Skip to main content
sharethis

กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี #SAVEบางกลอย ออกแถลงการณ์ 'รัฐต้องหยุดคุกคามกะเหรี่ยงบางกลอย เปิดทางสนับสนุนกระบวนการแก้ปัญหาด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์' 

 

หากคุณเห็นว่ากรณีกะเหรี่ยงบางกลอยคือหนึ่งภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมในสังคมไทย หากเห็นว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน...

โพสต์โดย มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เมื่อ วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์  2021

 

13 ก.พ. 2564 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ รายงานว่ากลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี #SAVEบางกลอย ออกแถลงการณ์ 'รัฐต้องหยุดคุกคามกะเหรี่ยงบางกลอย เปิดทางสนับสนุนกระบวนการแก้ปัญหาด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์' ระบุว่าจากกรณีพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เดินทางกลับบางกลอยบน-ใจแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา ภายหลังถูกอพยพโยกย้าย ถูกเผาบ้าน ยุ้งฉาง และตกหล่นจากกระบวนการเยียวยาโดยรัฐมากว่า 25 ปี การกลับไปยังผืนดินบรรพบุรุษเป็นความชอบธรรมของชุมชนที่ต้องการยืนหยัดในการดำรงวิถีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม และเป็นไปเพื่อปากท้อง ความอยู่รอด แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ชาวบ้านถูกข่มขู่ด้วยมาตรการทางกฎหมาย ปิดกั้นการขนส่งเสบียงอาหาร และมีความพยายามในการสื่อสารเพื่อลดความชอบธรรมในการกลับสู่ใจแผ่นดิน รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงครั้งใหม่ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2554 ในยุทธการตะนาวศรี  

ภาคี #SAVEบางกลอย ประชาชนผู้รักความเป็นธรรมที่ติดตามส่งกำลังใจในการกลับสู่พื้นที่ดั้งเดิมของพี่น้องบางกลอยมาโดยตลอด ต้องการเห็นการแก้ปัญหาที่ไม่ซ้ำรอยเดิมและไม่เพิ่มปัญหาใหม่ จึงได้ยื่นหนังสือเพื่อขอพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่กลับไม่ได้รับความสนใจและไม่มีท่าทีที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาที่ประชาชนยื่นเสนอ อีกทั้งผู้ร่วมยื่นหนังสือบางส่วนกลับถูกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาจากสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ในข้อหาร่วมกันจัดการชุมนุมในที่สาธารณะโดยผิดกฎหมาย

จนถึงวันนี้ การแก้ปัญหาของพี่น้องบางกลอยไม่มีความคืบหน้า รวมถึงมีสถานการณ์ความตึงเครียดในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก สืบเนื่องจากเหตุการณ์การสนธิกำลังกันของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปในพื้นที่บ้านบางกลอยล่าง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ และทหารรบพิเศษที่ 1 แก่งกระจาน จากรายงานของชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ตั้งจุดตรวจค้นก่อนเข้าเขตหมู่บ้านบางกลอย โดยไม่มีการแจ้งให้ผู้นำชุมชนและชาวบ้านทราบถึงเหตุผล หลังจากนั้นไม่นานชาวบ้านพบว่ามีเจ้าหน้าที่สนธิกำลังกันเข้าไปในหมู่บ้าน กระจายกำลังกันดักซุ่มตามเส้นทางที่ชาวบ้านใช้เดินขึ้นและลงจากบ้านบางกลอยล่างไปยังบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ต่อมาประมาณ 18.30 น. ได้รับรายงานว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ 10 นาย เดินเท้าผ่านหมู่บ้านไปยังบริเวณห้วยโป่งลึก หลังจากนั้นไม่นานชาวบ้านได้ยินเสียงปืนประมาณ 3-4 นัด จากทิศทางที่เจ้าหน้าที่เดินเข้าไป

