Skip to main content
sharethis

ตามหลักการปกครองของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ประชาชน คือ ผู้ที่กำหนดอำนาจของกษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์ ผ่านการออกกฎหมายตามกลไกรัฐสภา กฎหมายใดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเช่นเดียวกับกฎหมายอื่นๆ กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมีหน้าที่เป็นประมุขของรัฐและทรงใช้อำนาจได้อย่างจำกัดภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจในการออกกฎหมาย หรือบริหารประเทศ และในทางปฏิบัติ กษัตริย์ต้องทรงเป็นกลางทางการเมืองและอยู่นอกวงการเมือง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองทุกรูปแบบอย่างเด็ดขาด

เมื่อเป็นดังนี้ หมายความว่า รัฐสภาของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการตราและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องสถาบันกษัตริย์ รวมถึงยกประเด็นเกี่ยวกับสถาบันมาอภิปรายในรัฐสภา มาดูกันว่าประเทศใดบ้างที่ประเด็นของสถาบันกษัตริย์ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในรัฐสภา

สหราชอาณาจักร

การดำเนินงานทุกอย่างของสถาบันกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรจำเป็นต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาและออกบังคับใช้เป็นกฎหมาย เช่น การจัดการงบประมาณสำหรับสถาบันกษัตริย์ที่ถูกบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งส่วนหนึ่งของการพิจารณางบประมาณประจำปีผ่านพระราชบัญญัติเงินรายปีส่วนกษัตริย์ พ.ศ.2554 (Sovereign Grant Act 2011) ที่กำหนดให้กระทรวงการคลังถวายเงินรายปีแก่กษัตริย์เป็นจำนวนขั้นต่ำ 15% ของรายได้จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ (Crown Estate) ในปีงบประมาณก่อนหน้า เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประมุขแห่งรัฐ โดยนายกรัฐมตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมพระคลังข้างที่ จะเป็นผู้พิจารณาก่อนนำเข้าสภาให้ ส.ส. และ ส.ว. เป็นผู้ลงมติเห็นชอบ ตัวอย่างเช่น การขอเพิ่มเงินรายปีส่วนกษัตริย์เป็น 25% ในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 เพื่อใช้ในการบูรณะพระราชวังบักกิงแฮม ซึ่งเป็นที่พำนักของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทางสำนักราชวังและกระทรวงการคลังต้องนำเรื่องเสนอต่อรัฐสภาก่อน หากรัฐสภาเห็นชอบจึงจะดำเนินการได้

ใน พ.ศ.2556 มากาเรต ฮอดจ์ ส.ส.พรรคแรงงาน และประธานคณะกรรมาธิการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินในขณะนั้น วิจารณ์การใช้จ่ายของราชวงศ์และตั้งกระทู้ถามอธิบดีกรมพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นผู้ดูแลรายรับรายจ่ายของสถาบันกษัตริย์ว่าเหตุใดราชวงศ์จึงใช้จ่ายเกินงบที่รัฐบาลถวายให้ จนรัฐบาลต้องไปดึงงบส่วนอื่นมาเพิ่มเติมแก่ราชวงศ์ ในขณะที่ประชาชนทุกคนต้องรัดเข็มขัด ซึ่ง อลัน รีด อธิบดีกรมพระคลังข้างที่ในขณะนั้น ต้องขึ้นชี้แจงรายละเอียดการใช้จ่ายของราชวงศ์ต่อคณะกรรมาธิการในสภา เพราะพระราชบัญญัติเงินรายปีส่วนกษัตริย์ พ.ศ.2554 ให้สิทธิรัฐสภาในการตรวจสอบแหล่งรายได้และการใช้จ่ายของสมาชิกในราชวงศ์

นอกจากงบประมาณส่วนกษัตริย์แล้ว รัฐสภาสหราชอาณาจักรยังสามารถปรับปรุงแก้ไข หรือเสนอกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ได้ ปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนรายงานว่า เคียร์ สตาร์เมอร์ หัวหน้าพรรคแรงงาน เตรียมยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา โดยมีประเด็นสำคัญ คือ เปลี่ยนสภาขุนนาง (ส.ว.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งหรือสืบสกุล ให้เป็น ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง และให้อำนาจ ส.ว. แบบใหม่โหวตผ่านกฎหมายบางอย่างได้ รวมถึงให้อำนาจบริหารอันเป็นเอกเทศแก่สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ โดยเฉพาะเรื่องการคลัง นอกจากนี้ สตาร์เมอร์และพรรคแรงงานยังเสนอให้ลดบทบาทและอำนาจของสถาบันกษัตริย์อีกด้วย

