Skip to main content
sharethis

เรื่องเล่าขนาดยาวของ ‘มายด์’ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล การไต่เส้นระหว่างการเป็นลูกที่ดีกับนักเคลื่อนไหวที่ดี กุญแจสำคัญของการเติบโตของความคิดทางการเมือง บทบาทที่แท้จริงในการชุมนุม เรื่องตลกร้ายที่สถานทูตเยอรมันฯ ความคิดเรื่องการลี้ภัย และสิ่งที่ห่วงที่สุดหากต้องเข้าไปในเรือนจำ

 

“หนูในนามประชาชนคนธรรมดา อยากจะขอถวายคำบังคมทูลถึงกษัตริย์ ในฐานะประมุข ท่านควรครองตนเพื่อเป็นภาพลักษณ์ที่ดี เหมาะสมกับการเป็นประมุขของประเทศ คนรอบตัวท่านอาจไม่มีความกล้าหาญพอที่จะตักเตือนท่านอย่างตรงไปตรงมา แต่ประชาชนที่เป็นกัลยาณมิตรคนสุดท้ายของท่านกำลังส่งเสียงถึงท่าน...,”

การหวนคืนสู่เวทีปราศรัยเมื่อ 24 มี.ค. ของภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ ‘มายด์’ คือการหวนคืนมายืนยันความสำคัญของการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อีกครั้ง แม้ในวันที่เธอเองก็ตกเป็นผู้ต้องหาในคดี ม.112 จากการอ่านจดหมายที่ส่งให้กับเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยในการชุมนุมประวัติศาสตร์เมื่อ 26 ต.ค. 2563 

ในวันที่ข้อเรียกร้องตั้งแต่วันแรกของการชุมนุมยังไม่เกิดมรรคผล และนาฬิกาอิสรภาพของเธอกำลังเดินกลับหลัง ประชาไทนั่งพูดคุยกับมายด์เพื่อทำความรู้จักชีวิตของเธอให้มากขึ้น 

(สัมภาษณ์เมื่อ 21 มี.ค. 2564 วันคล้ายวันเกิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

เส้นทางระหว่าง ‘ลูกที่ดี’ กับ ‘นักเคลื่อนไหวที่ดี’

มายด์เป็นลูกสาวคนเดียวในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนจาก จ.สระบุรี ‘ป๊า’ ของมายด์เลิกทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไปเมื่อช่วงปี 2560-2561 เนื่องจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำหลังรัฐประหาร ในขณะที่แม่ก็ต้องสลับสับเปลี่ยนอาชีพอยู่หลายครั้งตามสภาพเศรษฐกิจ การดิ้นรนที่เธอเห็นตั้งแต่เด็กคือหนึ่งในสาเหตุที่เธอตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น

"การออกมาเคลื่อนไหวของหนูทำให้ครอบครัวเป็นห่วงมาก แต่ถ้าคุยกันตรงๆ หนูว่าหนูโตมาในครอบครัวที่เข้มแข็งมากๆ ทั้งแม่ทั้งป๊าหนูก็เคยผ่านวิกฤตมาหลายอย่าง ซึ่งก็ผ่านมันมาได้ตลอดแม้ว่ามันจะยากลำบากขนาดไหน จริงๆ ตอนปี 2540 ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างป๊าก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ทำให้แม่ต้องหาอาชีพเสริมอื่นๆ"

แม้จะทนทายาดต่อมรสุมเศรษฐกิจ แต่แรงปะทะจากคดีการเมืองนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความกังวลและคำถามสารพัดพุ่งตรงมาที่ตัวเธออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะหลังจากการชุมนุมที่หน้าสถานทูตฯ ที่ประจวบเหมาะกับหมายเรียกจากคดีต่างๆ ย้อนหลังหลั่งไหลไปที่บ้านของเธอ 

