Skip to main content
sharethis

‘ก้าวไกล’ ยื่นชุดกฎหมายส่งเสริม ‘สิทธิเสรีภาพ’ รวม ม.112 ถึงมือสภา ย้ำ เพื่อไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ยืนยัน ยึดมั่นธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ เพียงปรับให้เข้ากับยุคสมัย เปิดสาระสำคัญร่างกฎหมาย ‘ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ’ 5 ฉบับ โต้ครหา ‘ล้มล้างการปกครอง’ 'วรงค์' ยื่น 1 แสนรายชื่อ ค้านแก้ ม.112 ชี้นักการเมืองให้ร้ายสถาบัน หวังให้ ปชช.เสื่อมศรัทธา

10 ก.พ. 2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า วันนี้ ที่อาคารรัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ยกทีมส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีพรรคก้าวไกลยื่นร่างแก้ไขพระราชบัญญัติเกี่ยวกับกรณีคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ

พิธา กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตนขอแถลงข่าวเรื่องการเสนอชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ ของพรรคก้าวไกล ซึ่งพวกเราได้อภิปรายถกเถียงกันภายในพรรค มีการหารือ และมีทีมงานร่วมจัดทำร่างกฎหมายชุดนี้ในเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา โดยพรรคก้าวไกล มีจุดยืนและอุดมการณ์ที่ชัดเจนในการสนับสนุนยึดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งหลักการที่สำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น ก็คือการทำให้สถาบันเป็นที่เคารพสักการะ ปลอดจากคำติฉินนินทาและคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ของสาธารณชน ซึ่งหนทางเดียวที่พวกเราจะทำเช่นนั้นได้ ก็คือการดึงสถาบันให้พ้นออกจากการเมือง

“พวกเราทุกคนมีหน้าที่ต้องช่วยกันป้องกันมิให้มีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง เข้ามาฉกฉวยโอกาสหยิบยก แอบอิง หรือแอบอ้าง ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เพื่อนำมาใช้โจมตีอีกฝ่าย โดยเฉพาะกับการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในฟ้องร้องกลั่นแกล้งเพื่อปิดปาก และเพื่อการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม อันเป็นค่านิยมที่สกปรกและล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับค่านิยมสากลในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดความเห็น เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเป็นเพียงผู้แทนของประชาชน ที่ทรงอำนาจสูงสุดเท่านั้น”

พิธา ยังกล่าวด้วยว่า จากเมื่อวานนี้ (9 ก.พ. 64) อัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดี 2 คดีจากการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาเมื่อวันที่ 19 กันยายน และ14 พฤศจิกายน 2563 ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 จากนั้นศาลอาญาก็มีคำสั่งไม่อนุญาติให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 4 คน ได้แก่ นายอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม โดยศาลเห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง และหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก หมายความว่า จำเลยทั้ง 4 คน อาจถูกจองจำอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ทั้งที่ความผิดที่ถูกกล่าวหานั้น เป็นเพียงการแสดงออกทางการเมืองโดยสันติ ไม่ใช่การก่ออาชญากรรมร้ายแรงอันจำเป็นต้องควบคุมตัวไว้ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับการชุมนุมหรือการแสดงออกของพวกเขา รวมทั้งข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ แต่จำเลยคดี 112 ก็ควรมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ภายใต้หลักที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด กรณีนี้จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นปัญหาของมาตรา 112 ทั้งในแง่ตัวบทและการบังคับใช้ ซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่

พิธา กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์เมื่อวานนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเพิ่งแสดงความกังวลต่อการใช้ ม.112 ในประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและมีการลงโทษจำคุกอย่างรุนแรง โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศาลได้ตัดสินจำคุกอดีตข้าราชการสตรีวัย 60 ปี สูงถึง 87 ปี แม้จะลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง แต่ก็ยังถือว่าเป็นการลงโทษรุนแรง ไม่ได้สัดส่วนต่อความผิดจากการโพสต์คลิปที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ในเฟสบุ๊ก ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติได้ย้ำว่า ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ บุคคลสาธารณะย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แม้การแสดงออกบางรูปแบบอาจถือเป็นการดูหมิ่น แต่ก็ไม่ถือเป็นเหตุผลที่จะลงโทษอย่างรุนแรง เขายังเรียกร้องต่อทางการไทยให้ทบทวนกฎหมายอาญามาตรา 112, ให้ยกเลิกการดำเนินคดีกับบุคคลที่ถูกแจ้งข้อหานี้, และให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังเนื่องจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ

“พรรคก้าวไกลขอย้ำว่า การจะธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ให้คงอยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถจะบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจกดบังคับ หรือใช้กฎหมายปราบปราม สถาบันการเมืองใดๆ ในสังคมสมัยใหม่ย่อมดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความชอบธรรมและความยินยอมพร้อมใจจากประชาชน ดังนั้น หนทางที่พวกเราควรทำก่อนจะสายเกินการณ์ ก็คือ การแสวงหากุศโลบายที่สอดคล้องกับยุคสมัยเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนภายใต้ระบบนิติรัฐ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปลอดพ้นจากการเมือง ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง”

พิธา ยังได้ย้ำว่า นอกจากปัญหาเกี่ยวกับมาตรา 112 แล้ว ในหลายปีที่ผ่านมา เรายังมีปัญหาการใช้กฎหมายอื่นๆ เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก การมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือการตรวจสอบอำนาจรัฐอีก ในโอกาสนี้ พรรคก้าวไกลจึงได้เสนอชุดร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อแก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งหมด ทั้งหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาลครับ รวมทั้งความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ (2) ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการเอาผิดต่ออาชญากรรมบนระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่นำไปใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์. (3) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ (4) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยทั้งสองฉบับนี้เป็นการสร้างกลไกเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการถูกฟ้อง “คดีปิดปาก” โดยหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ในกรณีที่ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะต่างๆ หรือตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐและเอกชน ซึ่งในต่างประเทศเรียกกันว่า anti-SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) laws. (5) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลอาญาอีกหนึ่งฉบับ เพื่อให้ประชาชนสามารถเอาผิดเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่กระทำการบิดเบือนกฎหมายต่อประชาชนได้

สาระสำคัญร่าง กม. ‘ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ’ 5 ฉบับ

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล อธิบาย สาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับโดยระบุว่า

1) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... มีเนื้อหาแก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อประกันเสรีภาพในการแสดงออกให้ได้สัดส่วนกับการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น สอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ไทยได้เข้าเป็นภาคี โดยมีสาระสำคัญแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนแรก เป็นการยกเลิกโทษจำคุก ให้คงเหลือแต่โทษปรับ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลทั่วไป (ม.326, 328, 393) ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน (ม.136) และศาลหรือผู้พิพากษา (ม.198) เนื่องจากตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลปัจจุบัน การลงโทษจำคุกในทางอาญา ซึ่งควรนำไปใช้กับการกระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงเท่านั้น ถือเป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสมสำหรับกรณีหมิ่นประมาท ไม่ได้สัดส่วนระหว่างการประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลอื่น ผู้กระทำผิดได้รับโทษรุนแรงกว่าสภาพความผิด นอกจากนี้การกำหนดบทลงโทษจำคุกในความผิดฐานหมิ่นประมาทยังกระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน

ส่วนที่สอง ย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 112 ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือ “ลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” เพื่อให้มีความเหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ การยกเว้นความผิด การยกเว้นโทษ และผู้ร้องทุกข์ ดังนี้ เพื่อคุ้มครองพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ และของพระราชินี รัชทายาท รวมทั้งเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้เหนือกว่าประชาชนทั่วไป จึงกำหนดอัตราโทษให้ยังมีโทษจำคุก แต่ลดอัตราโทษลงมาไม่ให้รุนแรงจนเกินไป ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำไว้ รวมทั้งสามารถพิจารณาลงโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อให้ได้สัดส่วนกับสภาพความผิด กล่าวคือ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีบทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ โดยบัญญัติให้ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด และเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลทั่วไปนำฐานความผิดนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งผู้อื่น หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และกำหนดให้ความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

ส่วนที่สาม ย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท ประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่ราชสำนัก ตามมาตรา 133 และ 134 ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือ “ลักษณะความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศของประมุขแห่งรัฐหรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ” เพื่อให้มีความเหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติและอัตราโทษ โดยยกเลิกโทษจำคุก คงเหลือแต่โทษปรับ

(2) ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...

