับผู้ประกันตนที่เพิ่งยื่นขอรับสิทธ์เข้ามา หากยังไม่มีการปรับปรุงระบบการทำงานอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจจะต้องรอนานกว่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะรอนานถึงเกือบ 1 เดือน หรือกว่านั้น

ปัญหาการจ่ายชดเชยล่าช้า ไม่ใช่แค่ประชาชนนะครับที่รู้สึกคับแค้น แม้แต่เจ้าหน้าที่ประกันสังคมเองก็รู้สึกอึดอัด ใจก็อยากจะจ่ายให้เร็ว แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะการทำงานที่ต้องเจอกับปัญหาของระบบคอมพิวเตอร์ที่ล้าหลัง ต้องมีงานตรวจเอกสารด้วยตาจนตาลาย ต้องรีคีย์บันทึกข้อมูลซ้ำ เยอะแยะเต็มไปหมดแล้ว ยังต้องติดหล่มกับหลักเกณฑ์หยุมหยิมต่างๆ มากมาย ถ้าทำผิดหลักเกณฑ์ ก็อาจจะต้องเดือดร้อนถูกลงโทษทางวินัย ถูกดำเนินคดีอาญา และรับผิดชอบทางแพ่ง ตามมาในอนาคต

ปัญหาโครงสร้างของรัฐราชการ ที่เน้นการทำงานที่เอาหลักเกณฑ์เป็นที่ตั้ง (Criteria based) ไม่ได้เอาปัญหาของประชาชนเป็นฐาน (Problem based) ต่อให้ประชาชนจะเดือดร้อนแสนสาหัสแค่ไหน ถ้าไม่เข้าหลักเกณฑ์ ก็ต้องปล่อยให้ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัสอยู่อย่างนั้น กว่าจะคิดแก้ไข ปรับเปลี่ยน หลักเกณฑ์ ก็ตั้งท่านานมากๆ สุดท้ายประชาชนก็ต้องมาบริจาคช่วยกันเองอยู่ร่ำไป กว่าหลักเกณฑ์จะถูกแก้ไข ถ้าประชาชนไม่ล้มหายตายจาก ก็ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสเสียก่อน

นอกจากนี้ รัฐราชการยังมีทัศนคติที่เชื่อว่า ขั้นตอนงานเอกสารจำนวนมาก จะช่วยป้องกันการทุจริตได้ ทั้งๆ ที่ขั้นตอนงานเอกสารที่วุ่นวายเหล่านั้น มีแต่ทำให้ประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชนลดต่ำลง โดยไม่ได้ช่วยป้องกันการทุจริตอะไรได้อย่างมีนัยสำคัญเลย การป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นได้ดีที่สุด ก็คือ การเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะ (Open Data) ให้มีความโปร่งใสที่สุด โดยประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบได้ แต่ปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐก็มีข้อจำกัดเป็นอย่างมาก เรื่องที่ควรทำกลับไม่ทำ เรื่องที่ไม่ควรทำกลับทำเสียวุ่นวาย นี่คือปัญหาของรัฐราชการ ที่เป็นการบ้านของสังคมไทย ที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเร็ววันในอนาคต

ปัญหาการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานกรณีเหตุสุดวิสัยจากโควิด-19 ล่าช้า นั้น โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า เบื้องต้นมีทั้งสิ้นอยู่ 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่งคือ มีประชาชนที่ไปติดต่อกับประกันสังคม เพื่อขอรับเงินชดเชยการว่างงานกรณีเหตุสุดวิสัยจากโควิด-19 ได้ร้องเรียนมาว่า ได้รับเอกสารจากประกันสังคมซึ่งในหมายเหตุระบุว่า “กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษกิจ/โรคโควิด-19/นายจ้างไม่ให้ทำงาน ไม่ถือว่า เป็นเหตุสุดวิสัยตามกฎหมาย ซึ่งเอกสารดังกล่าวนี้ ขัดกับกฎกระทรวงที่ประกาศเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ซึ่งกำหนดให้นิยามของคำว่า “เหตุสุดวิสัย” นั้นครอบคลุมถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 … และถึงขนาดที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงาน หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ

ประเด็นดังกล่าวนี้ มีข้อสงสัยอยู่หลายกรณีมาก เช่น

- วลีที่ว่า “ถึงขนาดที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงาน หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ” นั้นครอบคลุมสาเหตุใดบ้าง

- หากนายจ้างไม่ได้หยุดกิจการ แต่ด้วยข้อจำกัดจึงสั่งให้ลูกจ้างไม่มาทำงาน เช่น กรณีร้านอาหารที่ต้องขายแบบออนไลน์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องสั่งให้ลูกจ้างจำนวนหนึ่งไม่ให้มาทำงาน และไม่จ่ายค่าจ้าง นั้นเข้าข่ายเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เพราะอย่างกรณีพนักงานร้านอาหารญี่ปุ่นที่ฆ่าตัวตาย [5] ซึ่งตามข่าวระบุว่า ได้ถูกหยุดพักงาน แต่กลับไม่ได้รับเงินชดเชยการว่างงาน เนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์ ในกรณีนี้คงต้องพิจารณารายละเอียด และประกันสังคมควรจะต้องชี้แจง เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะยังมีผู้ประกันตนอยู่มากถึง 200,000 คน ที่ถูกระบุว่าเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 [6]

หากตีความอย่างเป็นธรรมตามกฎกระทรวงทีประกาศไว้ ณ วันที่ 17 เม.ย. ลูกจ้าง (ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือนในรอบ 15 เดือน) ที่ถูกนายจ้างสั่งพักงาน และไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ ซึ่งเป็นผลมาจากคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม นั้นควรเข้าข่าย “เหตุสุดวิสัย” ทั้งสิ้น [7] ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ อยากให้ทางประกันสังคมออกมาชี้แจงให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง เพราะในสภาวการณ์เช่นนี้ ซึ่งนายจ้างก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน หากให้ลูกจ้างไปฟ้องนายจ้างตามมาตรา 75 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพื่อบังคับนายจ้างให้จ่ายเงิน ร้อยละ 75 ของค่าจ้าง ให้กับลูกจ้าง คงเป็นเรื่องที่ยากมากๆ และกว่าลูกจ้างจะได้รับเงิน คงต้องใช้ระยะเวลาที่นานมากอีกเช่นกัน

ประเด็นของนิยามของคำว่า “เหตุสุดวิสัย” นี้สำคัญมาก จึงควรกำหนด หลักเกณฑ์ และชี้แจงให้ชัดเจน โดยคำนึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นของลูกจ้าง และนายจ้าง เป็นสำคัญ และเร่งเยียวยาให้แก่ลูกจ้าง ที่เป็นผู้ประกันตนอย่างเร่งด่วนที่สุด

ประเด็นที่ 2: ข้อจำกัดของระบบ IT ของประกันสังคม

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับความล่าช้าของการจ่ายเงินชดเชยว่างงาน ว่าส่วนหนึ่งมาจากความล้าหลังของระบบ IT ที่ชื่อว่า SAPIENS ที่ประกันสังคมใช้มานานกว่า 20 ปี ซึ่งที่ผ่านมามีการตั้งงบประมาณในการพัฒนาระบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งประกันสังคมต้องตอบคำถามเหล่านี้ว่า งบประมาณที่เคยลงไป เพื่อพัฒนาระบบ IT ให้ทันสมัย เหตุใดถึงไม่ประสบความสำเร็จ

