Skip to main content
sharethis

สหภาพยุโรป สนับสนุนโครงการอียูรับมือโควิด จัดกิจกรรม Workshop เตรียมความพร้อมการทำฐานข้อมูลให้แก่กลุ่มผู้หญิง แม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้สูงอายุ และคนพิการที่ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ใน 4 ภาค

 

25 มี.ค.2564 ฝ่ายสื่อสารโครงการอียูรับมือโควิด แอ็คชั่นแอด ไทยแลนด์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 11-12 มี.ค.ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป ในประเทศไทย ได้สนับสนุนมูลนิธิเพื่อนหญิง ร่วมมือกับมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย จัดกิจกรรม Workshop ณ ห้อง ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ ถนนจรัญสนิทวงค์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการอียูรับมือโควิด เพื่อเตรียมความพร้อมการทำฐานข้อมูลให้แก่กลุ่มผู้หญิง ในหัวข้อเรื่อง “ชวนมาสนุกกับอาชีพที่ผู้หญิงอยากทำ” รวมไปถึงมิติอื่น ๆ เช่นความรุนแรงในครอบครัว ภัยทางเพศ ผลกระทบกับการประกอบอาชีพ เนื่องจากทางสหภาพยุโรปได้เล็งเห็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้หญิง โดยเฉพาะกับในกลุ่มเปราะบาง เช่น แม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ทั้งในชุมชนเมืองและต่างจังหวัด ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และครอบครัว

กิจกรรมในครั้งนี้ มีแกนนำผู้หญิงจาก 2 ชุมชน ในเขตบางกอกน้อย และเขตตลิ่งชัน เข้าร่วมจำนวน 20 ท่าน เป็นตัวแทนจากภาคกลาง ในการมีส่วนร่วมหารือ แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยน วิเคราะห์ฐานข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจ พร้อมกับแจกถุงยังชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ทั้ง 2 ชุมชนนอกจากจะแสดงความคิดเห็นแล้ว ยังร่วมกันสรุปรวบรวมปัญหา ข้อเสนอแนะ และข้อเรียกร้อง จนนำไปสู่การจัดทำแผนทั้งเชิงปฏิบัติ และเชิงนโยบาย เสนอต่อภาครัฐ สำหรับผู้หญิงและชุมชนของตน ในการรับมือโควิด-19 ในปัจจุบันและอนาตต

มุกดา ไทยหอม ประธานชุมชนเขตตลิ่งชัน เปิดเผยว่า กิจกรรมในวันนี้ ทำให้รู้ว่า มีผู้หญิงจำนวนมากในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมทั้งได้ความรู้เกี่ยวกับการเก็บข้อมูลสำรวจอย่างถูกต้อง เพื่อต่อยอดและจำแนกได้ว่า ใครควรจะได้รับความช่วยเหลือก่อนหลัง และช่วยเหลืออย่างไรถึงจะเหมาะสม เช่น มีหลายคนที่ไม่เข้าใจเรื่องสวัสดิการภาครัฐต่าง ๆ ที่ควรจะได้รับ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมนี้ทำให้เธอสามารถช่วยคนเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง นางมุกดายังเสริมต่อว่า กิจกรรมนี้ถือเป็นประโยชน์มาก เพราะเชื่อว่า ข้อมูลเหล่านี้ จะสามารถนำไปอ้างอิง ทำแผนรับมือโควิด-19 และภัยพิบัติในอนาคตได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าทำได้จริง

ทางด้านประธานชุมชนเขตบางกอกน้อย น้อมละมูล พันธุ์พิจิต กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะแกนนำทุกคนในชุมชนของเธอมีเวทีได้แสดงออก ทำให้เห็นปัญหาหลากหลาย จากหลายชุมชนภายใต้เขตบางกอกน้อย สิ่งนี้ทำให้เธอเห็นแนวทางการทำงานร่วมกันในอนาคต ซึ่งข้อมูลที่ได้มานั้น ทำให้สามารถวางแผน และสะท้อนถึงความต้องการที่เราอยากได้จริง ๆ เช่น การอบรมด้านอาชีพ แหล่งทุน การอบรมเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ ที่จะทำให้ชุมชนต่อยอดได้ด้วยขาของตนเอง