เนื่องจาก พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับปัจจุบัน มีบทบัญญัติที่สามารถตีความได้กว้างขวาง ไม่ชัดเจน ทำให้มีการนำกฎหมายนี้ไปใช้โดยเบี่ยงเบนไปจากเจตนารมณ์ในการเอาผิดต่ออาชญากรรมบนระบบคอมพิวเตอร์ กลายเป็นเครื่องมือสำหรับจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จึงแก้ไขเพิ่มเติมฐานความผิดและบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

จึงเสนอแก้ไขมาตรา 14 กำหนดฐานความผิดให้ชัดเจนขึ้นว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ทำปลอมขึ้นทั้งหมดหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ” ต้องระวางโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ และยกเลิกฐานความผิดตามอนุมาตราอื่นในมาตรา 14 เดิมที่ไม่ชัดเจน เช่น “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” หรือซ้ำซ้อนกับฐานความผิดในประมวลกฎหมายอาญา เช่น ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย หรือข้อมูลที่มีลักษณะลามก

แก้ไขบทกำหนดโทษตามมาตรา 16 วรรค 1 “ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย” โดยยกเลิกโทษจำคุก คงเหลือแต่โทษปรับ

แก้ไขมาตรา 20 ให้การพิจารณาสั่งระงับการเผยแพร่หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบ ตามที่พนักงานเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการสอบสวนในการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้หรือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาร้องขอนั้น เป็นอำนาจของศาล แต่จะสั่งระงับการเผยแพร่ได้ภายในกรอบเวลาไม่เกิน 365 วัน ซึ่งการพิจารณาคดีควรจะแล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว หากศาลตัดสินว่าข้อมูลที่ถูกร้องไม่มีความผิดก็กลับมาเผยแพร่ต่อได้ แต่ถ้าศาลตัดสินว่าผิด ก็จะระงับการเผยแพร่และลบข้อมูลนั้นจากระบบได้ต่อไป

(3) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และ (4) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่...) พ.ศ. ....ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายที่ศึกษาและร่างขึ้นโดยสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เพื่อสร้างกลไกเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการถูกฟ้อง “คดีปิดปาก” โดยหน่วยงานรัฐหรือเอกชน เนื่องจากในอดีตประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะต่างๆ หรือตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐและเอกชน มักถูกคุกคามหรือปิดกั้นโดยใช้กฎหมาย ซึ่งเรียกว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” (SLAPP: Strategic Lawsuit Against Public Participation) การฟ้องคดีลักษณะนี้ไม่ได้มุ่งเอาชนะ แต่มุ่งลดทอนกำลังหรือข่มขู่ให้ผู้ถูกฟ้องยอมยุติบทบาท และแม้ผู้ถูกฟ้องจะต่อสู้จนชนะคดีได้ในที่สุด แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเผชิญแรงกดดันต่างๆ

“ด้วยเหตุนี้จึงตรากฎหมายขึ้นเพื่อจัดการกับการฟ้องคดีลักษณะดังกล่าว เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะกับการคุ้มครองสิทธิของบุคคลหรือองค์กรที่ฟ้องคดีโดยสุจริต โดยให้มีกลไกทางกฎหมายที่ชัดเจน สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ นิยาม “คดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” เข้าไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และความแพ่ง กำหนดกระบวนการให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถยื่นคำร้องต่ออัยการหรือศาลให้พิจารณาได้ว่าคดีนั้นเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะหรือไม่ โดยหากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ ก็ให้อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง”

