Skip to main content
sharethis

คุยกับภาณุภัทร จิตเที่ยง ผู้วิจัยด้านการจัดการผู้ลี้ภัยในไทย อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะมาร่วมสะท้อนแนวคิดและวิธีการการจัดการผู้ลี้ภัยผ่านเหตุการณ์ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงแม่สามแลบที่จะเข็บชายแดนรัฐกะเหรี่ยง-ไทย พร้อมตอบข้อสงสัยเรื่องการจัดการผู้ลี้ภัยหลากหลายประเด็น เช่น รัฐไทยมีสิทธิส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางได้หรือไม่ แนวคิดการจัดการผู้ลี้ภัยในหน่วยงานรัฐ ตลอดจนบทบาททางการทูตไทยในการแก้ปัญหาของพม่าในระยะยาว

  • ช่วงที่ผ่านมา รัฐไทยละเมิดหลักการห้ามผลักดันกลับไปอย่างแน่นอน ซึ่งภาณุภัทร มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่ใช่ระดับนโยบาย แต่เป็นการปฏิบัติในพื้นที่ 
  • ภาณุภัทร มองว่า รัฐไทยอาจต้องพิจารณานโยบายผู้ลี้ภัยในด้านอื่น ๆ นอกจากการช่วยเหลือ โดยเฉพาะการจัดการให้ผู้ลี้ภัยได้มีโอกาสทำงานที่สร้างประโยชน์ให้รัฐไทยได้ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐไทยชอบมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นภาระเสมอ 
  • รัฐไทยสามารถมีบทบาทในฐานะตัวเชื่อมประสาน การเจรจาระหว่างกองทัพพม่า และชนกลุ่มน้อยได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ  
  • "อย่าเน้นความมั่นคงแห่งรัฐ จนลืมความมั่นคงแห่งมนุษย์ หรือความมั่นคงของคน เพราะถ้าละเลยตรงนั้นไปแล้ว ความมั่นคงของรัฐอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้" ภาณุภัทร สื่อความหมายว่า ถ้ารัฐไทยสนใจแต่ความมั่นคงแห่งรัฐอย่างเดียว จนละเลยความมั่นคงของมนุษย์ หรือหลักมนุษยธรรม วันหนึ่งไทยอาจจะเผชิญแรงกดดันจากนานาชาติ และส่งผลทางอ้อมต่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ ได้

 

สืบเนื่องจากสถานการณ์การรบพุ่งกำลังระอุในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของพม่า ระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ โดยเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2564 กองทัพพม่าเปิดฉากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) บริเวณ อ.มือตรอ จ.ผาปูน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่ นอกจากนี้ อ.มือตรอ เป็นพื้นที่ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ของประเทศไทยอีกด้วย 

ส่งผลให้วันที่ 28 มี.ค. 2564 สำนักข่าวท้องถิ่นรายงานว่า พลเรือนในพื้นที่ควบคุมของ KNU จำนวนมากต้องอพยพหนีการทิ้งระเบิด โดยเดินทางข้ามแม่น้ำสาละวินมายังฝั่งไทย ซึ่งจากการประเมินล่าสุด คาดว่ามีถึง 8,000 คน และยังมีบางส่วนที่อพยพข้ามแม่น้ำสาละวินมายังฝั่งไทยแล้ว คาดว่ามีสูงถึง 3,000 คน ก่อนที่ในเวลาต่อมา กองทัพไทยจะผลักดันผู้ลี้ภัยจากความไม่สงบในประเทศพม่ากลับไป ทำให้ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ต้องอาศัยตามตะเข็บชายแดนฝั่งตะวันตกแม่น้ำสาละวินแทน เนื่องจากไม่สามารถกลับไปที่ถิ่นฐานเดิมได้ เพราะเกรงถูกการทิ้งระเบิดจากกองทัพพม่า  

การกระทำของรัฐไทยครั้งนี้ นำมาสู่ข้อกังขาสำคัญว่า การผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญภยันตรายที่ประเทศต้นทาง เป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ แม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสถานภาพของผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 ก็ตาม และเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 สิทธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุถึงประเด็นดังกล่าวว่า กองกำลังนเรศวรมีการเจรจากับผู้หนีภัยให้เข้าใจสถานการณ์ และคลายความกังวล ก่อนที่พวกเขาจะสมัครใจเดินทางกลับ  

โดยมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน หรือ Friends Without Borders Foudation องค์กร NGO ที่ดูแลเรื่องผู้ลี้ภัยความไม่สงบจากประเทศเมียนมา ออกมาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กตอบโต้คำชี้แจงของผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน โดยตั้งคำถามว่า การกลับคืนถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง จะเป็นไปด้วย ‘ความสมัครใจ’ อย่างแท้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ ทางมูลนิธิฯ ยังต่อว่า รัฐไทยละเมิดหลักกฎหมายจารีตประเพณีสากลที่เรียกว่า ‘หลักการไม่ผลักดันกลับ’ หรือ Non-Refoulement

ภาพผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงจากค่าย IDPs 'อิตูทา' รัฐกะเหรี่ยงเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 ภาพจากชาวบ้านสาละวิน

 

มีการคาดการณ์โดยนักวิชาการว่า สถานการณ์รบพุ่งชิงชัยระหว่างกองทัพพม่า และชนกลุ่มน้อย อาจลากยาวถึง 3-5 ปี และไทยอาจต้องเป็นประเทศหัวเรือใหญ่ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่อาจจะเข้ามามากยิ่งขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้  

เพื่อให้เข้าใจท่าทีของรัฐไทยต่อการจัดการผู้หนีภัยที่กำลังถกเถียงกันอย่างร้อนแรงครั้งนี้ ประชาไท สัมภาษณ์ ภาณุภัทร จิตเที่ยง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ที่มีประสบการณ์วิจัยเรื่องผู้ลี้ภัยในไทย 

มุมมองจากภาณุภัทร จะทำให้เราเข้าใจ ‘หลักการไม่ผลักดันกลับ’ มากยิ่งขึ้น หลักคิดของการจัดการผู้ลี้ภัยในไทย ตลอดจนมุมองของภาณุภัทร ถึงบทบาทของรัฐไทยต่อการจัดการผู้ลี้ภัยครั้งนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

‘เพื่อนไร้พรมแดน’ เสนอโอนความรับผิดชอบในการจัดการผู้ลี้ภัยไปที่หน่วยงานรัฐที่มีประสบการณ์

62 องค์กร 308 ประชาชน ร่วมเรียกร้องรัฐไทยช่วยเหลือผู้ลี้ภัยพม่าตามหลักสากล-ไม่ผลักดันกลับ

มูลนิธิเพื่อนไร้พรหมแดน ค้านกองทัพไทยส่งกลับกะเหรี่ยงผู้ลี้ภัย 3 พันคนกลับพม่า

'เพื่อนไร้พรมแดน' เผยไม่มั่นใจผู้ลี้ภัยจะกลับคืนถิ่นฐานด้วยความสมัครใจ

หลักการไม่ผลักดันกลับ หรือ Non-Refoulement คืออะไร 

แต่ก่อนที่จะสนทนาถึงเรื่องการจัดการและการละเมิดหลักผลักดันกลับผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่แม่สามแลบของรัฐไทย อยากชวนภาณุภัทร คุยถึงหลักการ ห้ามผลักดันกลับ หรือ Non-Refoulement ว่าคืออะไร 

หมายเหตุ : หลักการไม่ผลักดันกลับ หรือ Non-Refoulement อ่านว่า นอน-เรโฟลมองต์ เป็นคำภาษาฝรั่งเศสมาจากคำว่า refouler แปลว่า ส่งกลับ หรือขับไล่) 

ภาณุภัทร ระบุว่า หลักไม่ผลักดันกลับ หรือ Non-Refoulement ในปัจจุบัน ถือว่าเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ 

กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศนั้นขึ้นกับว่าประเทศส่วนใหญ่ให้การยอมรับและนำหลักการนั้นไปปฏิบัติจนเป็นจารีตประเพณีหรือไม่ เช่น ถ้าได้รับการยอมรับและปฏิบัติโดยประเทศสมาชิกสหประชาชาติ (UN) เป็นส่วนใหญ่ หลักการดังกล่าวจะกลายเป็น “กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ” ที่ทุกประเทศพึงปฏิบัติ

ดังนั้น ไม่ว่าไทยจะยอมรับหลักการนี้หรือไม่ ก็ต้องพึงปฏิบัติตามหลักสากล ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่มีบทลงโทษ แต่อาจโดนการกดดันในรูปแบบอื่น ๆ หรือโดนประณาม  

