Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพประกอบ: unsplash/m0851

22 ก.พ. 2564 สภาสหภาพแรงงานสหราชอาณาจักร (TUC) อ้างรายงานตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ระบุว่าผู้หญิงที่ทำอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าในโรงงาน เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าผู้หญิงที่ทำอาชีพอื่นถึง 4 เท่า

การวิเคราะห์สถิติอย่างเป็นทางการ แสดงให้เห็นว่าช่างตัดเย็บเสื้อผ้าในโรงงานมีอัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 สูงสุด (64.8 รายต่อ 100,000 คน) เฉพาะในอาชีพที่ผู้หญิงทำ

อัตรานี้สูงกว่าผู้หญิงที่ทำงานในภาคที่มีความเสี่ยง เช่น ภาคการดูแล ท่องเที่ยว และการบริการอื่น ๆ (เสียชีวิต 27.3 รายต่อ 100,000 คน)

"ความลับที่เปิดเผย" สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าอังกฤษ

พบโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่เลสเตอร์ บางแห่งยังให้คนทำงานทำงานตามปกติในช่วงล็อกดาวน์ โดยไม่มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังค
พบโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่เลสเตอร์ บางแห่งยังให้คนทำงานทำงานตามปกติในช่วงล็อกดาวน์ โดยไม่มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม | ที่มาภาพ: euronews

ตัวเลขที่น่าตกใจเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจอย่างชัดเจน ถึงสภาพการทำงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของสหราชอาณาจักรทั้งในช่วงก่อนและหลัง COVID-19 ระบาดใหญ่

ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาองค์กรสิทธิแรงงาน Labour Behind the Label ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิคนทำงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่เลสเตอร์ ในเวลาเดียวกันกับที่เมืองเลสเตอร์ถูกวางมาตรการพิเศษ หลังจากพบผู้ป่วย COVID-19 จำนวนมากที่ทำงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้า

การสืบสวนพบว่าโรงงานบางแห่งยังให้พนักงานทำงานตามปกติในช่วงล็อกดาวน์ โดยไม่มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หนำซ้ำยังจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

นักรณรงค์ด้านสิทธิแรงงาน กล่าวว่าสภาพการทำงานในโรงงานเหล่านี้เป็น "ความลับที่เปิดเผย" มานานหลายปีแล้ว และมีการเรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมอุตสาหกรรมเสื้อผ้าอย่างเข้มงวดมากขึ้น

"ความล้มเหลวของรัฐบาลในการบังคับใช้มาตรการด้านสุขภาพและความปลอดภัย ควบคู่ไปกับความล้มเหลวของแบรนด์ที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อคนทำงาน ทำให้เกิดสภาพการทำงานที่อันตราย แบรนด์ สหภาพแรงงาน และหน่วยงานภาครัฐต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ความปกป้องผู้ที่เปราะบางที่สุด" นักรณรงค์ด้านสิทธิแรงงาน จาก Labor Behind the Label ระบุ

ต้องมีกฎหมายความรับผิดร่วม

Boohoo แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นของอังกฤษ กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการกำกับดูแลสายพานการผลิตในเลสเตอร์
Boohoo แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นของอังกฤษ กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการกำกับดูแลสายพานการผลิตในเลสเตอร์ | ที่มาภาพ: Labour Behind the Label

รูปแบบการดำเนินธุรกิจของ 'ฟาสต์แฟชั่น' (Fast Fashion) อันหมายถึงสินค้าแฟชั่นต่าง ๆ ที่ถูกผลิตออกมาอย่างรวดเร็วในราคาต่ำที่สุด เพื่อสนองผู้ซื้อมีความต้องการซื้อมาก ๆ ในราคาย่อมเยา ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของความทุกข์ยากของแรงงาน ในกรณีนี้ 'Boohoo' แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นของอังกฤษ กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการกำกับดูแลสายพานการผลิตที่เลสเตอร์

จากรายงานข่าวสืบสวนของ The Guardian พบว่าผู้รับเหมาช่วงของ Boohoo จำนวน 18 รายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาจ่ายค่าแรงขั้นต่ำให้กับคนงาน แต่ภายใต้กฎหมายในปัจจุบันของอังกฤษ Boohoo ไม่ต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของผู้รับเหมาช่วงเหล่านี้

ทั้งนี้ Labor Behind the Label ระบุว่านี่เป็นสิ่งที่ผิด และกำลังเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายตรวจสอบสถานะด้านสิทธิมนุษยชน นอกเหนือจากแบรนด์ที่ต้องรับผิดต่อการละเมิดสิทธิแรงงานของผู้รับเหมาช่วงแล้ว Labor Behind the Label ยังเรียกร้องให้:

- การยุติแนวทางปฏิบัติการจัดซื้อที่เปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งแบรนด์ส่วนใหญ่ใช้เพื่อทำให้ราคาสินค้าลดลง ทั้งนี้การผลิตโดยผู้รับเหมาช่วงมักเป็นการแสวงหาประโยชน์จากแรงงาน
- การเข้าถึงโรงงานของสหภาพแรงงาน เพื่อให้แน่ใจว่าโรงงานเหล่านั้นมีมาตรฐานเพียงพอที่จะปกป้องคนงาน
- การดำเนินการร่วมกันของรัฐบาลและแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าคนทำงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของสหราชอาณาจักร ได้รับการปกป้องจากการละเมิดสิทธิแรงงานและสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย

ลี บาร์รอน เลขาธิการภูมิภาคมิดแลนด์ของ TUC ระบุว่าทุกคนควรมีความปลอดภัยในการทำงาน

"แนวทางปฏิบัติในการทำงานที่น่าตกใจในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของสหราชอาณาจักร ถือเป็นความลับที่เปิดเผยมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง"

"นั่นคือเหตุผลที่เราผลักดันให้เกิดรูปแบบความร่วมมือใหม่ ที่ทำให้การเข้าถึงสหภาพแรงงานเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมเสื้อผ้า แนวทางใหม่ที่สหภาพแรงงาน ผู้ค้าปลีก และผู้บริหารโรงงาน ทำงานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายในอุตสาหกรรมนี้"

"แต่เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้วย รัฐบาลต้องทำให้บริษัทต่าง ๆ รับผิดต่อการละเมิดสิทธิแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของตน"

"ไม่ควรมีแบรนด์ใดที่จะปัดความรับผิดชอบ หากผู้รับเหมาช่วงปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไม่ถูกต้องและปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา" บาร์รอน กล่าว


ที่มาเรียบเรียงจาก
Women working in UK garment factories four times more likely to die of Covid-19 than average woman worker


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net