(5) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับ...) ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายในการเสนอแก้ไขกฎหมายชุดนี้ ชัยธวัช กล่าวว่า ปัจจุบัน ประมวลกฎหมายอาญา หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ที่บังคับใช้อยู่ยังไม่คลอบคลุมถึงกรณีที่เจ้าพนักงานในการยุติธรรมใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิดหรือกระทำการบิดเบือนกฎหมายในระหว่างดำเนินการสอบสวน มีความเห็นทางคดี การสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี การไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดี เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด เช่น กรณีเจ้าพนักงานดำเนินคดีหรือสั่งฟ้องประชาชนในลักษณะยัดข้อหาร้ายแรงเกินกว่าเหตุ เพื่อสร้างความยากลำบากให้แก่ประชาชน หรือก่อให้เกิดความกลัวต่อการใช้เสรีภาพของประชาชน หรือเจ้าพนักงานใช้อำนาจช่วยเหลือผู้ใดผู้หนึ่งให้รอดพ้นจากคดีโดยไม่สุจริต ดังนั้น เพื่อให้คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีได้รับความคุ้มครองในระหว่างการดำเนินคดี จึงเพิ่มเติมความเป็นมาตรา 200/1 ในประมวลกฎหมายอาญา เพื่อกำหนดบทลงโทษแก่เจ้าพนักงานในตำแหน่งอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวนที่ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ กระทำการบิดเบือนกฎหมายในระหว่างทำการสอบสวน มีความเห็นทางคดี สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดี เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี

ทั้งนี้ ชัยธวัช ยังได้ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ถามว่า การยื่นร่างกฎหมายครั้งนี้มีการในแก้ไขมาตรา 112 ด้วยจะถูกมองเป็นการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เเละการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ โดยระบุว่า ในตลอดชีวิตตน เคยเห็นการล้มล้างระบอบการปกครองแบบเดียวคือรัฐประหาร ซึ่งปัจจุบันหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี อีกคนหนึ่ง แกนนำเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ยังไม่เคยเห็นการแก้ไขกฎหมายเป็นการล้มล้างการปกครอง

“พรรคก้าวไกลไม่ได้ยกเลิกกลไกในการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐเอาไว้ โดยเรายังคงกำหนดโทษ เเละความผิดเอาไว้ เพียงเเต่เราปรับลดลงมาให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อป้องกันไม่ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี เเละองค์รัชทายาท แน่นอนสิ่งที่เราเสนออาจจะไม่ถูกใจกับผู้ที่ต้องการเห็นสมให้ควรยกเลิกไปเลย หรือควรเเก้ไขให้ก้าวหน้ากว่านี้ แต่เราในฐานะพรรคการเมืองเราควรที่เสนอที่พอรับได้มากที่สุด เเละทุกฝ่ายพอจะคุยกันได้ เพื่อคลี่คลายสถาการณ์ความขัดเเย้งทางการเมือง เเละหากเมื่อร่างดังกล่าวเข้าสภาผู้แทนราษฎร เราจะหารือกับทางพรรคอื่นๆ เพื่อหาเเนวทางด้วยกันอย่างมีวุฒิภาวะต่อไป” ชัยธวัช กล่าว

'วรงค์' ยื่น 1 แสนรายชื่อ ค้านแก้ ม.112

วันเดียวกัน วอยซ์ทีวีรายงานว่า  นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี นำรายชื่อประชาชน 101,568 รายชื่อ ยื่นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอคัดค้านการแก้ไขปนะมาวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เป็นตัวแทนรับมอบรายชื่อดังกล่าว 

นพ.วรงค์ ระบุว่า การยื่นรายชื่อครั้งนี้เป็นการรวบรวมรายชื่อจากประชาชนหลากหลายอาชีพ เพื่อคัดค้านการแก้ไขกฎหมาดังกล่าว และยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นี้ ไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนทะกกลุ่ม เว้นแต่ผู้ที่มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายต่อสถาบัน ตามบทกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากพบว่ามีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มมีเจตนาร้ายต่อสถาบัน โดยใช้คำว่าปฏิรูปสถาบัน อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรม กล่าวให้ร้ายต่อสถาบัน เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนเกิดความเสื่อมศรัทธา 

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองสถาบัน ไม่ต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาทประชาชนทั่วไปหรือกฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐในต่างประเทศ กลุ่ทไทยภักดีจึงขอแสดงจุดยืนในการคัดค้านการกระทำใด ๆ ของกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่จะแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net