ทั้งนี้ หลักการ Non-Refoulement ไม่ได้ปรากฏในข้อตกลงตามอนุสัญญาที่ว่าด้วยผู้ลี้ภัย (ค.ศ.1951) เท่านั้น แต่ก็ยังปรากฏในเอกสารอื่น ๆ เช่น อนุสัญญาที่ว่าด้วยการห้ามทรมาน อนุสัญญาที่ว่าด้วยการอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ และอื่น ๆ 

ภาณุภัทร กล่าวว่า การกล่าวถึงรายละเอียดของหลัก Non-Refoulement ต้องแยกก่อนว่า กำลังพูดถึงในมุมของกฎหมายผู้ลี้ภัย หรือกฎหมายสิทธิมนุษยชน เพราะว่าทั้งสองกฎหมายมีนัยครอบคลุมกลุ่มบุคคลไม่เหมือนกัน 

มุมของกฎหมายผู้ลี้ภัย หลักการจะปรากฏในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยปี ค.ศ.1951 และพิธีสาร ปี ค.ศ.1967 ในมาตรา 33 วงเล็บ 1 และวงเล็บ 2 

มาตรา 33 (1) จะพูดถึง Non-Refoulement ในลักษณะที่ไม่สามารถที่จะส่งคืนผู้ที่เข้ามา พยายามแสวงหาที่พักพิง เพราะเหตุแห่งการประหัตประหาร หรือถ้าหากรู้ว่าเขาจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับการประหัตประหาร ก็ไม่ควรส่งเขากลับไปยังประเทศต้นทาง 

ข้อพึงสังเกตุอย่างหนึ่งคือว่าตัวหลักการไม่ผลักดันกลับ มันก็จะมาพร้อมข้อจำกัดว่า หลักการไม่ผลักดันกลับก็มีการเขียนในกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งระบุข้อยกเว้นว่า ถ้ามันเกิดเหตุที่มีเหตุให้เชื่อได้ว่า ‘บุคคลเหล่านี้เป็นผลต่อความมั่นคง’ บุคคลเหล่านี้สามารถถูกส่งกลับได้ 

กลับกัน ในส่วนของหลักการไม่ผลักดันกลับในอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน จะครอบคลุมไปถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแม้แต่กับการที่รัฐนั้นเป็นผู้กระทำ เช่น การหนีจากโทษประหารชีวิต หรือการซ้อมทรมาน หรือในอนุสัญญาระดับอนุทวีป ยกตัวอย่าง ลาตินอเมริกา ที่จะมีการขยายความถึงคนที่หนีจาก ‘Gang Violence’ ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ 

“หลักการ Non-Refoulement โดยทั่วไป คือ ถ้าหากบุคคลนั้นเข้ามาเพราะมีเหตุให้เชื่อจริง ๆ ว่า

 มันมีการประหัตประหารก็ต้อง “ไม่ผลักดันกลับ” โดยไม่เกี่ยวว่า ต้องไปประเมินว่ามันมีสงครามหรือไม่ ต้องช่วยให้อยู่ได้ก่อนเป็นการชั่วคราว ไม่ผลักดันเขากลับไปยังประเทศต้นทาง แต่การจะให้อยู่อย่างไร จะมีรายละเอียดต่อไปอีก” ภาณุภัทร กล่าว 

ดังนั้น ข้อถกเถียงที่ว่าถึงแม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาปี ค.ศ.1951 ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ซึ่งหลักการ Non-Refoulement ปรากฏในมาตรา 33(1) และ 33(2) ตามลำดับ รัฐไทยพึงปฏิบัติตามหลักการ Non-Refoulement หรือไม่ คำตอบจากภาณุภัทร คือ ไทยยังต้องพึงปฏิบัติตามหลักการ Non-Refoulement ซึ่งปรากฏในพันธะกรณีกฎหมายระหว่างประเทศตัวอื่นที่ประเทศไทยยอมรับไว้แทน เช่น กฎหมายการป้องกันการทรมาน และอื่น ๆ    

ตามหลักการแล้วถือว่าไทยละเมิดหลักการนี้ เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับอุยกูร์ และโรฮิงญา แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่ตะเข็บชายแดนไทย-รัฐกะเหรี่ยง ภาณุภัทร มีมุมมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่น่าจะมาจากระดับนโยบาย หรือส่วนกลาง แต่เป็นปัญหาปฏิบัติการในระดับท้องถิ่นมากกว่า ระหว่างที่ส่วนกลางยังไม่มีความชัดเจนด้านนโยบายการจัดการผู้ลี้ภัยครั้งนี้ เมื่อไม่มีความชัดเจน ฝ่ายท้องถิ่นมักจะปฏิบัติการแบบที่เคยทำมา 