ในฐานะสมาชิกครอบครัว เธอตกอยู่บนทางสองแพร่งระหว่างการเป็นลูกที่ดีของครอบครัวและการเป็นนักเคลื่อนไหวที่ดีของขบวนการอยู่ตลอด ผสมผสานไปทั้งความกังวลและท่าทีที่น่ารักของครอบครัวที่บางครั้งเธอเองก็จับทางไม่ได้ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือการที่สมาชิกครอบครัวดีอกดีใจเวลาเห็นเธอออกโทรทัศน์ แต่อีกด้านก็กังวลในเรื่องการถูกดำเนินคดี ซึ่งเธอก็ทำได้แค่บอกว่าขอให้พวกเขามั่นใจและเข้มแข็งกับเส้นทางที่เธอเลือกว่ามันไม่ผิดและเป็นสิ่งต้องทำ

"พูดตรงๆ เลยว่ามี เพราะหนูถูกถามว่า เมื่อไหร่จะหยุด เมื่อไหร่มันจะยุติสักที โอเค ป๊ากับแม่ไม่ได้ขัดอุดมการณ์เรา แต่ด้วยสถานการณ์มันเข้มข้นอย่างนี้ เขาก็เป็นห่วงความปลอดภัยของเรา เขาเป็นห่วงอนาคต เขากลัวว่าเราจะมีปัญหาเรื่องการเรียน กลัวว่าอนาคตจะทำงานลำบาก แล้วเรื่องหนึ่งคือ พอมันเป็นเรื่องการเมือง มันมีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย คนรอบข้างบางคน ทั้งๆ ที่เคยสนิทกับแม่ รักกันดีกับแม่ และก็รักหนูด้วย แต่พอเห็นหนูออกมาทำตรงนี้เขาก็มาด่าหนู มาด่าแม่ว่า ลูกมันเป็นไอ้เด็กชังชาติ เด็กล้มเจ้า นี่คือสิ่งที่แม่หนูได้เจอ"

เบิกเนตรทางการเมืองในรั้วมหาวิทยาลัย

ณ วันที่สัมภาษณ์ มายด์เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร คณะวิศวกรรมโยธา เธอเล่าว่านี่คือหนึ่งในความพยายามเป็นลูกที่ดีของครอบครัว เพราะการตัดสินใจเรียนคณะนี้มีสองเหตุผล หนึ่งคือความมุ่งหมายจะกลับไปสานต่อกิจการที่บ้าน และอีกหนึ่งคืออาการดีใจมากๆ ของพ่อเมื่อรู้ว่าลูกสอบติดวิศวกรรมโยธา

แล้วอะไรทำให้ว่าที่นายช่างมาสนใจเรื่องการเมือง? เธอตอบว่าจุดเริ่มต้นคือการรู้จักกับเพื่อนที่สนใจการเมืองในรั้วมหาวิทยาลัยที่เธอบอกว่าเป็นการ ‘เปิดโลก’ ในทางการเมือง จากนั้นก็มีการแลกเปลี่ยนความเห็นและตั้งคำถามที่กว้างขวางในทางประเด็น และสูงลิ่วในทางเพดานในกลุ่มเพื่อนสมัยมัธยมและเพื่อนในมหาวิทยาลัย 

มุขปาฐะบวกกับข้อมูลจากหนังสือและข่าวกลายเป็นสมการการเติบโตของความคิดอ่านทางการเมืองของเธอ

แต่หัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญเกิดขึ้นคือวันที่ 22 พ.ค. 2558 เมื่อนักกิจกรรมหลายกลุ่มรวมตัวกันที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ยืนดูนาฬิกาเนื่องในวาระครบรอบ 1 ปี คสช. แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบควบคุมตัวผู้ร่วมกิจกรรมราว 30 คนไปที่ สน.ปทุมวัน และต่อมามีการดำเนินคดีนักกิจกรรม 9 คนข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. 3/2558

"เราอยู่ในสังคมที่ตอนแรกไม่ได้สนใจการเมือง แล้วตอนอยู่มหา'ลัย หนูดันเจอเพื่อนที่สนใจการเมือง และนี่คือการเปิดโลกเราเลยว่าการเมืองมันคือทุกเรื่องของชีวิตเรานะ มันไม่ใช่เรื่องขอคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องของเราเช่นเดียวกัน หนูก็เลย โอเค พอเข้าใจเรื่อยๆ และเหตุการณ์ 58 ก็เป็นการกระตุกต่อม มันตั้งคำถามสำคัญว่า เราในฐานะประชาชน ในฐานะประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เรามีอำนาจแค่ไหน แค่ยืนมองเวลายังทำไม่ได้เลย"