เบื้องต้นเข้าใจว่ากระทรวงแรงงานก็รับทราบปัญหานี้ดี จึงได้มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ 1,200 คน เพื่อเข้ามาตรวจสอบสิทธิ์ เพื่อเร่งการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประกันตน [9] ซึ่งหากการเพิ่มคน ทำให้การจ่ายเงินเยียวยาชดเชย เร็วขึ้น เฉพาะหน้ากระทรวงแรงงาน ก็อาจจะพิจารณาเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้นกว่านี้อีกก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องระบบ IT ของประกันสังคม ก็คงจะต้องเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องเร่งปรับปรุงอย่างเร่งด่วน จะปล่อยเอาไว้อย่างนี้ไม่ได้ ปัญหาในประเด็นนี้ ทำให้ประชาชนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับระบบ IT ของราชการเป็นอย่างมาก อย่างกรณีจ่ายเงินเยียวยา 5,000 ก็เป็นระบบ AI กำมะลอ ส่วนประกันสังคงก็เป็นระบบล้าหลัง 20 กว่าปี

ประเด็นที่ 3: มาตรการที่ชัดเจน ในกรณีที่นายจ้างไม่ยอมมารับรองสิทธิให้ลูกจ้าง

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้ประกันตนล่าช้า นั้นมาจากการที่สถานประกอบการกว่า 50,000 แห่ง ไม่ยอมมารับรองสิทธิให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งมีจำนวนมากถึง 507,509 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เชื่อว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน 294,692 ราย ในประเด็นปัญหานี้ กระทรวงแรงงงานคงต้องกำหนดมาตรการให้ชัดเจนว่า จะทำอย่างไร กับนายจ้างที่ไม่ยอมมารับรองสิทธิให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งจะปล่อยให้ลูกจ้าง 294,692 ราย รอไปเรื่อยๆ อย่างสิ้นหวังไม่ได้ เบื้องต้นเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้แรงงานจังหวัดเป็นผู้ติดตามนายจ้าง หากพบว่าไม่สามารถติดต่อนายจ้างได้ และไม่ได้รับการติดต่อกลับจากนายจ้างภายใน 7 วัน ก็ให้แรงงานจังหวัดทำหนังสือรับรองแทนนายจ้าง เพื่อให้ประกันสังคมสามารถจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับลูกจ้าง 294,692 คน ได้ เรื่องนี้สำคัญมากๆ จะดองเรื่องรอนายจ้างไปเรื่อยๆ ไม่ได้

อีกเรื่องหนึ่ง ที่รัฐบาล และประกันสังคม จะต้องวางแผนเอาไว้ให้ดีๆ ก็คือ เงินกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ 2,177,473 ล้านบาท ซึ่งมีการจัดสรรเป็นกองทุนทดแทนการว่างงานอยู่ทั้งสิ้น 181,641 ล้านบาท ซึ่งเงินเกือบ 2 แสนล้านนี้เอง จะใช้เป็นกำลังหลักในการเยียวยาปัญหาการว่างงานให้กับผู้ประกันตน ทั้งในตอนนี้ และในอนาคต

จากข้อมูลมีการจ่ายไปแล้ว 455,717 ราย ใช้เงินไปทั้งสิ้น 2,354 ล้านบาท (1 เดือน) ในกรณีจ่ายครบ 958,304 ราย ครบ 90 วัน ก็จะใช้เงินทั้งสิ้น 14,850 ล้านบาท ซึ่งกองทุนทดแทนการว่างงานที่มีอยู่ทั้งสิ้น 181,641 ล้านบาท ในเบื้องต้น ณ ขณะนี้ ยังสามารถรองรับได้อย่างแน่นอน ไม่มีอะไรต้องเป็นกังวล แต่รัฐบาล และประกันสังคม  รับรู้ดี8คือปัญหาการระบาดของโควิด-19 นั้นเป็นปัญหาในระยะยาว ที่มีการประเมินกันไว้ว่า อาจจะมีคนตกงานสูงถึง 7,130,200 คน ซึ่งหากประเมินว่าในจำนวนนี้ มีร้อยละ 45.7 [13] เป็นแรงงานในระบบ ก็จะมีคนที่ขอรับเงินชดเชยกรณีว่างงานสูงถึง 3.4 ล้านคน ซึ่งอาจะต้องใช้เงินชดเชยเยียวยา (70% ของค่าจ้าง จำนวน 200 วัน) สูงถึง 1.60-2.38 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนเงินก้อนขนาดนี้ กองทุนทดแทนการว่างงานแบกรับไม่ไหวแน่ๆ ดังนั้นปัญหาการว่างงาน จึงเป็นปัญหาใหญ่ ที่รัฐบาล และประกันสังคมต้องวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่โจทย์ที่คิดเฉพาะให้รอดไปในวันนี้เท่านั้น