ใน พ.ศ.2556 รัฐสภาสหราชอาณาจักรลงมติเห็นชอบผ่านกฎหมายพระราชบัญญัติการสืบราชบัลลังก์ โดยยกเลิกกฎเดิมที่ให้สิทธิเชื้อพระวงศ์ชายเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ในลำดับที่สูงกว่าเชื้อพระวงศ์หญิง แต่เปลี่ยนเป็นการสืบราชบัลลังก์ตามลำดับการเกิด ทำให้เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ พระธิดาองค์แรกในเจ้าชายวิลเลียมและแคทเธอรีน ดยุคและดัสเชสแห่งเคมบริดจ์มีสิทธิสืบทอดราชบัลลังก์ก่อนเจ้าชายหลุยส์ ผู้เป็นพระอนุชา นอกจากนี้ รัฐสภายังปรับแก้พระราชบัญญัติการแต่งงานของราชวงศ์ พ.ศ.2315 (Royal Marriages Act 1772) ให้มีความทันสมัยและลดขั้นตอนที่ซับซ้อน โดยกำหนดให้เฉพาะการแต่งงานของผู้สืบราชสันตติวงศ์ 6 อันดับแรก ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากกษัตริย์ก่อน จากเดิมที่กษัตริย์ต้องลงนามอนุญาตการแต่งงานของเชื้อพระวงศ์ทุกคน ทั้งยังอนุญาตให้เชื้อพระวงศ์อังกฤษสามารถแต่งงานกับผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้อีกด้วย

ย้อนกลับไปใน พ.ศ.2479 เมื่อสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระปิตุลา (ลุง) ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ต้องการสละราชสมบัติเพื่อไปสมรสกับวอลลิส ซิมป์สัน หญิงสามัญชนชาวอเมริกัน ก็ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบด้วยการออกกฎหมายพระราชบัญญัติสละราชสมบัติ จึงจะถือว่าการสละราชสมบัติมีผลโดยสมบูรณ์

การแก้ไขหรือเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักร ไม่ได้จำกัดอำนาจให้เฉพาะสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปก็สามารถยื่นคำร้องออนไลน์เพื่อเสนอให้รัฐสภานำไปพิจารณาได้ โดยใช้เงื่อนไขเช่นเดียวกับการเสนอกฎหมายอื่นๆ ภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันยื่นคำร้อง หากประชาชนลงชื่อครบ 10,000 รายชื่อ รัฐบาลจะเป็นผู้รับสนองคำร้อง แต่ถ้าลงชื่อเกิน 100,000 รายชื่อ คำร้องนั้นจะถูกนำเข้าไปถกในรัฐสภา แต่ถ้ามีผู้ลงชื่อไม่ถึงเป้า คำร้องนั้นจะตกไปโดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น เกรแฮม สมิธ นักกิจกรรมจากกลุ่มรีพับลิกซึ่งเรียกร้องการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ยื่นคำร้องขอปรับเปลี่ยนงบประมาณส่วนกษัตริย์ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ โดยระบุว่ามติเดิมของรัฐสภาที่เห็นชอบให้เพิ่มเงินรายปีส่วนกษัตริย์เป็นระยะเวลา 10 ปีนั้นเป็นการใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤติจากทั้งเศรษฐกิจและโรคระบาด ซึ่งในตอนนี้ยังเปิดให้ลงชื่อและมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วเกือบ 4,000 คน

เมื่อปีที่แล้ว มีผู้เสนอคำร้องขอให้รัฐสภาใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติเพิกถอนยศและตำแหน่ง พ.ศ.2460 (Titles Deprevation Act 1917) เพื่อถอดถอนตำแหน่งดยุคและดัสเชสแห่งซัสเซ็กส์ของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน มาร์เคิล ภายหลังทั้งคู่ประกาศสละฐานันดรชั้นเจ้าฟ้าเพราะต้องการใช้ชีวิตแบบสามัญชนและไม่ขอรับเงินรายปีซึ่งมาจากภาษีของประชาชน ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาคำร้องชี้แจงว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้เฉพาะผู้ที่มีอาวุธและแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อองค์กษัตริย์ ซึ่งกฎหมายนี้ให้อำนาจเต็มแก่กษัตริย์ในการแต่งตั้งหรือเรียกคืนยศอัศวิน รวมถึงยศเจ้าฟ้า ไม่ใช่อำนาจของรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ยื่นคำร้องของรัฐสภายังมีผู้เสนอให้จัดการลงประชามติ ให้ประชาชนในสหราชอาณาจักรเลือกว่าควรมีราชวงศ์ต่อไปหรือไม่ ซึ่งคำร้องนี้ยังเปิดให้ลงชื่อ และไม่ถือว่าขัดหลักการยื่นคำร้องใดๆ