หลังจากนั้นเธอและกลุ่มเพื่อนในมหาวิทยาลัยเริ่มทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลทหารยังมีอำนาจเต็มจากคำสั่งหัวหน้า คสช. และ ม.44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แม้ยังไม่เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง แต่กิจกรรมของเธอและเพื่อนๆ ไม่พ้นสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐ

"ป้ายข้อความง่ายๆ เลย รัฐประหารครั้งนี้ใครได้ประโยชน์สูงสุด ไม่เคยอยู่เกินสองวัน หาย" มายด์เล่า

"อันหนึ่งที่เป็นประเด็นคือตอนปี 2560 ติด (ป้าย) ตรงหน้ามหา'ลัย ตรงสะพานลอย แล้วมันไม่เคยเกิดเรื่องแบบนั้นมาก่อนในพื้นที่นั้น ถูกปลดป้ายไม่พอ ถูกเรียกไปที่ห้องคณบดี วันนั้นมีเจ้าหน้าที่ไปหาคณบดีก่อนแล้ว แล้วก็โทรเรียกให้คณบดีเรียกเราไป พอไปถึง เจ้าหน้าที่ก็เรียกเราให้เข้าไปคุย นอกเครื่องแบบก็ล้อมอยู่ แต่วันนั้นหนูว่าเป็นการช่วยๆ กันมากกว่า เพราะวันนั้นยังอยู่ภายใต้ ม.44 และเซ็ตที่มีอำนาจมากที่สุดคือทหาร วันนั้นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเขาได้เข้าไปเจอเพื่อนๆ หนูก่อน และได้มีการพูดคุยกันว่า ให้มันจบที่ตรงพี่นี่แหละ"

"หลังจากนั้นไม่ถึง 20 นาที มีทหารแต่งตัวเต็มยศถือเอกสารเดินเข้ามาหาคณบดี เข้ามาหาพวกหนูทำท่าเหมือนจะเอาตัวพวกหนูไป ก็คิดอยู่ในใจว่าถ้าวันนั้นตำรวจไม่มาก่อน พวกหนูก็คงถูกเอาตัวเข้าค่ายไปแล้ว" มายด์เล่าว่าเรื่องจบด้วยการเทียบปรับ และเหตุการณ์วันนั้นก็ไม่เคยเป็นข่าว

เดี๋ยวดัง เดี๋ยวหาย มายด์เป็นอะไรในการชุมนุม

สาธารณชนเริ่มรู้จักมายด์ผ่านกิจกรรมของกลุ่ม “มหานครเพื่อประชาธิปไตย” ที่เธอจัดตั้งร่วมกับเพื่อนๆ ในช่วงที่แฟลชม็อบนักศึกษากระจายตัวทั่วประเทศหลังเหตุการณ์การยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อเดือน ก.พ. 2563 มายด์และเพื่อนมีการจัดกิจกรรม และไปช่วยจัดกิจกรรมในหลายสถานศึกษา จากนั้นก็มีการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายหลวมๆ ภายใต้ชื่อ เครือข่ายนักเรียนนิสิตนักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.) เพื่อสนับสนุนกันและกัน 

มายด์ขณะทำกิจกรรมรำลึกวันเกิดจอมพล ป. พิบูลสงครามเมื่อ 14 ก.ค. 2563 (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

หากจำกันได้ ในช่วงเวลานั้นจะมีสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ที่มีพริษฐ์ ชิวารักษ์เป็นแกนนำด้วย มายด์เล่าว่า สนท. มีลักษณะรวมศูนย์ทำให้กลุ่มที่ไม่ชอบการรวมศูนย์ก็จะมาอยู่ คนป. และขบวนการการเคลื่อนไหวก็วิวัฒน์ต่อมาบนฐานความเป็นอิสระของขบวนการเช่นนั้น

