Skip to main content
sharethis

ชายหัวเกรียนอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เลย คุกคามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลยและองค์กรสิทธิมนุษยชน แอบตามถ่ายรูปเรียงตัวพร้อมตามถ่ายคลิปทะเบียนรถ ขณะที่ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯรุดแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ระบุรู้สึกถูกคุกคามและไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต พร้อมเรียกร้องผู้การเมืองเลย และผบ.ตร.แจงข้อเท็จจริง หากเป็นตำรวจจริงต้องแถลงการณ์ขอโทษและต้องรับปากว่าจะไม่คุกคามประชาชนทุกคน

ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้าานเกิด 6 หมู่บ้านเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองเลย2

ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองเลย

4 ก.พ.2564 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลย รายงานว่า วานนี้ (3 ก.พ.64) เมื่อเวลา 21.00 น.ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเลย พรทิพย์ วงคุยธ์ สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลย พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนที่เข้ามาสนับสนุนการต่อสู้ขเรื่องการฟื้นฟูเหมืองทองคำจังหวัดเลยอย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้เดินทางเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกรณีที่มีชายต้องสงสัยตัดผมเกรียน 2 คนคุกคามด้วยการแอบตามถ่ายรูปและตามเจาะถ่ายทะเบียนรถของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯและเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน

พรทิพย์เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าคืนนี้ (3 ก.พ.) เรามาทานข้าวกันที่ร้านข้าวต้มแห่งหนึ่งในจังหวัดเลย และระหว่างที่พวกเรากำลังทานข้าวกันก็มีน้องในทีมของพวกเราสังเกตเห็นว่ามีคนมาแอบถ่ายรูปและถ่ายวีดีโอพวกเราในร้านอาหาร  ซึ่งในระหว่างที่เราถูกแอบถ่ายก็มีผู้การจังหวัดเลยและเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายนั่งทานข้าวที่ร้านนั้นด้วย เท่านั้นยังไม่พอระหว่างที่เราเดินกลับไปยังรถ ชายหัวเกรียน 2 คนก็ยังเดินตามถ่ายไปที่รถรวมถึงถ่ายวีโอเจาะทะเบียนรถของพวกเราทุกคนด้วย เราเลยเดินเข้าไปถามว่ามาถ่ายรูปของพวกเราทำไม เป็นใคร มาจากไหน ชาย 2 ก็เดินหนี ซึ่งในระหว่างเดินหนีพวกเราก็จี้ถามชาย 2 คนก็เลยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมาปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการจราจร จนเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาระงับเหตุและนำมาสู่การแจ้งความในครั้งนี้

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลยกล่าวว่า ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาเพิ่งมีลูกจ้างของกรมการปกครอง อ.วังสะพุงเข้าไปยิงปืนข่มขู่พวกเราที่ในหมู่บ้าน ในขณะที่พวกเราเฝ้าระวังการขนแร่จากบริษัทเอกชนที่ทำการประมูลสินแร่ได้ ที่ผ่านมาเกี่ยวกับความปลอดภัยของพวกเราก็มีปัญหามาตลอด พอมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็ยิ่งทำให้พวกเราขวัญเสียและหวาดกลัวขึ้นไปอีก กลายเป็นแม้กระทั่งในบ้านของพวกเราเองก็ไม่ปลอดภัย เหมือนกับวันที่ 15 พ.ค.ปี พ.ศ. 2557 ที่มีเหตุการณ์ขนแร่เถื่อนและมีการนำชายฉกรรจ์หลายร้อยคนเข้าไปทุบตีพวกเรา และวันนี้ก็มีเหตุการณ์ชายหัวเกรียนมาตามถ่ายรูปพวกเราแบบนี้อีกและเจ้าหน้าที่ตำรวจแทบจะไม่ได้ช่วยเหลืออะไรพวกเราเลย ก็เลยยิ่งทำให้เกิดแผลในใจของพวกเราอีก

ชายหัวเกรียนอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองเลยแอบถ่ายรูปและวีดีโอทั้งภาพบุคคลและทเะเบียนรถของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด
ชายหัวเกรียนอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองเลยแอบถ่ายรูปและวีดีโอทั้งภาพบุคคลและทเะเบียนรถของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด
ชายหัวเกรียนอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองเลยแอบถ่ายรูปและวีดีโอทั้งภาพบุคคลและทเะเบียนรถของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด

พรทิพย์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในระหว่างที่เราแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจทำความเข้าใจยากมากในการลงบันทึกประจำวัน มันเป็นความรู้สึกไม่ปลอดภัยของประชาชนที่อยู่ดีๆก็มีคนมาถ่ายรูป ถ่ายทะเบียนรถของเรา ในบันทึกประจำวันเราระบุชัดเจนว่าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนหาว่าผู้ชาย 2 คนที่มาตามถ่ายรูปพวกเรานั้นเป็นตำรวจหรือเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐหน่วยงานไหนหรือไม่อย่างไร แล้วรับคำสั่งมาจากใครให้มาปฎิบัติการแบบนี้เพื่ออะไร ซึ่งเราจะทำหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาของทั้ง 2 คน และจะทำหนังสือผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแห่งชาติให้ให้คำตอบในเรื่องนี้ให้กระจ่างเพื่อไม่ให้เขาไปแบบนี้กับประชาชนคนอื่นได้ เพราะมันเป็นการละเมิดสิทธิและคุกคามประชาชนมากๆ  และหากเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและต้องการจะถ่ายรูปเราก็เอาบัตรมาแสดงและแนะนำตัวพร้อมบอกเหตุผลในการถ่ายเสียก่อนว่ามีวัตถุประสงค์นการถ่ายรูปของเราไปทำไมและต้องได้รับการยินยอมจากเราเสียก่อนถึงจะทำการถ่ายรูปเราได้  ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพวกเรามันไม่ใช่เหตุการณ์ปรกติและสร้างความไม่สบายใจให้กับพวกเรามากๆ