จาก พ.ร.บ.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ทั้งในส่วนที่ใช้เยียวยาให้กับประชาชน 555,000 ล้านบาท และเตรียมไว้ฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 400,000 ล้านบาท รัฐบาลจึงควรจะต้องกันเอาไว้ส่วนหนึ่งประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่ออุดหนุนให้ประกันสังคม สามารถจ่ายชดเชยเยียวยาให้กับแรงงานในระบบ ที่อาจจะถูกเลิกจ้างในอนาคตด้วย

เรื่องแบบนี้ ต้องกำหนดฉากทัศน์ (Scenario) เอาไว้ล่วงหน้า และเตรียมมาตรการ และจัดสรรงบประมาณเอาไว้ หากเกิดปัญหาขึ้น จะได้ Take action เยียวยาประชาชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ทันท่วงที ไม่ต้องปล่อยให้ประชาชนสิ้นหวัง และฆ่าตัวตายรายวัน ซ้ำรอยกรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท อีก

ปธ.กมธ.แรงงานเตรียมข้อเสนอยื่น รบ.ช่วยเหลือแรงงานทั้งใน-นอกระบบ

ขณะที่ สุเทพ อู่อ้น ในฐานะประธานกรรมาธิการแรงงาน เปิดเผยว่าทางกรรมาธิการได้เตรียมข้อเสนอเพื่อยื่นต่อรัฐบาลข้อเสนอต่อรัฐบาล ขอให้ปรับปรุงมาตรการเยียวยาคนทำงานในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

โดยมีรายละเอียดดังนี้

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ที่ต่อมารัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2563 ตามมาด้วยมาตรการล็อคดาวน์ของจังหวัดต่าง ๆ ที่นำไปสู่การสั่งปิดกิจการ ร้านค้า ลดกิจกรรมสาธารณะ

อีเว้นท์ การเดินทาง เพื่อให้ประชาชนหยุดงานอยู่บ้าน ทำให้รายได้ของคนทำงานลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคเอกชน ได้แก่ คนหาเช้ากินค่ำ รับจ้างอิสระ คนงานในโรงงาน นอกจากนี้ ยังมีการเลิกจ้าง มีคนตกงานเพิ่มขึ้น 140,000 รายในเดือนมีนาคม รวมจำนวนสะสม 700,000 ราย ซึ่งไม่สามารถหางานทำได้ในช่วงวิกฤตนี้

การออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบประกันสังคมของรัฐบาลไม่สามารถช่วยเหลือคนทำงานที่เดือดร้อนได้อย่างแท้จริง ดังกรณีเงินเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน จำนวน 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน (มีนาคมถึงพฤษภาคม 2563) ให้แก่แรงงานนอกระบบ เช่น คนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง คนขับแท็กซี่ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ที่อนุมัติเพียง 3 ล้านคน อีกทั้ง รัฐบาลตั้งกฎเกณฑ์เงื่อนไขที่ก่อให้เกิดปัญหาการคัดกรองอย่างไม่เป็นธรรม ล่าช้า ตกหล่นเป็นจำนวนมาก และยังมีการจำกัดกลุ่มอาชีพ เช่น เกษตรกร คนงานก่อสร้าง แรงงานข้ามชาติซึ่งทำงานให้นายจ้างไทยไม่ให้รับเงินเยียวยาแต่อย่างใด