ตลอดเส้นทางของการชุมนุม เส้นทางของมายด์มีทั้งที่โดดเด่นจากการปราศรัยบนเวทีและให้สัมภาษณ์ออกสื่อสารพัด แต่ก็มีช่วงหนึ่งที่เงียบหายไป เมื่อถามว่าเอาเข้าจริงๆ บทบาทของเธอในขบวนการคืออะไรกันแน่ เธอตอบว่า เป็น "คนทำงาน" ตั้งแต่พิธีกรเรื่อยไปจนถึงแบกหาม ส่วนการได้พูดนั้นเป็นเพราะได้โอกาสแล้วมีคนชอบ เลยใช้โอกาสนั้นในการสื่อสาร ส่วนช่วงที่หายไปนั้นเพราะคิดกันว่าต้องทำให้มวลชนเข้าใจว่าทุกคนสามารถกำหนดทิศทางประเทศได้โดยมีอำนาจในการออกความเห็นและลงมือทำได้เท่ากันจริงๆ 

"หนูไม่เคยนิยามตัวเองว่าเป็นแกนนำ หนูคือคนทำงานนะ เอาจริงๆ แกนนำก็ไม่ใช่คนที่ปราศรัยไหมล่ะ แกนนำคือคนที่กำหนดทิศทางมากกว่าว่าทิศทางจะไปทางไหน แต่ด้วยความที่ตอนนี้มันเป็นเรื่องของทุกๆ คน ทุกคนมีสิทธิในการเป็นแกนนำเท่ากัน หรือจริงๆ ไม่จำเป็นต้องมีแกนนำก็ได้" มายด์เล่า

มายด์ระหว่างการปราศรัยในประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อ 24 มี.ค. 2564 (ภาพโดยกันต์ แสงทอง)

สำหรับเธอ สิ่งที่ประทับใจจากมุมมองทั้งด้านบนและล่างของเวทีคือพัฒนาการของผู้ชุมนุมและขบวนการเคลื่อนไหวที่รุดหน้ารวดเร็ว แม้ตระหนักดีว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐแม้แต่ข้อเดียว แต่การที่มวลชนเริ่มเข้าใจว่าตัวเองมีสิทธิมากน้อยแค่ไหนและส่งต่อความเข้าใจให้คนอื่นไปเรื่อยๆ ก็ถือว่ามาได้ไกลโข 

"หนูเคยอยู่ในจุดที่หนูไปยืนแจกใบปลิวแล้วคนก็เมินหนี คนเอาใบปลิวทิ้ง แต่ ณ วันนี้ การเคลื่อนไหวมันเปลี่ยนไปเยอะมาก เราได้เห็นพัฒนาการ ได้เห็นการเติบโต ได้เห็นการตื่นรู้ทางสังคม เห็นคนที่ตาสว่างจริงๆ และเราพิสูจน์ได้จริงๆ ว่าเมื่อตาสว่างแล้วมันจะไม่กลับไปบอดอีก คือการเมืองไทยมันเปลี่ยนไปแล้ว

"มันเกิดการตื่นตัว เกิดการออกมาต่อสู้ยืนหยัดในเรื่องของตัวเอง เกิดม็อบ LGBT เกิดม็อบจะนะ เกิดม็อบเกษตรกร เรื่องพวกนี้คือเรื่องของพวกเขาที่เมื่อพวกเขารู้แล้วว่าพวกเขามีสิทธิทำอะไรได้บ้าง เขาจะออกมาทำ ตรงนี้สำคัญ มันไม่ใช่แค่เรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองว่า ไม่ว่ารัฐบาลใดจะเข้ามา เราจะต้องคอยจับตาดูและไม่ให้เขามาลิดรอนสิทธิหรืออำนาจของเรา ไม่ว่ายังไงก็ตาม"

ตลกร้ายที่สถานทูตเยอรมันฯ

การชุมนุมเมื่อ 26 ต.ค. 2563 หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยนับเป็นอีกหนึ่งในการชุมนุมที่มีความน่าตื่นตาตื่นใจในฐานะการสื่อสารเรื่องการเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์ ณ สถานที่ที่เกี่ยวข้องและเป็นประเด็น ตามคำขาดของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต่อเนื่องจากการชุมนุมเมื่อ 21 ต.ค. ว่าถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ลาออกภายในเวลา 3 วัน จะมีการยกประเด็นไปให้ไกลกว่ารัฐบาล

