Skip to main content
sharethis

ตำรวจพม่าออกหมายจับศิลปินเพิ่ม 6 ราย ฐานแพร่ข่าวลือ ยุยงสาธารณชน หลังเคลื่อนไหวสนับสนุนคนต้านรัฐประหาร ขณะเดียวกันรัฐบาลทหารพม่าเล็งปราบกลุ่ม ส.ส.พม่าที่รณรงค์คว่ำบาตรรัฐประหาร

จากแฟ้มภาพประชาไท เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2564 
จากแฟ้มภาพประชาไท เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2564 
 

18 ก.พ. 2564 สำนักข่าวอิระวดี รายงานเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564 ระบุว่า  ตำรวจพม่าออกหมายจับศิลปินและผู้กำกับชาวพม่าอีก 6 ราย ในรายชื่อมีนักแสดงภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง หลู่มิน และ ปเหย่ตี่อู รวมอยู่ด้วย ทางการพม่าให้เหตุผลว่า เนื่องจากศิลปินทั้ง 6 คน ใช้ชื่อเสียงของตนเองเรียกร้องให้คนออกมาต่อต้านรัฐบาลทหาร โดยสนับสนุนการทำอารยขัดขืน หรือ  Civil Disobedience Movement โดยในพม่านิยมย่อเป็น “CDM” และเข้าร่วมประท้วง 

อ้างอิงจากแถลงการณ์ของทางการพม่าเมื่อช่วงเย็นวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา เผยว่า ทางการพม่าตั้งข้อกล่าวหา 6 ศิลปินและผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 505 [b] ซึ่งกำหนดว่า ผู้ที่เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลที่เป็นข่าวลือหรือเป็นข้อมูลที่อาจจะสร้างความหวาดกลัว หรือยุยงสาธารณชนให้เกิดความแตกตื่น ถือว่ามีความผิด โดยมีโทษสูงสุดจำคุก 2 ปี 

นอกจากนี้ รัฐบาลทหารยังออกมาเตือนว่า หากใครจ้างศิลปินที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเหล่านี้ไปออกงาน อาจมีสิทธิถูกดำเนินคดีด้วยเช่นกัน 

ออกหมายจับ 17 ส.ส. ที่ชนะการเลือกตั้ง ฐานยุยงปลุกปั่น 

18 ก.พ. 2564 สำนักข่าวท้องถิ่นอิระวดี รายงานเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564 ระบุ สภาบริหารแห่งรัฐออกหมายจับ 17 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ชนะการเลือกตั้ง จากองค์กรคณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ หรือ Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw (CRPH) ตามมาตรา 505[b] หรือข้อหาส่งต่อหรือเผยแพร่ข้อมูลยุยงปลุกปั่นให้สาธารณชนแตกตื่นหรือหวาดกลัว 

จากแฟ้มภาพประชาไท เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 การประท้วงหน้าสถานทูตเมียนมา กรุงเทพฯ

จากแฟ้มภาพประชาไท เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 การประท้วงหน้าสถานทูตเมียนมา กรุงเทพฯ

หมายเรียกดังกล่าวถูกส่งไปตามท้องถิ่นที่ ส.ส.แต่ละคนอาศัยอยู่ และไม่มีการประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบ 

ผิ่วผิ่วติน ส.ส. จากเขตมินกะหล่าตองญุ้น นครย่างกุ้ง กล่าวถึงข้อกล่าวหาที่เธอได้รับว่า ‘ไม่ชอบด้วยกฎหมาย’ 

“เผด็จการทหารพม่าไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐบาล” ผิ่วผิ่วติน กล่าว และระบุเพิ่มว่า “นานาชาติยังไม่ยอมรับกองทัพพม่าเป็นรัฐบาล พวกเขาไม่ได้เป็นรัฐบาลเพราะไม่มีใครยอมรับ ดังนั้น มันจึงไม่เหมาะสมที่กองกำลังพม่าจะมาฟ้องร้องคนที่ได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่สมาชิกสภาฯ” 

ทั้งนี้ องค์กร CRPH ก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกแรกเริ่มเป็นสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี 15 คน ก่อนที่จะมีสมาชิกเพิ่มอีกสองคน ซึ่งทั้งคู่เป็น ส.ส.ชาติพันธุ์ จากพรรคประชาธิปไตยรัฐกะยาห์ (Kayah State Democratic Party) และพรรคแห่งชาติตะอาง (Ta’ang National Party)

หนึ่งในสมาชิกของ CRPH ระบุว่า จุดมุ่งหมายขององค์กร คือ ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนรัฐบาลที่ได้รับความชอบธรรม ซึ่งภายหลังถูกทหารยึดอำนาจไปเมื่อต้นเดือน ก.พ. 