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้แถลงข่าวแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยกลับใจแผ่นดิน ระบุว่า ทส. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาความเดือดร้อน มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจและการถอยคนละก้าว ยืนยันว่ามีประชาชนเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังเดือดร้อนและไม่พอใจต่อกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา อีกทั้งยังระบุว่าตนรู้สึกสะท้อนใจกับจดหมายที่ภาคประชาชนเขียนถึง ว่าให้คืนความเป็นคนให้กลุ่มชาติพันธุ์ ชี้ว่าผู้เขียนกำลังทำลายความเป็นคน พยายามเสี้ยมให้เกิดความแตกแยก

กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและ ภาคี #SAVEบางกลอย มีความห่วงกังวลต่อปฏิบัติการที่เกิดขึ้น เราเห็นว่าการดำเนินการเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่รัฐคือการข่มขู่ คุกคาม และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ลักษณะไม่ต่างจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การดำเนินการเช่นนี้อาจนำไปสู่การกระทำรุนแรง ทั้งโดยการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มข้น และการสนธิกองกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปใช้ความรุนแรงกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในเหตุการณ์ยุทธการตะนาวศรี เมื่อปี 2553-2554 

อีกทั้งคำแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังแสดงให้เห็นว่า ทส. ไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลและเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชน เพราะที่ผ่านมามีความพยายามในการใช้กลไกระดับกระทรวงฯ ร่วมกับภาคประชาชนในการลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริง และรายงานให้กระทรวงฯ ทราบอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐมนตรีก็ยังยืนยันจะใช้เพียงข้อมูลจากฝั่งราชการซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงในพื้นที่

นอกจากนั้นเรายังเห็นว่าการแถลงของรัฐมนตรีเช่นนี้ คือการสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐเพิกเฉยต่อความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมากว่า 25 ปี และให้ท้ายพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน

เรายืนยันว่า การแก้ไขปัญหากะเหรี่ยงบางกลอยต้องใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นหลักการสำคัญในการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการสำรวจรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบางกลอยอย่างละเอียดรอบด้าน อาทิ การจัดสรรที่ดิน การพัฒนาคุณภาพชีวิต การอพยพโยกย้ายชุมชนอย่างไม่เป็นธรรม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ประสบความเดือดร้อนอย่างแท้จริง

ในระหว่างนี้ เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีบทบาทในการสนับสนุนกระบวนการทำงานแก้ไขปัญหา มิใช่กระทำการกดดัน สร้างความหวาดกลัว อันถือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เดินหน้ากดทับและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพี่น้องชาติพันธุ์ไม่จบสิ้น

คนต้องเท่ากัน ชาติพันธุ์ก็คือคน

กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี #SAVEบางกลอย
13 ก.พ. 2564

บุคคลและองค์กรร่วมลงนามสนับสนุน
1. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ภาคตะวันตก
2. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี
3. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
4. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.)
5. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
6. Land Watch Thai กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน
7. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
8. เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน
9. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
10. เพื่อนตะวันออกวาระเปลี่ยนตะวันออก
11. เครือข่าย ๓๐๔ กินได้
12. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา
13. กป.อพช.ใต้
14. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้
15. สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา
16. เครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
17. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
18. ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
19. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือตอนล่าง (กป.อพช.นล.)
20. เครือข่ายนักวิชาการ EHIA
21. มูลนิธิพัฒนาอีสาน
22. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
23. คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35
24. สถาบันสังคมประชาธิปไตย
25. ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD.)
26. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
27. ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา
28. องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR)
29. มูลนิธิเพื่อสิทธิชุมชนและการพัฒนา (HRDF)
30. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
31. สมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.)
32. ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
33. ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์
34. พชร คำชำนาญ
35. เมษยา เสมอเชื้อ
36. ภานิดา หลักแหลม
37. คณัสนันท์ มุแฮ
38. จารุณีย์ รักษ์สองพลู
39. บุญธาริกา ปินตา
40. อริศราภรณ์ พุดสวย
41. ทวีศักดิ์ มณีวรรณ์
42. นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net