Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 อาสาสมัครกรีนพีซ ราว 40 คน ร่วมเก็บขยะบริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา คุ้งบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ และตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) เพื่อรวบรวมข้อมูลประเภทพลาสติกและแบรนด์สินค้าที่พบในสิ่งแวดล้อมของชุมชนบางกะเจ้า โดยข้อมูลที่รวบรวมได้ดังกล่าวจะถูกนำไปรวมกับข้อมูลที่เก็บได้ในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อสรุปผลเป็นข้อมูลรายปีว่าพบเจอขยะพลาสติกประเภทใดและแบรนด์ใดมากที่สุด

ดเนตร แสงกระจ่าง ชาวชุมชนบางกะเจ้า และเป็นอาสาสมัครกรีนพีซผู้ร่วมเก็บขยะตรวจสอบแบรนด์ในวันนี้ กล่าวว่า “บางกะเจ้าเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชน และเป็นสถานที่ที่ผู้คนนิยมมาพักผ่อน ก่อนหน้านี้ปัญหาการจัดการขยะขาดการมีส่วนร่วม ทางวัดจากแดงและคนในชุมชนจึงได้มีการร่วมมือกัน เริ่มจัดการขยะที่เกิดในครัวเรือน โดยการแยกขยะและนำมาจัดการที่โรงแยกขยะของทางวัด และพยายามให้มีการลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในชีวิตประจำวัน  จึงมีการรวมตัวอย่างแข็งขันเพื่อช่วยกันจัดการขยะที่เกิดจากครัวเรือน รวมถึงการท่องเที่ยวในชุมชน โดยมีวัดจากแดงที่เป็นศูนย์รวมหลักในการจัดการขยะและเป็นศูนย์การเรียนรู้ และรณรงค์ให้คนในชุมชนลดใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง เช่น สอนให้ชาวบ้านแยกขยะ และมีการรับขยะโดยเฉพาะพลาสติกที่ชาวบ้านแยกและทำความสะอาดระหว่างบิณฑบาตรทุกวันมาทำการเพิ่มมูลค่าตามความเหมาะสม และรวมทั้งจัดกิจกรรมเก็บขยะร่วมกันอยู่เป็นประจำ”

การตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกเป็นกิจกรรมที่กรีนพีซ ประเทศไทยจัดอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อผลักดันให้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) เป็นมาตราการที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย โดยให้ผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ มีส่วนรับผิดชอบในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อแก้ปัญหามลพิษพลาสติกที่มีมากขึ้น

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “เรายังคงพบเจอขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกค่อนข้างมาก ขยะพลาสติกประเภทดังกล่าวไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์น้ำ หรือสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงและกลายเป็นภาระต่อชุมชน รวมถึงคนหรือหน่วยงานที่ต้องจัดการขยะ เรามีต้นทุนที่มองไม่เห็นนั่นคือค่าใช้จ่ายในการจัดการบรรจุภัณฑ์เหล่านี้หลังจากกลายเป็นขยะ คำถามคือ นี่เป็นความรับผิดชอบของชุมชนหรือหน่วยงานเก็บขยะหรือ และทำไมผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์สินค้านั้น ๆ ไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับการเก็บกวาดหรือจัดการขยะที่ตนเองผลิตขึ้นมา

กรีนพีซเชื่อว่าข้อมูลจากการตรวจสอบขยะพลาสติกในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ให้ผู้คนในสังคมเห็นว่าเรากำลังเผชิญกับปัญหามลพิษประเภทใด และแบรนด์ใดบ้างที่มีส่วนรับผิดชอบ

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการรณรงค์สร้างความตระหนักเป็นสิ่งสำคัญ แต่การลดปัญหามลพิษพลาสติก ไม่อาจทำได้ด้วยการรณรงค์กับผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว กรีนพีซเรียกร้องให้ผู้ผลิตสินค้ามีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการลดใช้พลาสติกตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบสินค้า คิดค้นระบบหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อลดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ของตน รวมถึงการหาแนวทางจัดการกับขยะที่เกิดจากสินค้าของตนเอง และเรียกร้องให้ภาครัฐมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤตมลพิษพลาสติกโดยการมีมาตรการทางกฎหมายในการจัดการขยะพลาสติกและการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตขึ้น เพื่อให้การแก้ไขวิกฤตมลพิษเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและขับเคลื่อนไปด้วยกันทุกภาคส่วน”

กิจกรรมเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ร่วมกันของหลายองค์กรทั่วโลก ภายใต้การเคลื่อนไหว Break Free From Plastic เพื่อรณรงค์ลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ข้อมูลจากการตรวจสอบขยะพลาสติกในวันนี้จะถูกรวบรวมเพื่อตรวจสอบและระบุแบรนด์สินค้าที่พบมากที่สุดจากขยะพลาสติกที่เก็บได้ โดยจะรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวในช่วงปลายปีนี้

สามารถดูข้อมูลการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกโดยกรีนพีซ ประเทศไทย ปี 2561-2563 ได้ที่ https://www.greenpeace.org/thailand/tag/plastic/

ชุมชนหรือผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) สามารถติดต่อกรีนพีซเพื่อแบ่งปันข้อมูลหรือจัดกิจกรรมร่วมกันได้ที่ purimpat.jansuwan@greenpeace.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net