นอกจากนี้ เขากล่าวเพิ่มว่า ทางสภาบริหารระดับเขตมีการเตรียมเล่นงาน ส.ส. จากพรรคเอ็นแอลดี ด้วยวิธีการทางกฎหมาย แต่พวกเขายังไม่ได้รับหมายเรียกแต่อย่างใด

มยัดธิดาทุน สมาชิก CRPH และ ส.ส. จากรัฐมอญ เธอทราบข่าวเรื่องถูกออกหมายจับเมื่อวันจันทร์ที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา และสภาบริหารเขตเตรียมหาช่องทางทางกฎหมายเล่นงานเธอเพิ่มเติมอีกด้วย 

หเว่ผโยอ่อง อีกสมาชิกจาก CRPH ระบุว่า “นอกจากทหารพม่าจะยึดอำนาจและควบคุมตัวประธานาธิบดี และที่ปรึกษาแห่งรัฐแล้ว... กองทัพพม่ามีแผนที่จะจับกุมและดำเนินคดีพวกเราเช่นกัน” 

เหว่ผโยอ่อง กล่าวเพิ่มว่า “กองทัพพม่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจ เพราะว่าการทำรัฐประหารของพวกเขานั้นไม่เป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญ” 

สมาชิกกลุ่ม CRPH เรียกร้องให้นานาชาติหันมาสนใจสถานการณ์ในประเทศเมียนมาขณะนี้ และ “ยืนเคียงข้างประชาชน” ชาวเมียนมาทั่วประเทศที่กำลังออกเดินขบวนต้านรัฐประหารในขณะนี้

“ประชาชนไม่สามารถยอมรับการทำรัฐประหารของกองทัพพม่า ดังนั้น หลาย ๆ คน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ จึงออกมาเข้าร่วมการประท้วง และขบวนการอารยขัดขืน (CDM)” มยัดธิดาทุน กล่าว

เธอกล่าวเพิ่มว่า นอกจาก CRPH จะสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตยแล้ว กลุ่มของเธอพร้อมสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ ทุกตำแหน่ง ที่ต้องการเข้าร่วมขบวนการอารยขัดขืนต่อรัฐบาลทหาร เธอมองว่าที่ผ่านมา ทหารพม่าพยายามบังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานอย่างไม่เต็มใจ 

การทำ CDM ครั้งแรก เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 เมื่อแพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของโรงพยาบาลพม่าหลายแห่ง ประกาศไม่เข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ก่อนที่หลังจากนั้น จะมีเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานอื่นๆ เข้าขบวนการ CDM ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งอาจารย์ ตำรวจ เจ้าหน้าที่การรถไฟ และอื่น ๆ 

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา หัวหน้าคณะรัฐประหารในนาม “สภาบริหารแห่งรัฐ” หรือ SAC พล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่าย กล่าวว่า พวกเขาจะดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับผู้ที่มีส่วนร่วมกับ CDM และลงโทษขั้นรุนแรงกับผู้ที่ส่วนร่วมในการตั้ง “รัฐบาลคู่ขนาน” ซึ่งหมายความถึง CRPH นั่นเอง 

เหว่ผโยอ่อง ทิ้งท้ายว่า “พวกเราไม่ยอมรับสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC)  และเราจะตอบโต้ด้วยวิธีทางกฎหมาย” ทาง CRPH เรียกร้องให้สภาบริหารแห่งรัฐต้องคืนอำนาจให้ประชาชนทันที และเรียกร้องให้นานาชาติไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ 

ทั้งนี้ นอกจากศิลปิน ผู้กำกับภาพยนตร์ และนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกองทัพ ที่กำลังโดนกองทัพพม่าเล่นงานจากมาตรา 505[b] แล้ว ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ตำรวจออกหมายจับผู้ต่อต้านรัฐบาล 7 คน ในรายชื่อมีอดีตแกนนำนักศึกษาประท้วงต้านรัฐบาลทหารจากยุค ‘8-8-88’ อย่าง มินโกหน่าย และจ่อมินยู หรือ จิมมี โดยทั้งหมดถูกตั้งข้อกล่าวหาละเมิดกฎหมายมาตรา 505[b] เช่นเดียวกัน โดยขณะนี้มินโกหน่ายยังไม่ถูกจับกุมตัว

นอกจากนี้ รายงานจากอิระวดี ระบุว่า นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 มีผู้ต่อต้านรัฐประหารถูกจับไปแล้วทั้งสิ้น 450 ราย และได้รับการปล่อยตัวไม่กี่คนเท่านั้น 

มาตรา 505[b] เป็นกฎหมายที่ถูกวิจารณ์ว่ามีการใช้คำอย่างคลุมเครือ และในอดีต กฎหมายนี้มักถูกนำมาใช้เล่นงานนักเคลื่อนไหว หรือฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล 

เรียบแรงจาก 

Six More Myanmar Celebrities to Face Arrest for Support of Civil Disobedience Movement, The Irrawaddy, 17 Feb 2021 

Military Regime Issues Arrest Warrants for 17 Elected MPs for Incitement, The Irrawaddy, 17 Feb 2021
 


 

 


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net