ในวันนั้นมายด์ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) และ วารินทร์ แพทริก เข้าไปยื่นหนังสือกับทางเอกอัครราชทูตที่ด้านในสถานทูต เดิมทีมายด์ไม่ได้ถูกวางเอาไว้ว่าจะต้องพูดเมื่อออกมาข้างนอกในตอนท้าย แต่ก็มีเพื่อนยกประเด็นขึ้นมาว่าต้องมีการสรุปให้มวลชนฟังว่าเข้าไปยื่นอะไรบ้าง จับพลัดจับผลูจนได้มาเป็นเธอที่ต้องพูด

ซ้ายไปขวา: จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา มายด์ และวารินทร์ แพทริก ภาพถ่ายเมื่อ 26 ต.ค. 2563

"สิ่งที่ทำวันนั้นคือแค่อ่านจดหมายที่เราเข้าไปส่งให้มวลชนฟัง สรุปให้ฟังว่าวันนี้มาทำอะไร และเราได้ชัยชนะอย่างไร และเราจะกลับบ้านกันแล้ว และเรารอฟังผลกัน"

เรื่องขำขื่นสำหรับกิจกรรมชุมนุมครั้งนั้นคือการได้รับการตอบรับที่ดีและรวดเร็วจากฟากฝั่งเยอรมนีไม่ว่าจะเป็นการรับฟังหรือการแถลงข่าวของ รมว. กระทรวงการต่างประเทศเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยขณะที่ประทับอยู่ที่เยอรมนีหลังจากวันที่ยื่นหนังสือเพียงหนึ่งวัน ส่วนทางฝั่งไทย สิ่งที่ได้รับคือคดีสารพัด รวมถึง ม.112 ให้กับพลเมือง 13 ราย

"ตอนที่เราเข้าไป เขารับฟังเรา เขาให้เราพูดก่อนให้หมด เขารับฟังเราอย่างดี แล้วพอรับหนังสือเสร็จ เขาก็บอกว่า อยากให้พวกเรามั่นใจว่าเขาได้ยินเสียงของพวกเราจริงๆ นี่คือสิ่งที่รัฐไทยไม่เคยพูดกับเราด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เขาบอกว่าเขาได้ยินเสียงของเราจริงๆ และเขาเห็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญที่สุดจริงๆ" 

ว่าด้วยความคิดลี้ภัย

ณ วันที่สัมภาษณ์ มายด์เล่าว่าตอนนี้มีคดีติดตัวอยู่ราว 9-10 คดี ในนั้นเป็นคดี ม.112 อยู่สองคดี จากการชุมนุมหน้าสถานทูตฯ และการชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อ 24 ก.ย. ที่เธอพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นครั้งแรกในที่สาธารณะ สำหรับคนอายุ 25 ปี การเดินสายดำเนินคดีสร้างภาระทางกายกับเธอมากกว่าทางใจ 

"หนูเดินทางมาจากหนองจอก (มหาวิทยาลัยอยู่ที่หนองจอก) เดินทางเข้าเมืองใช้เวลา  1 ชั่วโมง ปกติคือชั่วโมงครึ่ง หนูต้องเสียเวลา 3 ชั่วโมงในการนั่งรถไปกลับตลอด นี่ยังไม่รวมเวลาอย่างอื่น บางวันมี 2 คดี ก็จาก สน. นี้ ไป สน. นี้ จากอัยการนี้ไปอัยการนี้ บางทีเข้าเมืองมารายงานตัวก็หมดเวลาไปทั้งวันแล้ว เราไม่สามารถทำอะไรได้เลยในวันนั้น"

สำหรับเรื่องลี้ภัย มายด์เล่าว่าเมื่อตัดสินใจพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์แล้วก็ไม่คิดจะลี้ภัย การพูดและการสู้คดีคือความตั้งใจที่จะยืนยันว่า ม. 112 ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ไม่ใช่สิ่งที่ควรกลัว และเป็นสิ่งที่ควรจะสู้