“ก็ต้องดูว่ามันเป็นในระดับนโยบายด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมารัฐไทยค่อนข้างระมัดระวังกับการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมาโดยตลอด เพราะไทยถือเป็นประเทศที่ทำได้ดีมาก ยกตัวอย่าง แม้ไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าไทยได้นั่งใน Executive Committee ของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) บทบาทของไทยในช่วงสงครามอินโดจีน (ช่วงสงครามเย็น) ช่วงนั้นไทยได้รับความชื่นชมจากนานาอารยประเทศ 

“ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไทยก็ได้พยายามสร้างระบบการคัดกรองที่จะช่วยเหลือระบบผู้ลี้ภัยสามารถอยู่ในประเทศเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นชาติแรก ๆ ที่ไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาฯ ในอาเซียนที่พยายามดำเนินการจัดการเรื่องนี้ 

“ถามว่าเป็นระดับนโยบายรึเปล่า ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ ทำไมยังไม่ใช่ระดับนโยบาย เพราะว่าตอนนี้มันเหมือนยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเอายังไงดี เพราะฉะนั้น ในแง่ไม่รู้จะเอายังไงดี เลยกลายเป็นการปฏิบัติมันเกิดขึ้นในระดับล่างเป็นหลัก การเกิดขึ้นในระดับล่าง สิ่งที่เจ้าหน้าที่ระดับล่างอาจจะปฏิบัติก็คือว่าแต่ละจุดก็ไม่เหมือนกันอีก บางพื้นที่ก็ให้เข้ามาช่วยเหลือ ดูแลชั่วคราวได้ บางพื้นที่ไม่ให้เข้ามา” ภาณุภัทร กล่าว

ด่านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ จ.แม่ฮ่องสอน ตะเข็บชายแดนไทย-รัฐกะเหรี่ยง ถ่ายเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 ถ่ายโดยธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร
 

มีข้อสังเกตในช่วงที่ผ่านมาว่า การแถลงข่าวของผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน จะใช้คำว่า “กองกำลังนเรศวร มีการเจรจาให้ผู้หนีภัย กลับไปโดยสมัครใจ” การอ้างแบบนี้ ถือว่ามีสิทธิอันชอบธรรมในการผลักดันให้ผู้ลี้ภัยกลับไปประเทศต้นทางได้หรือไม่ 

ภาณุภัทร กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ถ้ารัฐไทยเน้นที่คำนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของประเทศไทย ว่าเป็นการส่งกลับที่ได้รับการยินยอมจากผู้ลี้ภัยแล้ว ไม่ใช่การบังคับส่งกลับ พร้อมกันนี้ ภาณุภัทร กล่าวว่า ‘โดยสมัครใจ’ คำนี้เป็นคำที่สำคัญในด้านการจัดการผู้ลี้ภัยอย่างมาก 

“คำว่า การส่งกลับ “โดยสมัครใจ” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Voluntary Repatriation นี่สำคัญมาก เพราะว่าหนึ่งในหลักสำคัญที่สุดของ การจัดการผู้ลี้ภัย คือการที่ไม่ว่าเขาจะไปที่ประเทศที่สาม หรือว่ากลับไปที่ประเทศต้นทาง สิ่งสำคัญที่สุดคือเป็นการกระทำโดยสมัครใจของผู้ลี้ภัย เหมือนกับการยอมรับ หรือ consent ให้เธอกลับไปนะ ถ้าหากว่าการส่งกลับเกิดขึ้นจริง ต้องมี Voluntary จริง ๆ แต่ไม่ชัดเจนว่าจะมีเกณฑ์ที่บอกว่า สมัครใจหรือไม่สมัครใจ ไม่แน่ใจ หรือไทยส่งเขากลับโดยสมัครใจจริงหรือไม่

ช่วงที่ผ่านมา มันมีความไม่เป็นเอกภาพในการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยเกิดขึ้น โดยสะท้อนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จริงทหารพรานผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไป ขณะที่การออกแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) มีการเตรียมช่วยผู้ลี้ภัย ภาพตรงนี้สะท้อนการจัดการผู้ลี้ภัยอย่างไร