สเปน

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ปีที่แล้ว เปโดร ซานเชซ หัวหน้าพรรคแรงงานสังคมนิยมและนายกรัฐมนตรีสเปน เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวในการแถลงผลงานประจำปีของรัฐบาลว่า ใน พ.ศ.2564 รัฐบาลมีแผนพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เพื่อปฏิรูปสถาบันให้มีความทันสมัยมากขึ้นตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 กษัตริย์องค์ปัจจุบันของสเปน โดยซานเชซกล่าวสั้นๆ แค่ว่าทุกอย่างต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าจะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสถาบันด้านใดบ้าง ทั้งยังบอกอีกว่าพระราชดำรัสเนื่องในวันคริสต์มาสอีฟของกษัตริย์เฟลิเปที่ 6 นั้นกล้าหาญมาก

กษัตริย์เฟลิเปที่ 6 ตรัสว่า “หลักศีลธรรมและจริยธรรมของสถาบันฯ ทรงอยู่เหนือทุกสิ่ง แม้กระทั่งสายสัมพันธ์ของครอบครัว” ซึ่งแม้จะไม่ได้กล่าวโดยตรงแต่ก็คาดเดาได้ว่าพระองค์ตรัสถึงสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอสที่ 1 อดีตกษัตริย์และพระราชบิดาของพระองค์ ที่ถูกอัยการสั่งสอบสวนคดีทุจริตทางการเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จนต้องเสด็จฯ ลี้ภัยไปต่างแดน ซึ่งนำมาสู่การตั้งคำถามประชาชนชาวสเปนว่าประเทศควรมีสถาบันกษัตริย์ต่อไปหรือไม่

จากกรณีอื้อฉาวดังกล่าว ทำให้ ปาโบล อิเกลเซียส รองนายกรัฐมนตรีสเปนและหัวหน้าพรรคโปเดโมส กล่าวในการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังมีสเปนควรเปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ มาเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐ เพราะสถาบันกษัตริย์ไม่ตอบโจทย์การปกครองประเทศในศตวรรษที่ 21 แล้ว

“ประชาชนชาวสเปน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ น้อยคนนักที่จะทราบว่าจริงๆ แล้วประมุขของประเทศไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และประมุขของประเทศยังไม่ต้องให้การในชั้นศาลเหมือนประชาชนคนทั่วไป แถมยังไม่โดนถอดถอนออกจากตำแหน่งหากกระทำความผิดใดๆ อีกด้วย” อิเกลเซียสกล่าว

ก่อนหน้านี้ในเดือน ส.ค. 2563 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งแคว้นกาตาลุญญาของสเปนเพิ่งโหวตรับญัตติ ‘แคว้นกาตาลุญญาเป็นสาธารณรัฐและไม่ยอมรับสถาบันกษัตริย์’ ด้วยคะแนนเสียง 69 ต่อ 65

“พวกเรา ชาวคาตาลัน ไม่มีและไม่ต้องการกษัตริย์” กิมม์ โตร์รา อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งแคว้นกาตาลุญญาแถลงข่าวหลังการประชุมสภาท้องถิ่น “หากเรายอมรับราชวงศ์ที่หลบหนีออกนอกประเทศหลังตกเป็นจำเลยในคดีทุจริตเงินหลายล้านยูโรและถูกสอบสวนในชั้นศาล แบบนั้นแล้วจะใช้หลักกฎหมายหรืออำนาจใดมาบังคับใช้ในการตรวจสอบคดีทุจริตได้อีก” เขากล่าวทิ้งท้าย

สวีเดน

ใน พ.ศ.2553 พิธีอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงวิกตอเรียมกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดน กับเจ้าชายดาเนียล ดยุคแห่งเวสเตร์เยิตลันด์ ถูกประชาชนตั้งคำถามอย่างมากถึงความเหมาะสมเรื่องงบจัดงานที่สูงถึง 20 ล้านโครนาสวีเดน (71 ล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของงบรายปีที่ราชวงศ์ได้รับจากภาษีประชาชน ในขณะที่ช่วงเวลานั้น รัฐบาลขอร้องให้ประชาชนชาวสวีเดนพยายามประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้สำนักพระราชวังต้องออกมาชี้แจงว่าพิธีอภิเษกสมรสจะสร้างรายได้มหาศาลกลับคืนแก่ประเทศจากการท่องเที่ยวและการจำหน่ายของที่ระลึก