ภายหลังจากการทำกิจกรรม ผลที่ได้รับทั้งหมด ทุกชมชนจะนำไปต่อยอด โดยมีโครงการอียูรับมือโควิด ช่วยติดตามช่วยเหลือ และประเมินผลเพื่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กิจกรรม Workshop นี้จะถูกจัดทั้งหมด 4 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค (เหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ และ ใต้) ระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน 2564  ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการสำเร็จแล้วในเขตภาคกลาง ที่กรุงเทพมหานคร และภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนในเขตภาคตะวันออกฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุบลราชธานี และ ภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา จะเริ่มจัดขึ้นภายในเดือนเมษายน 2564 โดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้ทั้งแกนนำผู้หญิงเหล่านี้ทั้ง 4 ภาคสามารถเป็นตัวแทนต้นแบบ และขยายผลความรู้ดังกล่าว ไปวางแผนพัฒนาในพื้นที่ของตนและชุมชนใกล้เคียงให้สามารถหาวิธีในการรับมือกับโควิด-19 ได้ในอนาคตอย่างยั่งยืน

เกี่ยวกับโครงการอียูรับมือโควิด

สหภาพยุโรป ให้การสนับสนุนมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย และองค์กรภาคประชาสังคม เปิดตัวโครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบโควิด-19 ในประเทศไทย ด้วยงบประมาณ 2.6 ล้านยูโร หรือประมาณ 90 ล้านบาท โดยมีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มความสามารถและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมของไทย ที่จะช่วยลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจของกลุ่มประชากรเปราะบางที่สุดในประเทศ ทั้งสองโครงการมีระยะเวลาการดำเนินงานเป็นเวลา 2 ปี และปฎิบัติงานโดยภาคีขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย โดยมีส่วนประกอบหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด การฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนโดยการพัฒนาการดำรงชีพของชุมชนที่ได้ผลกระทบให้ดีขึ้น และการสร้างความสามารถในการยืดหยุ่นของชุมชนในการรับมือวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

องค์กรหลักในการดำเนินงานของโครงการระดับประเทศคือ มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย โดยร่วมกับองค์กรภาคี อีก 10 องค์กร โดยมีพื้นที่ในการปฏิบัติงานในเกือบ 40 จังหวัด และจะทำงานกับภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ เช่น แรงงานข้ามชาติ และแรงงานนอกระบบ เด็ก และประชาชนชายขอบ ซึ่งครึ่งหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบนี้เป็นผู้หญิง

เกี่ยวกับสหภาพยุโรปในประเทศไทย (European Union in Thailand)

สหภาพยุโรป (อียู) เป็นการรวมตัวในลักษณะสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศในทวีปยุโรป มีสมาชิกในปัจจุบันจำนวน 27 ประเทศ ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันสร้างภูมิภาคที่มีความมั่นคง เป็นประชาธิปไตย และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก เปิดกว้างในการยอมรับซึ่งกันและกัน และเคารพเสรีภาพของประชาชน ในปี 2555 (ค.ศ. 2012) สหภาพยุโรปได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เนื่องจากเป็นองค์กรที่ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความสมานฉันท์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในยุโรป

สหภาพยุโรปเป็นสมาคมทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเป็นแหล่งทุนและเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นอกจากนี้สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกยังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance) รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยที่มูลค่าการให้ความช่วยเหลือรวมกันเกินครึ่งหนึ่งของยอดรวมทั้งโลก

เกี่ยวกับแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (ActionAid Thailand)

มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2544 เราคือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งเน้นให้ประชากรที่ประสบความยากจนและการกีดกันทางสังคม พัฒนาศักยภาพด้านสิทธิมนุษยชน เป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วม และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องของตน เราเชื่อในพลังของผู้คนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อตนเองและสังคม เราจึงสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกกีดกันทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิง เยาวชน และคนยากจน ตระหนักถึงศักยภาพของตน เข้าใจในสิทธิ์ที่ตนพึงจะมี และใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี

เราทำงานเป็นพันธมิตรร่วมกับชุมชน องค์กรประชาสังคม กลุ่มและเครือข่ายผู้หญิง กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม สถาบันการศึกษาและการวิจัย หน่วยงานรัฐในระดับต่างๆ สื่อ ฯลฯ และขยายผลโครงการของเราในระดับท้องถิ่น การจับมือกับพันธมิตรและรวมพลังเป็นหนึ่ง เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่เคยถูกละเลยและกีดกัน สามารถนำเสนอประเด็นปัญหาของพวกเขา เข้ามารณรงค์ ขับเคลื่อนนโยบาย และสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม ชอบธรรม และยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net