"เอาตรงๆ นะพี่ ไอ้เรื่องลี้ไม่ลี้เนี่ย หนูคิดว่ามันมีความคิดอยู่ในหลายๆ คนอยู่แล้วเพราะกฎหมายบ้านเมืองนี้มันแย่ และก่อนหน้านี้เราไม่เห็นความยุติธรรมใดๆ เลย กฎหมายที่เคยมีคนโดน พวก 112 มันไม่มีใครที่จะยังอยู่บ้านได้ตามปกติ แต่สถานการณ์ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ม.112 มันถูกทำให้ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ถูกลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ลงไป ถูกใช้อย่างเป็นของเล่นมากเกินไป ซึ่งมันก็ไม่มีความจำเป็นอะไรต้องกลัวอีกต่อไปแล้ว"

"หนูพูดตรงๆ ว่าตอนนี้ ความคิดลี้ภัยไม่มีอยู่ในหัวเลย หนูต้องสู้ เราจะหนีทำไมในเมื่อมันไม่น่ากลัว สู้มันไปให้สุดนี่แหละ อีกเรื่องคือมันยังมีคนอยู่ในเรือนจำด้วยกฎหมายตัวนี้ สิ่งที่เราต้องทำในฐานะที่เรายังอยู่ข้างนอก โอเค อาจจะมีเวลาอีกไม่กี่วันก่อนจะถึงวันที่ 25 (พ.ค.) คือยืนยันต่อสู้เพื่อคนในเรือนจำด้วยว่า เขาไม่ควรโดนกฎหมาย 112 กฎหมาย 112 มันไม่ศักดิ์สิทธิ์พอที่จะขังพวกเขาไว้ในนั้นได้แล้ว มันมากเกินไปสำหรับการบังคับใช้กับประชาชน"

3 ห่วงหากต้องเข้าคุก

ในวันที่อิสรภาพของเธอกำลังถูกนับถอยหลัง สิ่งที่มายเป็นห่วงมีสามอย่าง ได้แก่ ครอบครัว ซึ่งเธอคิดว่าครอบครัวที่เข้มแข็งของเธอจะผ่านไปได้ ขบวนการเคลื่อนไหว และ ผม?!

"แม่หนูอ่อนไหวมาก แต่ก็ยังมั่นใจว่าจะผ่านไปได้ เขาเข้มแข้งพอ พยายามจะคุยกับเขาว่าแม่กับป๊าต้องเข้มแข็งนะ ดูแลตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจให้ดี ไม่ต้องห่วงลูก อาจจะเป็นวาทกรรมที่เกร่อไปหมด แต่ก็ยังบอกเขาว่า ขอให้มั่นใจว่าลูกแม่เป็นนักสู้ ลูกแม่เข้าไปในฐานะนักสู้ ไม่ใช่ในฐานะนักโทษ แต่ลูกแค่เปลี่ยนที่ ฉะนั้นไม่ต้องกังวล ลูกอยู่ได้ และมั่นใจในตัวลูกด้วย ลูกจะได้มีกำลังใจในการไปต่อ"

"หนูกังวลอีกเรื่องหนึ่งเล็กๆ คือถ้าหนูต้องถูกตัดผมข้างใน หนูสามารถตัดผมเอาออกมาบริจาคได้ไหม เพราะผมหนูยาวมาก สี่ปีแล้วมั้ง หนูรักผมตัวเอง ประคบประหงมอย่างดี ดังนั้นถ้าจะถูกตัดก็อยากจะให้เอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้ แต่เรื่องหนึ่งที่กังวลที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดคือการเคลื่อนไหวข้างนอก เพราะวันที่ 25 นี้ไม่ใช่มีแค่หนูที่โดน แต่มีทีมงานหลังบ้านของทีม มธ. ด้วย และก็มีประชาชนคนธรรมดาที่มาช่วยเราอ่านแถลงการณ์ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้โดน 112 เหมือนกันหมด 13 คน ทำให้เรากังวลว่า ถ้าเราถูกจับไปอีก เพื่อนที่อยู่ในเรือนจำมันเข้าไป 3 เซตแล้ว ถ้าเราถูกจับไปอีก กำลังใจข้างนอกจะฝ่อไหม พี่น้องที่อยู่ข้างนอกจะเขวไหม พวกเขาจะมั่นใจในการต่อสู้เหมือนเดิมไหม"