ภาณุภัทร ระบุว่า การทำความเข้าใจกับการจัดการผู้ลี้ภัย ต้องเริ่มจากการมองว่ารัฐไม่เป็นก้อนเดียวกัน มันมีหลายชิ้นส่วนที่มาประกอบกันเป็นรัฐ มีองค์กรต่าง ๆ มาทำงานด้วยกัน และแต่ละองค์กรอาจมีพันธกิจที่ทั้งสอดคล้อง และไม่สอดคล้องกันในเวลาเดียวกัน มีการช่วงชิงบทบาทการนำ เพื่อผลักดันวาระทางการเมืองของหน่วยงานที่เองสังกัด

ยกตัวอย่าง กต. สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หรือกองทัพ ต่างฝ่ายต่างมีพันธกิจของตัวเอง หน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศก็คือสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ต้องพูดในเรื่องนี้ต่อไปตามหลักการของการทูต ส่วนกองทัพมีกำลังก็ผลักไป เหมือนกับแต่ละคนทำตามหน้าที่ของตัวเอง 

ในกรณีผู้ลี้ภัยที่ผ่านมา อีกฝ่ายหนึ่งทำไปก่อนแล้ว และอีกฝ่ายหนึ่งต้องมาตามแก้ไขตลอด มันเป็นอะไรที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง 

“สิ่งสำคัญก็คือ แต่ละคนทำตามหน้าที่ตัวเองไม่ผิด ถือว่าทำตามหน้าที่ แต่มันต้องไม่ไปกระทบกับคนที่พึงได้รับความช่วยเหลือ” 

“ในแง่ของการจัดการผู้ลี้ภัย ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทำงานค่อนข้างหนัก ปี ค.ศ.2016 (ผู้สื่อข่าว - พ.ศ.2559) พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ไปให้คำมั่นที่ UN และที่สหรัฐฯ จะมีการให้การสร้างระบบคัดกรองขึ้น หลาย ๆ อย่างเป็นเรื่องที่มีแนวโน้มที่ดี และกระทรวงการต่างประเทศติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ ส่วนในกรณีนี้พอเป็นผู้หนีภัยการสู้รบ มันถูกนำไปอยู่เจ้าหน้าที่อีกสองส่วนก็คือ หนึ่ง กองกำลังนเรศวร และกระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้น แต่ละส่วนงานก็จะมีพันธกิจ หรือว่าแนวความคิด (perception) ของการจัดการที่แตกต่างกัน ตรงนี้ก็จะมีส่วนอย่างยิ่งว่าทางออก หรือว่าทางไปเป็นยังไง” 

มุมมองส่วนตัวของภาณุภัทร เห็นว่า เนื่องจากรัฐบาลตอนนี้มีอดีตทหารเป็นผู้นำ แนวคิดการจัดการความมั่นคงแบบทหารยังคงมีอยู่สูง และทหารค่อนข้างจะมีอิทธิพลในรัฐบาลปัจจุบัน วิธีการคิดในแบบทหารมันก็ยังกลายเป็นหลักสำคัญต่อการจัดการผู้ลี้ภัย ที่ผ่านมาไทยอาศัยหลักการสร้างสมดุลระหว่างมนุษยธรรมและความมั่นคง (Balancing security and humanitarian) อย่างไรก็ตาม เวลาบอกว่าสมดุล ไม่ได้บอกว่าทั้งสองอย่างต้องเท่ากัน ในช่วงหนึ่งการผสมผสานของหลักความมั่นคง อาจจะอยู่ที่ 80% และหลักมนุษยธรรม อาจจะอยู่ที่ 20% แต่ว่าตรงนี้มันขึ้นอยู่กับการต่อรองในแต่ละช่วงเวลาว่า ช่วงนั้นหน่วยงานต่าง ๆ สามารถต่อรองได้มากน้อยแค่ไหน ยังไง หน่วยงานต่าง ๆ ก็จะมีความสำคัญ แต่ตอนนี้ต้องรอดูท่าทีจาก สมช. ซะด้วยซ้ำ เพราะเวลาเราพูดถึงนโยบายจัดการผู้ลี้ภัย คนที่จะกำหนดนโยบายหลัก เป็น สภาความมั่นคงแห่งชาติ