ต่อคำถามที่ว่าหากมีการสอบสวนแล้วพบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริงๆ อยากจะบอกอะไรกับผู้ที่เข้ามาคุกคามชาวบ้านในลักษณะแบบนี้ พรทิพย์กล่าวว่า หากเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริงๆก็เป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะหากเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีทั้งอำนาจ หน้าที่ และอาวุธอยู่ในมือชาวบ้านก็จะรู้สึกถึงความหวาดกลัวและความไม่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปกป้องคุ้มมครองเรา แต่การกระทำของผู้ชาย 2 คนนี้คือการคุกคามเรา ดังนั้นหากชาย 2 คนนี้เป็นตำรวจจริงผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 2 คนจะต้องมาแถลงการณ์กล่าวขอโทษพวกเราอย่างเป็นทางการไม่งั้นเราไม่ยอม ต้องออกมาบอกว่าเหตุใดลูกน้องของท่านถึงมาทำแบบนี้กับชาวบ้าน

ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร Protection International (PI) ที่ทำงานด้านการดูแลคุ้มครองและปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดในยามวิกาลในเวลา 20.45 น. และชายสองคนที่มาตามถ่ายรูปพวกเราก็ไม่ได้แต่งเครื่องแบบมาและอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ไม่ได้ให้ชื่อและตำแหน่งให้เหตุผลเพียงว่ามาถ่ายเพื่อเหตุจราจรซึ่งก็ไม่ใช่เพราะตรงที่รถของพวกเราจอดคือพื้นที่ที่สามารถจอดรถได้   แล้วมีการบันทึกวีดีโอภาพถ่ายทุกคนและรถทุกคันของเราซึ่งพฤติการณ์ของผู้ชายทั้ง 2 คนทำให้พวกเราสงสัยว่าบันทึกไปทำไม อย่างที่เราทราบว่าในปัจจุบันสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหลือน้อยเต็มที ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตามถ่ายรูปพวกเราตลอดเวลา คำถามก็คือถ่ายไปทำไม และใครเป็นสั่งการ

“ซึ่งหลังจากที่เราลงบันทึกประจำวันแล้วเราก็ต้องการให้ผู้การจังหวัดเลยออกมาชี้แจงกับประชาชนและชี้แจงกับพวกเราด้วย ว่าผู้การจังหวัดเลยได้สั่งให้ชาย 2 คนที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาดำเนินการแบบนี้หรือเปล่า ช่วยชี้แจงว่ามาเก็บข้อมูลของพวกเราไปทำไม ในเมื่อพวกเราเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนและเป็นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เราทำทุกอย่างโปร่งใส มีการเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดไปยื่นหนังสือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อวาน ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มาดูแลความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิฯ หากการมาคุกคามในครั้งนี้เป็นการสั่งการจากเจ้าหน้าที่ตรวจก็จะกลายเป็นว่าตำรวจเป็นปรปักษ์กับประชาชน  งานของนักปกป้องสิทธิฯ เป็นการทำงานที่ชอบธรรม ดังนั้นเราเรียกร้องถึงผู้การจังหวัดเลยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติช่วยออกมาชี้แจงว่าได้ส่งเจ้าหน้าที่ที่อ้างว่าเป็นตำรวจมาตามถ่ายรูปคุกคามประชาชนทำไมและหากเป็นเจ้าหน้าที่จริงจะต้องออกมาขอโทษ และหลังจากขอโทษแล้วจะต้องทำให้แน่ใจว่าต่อไปจะไม่มีการคุกคามประชาชนในลักษณะแบบนี้อีก อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาลยึดมั่นกับพันธกรณีสิทธิมนุษยชนในการปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ ไม่ใช่มาคุกคามเสียเอง” ตัวแทนจากองค์กร Protection International กล่าว

ทั้งนี้ ศาลจังหวัดเลย สั่งตั้งแต่ ธ.ค.61 ให้ บริษัททุ่งคำ จำกัด ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกเหมือง โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดจนกว่าสิ่งแวดล้อมจะกลับสู่สภาพเดิมตามมาตรฐานราชการ และเยียวยาค่าเสียหายผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดครอบครัวละ 104,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 จำนวน 149 ครอบครัว และในการจัดทำแผนฟื้นฟูให้โจทก์คือชาวบ้าน 165 ราย เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากบริษัท ปิดกิจการไปแล้ว จึงต้องนำทรัพย์สินที่เหลือมาขายทอดตลาดเพื่อนำมาเยียวยาชาวบ้าน โดยเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.63 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี จัดการขายทอดตลาดสินแร่ ที่บรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็คจำนวน 190 ถุง ได้นัดขายทอดตลาดสินแร่ นัดที่ 3 โดยบริษัท "ไขนภาสตีล" ประมูลสินแร่ได้ในราคา 8,240,000 บาท โดยไม่มีคู่แข่ง กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ จึงปักหลักเฝ้าเวรยามทางเข้าเหมืองทองตลอด 24 ชม. มาหลายสัปดาห์  เพื่อพิทักษ์ทรัพย์สินในเหมืองแร่ เนื่องจากเกรงว่าจะมีการขนแร่และสินทรัพย์นอกบัญชีขายทอดตลาดออกจากเหมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net