ส่วนกรณีแรงงานในระบบประกันสังคม โดยเฉพาะลูกจ้างในบริษัท โรงงานต่าง ๆ ในกลุ่มผู้ประกันตน มาตรา 33 กำลังเผชิญปัญหาถูกเลิกจ้าง หยุดงาน โดยไม่ได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานปกติ ต้องไปรับประโยชน์ทดแทนการว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยจากโรคระบาดตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 คนว่างงานรวมกรณีที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเองและถูกทางราชการสั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราว ลูกจ้างจะได้รับเพียงเงินทดแทนในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน นับตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงสิงหาคม 2563 ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม และนายจ้างไม่รับผิดชอบอย่างที่ควรจะเป็น

เนื่องจากที่ผ่านมา ค่าจ้างขั้นต่ำหรือเงินเดือนพื้นฐานของแรงงานในระบบอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท ก็ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว จำต้องทำงานล่วงเวลาหรือหารายได้เสริมเพื่อให้มีรายได้มากขึ้นอีกประมาณ 5,000-10,000 บาท ดังนั้น การทดแทนรายได้ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวันจึงไม่เพียงพอ แม้จะมีการลดค่าใช้จ่าย เช่น สาธารณูปโภค และหนี้สิน แต่เป็นจำนวนน้อยเกินกว่าจะบอกว่าช่วยเหลือ หนำซ้ำมีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าที่จำเป็นที่รัฐไม่สามารถติดตามรับมือปัญหาได้ทั่วถึง

ล่าสุดรัฐบาลกำลังพิจารณากู้เงินจะต่างประเทศจำนวน 1 ล้านล้านบาท รวมทั้ง สั่งให้กระทรวงต่างๆ คืนงบประมาณ 10% เพื่อนำไปบริหารจัดการวิกฤตนี้ เครือข่ายแรงงานดังรายชื่อองค์กรด้านล่าง จึงขอมีส่วนร่วมในการเสนอปรับปรุงมาตรการเยียวยาให้เป็นธรรมกับคนทำงานที่เดือดร้อน 5 ข้อ ดังนี้

          ข้อ 1 ขยายการจ่ายเงินเยียวยาแก่แรงงานนอกระบบไปสู่เกษตรกรราว 11 ล้านคนซึ่งเป็นงานที่จ้างตัวเอง มีรายได้โดยเฉลี่ยเพียงเดือนละ 5,000 บาท (รวม 20 ล้านคน x 15,000 = สามแสนล้านบาท) และแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีประกันสังคม

          ข้อ 2  หยุดพักการชำระหนี้ เช่น บ้าน รถ โดยงดจ่ายทั้งต้นทั้งดอกอัตโนมัติ เป็นระยะเวลา 6 เดือน

          ข้อ 3  ลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า 50% เป็นเวลา 6 เดือน

          ข้อ 4  สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 กรณีที่นายจ้างสั่งหยุดงานชั่วคราวโดยมิใช่เหตุสุดวิสัย ตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ให้รัฐจ่ายเงินส่วนต่างให้แก่ลูกจ้างอีก 25%

          ข้อ 5 ยกเลิกกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 หากนายจ้างสั่งหยุดงานเองหรือถูกรัฐสั่งปิดด้วยเหตุแห่งโรคระบาด ให้นายจ้างและรัฐร่วมจ่ายเงินแก่ลูกจ้างครบ 100% 

          ท้ายสุด ขบวนการแรงงานควรร่วมมือกันเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิเสรีภาพของแรงงานจากการฉวยโอกาสของนายจ้าง เช่น เลิกจ้างไม่เป็นธรรม เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง กลั่นแกล้งสหภาพแรงงาน และร่วมกันทำงานจัดตั้งแรงงานให้รู้สิทธิและปกป้องงานปกป้องสิทธิของตนเอง ทั้งนี้เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่จะตามมาจากนี้ แรงงานคือคนส่วนใหญ่ของประเทศจะต้องไม่เสียสละตัวเองจนถึงขั้นล้มละลาย และจะต้องฟื้นตัวจากวิกฤตอย่างรวดเร็ว

เรียบเรียงจาก จดหมายข่าวทีมสื่อพรรคก้าวไกล, เดลินิวส์,  และผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net