รัฐกังวลเรื่องใด เวลาที่เราพูดถึงการจัดการหรือช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

ทุก ๆ ครั้งที่มีประเด็นเรื่องการออกนโยบายช่วยเหลือผู้ลี้ภัย หรือแม้แต่ในการจัดการแรงงานข้ามชาติก็ตาม รัฐไทยจะมีความกังวลเรื่องหนึ่งอยู่เสมอ คือ ‘กลัวว่าจะมีผู้ลี้ภัยไหลทะลักเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก’

ภาณุภัทร เสนอว่า ที่ไทยมองว่าไม่อยากให้ผู้ลี้ภัยทะลักเข้ามาจำนวนมาก เพราะจริง ๆ รัฐไทยมักมองหรือสร้างภาพ ‘ผู้ลี้ภัย’ ว่าเป็นภาระ ซึ่งไทยควรให้โอกาสเขาเข้ามา ให้เขาได้ใช้สกิลทำงานเพื่อช่วยเหลือไทย ซึ่งเป็นสิ่งรัฐไทยอาจมองข้ามตรงนี้อยู่เสมอ 

บทบาททางการทูตของรัฐไทยในการจัดการผู้ลี้ภัยครั้งนี้ และถึงเวลารึยังที่รัฐไทยควรใช้หลักความมั่นคงมนุษย์ นำความมั่นคงแห่งรัฐ 

ภาณุภัทร ระบุว่า การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในระยะสั้นนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างแน่นอนถ้าประเมินจากสถานการณ์ของพม่าตอนนี้ แต่ภาครัฐบางครั้งอาจจะลืมจัดการปัญหาส่วนของ ‘ปัจจัยผลักดัน’ ที่ทำให้ผู้ลี้ภัยอพยพออกมาจากประเทศต้นทาง

ข้อท้าทายของการจัดการผู้ลี้ภัยครั้งนี้ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กองทัพพม่า ที่ดูเหมือนว่าจะดีมาก ๆ สะท้อนจากการที่ไทยเข้าร่วมพิธีเดินสวนสนามวันกองทัพพม่าเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่อาจารย์จากสิงห์ดำ ก็มองว่า ในความสัมพันธ์ชื่นมื่นนี้ ก็ยังมีความไม่ลงรอยกันเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจขนาดนั้น และที่ผ่านมาไทยเองก็อยากให้กองกำลังชนกลุ่มน้อยในเมียนมาฝั่งตะวันออก อยู่เป็นรัฐกันชน หรือ ‘buffer state’ ไม่ให้ชายแดนเมียนมาและไทยประชิดกันเกินไป 

ดังนั้น เพื่อการรักษาจุดยืนและความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย การตัดสินใจครั้งนี้รัฐไทยควรทำอย่างรอบคอบ ชนิด ‘บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น’ และในความเป็นจริง ต่อให้ไทยเองก็ได้ประโยชน์จากกองทัพพม่าก็ตาม ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องไม่ช่วยผู้ที่พึงได้รับการช่วยเหลือ หรือผู้ลี้ภัย 

ถ้าไทยต้องการจะจัดการผู้ลี้ภัย ภาณุภัทร เสนอว่า รัฐไทยควรดำเนินบทบาททางการทูตในการสมานรอยร้าวระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อย คนพม่า และกองทัพพม่าให้ได้ แต่ถ้าไทยกังวลว่าจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพพม่า-ไทย ไทยสามารถดำเนินบทบาทหลังม่าน เป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) หรือคนกลางประสานงานการเจรจาระหว่างประเทศได้เฉกเช่นในสมัยเขมรสี่ฝ่าย 

“มันเป็นไปได้ที่เราจะเชื่อมให้มีตัวกลางในการที่จะดำเนินการเจรจา ตัวกลางที่เหมาะสมก็อาจจะเป็นสิงคโปร์ญี่ปุ่น หรือไทยเอง ไทยเราสมัยท่านสิทธิ เศวตศิลา ก็เคยช่วยประสานให้เขมรสี่ฝ่ายบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ยุคหนึ่งเราเคยเห็นภาพนั้นมาก่อน 

“อีกชาติหนึ่ง ญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นมีผลประโยชน์ในพม่าค่อนข้างจะสูง และให้ความช่วยเหลือพม่าค่อนข้างจะเยอะมากที่สุด ...ญี่ปุ่นอาจจะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่จะช่วยตรงนี้ได้ และญี่ปุ่นก็มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย” ภาณุภัทร กล่าว 