เรื่องที่มายด์กังวลเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวด้านนอกมีสองเรื่อง หนึ่ง การสร้างสถานการณ์จากรัฐ ยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรงเพื่อลดทอนความชอบธรรมของการชุมนุมและเพิ่มความชอบธรรมในการจับกุมและสร้างความกลัว เธอกลัวประชาชนจะถอดใจและหมดศรัทธาในการชุมนุม อีกเรื่องหนึ่งที่ห่วงคือแกนนำจะไม่พูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในขณะที่มวลชนดันเพดานไปไกล ซึ่งอาจทำให้ขบวนการพังจากภายใน ความกังวลเหล่านี้นำมาซึ่งการพูดคุยกับเพื่อนๆ ที่ยังอยู่ข้างนอกเพื่อหาคนรับไม้ต่อในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม ซึ่งเธอยืนยันว่ายังมีคนรับไม้ต่อ 

แม้มีคำถามมากมาย แต่มายด์มองว่าขบวนการแบบ REDEM (Restart Democracy) ทำงานได้ดีมากในฐานะการเตรียมความพร้อมของมวลชนในการต่อสู้ ให้คนรู้และเข้าใจว่าทุกคนเป็นเจ้าของในการต่อสู้ผ่านการมีส่วนร่วม โหวตเพื่อกำหนดทิศทาง และไม่ต้องฟังใครในที่ชุมนุม เพียงแต่มีฉันทามติร่วมกันในสิ่งที่เหมาะสมแล้วเดินไปข้างหน้าด้วยกัน เป็นการทำงานทางความคิดที่เป็นงานระยะยาว ในส่วนของความผิดพลาดนั้นเป็นเรื่องต้องถอดบทเรียนและปรับปรุงต่อไประหว่างทาง

การเดินขบวนของการชุมนุม REDEM เมื่อ 6 มี.ค. 2564

"ลองนึกถึงสภาพ ถ้าวันหนึ่งประชาชนทุกคนไม่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรม ไม่ยอมรับแม้กระทั่งการยัดข้อหา ไม่ยอมรับการจับเอาใครไปขังจะเกิดอะไรขึ้น รัฐนั้นจะหมดความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลในทันที ในเมื่อรัฐบาลนั้นไม่มีใครสนับสนุนแล้ว เขาจะไม่มีกำลังในการทำอะไรถ้ามวลชนเข้มแข็งพอ เราอาจจะบอกไม่ได้ว่าปลายทางที่เป็นรูปธรรมเป็นแบบไหน แต่ที่สำคัญเลยคือ เมื่อทุกคนมั่นใจในอำนาจของตัวเอง ถ้าเขาจะถูกรังแก เขาลุกขึ้นมาสู้ สู้แบบไหนก็ตามแต่ รัฐบาลทำอะไรเรามากไม่ได้หรอกถ้าเราเข้มแข็งพอ"

ต่อคำถามว่าจะฝากอะไรถึงมวลชนหากไม่ได้รับการประกันตัว มายด์ทิ้งท้ายว่า

"อยากให้ทุกคนมั่นใจในสิทธิ เกียรติ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเอง นี่ต่างหากคืออำนาจที่แท้จริงของเรา ฉะนั้นอย่าให้ใครมาลิดรอนมันไป อย่าให้ใครมาเบียดเบียนมัน วันหนึ่งที่มีคนจ้องจะมาเบียดเบียนมัน เราต้องปกป้องมัน เราต้องลุกขึ้นสู้ เราต้องปกป้องสิทธิและเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตรงนี้

"อย่างน้อยๆ มันไม่ใช่แค่เพื่อคนส่วนใหญ่ แต่มันเพื่อตัวเรา เราควรต้องมั่นใจในอำนาจที่แท้จริงของตัวเอง อย่าหลงอยู่ในวัฒนธรรมไทยๆ แบบเดิมๆ ที่มีการแบ่งวรรณะ แบ่งชนชั้น แบ่งศักดินา ตอนนี้เราอยู่ในโลกที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว อยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ฉะนั้นเรามีอำนาจและเราเป็นเจ้าของประเทศ อยากให้ทุกคนมั่นใจในอำนาจของตัวเองและยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองต่อไป"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net