Skip to main content
sharethis

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สรุปคำฟ้อง #ราษฎรฟ้องกลับ อดีต 2 ดาวดินยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย สตช.  กรมศิลปากร และ กทม. ต่อศาลแพ่ง รวมเป็นเงินจำนวน 2 ล้าน หลังออกหมายเรียกคดีร่วมชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้อยู่กรุงเทพในช่วงนั้น

 

24 ก.พ.2564 ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โพสต์สรุปคำฟ้อง คดีที่อดีต 2 ดาวดิน วสันต์ และ สุวิชชา ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศิลปากร และกรุงเทพมหานคร ต่อศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก รวมเป็นเงินจำนวน 2 ล้านบาท และให้สื่อสารต่อสาธารณะว่า "เข้าใจแล้วว่าเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาได้กระทำเกินขอบเขต และจะกำชับมิให้กระทำในลักษณะละเมิดสิทธิ เสรีภาพประชาชน" นอกจากนี้ยังให้ลบประวัติอาชญากรทั้งหมดของโจทก์ทั้งสองที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้

ศาลนัดวันชี้สองสถานวันที่ 14 มิ.ย. 2564 เวลา 9.00 น. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สรุปคำฟ้องไว้ดังนี้ว่า

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ถึง 20 กันยายน 2563 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุมในชื่อ "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และต่อมาหลังจากยุติการชุมนุมแล้ว นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี และนายสุรเดช อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตพระนคร ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพันตำรวจโท โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ให้ดำเนินคดีกับนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวก ในข้อหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์

นอกจากนี้พันตำรวจเอกวรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพันตำรวจโท โชคอำนวย ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

ต่อมาพันตำรวจโท โชคอำนวย ในฐานะพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทั้งสองคดีได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว ให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 โดยนายวสันต์และนายสุวิชชาเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกเรียกตามหมายเรียกด้วย โดยที่ทั้งนายวสันต์และนายสุวิชชา ไม่ได้เดินทางมากรุงเทพมหานครในช่วงเวลาที่มีการจัดการชุมนุมแต่อย่างใด ในวันที่มีการชุมนุม นายวสันต์ได้ทำงานอยู่ที่ห้องอาหารสุนีย์ จังหวัดอุบลราชธานี และนายสุวิชชาได้ปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำจังหวัดอุดรธานี

การกระทำของเจ้าพนักงานภายใต้สังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือ พันตำรวจเอก วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ในฐานะนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ย่อมมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่จะสามารถตรวจสอบได้ถึงพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ต้องรวบรวมให้เพียงพอ ก่อนที่จะแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเกี่ยวกับความผิดอาญาที่เกิดขึ้นในท้องที่รับผิดชอบของตน แต่กลับไม่ตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อนออกหมายเรียกโจทก์ทั้งสอง ทำให้ทั้งสองได้รับความเสียหาย

และพันตำรวจโท โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนมีอำนาจและหน้าที่ในการรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆอันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิด และพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา โดยในฐานะพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีมีหน้าที่ตามกฎหมาย เมื่อได้รับแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้ว ต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐานและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาและต้องตรวจสอบว่าผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่อย่างไรให้ครบถ้วนเสียก่อน ก่อนที่จะออกหมายเรียกผู้ต้องหาต่อไป แต่กลับไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ ทำการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายวสันต์ โดยมีเพียงเอกสารภาพถ่ายประกอบคดีเป็นภาพกลุ่มบุคคลกำลังยืนอยู่บริเวณแนวรั้วเหล็กสีเขียวและภาพบุคคลใส่เสื้อยืดสีดำแขนสั้นสวมหมวกผ้าสีดำปีกกว้างไม่เห็นใบหน้าซึ่งไม่ใช่นายวสันต์มาประกอบการแจ้งข้อกล่าวหา

ในส่วนของนายสุวิชชาซึ่งถูกออกหมายเรียกผู้ต้องหาและได้เข้าพบพนักงานสอบสวนกลับไม่ถูกแจ้งพฤติการณ์การกระทำความผิด และไม่แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ กับทั้งไม่ยอมดำเนินการเพิกถอนหมายเรียกผู้ต้องหาของนายสุวิชชา ทั้งสองข้อหา ทั้งพนักงานสอบสวนยังมีพฤติกรรมหน่วงรั้งนายสุวิชชาไว้ โดยไม่ดำเนินการทางกฎหมาย

อีกทั้งการกระทำของนายสถาพร เที่ยงธรรม เจ้าหน้าที่ในสังกัดของกรมศิลปากร และนายสุรเดช อำนวยสาร เจ้าหน้าที่ในสังกัดของกรุงเทพมหานคร ถือได้ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อโจทก์ทั้งสองโดยผิดกฏหมาย เพื่อจะแกล้งให้โจทก์ทั้งสองต้องรับโทษ โดยก่อนที่จะแจ้งความกล่าวโทษบุคคลใด จะต้องตรวจสอบพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงให้ถูกต้องและครบถ้วนเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลใด หรือเพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายวสันต์และนายสุวิชชา ซึ่งเป็นประชาชนชาวไทย มีสิทธิ เสรีภาพ ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไมย กฏหมายภายใน และกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี จึงเข้ายื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศิลปากร และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ที่กระทำความผิด ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(UDHR) เป็นจำนวนเงินคนละ 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท เนื่องจากทำให้ทั้งสองได้รับความเสียหายทั้งต่อชื่อเสียง เกียรติยศ กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ทั้งร่างกายและจิดใจ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยังเชิญชวนผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าทางคดีได้ทาง Facebook: ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน Twitter: HRLawyersTH และสามารถสนับสนุนการต่อสู้คดีของ #ราษฎรฟ้องกลับ ผ่านสองช่องทาง ตามรายละเอียด ดังนี้

1. เขียนเช็ค สั่งจ่ายในนาม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนรัชดาภิเษก ห้วยขวาง ประเภทออมทรัพย์ เลขบัญชี 089-3-67744-5

2. โอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ในนามบัญชี สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนรัชดาภิเษก ห้วยขวาง ประเภทออมทรัพย์ เลขบัญชี 089-3-67744-5

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมออกหลักฐานการรับบริจาคในรูปแบบใบเสร็จรับเงินโดยมีขั้นตอน ดังนี้ หลังโอนเงินแล้ว ผู้บริจาคกรุณาส่งสำเนาหลักฐานการโอนเงิน พร้อมชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ อีเมล และเบอร์โทรศัพท์ของท่าน มาที่ inbox ของเพจภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน หรือ อีเมล humanrightlawyer2020@gmail.com เพื่อให้สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนออกใบเสร็จรับเงินให้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net