“คิดว่าไทยจะสามารถทำได้จริง ๆ เป็นโจทย์ที่อยากจะฝากไว้ว่า ไทยเป็นตัวเชื่อมที่ดีที่สุดตัวหนึ่งได้เลย และถ้าหากว่าไทยทำตรงนี้ได้ สิ่งที่ไทยอยากได้มาตลอด สถานะการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศซึ่งจัดว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติข้อหนึ่งของไทย ก็จะเป็นสิ่งที่รัฐไทย สามารถอ้างมันได้ต่อไป 

รัฐไทยจะใช้หรือไม่ใช้โอกาส ขึ้นอยู่กับรัฐไทยและผู้นำไทยว่ามีความเห็นยังไงใน ถ้าเราทำตามชุดคำสั่งเดิม ๆ อยู่ตลอด ผลักกลับ ไม่ให้เข้า สุดท้ายแล้ว การยอมรับมันก็ไม่มา การยอมรับมันมาพร้อมกับการดำเนินการจริง ถ้าหากว่าไทยจะทำอะไรก็คืออะไร ไทยก็ทำ แต่การยอมรับมันมาพร้อมกับการดำเนินการจริง” ภาณุภัทร ทิ้งท้ายถึงประเด็นนี้ 

สุดท้าย ภาณุภัทร อยากฝากถึงผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยจากฝั่งเมียนมาว่า ไทยมีชื่อเสียงจากการจัดการด้านผู้ลี้ภัยมาอย่างยาวนาน อย่าให้ครั้งนี้ต้องมาเสีย เพราะเห็นแก่ประโยชน์ของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว ดั่งคำที่ว่า ‘อย่าเน้นความมั่นคงแห่งรัฐ จนหลงลืมความมั่นคงแห่งมนุษย์’ และแท้จริงแล้ว ทั้งสองหลักนี้สามารถดำเนินไปด้วยกันได้

ขณะเดียวกัน การเพิกเฉยการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเอง บางครั้ง ก็ส่งผลต่อความมั่นคงในรัฐเช่นกัน ซึ่งรัฐไทยก็มีบทเรียนในอดีตมาให้เห็น

“สิ่งที่อยากจะฝากรัฐไทยว่า สิ่งที่ทำดีอยู่แล้วก็ทำต่อไป แต่ว่าอย่าเน้นความมั่นคงแห่งรัฐ จนลืมความมั่นคงแห่งมนุษย์ หรือความมั่นคงของคน เพราะถ้าละเลยตรงนั้นไปแล้ว ความมั่นคงของรัฐอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ 

“เราคิดว่าเรากำลังทำเพื่อปกป้องความมั่นคง หรือผลประโยชน์ของรัฐเรา การที่เราไม่ช่วยเหลือ ไม่อะไรก็ตาม สุดท้าย ความน่าเชื่อถือของเรามันก็ลดน้อยลงไป ทีนี้ความไม่มั่นคงของคนมันเป็นสิ่งที่ทำให้ใครก็ตามแต่ใช้ประโยชน์ตรงส่วนนี้เป็นสิ่งกดดันรัฐเราได้ 

“ยกตัวอย่าง ง่าย ๆ เรื่องของการค้ามนุษย์ (Human Trafficking) ธงเหลือง ธงแดง ก่อนหน้านี้ ข่าวว่าทำไมไทยต้องมาวิ่งตาม เพราะว่าเราไม่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงกับมนุษย์ เราให้ความมั่นคงของรัฐ ดังนั้น การไม่ให้ความสำคัญความมั่นคงของคน สุดท้ายมันทำให้เราเองไม่มั่นคง และไม่ได้รับการยอมรับไม่เท่าไหร่ แต่มันทำให้เราเสียประโยชน์ในแง่อื่น ๆ ตามมา ทั้งในทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น ที่บอกก็คือว่ามันมีทางออก ทำให้ความมั่นคงของรัฐ และทำให้ความมั่นคงของคน มันสอดคล้องกันได้ แต่เราแค่ต้องคิดกับมันเยอะหน่อยเท่านั้น 

“เราให้ความสำคัญกับความมั่นคงได้ แต่ความมั่นคงต้องไม่เกินเลย” ภาณุภัทร กล่าว 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net