ถึงแม้ความนิยมของสถาบันกษัตริย์ของสวีเดนจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ผลสำรวจความนิยมของสถาบันกษัตริย์จากสถาบัน SOM แห่งมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์กของสวีเดน พบว่า ความนิยมของราชวงศ์สวีเดนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยใน พ.ศ.2546 ประชาชนชาวสวีเดน 68% ชื่นชอบสถาบันกษัตริย์ แต่ใน พ.ศ.2560 ความนิยมของสถาบันลดลงมาอยู่ที่ 55%

เว็บไซต์ Royalcentral.co.uk ระบุว่าในปี 2559 หนังสือพิมพ์ Expressen และ Nyheter 24 ของสวีเดนรายงานว่า ส.ส. บางส่วนจาก 5 พรรคการเมืองในรัฐสภาสวีเดนพยายามเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ และเปลี่ยนพระราชวังต่างๆ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ โดยหนึ่งใน ส.ส. จากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งสวีเดนบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “สวีเดนควรออกจากยุคกลางได้แล้ว เห็นได้ชัดว่าระบอบกษัตริย์ไม่เหมาะสมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะประมุขแห่งรัฐไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่มาจากการสืบสายเลือดของหนึ่งตระกูล ถึงเวลาแล้วที่ประมุขแห่งรัฐต้องปฏิบัติตามแบบแผนประชาธิปไตย”

เมื่อปีที่แล้ว สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน มีพระราชโองการให้ถอดพระราชนัดดา 5 พระองค์จากการเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า ทำให้พระราชนัดดาทั้ง 5 พระองค์ไม่ต้องปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเป็นทางการ รวมถึงจะไม่ได้รับเงินรายปีจากภาษีประชาชนซึ่งรัฐบาลจัดถวาย แต่ยังคงสถานะเป็นเชื้อพระวงศ์และมีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์เช่นเดิม ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สวีเดนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีถึงกรณีนี้ว่าน่าจะเป็นแผนปฏิรูปราชวงศ์ยุคใหม่ของสวีเดน เพื่อลดงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากประชาชนหลายฝ่ายเริ่มมองว่างบสถาบันเป็นสิ่งสิ้นเปลือง

ญี่ปุ่น

เมื่อ พ.ศ.2560 รัฐสภาญี่ปุ่นเห็นชอบกฎหมายพิเศษเพื่อการสละการบัลลังก์ของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ซึ่งถือเป็นกฎหมายสละราชบัลลังก์ฉบับแรกของประเทศนับตั้งแต่ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ก่อนหน้านี้ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะเคยตรัสว่าสุขภาพของพระองค์เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประมุขของประเทศ แต่รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นกำหนดชัดเจนว่าจักรพรรดิซึ่งมีฐานะเป็นประมุขของประเทศ ห้ามรับสั่ง แถลง หรือตัดสินใจใดๆ ทางการเมือง ดังนั้น หากพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะสละราชบัลลังก์ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาผ่านการออกกฎหมาย มิสามารถดำเนินการใดๆ ด้วยตนเองได้ ซึ่งกฎหมายพิเศษฉบับนี้จะมีผลเฉพาะกับการสละราชบัลลังก์ของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะเท่านั้น หมายความว่า หากจักรพรรดินารูฮิโตะหรือจักรพรรดิองค์ต่อไปของญี่ปุ่นต้องการสละราชบัลลังก์ก็ต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนทุกครั้ง

ไม่เพียงแต่กฎหมายการสละราชบัลลังก์ต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนเท่านั้น แต่กฎหมายอื่นๆ เกี่ยวกับราชวงศ์ญี่ปุ่นก็เช่นกัน อาทิ กฎหมายการสืบราชบังลังก์ ที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงมีสิทธิขึ้นครองราชย์ ซึ่งชาวญี่ปุ่นหลายคนมองว่ากฎหมายนี้ควรได้รับการแก้ไขปรับปรุงเพื่อความทันสมัยและเพื่อรักษาราชวงศ์ญี่ปุ่นให้คงอยู่สืบไป ด้าน ส.ส. พรรคฝ่ายค้านก็พยายามเสนอการแก้ไขกฎหมายสืบราชบัลลังก์แก่คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา แต่ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้น รวมถึงนักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมหลายคนยืนยันว่าจะไม่รับพิจารณากฎหมายนี้ ทำให้ ส.ส. ญี่ปุ่นยังไม่สามารถนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าไปพิจารณาในรัฐสภาได้

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net