กองกำลังชาติพันธุ์ในพม่าประกาศจะ 'โต้กลับ' หากกองทัพยังเข่นฆ่าประชาชน

กองกำลังติดอาวุธ 3 กลุ่มในพม่าประกาศว่าจะ "โต้ตอบกลับ" ถ้าหากกองทัพพม่ายังไม่หยุดใช้กำลังสังหารประชาชน ทำให้มีการประเมินว่าความขัดแย้งในพม่าจะกลายเป็นสงครามกลางเมืองหรือไม่ และฝ่ายกองทัพพม่าอาจจะตกที่นั่งลำบากถ้าหากกลุ่มประชาธิปไตยในพม่าสร้างความร่วมมืออย่างเป็นระบบกับกองกำลังชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มขึ้นมาได้จริง

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 กลุ่มติดอาวุธในพม่า 3 กลุ่มคือ กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA), กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง และกองทัพอาระกัน (AA) ระบุในแถลงการณ์ร่วมกันว่า ถ้าหากกองทัพพม่ายังคงสังหารประชาชนต่อไป พวกเขาจะร่วมมือกับผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อสู้กลับ โดยที่กองกำลังเหล่านี้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าเจรจากับกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลแทนการใช้กำลัง

แถลงการณ์เตือนนี้มีขึ้นหลังจากที่สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ทางการพม่าสังหารผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 510 คน นับตั้งแต่รัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 1 ก.พ. จนถึงตอนนี้ หลังจากที่มีการปราบปรามในระดับนองเลือดหนักที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีประชาชนบางส่วนหนีความรุนแรงจากพม่าข้ามฝั่งไปยังหมู่บ้านในฝั่งไทยเพื่อรับการรักษาพยาบาล

ในช่วงที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น หนึ่งในกลุ่มหลักที่อยู่เบื้องหลังการประท้วงคือคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อการนัดหยุดงานประท้วงเรียกร้องให้กองกำลังชาติพันธุ์หลายกลุ่มในพม่าช่วยเหลือในการต่อสู้กับ "การกดขี่อย่างไม่เป็นธรรม" จากกองทัพรัฐบาลพม่า จากแถลงการณ์ในวันที่ 30 มี.ค. ทำให้มองได้ว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มนี้กำลังได้รับการตอบรับมากขึ้น

กลุ่มติดอาวุธสามกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่าพันธมิตรสามภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) นังแถลงอีกว่าพวกเขาจะร่วมมือกับผู้ประท้วงในการปฏิวัติที่พวกเขาเรียกว่า "การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ" (spring revolution) เพื่อต่อต้านกองทัพพม่าที่เรียกว่า "ทัตมะตอว์"

แนวร่วมกลุ่มติดอาวุธระบุในถ้อยแถลงว่า "พวกเราพันธมิตรภราดรภาพกำลังพิจารณาข้อตกลงหยุดยิงใหม่อีกครั้งหลังจากการที่ทัตมะตอว์ก่อรัฐประหาร ... พวกเราจะเดินหน้าให้ความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรอื่นๆ เพื่อเสถียรภาพของชายแดน การควบคุม COVID-19 ความปลอดภัยของประชาชน และการต่อต้านปฏิบัติการก่อหารร้ายนานาชาติต่อไป"

ไขน์ธุคะ โฆษกของกองทัพอาระกัน (AA) ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า "การสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์เช่นนี้เป็นเรื่องรับไม่ได้"

ถึงแม้กลุ่มเหล่านี้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการทางการเมือง เดบบี สโตทาร์ด จากสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) แสดงความกังวลว่าท่าทีจากแถลงการณ์เช่นนี้อาจจะทำให้พม่าเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองอย่างเต็มรูปแบบ

เซบาสเตียน สแตงกิโอ บรรณาธิการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสื่อเดอะดิพโพลแมตระบุว่าวิกฤตการเมืองในพม่าตอนนี้อาจจะเร่งให้เกิดการแตกหักในข้อตกลงหยุดยิงที่มีความเปราะบางอยู่แล้วระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังชาติพันธุ์อย่างกองกำลังอาระกันซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังที่มีกำลังน่าเกรงขามที่สุดในการท้าทายกองทัพพม่า โดยที่ก่อนหน้านี้ในวันที่ 11 มี.ค. กองทัพพม่าได้ถอนกองกำลังอาระกันอาร์มีออกจากรายนามกลุ่มก่อการร้ายซึ่งอาจจะเป็นการพยายามเอาใจกลุ่มกบฏเพื่อคงไว้ซึ่งสัญญาหยุดยิง เปิดโอกาสให้กองทัพพม่าปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐประหารได้ตามใจชอบ

สแตงกิโอระบุอีกว่าแถลงการณ์ฉบับใหม่ของแนวร่วม 3 กลุ่มกองกำลังติดอาวุธในพม่ายังเปิดโอกาสให้เกิดความเป็นไปได้ในแบบที่จะเป็นฝันร้ายสำหรับเผด็จการทหารพม่าคือการที่ฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารและส่วนหนึ่งของกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ประมาณ 20 กลุ่ม ประสานความร่วมมือกันจากที่กลุ่มกองกำลังเหล่านี้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพมาเป็นเวลากว่าหลายสิบปีจากพื้นที่ห่างไกลในพม่า

นอกจากแนวร่วม 3 กองกำลังนี้แล้วยังมีกองกำลังชาติพันธุ์อื่นๆ ที่แสดงออกในเชิงต่อต้านการรัฐประหารจากกองทัพพม่า เช่น เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า ถ้ากองทัพพม่ายังคงสังหารผู้ประท้วงที่ชุมนุมอย่างสันติต่อไป พวกเขาจะไม่นิ่งดูดาย "ถ้าหากกองทัพพม่ายังคงใช้อาวุธเข่นฆ่าประชาชนผู้ประท้วงอย่างสันติ ทางกลุ่มชาติพันธุ์จะไม่นิ่งดูดายโดยไม่ทำอะไรเลย มันอาจจะมีการต่อสู้ใหญ่เกิดขึ้น"

ทั้งนี้ กลุ่มนักการเมืองพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดีที่ถูกโค่นล้มจากการรัฐประหารได้ตั้งกลุ่มที่ชื่อคณะกรรมการตัวแทน Pyidaungsu Hluttaw (CRPH) ขึ้นเพื่อประสานความร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติของตัวเองในการจะท้าทายอำนาจความชอบธรรมของรัฐบาลเผด็จการทหาร

กลุ่มกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยูก็เคยท้าทายรัฐบาลเผด็จการพม่าด้วยการปฏิเสธคำเชิญไปเข้าพบกับ มินอ่องหล่าย ผู้นำกองทัพพม่า พวกเขายื่นข้อเสนอว่าจะทำตามคำเชิญถ้าหากว่ากองทัพพม่าทำตามข้อเรียกร้องต่างๆ แล้ว หนึ่งในนั้นคือการถ่ายโอนอำนาจให้กับรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติที่ตั้งโดย CRPH

เรียบเรียงจาก
Myanmar rebels threaten to ‘fight back’ over protester killings, Aljazeera, 30-03-2021
Alliance of Ethnic Armed Groups Pledge Support for Myanmar’s ‘Spring Revolution’, The Diplomat, 30-03-2021

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก Thoolei News - KNU -Department Of Information

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท